ในพระไตรปิฎก พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมวินัย โดยแยกเป็น ๓ อย่างตามเทศนา คือ อาณาเทศนา ๑ โวหารเทศนา ๑ ปรมัตถเทศนา ๑
เทศนา คือคำสอน หรือการแสดงธรรมสั่งสอนในทางพระพุทธศาสนา ในปิฎก ๓ นี้ พระวินัยปิฎกท่านเรียกว่า “อาณาเทศนา”
อาณา คืออำนาจปกครอง กฎ คำสั่ง โทษ ส่วนอาณาเทศนา หมายถึงการเทศนาหรือการแสดงธรรมสั่งสอนโดยอำนาจบังคับบัญชา เพราะพระวินัยปิฎกเป็นปิฎกทีพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ควรออกคำสั่ง ทรงแสดงแล้วโดยความเป็นเทศนาที่มากไปด้วยคำสั่ง (ทรงบัญญัติกำหนดศีลสิกขาบทขึ้นไว้เป็นข้อบังคับ เป็นหลักเกณฑ์ หรือเป็นกฎห้ามล่วงละเมิด)
พระสุตตันตปิฎกท่านเรียกว่า “โวหารเทศนา”
เทศนาโวหาร หมายถึง การแสดงธรรมสั่งสอนเป็นโวหาร ชั้นเชิง หรือสำนวนในการพูด ที่แสดงการสั่งสอนหรือชักจูงให้ผู้ฟังเห็นคล้อยตาม ชี้แนะคุณและโทษ สิ่งที่ควรปฏิบัติไม่ควรปฏิบัติ หรือแสดงทัศนะในข้อสังเกตต้องใช้เหตุผลมาประกอบให้ผู้ฟังเกิดความเชื่อมั่น เกิดความรู้สึกด้วยตนเอง ดังคำกล่าวว่า
เทศนา โวหาร การสั่งสอน ยกเหตุผล มาพร่ำ ย้ำให้พอ ชี้ถูกผิด ให้คิด ให้วิเคราะห์ คอยเข้มงวด กวดขัน ดุจเฆี่ยนตี เพื่อบ่มเพาะ ให้หยิ่ง เรื่องศักดิ์ศรี ให้รู้ดี รู้ชั่ว รู้ตัวตน ฯ
เป็นการเทศนาโดยบัญญัติ เพราะพระสุตตันตปิฎกเป็นปิฎกที่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงฉลาดในเชิงการสอน ทรงแสดงแล้วโดยความเป็นเทศนาที่มากไปด้วยคำสอนนั่นเอง
ทรงสอนเป็นบัญญัติธรรม คือ สิ่งที่บัญญัติขึ้น สมมุติขึ้นไม่ได้มีอยู่จริง ๆ เป็นการสมมุติขึ้นเพื่อเรียกขานกันของชาวโลก เพื่อให้รู้ได้ว่าเรียกสิ่งใด เช่น คำว่า “คน” ผู้เรียกจะชี้ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายว่า “คน” ไม่ได้ เพราะไม่มี หรือคำว่า “เก้าอี้” ผู้เรียกจะชี้ส่วนหนึ่งส่วนใดว่าเป็นเก้าอี้ไม่ได้ เพราะเป็นการเรียกโดยสมมุติขึ้นเท่านั้น
บัญญัติธรรมนี้มี ๒ ประการ คือ อัตถบัญญัติ และสัททบัญญัติ
๑. อัตถบัญญัติ เป็นการสมมุติขึ้นตามความหมายแห่งรูปร่างสัณฐาน หรือ ลักษณะอาการของสิ่งนั้น ๆ เช่น ภูเขา ต้นไม้ บ้าน เรือน เดิน วิ่ง การโบกมือ หมายถึงการจากลา หรือหมายถึงการปฏิเสธก็ได้ การพยักหน้า หมายถึงการยอมรับ หรือการให้เข้ามาหาก็ได้
๒. สัททบัญญัติ เป็นการสมมุติขึ้นเพื่อใช้เรียกขานสิ่งนั้น ๆ คือ สมมุติขึ้น เพื่อให้รู้ด้วยเสียงตามอัตถบัญญัตินั้น เช่น ไม่ได้เห็นภูเขา ไม่ได้เห็นการเดิน แต่เมื่อมีคนพูดออกเสียงว่า “ภูเขา” ก็รู้ว่าภูเขามีรูปร่างสัณฐานอย่างนั้นอย่างนี้ หรือเมื่อมีคนพูดว่า “เดิน” ก็รู้ว่าเดินมีลักษณะ อาการอย่างนั้นอย่างนี้เป็นต้น
เพราะฉะนั้น พระสูตรจึงเป็นการแสดงธรรมโดยโวหารบัญญัติ อัตถบัญญัติ และสัททบัญญัติ ก็คือระบบการสื่อสารให้เกิด ความรู้ เกิดความเข้าใจกันของมนุษย์นั่นเอง ไม่ได้มีอยู่จริง ๆ เป็นความจริงโดยสมมุติ
พระอภิธรรมปิฎก ท่านเรียกว่า “ปรมัตถเทศนา”
การเทศนาโดยปรมัตถ์ เพราะเป็นปิฎกที่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ฉลาดในปรมัตถ์ ทรงแสดงแล้วโดยความเป็นเทศนาที่มากไปด้วยปรมัตถ์
ปรมัตถ์ หมายถึงประโยชน์อย่างยิ่ง เนื้อความอย่างยิ่ง หรือความจริงอันเป็นที่สุด เป็นชื่อพระอภิธรรมปิฎกที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้และสั่งสอน
สารธรรมในพระคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
พระมหาวัชระ เชยรัมย์
0 comments: