วันพุธที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2564

ความถือตัว ๓ อย่าง คือถือตัวว่าดีกว่าเขา ๑ เสมอเขา ๑ เลวกว่าเขา ๑

ความถือตัว ๓ อย่าง คือถือตัวว่าดีกว่าเขา ๑ เสมอเขา ๑ เลวกว่าเขา ๑

๑.  ถือตัวว่าดีกว่าเขา ก็เพราะคิดว่า “ใครหรือจะมาสู้เราได้ ไม่ว่าจะทางอำนาจ ทางทรัพย์ หรือว่าทางกำลังและบริวาร”  หรือเพราะคิดว่า “ใครเล่าจะมาทัดเทียมเราได้ด้วยศีลธรรม”

๒.  ถือตัวว่าเสมอกับเขา ก็เพราะคิดว่า “อะไรล่ะที่จะมาแตกต่างกันระหว่างเรากับเขา ไม่ว่าจะทางอำนาจ ทางทรัพย์ หรือว่าทางกำลังและบริวาร”  หรือเพราะคิดว่า “อะไรเล่าที่จะมาผิดแผกกัน ระหว่างเรากับเขา ไม่ว่าจะโดยศีลธรรมเป็นต้น”

๓.  ถือตัวว่าเลวกว่าเขา ก็เพราะคิดว่า “เขาสักแต่เรียกหรือยกย่องเราว่าเป็นคนอย่างนั้นอย่างนี้ไปอย่างนั้นเอง อย่างเราน่ะรึ จะเป็นคนเช่นนั้นได้” หรือเพราะคิดว่า  “เขาก็เพียงแต่เรียกเราว่าเป็นนั้นเป็นนี้ไปอย่างนั้นเอง อย่างเราไม่มีลาภสักการะ จะเป็นนั้นเป็นนี้ไปได้อย่างไร”

อย่าเป็นทุกข์จากการเป็นคนถือตัวถือตนเลย แม้ว่าจะยิ่งใหญ่ก็อย่าเย่อหยิ่งจองหอง อย่ายกตนว่าเจริญด้วย ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขยิ่งกว่าผู้อื่น จะก่อความเกลียดชังแก่ผู้พบเห็น ต้องหมั่นแก้ด้วยการพิจารณาหลักโลกธรรมและลดทิฐิด้วยหิริโอตตัปปะ

แต่ถ้าถือตัวมากอย่างนี้โปรดคิดถึงความเป็นขันธ์ ๕ ให้มากๆ เพราะเรากับเขาก็เป็นทุกข์เหมือนกัน โดยความที่ขันธ์ ๕ เป็นตัวทุกข์ ส่วนเหตุให้เกิดทุกข์ก็คือตัณหาความทะยานอยากอันไม่มีที่สิ้นสุด เพราะฉะนั้น จงตั้งตนไว้ในทางที่ชอบ ดำเนินชีวิตไปตามความพอดี ไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับใครๆ จนดับความถือตัวได้ด้วยอรหัตมรรค อันเป็นการดับสิ้นกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวง.

สาระธรรมจากสังคีติสูตรและอรรถกถา (ติกกวณฺณนา)

พระมหาวัชระ เชยรัมย์, 3/3/64


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: