จะเข้าถึงปรมัตถ์ต้องรู้กฏ “อิทัปปัจจยตา” เป็นกฏอันเฉียบขาดตลอดจักรวาล ตลอดอนันตกาล
…. “คําแปลกๆว่า “อิทัปปัจจยตา” นั้น ขอให้ช่วยสนใจกันหน่อย เพราะไม่ค่อยเอามาพูดกันเป็นกฎของธรรมชาติว่า มันต้องเป็นอย่างนี้ๆ อย่างนี้ เพราะเหตุปัจจัยอย่างนี้ ๆ สิ่งนี้จะต้องเกิดขึ้น, สิ่งนี้มี เพราะเหตุปัจจัยนี้มี, สิ่งนี้มี เพราะสิ่งนี้มี, สิ่งนี้มี เพราะสิ่งนี้มี นี่มันเป็นกฏตลอดจักรวาล ตลอดอนันตกาล เรียกว่า กฏอิทัปปัจจยตา
…. ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาวอะไรทั้งหลาย ทั้งสากลจักรวาล มันเกิดขึ้นมาตามกฎของ “อิทัปปัจจยตา” : เมื่อทําอย่างนี้ อย่างนี้จะต้องเกิดขึ้น, ทําอย่างนี้ อย่างนี้มันต้องเกิดขึ้น, ทําอย่างนี้ อย่างนี้มันก็เป็นความทุกข์เกิดขึ้น, ทําอย่างนี้ อย่างนี้เป็นความดับทุกข์เกิดขึ้น. นี้เป็นปรมัตถ์สูงสุด ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล, ไม่มีพระเจ้าที่เป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล, มีแต่พระเจ้าที่เป็นกฏอันเฉียบขาดของธรรมชาติ, เข้าถึงกฏอิทัปปัจจยตาแล้วก็เข้าถึงปรมัตถธรรมอย่างยิ่ง
…. พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ก็คือ ตรัสรู้เรื่องนี้, ท่านตรัสรู้เรื่อง “อิทัปปัจจยตา” ; แต่เรามักจะเรียกกันเสียว่า “ปฏิจจสมุปบาท” เป็นความหมายแคบเฉพาะเรื่องความทุกข์ของสิ่งที่มีชีวิต แต่ถ้าเราพูดว่า “อิทัปปัจจยตา” ความหมายมันกว้างหมดเลย จะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตอะไรก็ตาม มันตกอยู่ใต้อํานาจของกฎที่ว่า เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี, เพราะสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงมี. ปรมัตถธรรมจะนําไปที่นั่น ไม่มีทางที่จะผิด คือว่ามันจะไม่เป็นฝ่ายบวกหรือฝ่ายลบ ไม่เป็น positiveไม่เป็น negative มันเป็นสายกลางของมันไปอย่างนั้น, นี่ เรียกว่ากฎของธรรมชาติแท้ๆ
…. ถ้าว่า “บวก” มันก็มีคน หรือตายแล้วเกิด เป็นต้น : ถ้า “ลบ” มันก็ไม่มีคน ตายแล้วไม่เกิด เป็นต้น. แต่ว่ากฎ “อิทัปปัจจยตา” มันมีแต่สิ่งนี้ซึ่งเป็นไปอย่างนี้ เป็นไปอย่างนี้ เป็นไปอย่างนี้ แล้วคนเขาก็ไปบัญญัติเอาเองว่า นี้เป็นสุข นี้เป็นทุกข์, นี้เป็นได้ นี้เป็นเสีย, นี้เป็นแพ้ นี้เป็นชนะ, นี้เป็นกําไร นี้เป็นขาดทุน. นั้นมันความโง่ของคนต่างหากล่ะ กฎของอิทัปปัจจยตาเขามีตายตัวเฉียบขาดตามธรรมชาติ
…. ความรู้ปรมัตถ์ต้องไปถึงนั่น รู้จนไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล, ไม่ใช่สัตว์ บุคคล, แล้วก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล : คือ ไม่ได้ปฏิเสธจนไม่มีอะไรเลย, แล้วก็ไม่ได้ยืนยันว่ามีอะไรอยู่อย่างตายตัว, มีแต่กระแสของความเปลี่ยนแปลงปรุงแต่ง. ถ้ามาถึงนี่แล้วก็เรียกว่า “รู้อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านรู้ แล้วก็ดับทุกข์ได้” เป็นสิ่งสูงสุดที่ต้องเคารพ คือกฎของ “อิทัปปัจจยตา” -พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : ธรรมบรรยายประจำวันเสาร์ แห่งภาคอาสาฬหบูชา ชุด “ฟ้าสางระหว่าง ๕๐ ปีที่มีสวนโมกข์” ครั้งที่ ๑๙ เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๒๖ ณ ศาลามหานาวา สวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จากหนังสือ “ธรรมานุภาพ” , ธรรมะเพื่อทางพ้นทุกข์ โดย ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ
0 comments: