วันพุธที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2564

“ถ้าเรารู้สึกเป็น 'ทุกข์' ขึ้นมา ดูให้ดีเถอะว่า...ได้ไป 'ยึด' อะไร เข้าให้แล้ว” (พุทธทาสภิกขุ)

“ถ้าเรารู้สึกเป็น 'ทุกข์' ขึ้นมา ดูให้ดีเถอะว่า...ได้ไป 'ยึด' อะไร เข้าให้แล้ว”  (พุทธทาสภิกขุ)

"สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย - ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น" 

สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น

"สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทของมิคารมาตา ณ บุพพาราม เขตกรุงสาวัตถี ท้าวสักกะจอมเทพได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า :- "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้หลุดพ้นแล้วด้วยธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จสูงสุด มีความเกษมจากโยคะสูงสุด ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด มีที่สุดอันสูงสุด เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย"

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "จอมเทพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า "ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น" ถ้าข้อนั้นภิกษุได้สดับแล้วอย่างนี้ว่า "ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น" ภิกษุนั้นย่อมรู้ยิ่งธรรมทั้งปวง ครั้นรู้ยิ่งธรรมทั้งปวงแล้ว...(แล้วทรงตรัสถึงผลหรืออานิสงส์ของข้อปฏิบัตินี้เป็นลำดับๆไป)

จอมเทพ กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้หลุดพ้นแล้วด้วยธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จสูงสุด มีความเกษมจากโยคะสูงสุด ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด มีที่สุดอันสูงสุด เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย" - จูฬตัณหาสังขยสูตร พระไตรปิฎกภาษาไทย ม. มู. ๑๒/๓๙๐/๔๒๐

เพชรเม็ดเดียวในพระไตรปิฎก

"ถ้าเราจะคัดเอาแต่เพชรแท้ ๆ เม็ดเดียวในพระไตรปิฎก ก็ต้องเล็งถึงประโยคที่พระพทธเจ้าตรัสว่า :- 

"สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย - สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น" นั่นเอง  ในฐานะเป็นหัวใจของทั้งหมด คือทั้งของปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เพราะว่า ถ้าได้ฟังได้ศึกษาเรื่องนี้ ก็เท่ากับว่าได้ฟังทั้งหมด -นี้เป็นปริยัติ  ถ้าได้ปฏิบัติเรื่องนี้ ก็คือได้ปฏิบัติทั้งหมด -นี้คือปฏิบัติ และถ้าได้รับผลของเรื่องนี้ ก็ได้รับผลทั้งหมดของพระพุทธศาสนา - นี้คือปฏิเวธ.

ขอให้ทุกคนนึกถึงเรื่องที่เราพูดกันมา ตั้งหลายครั้งหลายหน คือเรื่อง สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย กันไว้เป็นหลักประจำใจกันเถิด. ต่อมา ในวงการศึกษามีการอธิบายขยายความ เพื่อให้เข้าถึงหัวใจหรือเพชรเม็ดหนึ่งนี้ เพิ่มมากขึ้น. คำอธิบายเหล่านี้ อาตมาจะเรียกว่า "เครื่องขุดเพชร" เพชรนั้นคือ ผลของความไม่ยึดมั่นถือมั่น

ในเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นนั้น ต้องไม่ยึดมั่นถือมั่น แม้ในเรื่องของความรู้ แม้ในเรื่องของการปฏิบัติ และแม้ในผลของการปฏิบัติ คือมรรคผลนิพพาน หรือ นิพพานเป็นตัวตนของเรา อย่างนี้แหละ คือหัวใจของพุทธศาสนาในคำพูดประโยคเดียว คือในคำพูดที่ว่า "สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ไม่ว่าจะเป็นพวกสังขตะที่มีปัจจัยปรุงแต่ง และพวกอสังขตะ ที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ทั้งหมดทั้งสิ้น"  - พุทธทาสภิกขุ

"สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ประโยคนี้เป็นภาษาบาลีก็มีว่า 'สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย' ตามตัวพยัญชนะก็แปลว่า 'ธรรมทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆไม่ควรเพื่อเข้าไปยึดมั่นถือมั่น' หรือตามพยัญชนะจริงๆก็ว่า 'ไม่ควรเพื่อจะฝังตัวเข้าไป' โดยอาศัยคำว่า อภินิเวส เป็นหลัก ซึ่งแปลว่า เข้าไปอย่างยิ่ง อย่างที่เราเรียกกันในภาษาไทยธรรมดาว่า ฝังจิตฝังใจ ฝังเนื้อเข้าไปในสิ่งนั้นๆจนหมดสิ้น นั่นแหละคืออาการที่เรียกว่า ความยึดมั่น คือมีจิตฝังเข้าไปยึดมั่นถือมั่น หรือว่ายึดมั่นด้วยการฝังจิตเข้าไป ด้วยความสำคัญมั่นหมายว่า 'นี้ตัวเรา นี้ของเรา' ซึ่งกล่าวอย่างง่ายๆก็ได้แก่ ความรู้สึกว่า 'ตัวกู-ของกู' ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั่นเอง

คำกล่าวประโยคนี้ ควรจะถือว่าเป็นหัวใจของพุทธศาสนา เพราะมีเรื่องราวกล่าวอยู่ในบาลีว่า เมื่อมีผู้มาทูลขอให้พระพุทธองค์ทรงประมวลคำสอนทั้งสิ้นให้เหลือเพียงประโยคสั้นๆเพียงประโยคเดียว พระองค์ก็ทรงทำดังนี้ และได้ตรัสประโยคที่ว่า 'สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย' และทรงยืนยันว่า ถ้าได้ฟังคำนี้ก็คือได้ฟังทั้งหมด ถ้าได้ปฏิบัติในข้อนี้ ก็คือได้ปฏิบัติทั้งหมด ถ้าได้รับผลจากการปฏิบัติข้อนี้ ก็คือได้รับผลจากการปฏิบัติทั้งหมด ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ ดังนั้น จึงกล่าวว่า เป็นหัวใจของพุทธศาสนา."

พุทธทาสภิกขุ, ธรรมบรรยายเรื่อง "สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น" เมื่อ วันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๐๔ , ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ - รวบรวม.





Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: