วันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2564

ความเป็นผู้ฉลาด จะรู้ได้อย่างไร ?

ความเป็นผู้ฉลาด จะรู้ได้อย่างไร ?

บุคคลใดเป็นคนฉลาดหรือไม่ฉลาดให้กำหนดรู้ด้วยอุบายดังต่อไปนี้ บุคคลนั้นต้องรู้อุบายอันเป็นเหตุแห่งความเจริญและไม่เจริญ.  ความเจริญ ชื่อว่าอายะ ความไม่เจริญ ชื่อว่าอปายะ.  ส่วนเหตุแห่งความเจริญและไม่เจริญนั้นๆ จัดเป็นอุบาย  ความรู้ทั่วถึงความเจริญความไม่เจริญและเหตุแห่งความเจริญและไม่เจริญเหล่านั้น จัดเป็นความฉลาด สมดังพระพุทธดำรัสที่ตรัสไว้ในวิภังค์ว่า  

“ ในความฉลาดเหล่านั้น ความฉลาดในความเจริญเป็นไฉน ? 

ปัญญา คือความรู้ทั่ว ฯลฯ ความเห็นชอบในความเจริญนั้นอันใดว่า  “เมื่อเรามนสิการถึงธรรมเหล่านี้ อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น และอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไป ก็หรือว่า เมื่อเรามนสิการถึงธรรมเหล่านี้ กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น และกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความภิญโญภาพ เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์ นี้เรียกว่า “ความเป็นผู้ฉลาดในความเจริญ”

ในความฉลาดเหล่านั้น ความฉลาดในความไม่เจริญเป็นไฉน ?

ปัญญา คือความรอบรู้ ฯลฯ ความเห็นชอบในความไม่เจริญนั้นอันใดว่า  “เมื่อเรามนสิการถึงธรรมเหล่านี้ กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิด และกุศลที่เกิดแล้ว ย่อมดับไป ก็หรือว่า เมื่อเรามนสิการถึงธรรมเหล่านี้ อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น และอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความภิญโญภาพ เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์ นี้เรียกว่า “ความเป็นผู้ฉลาดในความไม่เจริญ”  

ปัญญาอันเป็นอุบายในความเจริญและความไม่เจริญนั้น แม้ทั้งหมดเป็นความฉลาดในอุบาย ดังนี้ ”

ก็ความฉลาดในอุบายนี้ พึงทราบด้วยอำนาจการรู้เหตุแห่งฐานะที่เกิดขึ้น เพื่อแก้ไขกิจรีบด่วนหรือภัยนั้น ในตอนที่กิจรีบด่วนหรือภัยเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น บุคคลผู้ฉลาดต้องเป็นผู้รู้อุบายที่เป็นเหตุแห่งความเจริญและไม่เจริญ และเมื่อมีกิจรีบด่วนหรือภัยเกิดขึ้นก็เป็นผู้รู้เหตุแห่งฐานะที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ไขกิจรีบด่วนหรือภัยนั้นได้

สาระธรรมจากสังคีติสูตรและอรรถกถา (โกสัลละ ๓ อย่าง)

พระมหาวัชระ เชยรัมย์

7/3/64



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: