วันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2564

ว่าด้วยลิงรักษาสวน


"น เว อนตฺถกุสเลน,  อตฺถจริยา สุขาวหา;   หาเปติ อตฺถํ ทุมฺเมโธ,   กปิ อารามิโก ยถาติฯ (อารามทูสกชาตกํ ฉฏฺฐํ)  การประพฤติประโยชน์ โดยผู้ไม่ฉลาดในประโยชน์ มิได้นำความสุขมาให้เลย, ผู้มีปัญญาทรามย่อมทำประโยชน์ให้เสีย เหมือนกับลิงผู้รักษาสวนฉะนั้น"

อารามทูสกชาดกอรรถกถา

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภคนประทุษร้ายอุทยาน ในหมู่บ้านโกศลตำบลหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า น เว อนตฺถกุสเลน ดังนี้. 

ดังได้สดับมา เมื่อพระบรมศาสดา เสด็จจาริกไปในแคว้นโกศลทรงบรรลุถึงหมู่บ้านตำบลหนึ่ง. กุฏุมพีในหมู่บ้านนั้นหนึ่ง นิมนต์พระตถาคตเจ้าให้ประทับนั่งในอุทยานของตนถวายทานแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธองค์เป็นประมุขแล้ว กราบทูลว่า „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงเสด็จเที่ยวไปในสวนนี้ตามความพอพระทัยเถิด“. ภิกษุทั้งหลายก็พากันลุก ชวนนายอุทยานบาล (คนเฝ้าสวน) ไปเที่ยวอุทยาน เห็นที่โล่งเตียนแห่งหนึ่ง จึงถามนายอุทยานบาลว่า „อุบาสก อุทยานนี้ ตอนอื่นมีต้นไม้ชะอุ่มร่มรื่น แต่ที่ตรงนี้ไม่มีต้นไม้หรือกอไผ่อะไรเลย ข้อนี้เป็นเพราะเหตุไรหนอ ?“ 

นายอุทยานบาลตอบว่า „ข้าแต่พระคุณเจ้าเจริญ ในเวลาปลูกสร้างอุทยานนี้ มีเด็กชาวบ้านคนหนึ่ง เมื่อจะรดน้ำต้นไม้ ต้องถอนต้นไม้ที่เพิ่งปลูกในที่ตรงนี้ ขึ้นดูรากเสียก่อนแล้วจึงรดน้ำตามความสั้นยาวของรากเป็นประมาณ ต้นไม้ปลูกใหม่เหล่านั้นก็เหี่ยวแห้งตายไม่เหลือ ด้วยเหตุนั้น ที่ตรงนี้จึงโล่งเตียนไป“. 

ภิกษุทั้งหลายเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาแล้วจึงกราบทูลเรื่องนั้น. พระบรมศาสดาตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เด็กชาวบ้านคนนั้นมิใช่เพิ่งเป็นคนทำลายสวนในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน ก็เคยเป็นคนทำลายสวนเหมือนกัน“, แล้วทรงน้ำเอาเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้ :- 

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พวกชาวเมืองป่าวร้อง การเล่นนักขัตฤกษ์ในพระนคร. จำเดิมแต่กาลที่ได้ยินเสียงกลองประโคมในนักขัตฤกษ์. ชาวพระนครทั่วถ้วนล้วนพากันเที่ยวเล่นการนักขัตฤกษ์ไปมาสนุกสนาน.

ครั้งนั้น อุทยานของพระราชา มีฝูงลิงอาศัยอยู่เป็นอันมาก, คนเฝ้าสวนคิดว่า ในเมืองมีงานนักขัตฤกษ์เอิกเกริกเราบอกให้ลิงเหล่านี้มันรดน้ำต้นไม้แล้วเราก็จักเล่นนักขัตฤกษ์ได้แล้วก็ไปหาวานรตัวจ่าฝูงถามว่า „แนะวานรผู้เป็นจ่าฝูง ผู้เป็นสหาย อุทยานนี้ มีอุปการะเป็นอย่างมากแก่ท่านทั้งหลาย, พวกท่านได้พากันขบเคี้ยวดอกผลและใบอ่อนในอุทยานนี้, บัดนี้ในพระนครกำลังมีงานนักขัตฤกษ์เอิกเกริก เราจักไปเล่นงานนักขัตฤกษ์กับเขาบ้าง พวกท่านจงช่วยรดน้ำต้นไม้ที่กำลังปลูกใหม่ ๆ ในสวนนี้ ตลอดเวลาที่เรายังไม่มาก จักได้ไหม ?„ 

วานรจ่าฝูง รับคำว่า „ดีแล้ว พวกเราจักรดน้ำให้“. นายอุทยานบาลก็กำชับว่า „ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงระมัดระวังอย่าประมาทนะ“ จัดหากระออมหนังและกระออมไม้ สำหรับตักน้ำให้แก่พวกวานรแล้วก็ไป. 

พวกวานรพากันถือกระออมหนัง ละกระออมไม้จะไปรดน้ำต้นไม้ ครั้งนั้น วานรจ่าฝูง จึงพูดกะวานรด้วยกันอย่างนี้ว่า „วานรผู้เจริญทั้งหลาย ธรรมดาน้ำเป็นสิ่งพึงสงวนพวกท่านจักรดน้ำต้นไม้ต้องถอนต้นไม้ขึ้น ถอนขึ้นดูราก ต้นไหนรากหยั่งลึก ต้องรดน้ำให้มาก ต้นไหนรากหยั่งลงไม่ลึก รดแต่น้อย ภายหลังน้ำของเราจักหาได้ยาก“. พวกวานรต่างรับคำว่า „ดีแล้ว“ พากันทำตามนั้น. 

สมัยนั้น มีบุรุษฉลาดคนหนึ่ง เห็นพวกวานรในพระราชอุทยานเหล่านั้นพากันทำเช่นนั้น จึงกล่าวว่า „แนะวานรทั้งหลาย เหตุไรพวกท่านจึงถอนต้นไม้อ่อน ๆ ขึ้นแล้วรดน้ำตามประมาณรากอย่างนี้เล่า ?" พวกวานรตอบว่า „วานรเป็นหัวหน้าสอนไว้อย่างนี้“. 

บัณฑิตฟังคำนั้นแล้ว ดำริว่า „อนาถหนอ ลิงโง่ ช่างไม่เฉลียวเสียเลย คิดว่า จักทำประโยชน์กลับทำความพินาศไปเสียฉิบ“, แล้วกล่าวคาถานี้ว่า :-  „การประพฤติประโยชน์ โดยผู้ไม่ฉลาดในประโยชน์ มิได้นำความสุขมาให้เลย, คนโง่ ๆ ทำประโยชน์เสื่อมเหมือนลิงเฝ้าสวน ฉะนั้น“ ดังนี้. 

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เว เป็นเพียงนิบาต.  บทว่า อนตฺถกุสเลน ความว่า ผู้ฉลาดในการอันมิใช่ประโยชน์ คือในการอันมิใช่บ่อเกิดแห่งประโยชน์ หรือได้แก่ บุคคลผู้ไม่ฉลาดในประโยชน์ คือในเหตุอันเป็นบ่อเกิดแห่งประโยชน์.  บทว่า อตฺถจริยาได้แก่ การทำความเจริญ.  บทว่า สุขาวหา ความว่า บุคคลผู้ไม่ฉลาดในประโยชน์เห็นปานนี้ ไม่อาจบำเพ็ญประโยชน์ กล่าวคือความสุขทางกายและความสุขทางใจได้แก่ ไม่สามารถจะนำความสุขมาให้ได้. เพราะเหตุไร ? เพราะเหตุว่า คนโง่ ๆย่อมทำประโยชน์ให้เสื่อมไปได้แก่ คนโง่ ๆคิดว่า เราจักบำเพ็ญประโยชน์ก็ได้แต่ทำประโยชน์ให้เสียไป เราย่อมทำแก่การอันหาประโยชน์มิได้ โดยส่วนเดียวเท่านั้น. 

บทว่า กปิ อารามิโก ยถา ความว่า ลิงที่ได้รับหน้าที่ดูแลสวน ประกอบกิจการในสวน คิดว่า เราจักทำประโยชน์ ก็ทำได้แต่การอันหาประโยชน์มิได้เท่านั้น ฉันใด บุคคลผู้ไม่ฉลาดในประโยชน์ทั่ว ๆ ไป ก็ฉันนั้น ไม่อาจประพฤติประโยชน์ นำความสุขมาให้ใครได้ได้แต่ยังประโยชน์นั้นแหละให้เสื่อมไปเท่านั้น.  บุรุษผู้เป็นบัณฑิตนั้น ติเตียนวานจ่าฝูงด้วยคาถานี้แล้ว ก็พาบริษัทของตนออกจากสวนไปด้วยประการฉะนี้. 

แม้พระบรมศาสดา ก็ตรัสว่า Wดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เด็กชาวบ้านคนนี้ มิใช่จะเพิ่งประทุษร้ายสวนในบัดนี้เท่านั้น ก็หามิได้, แม้ในกาลก่อนก็ได้ประทุษร้ายสวนมาแล้วเหมือนกัน“ ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงสืบอนุสนธิประชุมชาดกว่า „วานรจ่าฝูงในครั้งนั้น มาเป็นเด็กชาวบ้าน ผู้ทำลายสวนในบัดนี้, ส่วนบุรุษผู้เป็นบัณฑิตได้แก่ เราตถาคต ฉะนี้แล“.

ที่มา : Palipage : Guide to Language - Pali




Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: