วันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2564

“สทฺธา สาธุ ปติฏฺฐิตา - ศรัทธาที่ตั้งมั่นแล้วยังประโยชน์ให้สำเร็จ”

มีพระพุทธพจน์ในสังยุตตนิกาย สคาถวรรคว่า “สทฺธา  สาธุ  ปติฏฺฐิตา” แปลความว่า  “ศรัทธาที่ตั้งมั่นแล้วยังประโยชน์ให้สำเร็จ”

ถามว่า “ศรัทธาที่ตั้งมั่น เปรียบประดุจอะไร ?”

ตอบว่า “ศรัทธาที่ตั้งมั่นแล้วนั้น เปรียบประดุจขุนเขาหิมพานต์ เพราะเป็นศรัทธาที่ตั้งมั่นอันมาแล้วด้วยมรรค หรือประกอบด้วยองค์มรรค ๘ มีความเห็นชอบเป็นต้น”

ถามว่า “ศรัทธาที่ตั้งมั่นแล้วยังประโยชน์ให้สำเร็จได้อย่างไร ?”

ตอบว่า  “บุคคลผู้มีศรัทธา ย่อมงอกงามด้วยความเจริญ ๕ ประการ คือ

๑. ศรัทธา (ความเชื่อ)  ๒. ศีล (การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย)  ๓. สุตะ (การสดับตรัสฟังหาความรู้)  

๔. จาคะ (การเสียสละ)  ๕. ปัญญา (ความรอบรู้)

ความเจริญแห่งคุณธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเกิดขึ้นได้เพราะอาศัยศรัทธาที่ตั้งมั่นดีแล้ว ประดุจต้นไม้อาศัยขุนเขาสูงจึงเติญโตเป็นต้นไม้ใหญ่ได้ฉะนั้น”

สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในมหาสาลปุตตสูตร (พระสูตรว่าด้วยต้นสาละใหญ่กับกุลบุตร) ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ไม้สาละใหญ่อาศัยขุนเขาหิมพานต์ ย่อมงอกงามด้วยความเจริญ ๕ ประการ ความเจริญ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. กิ่ง ใบแก่ และใบอ่อน  ๒. เปลือก  ๓. สะเก็ด  ๔. กระพี้  ๕. แก่น

ภิกษุทั้งหลาย ไม้สาละใหญ่อาศัยขุนเขาหิมพานต์ ย่อมงอกงามด้วยความเจริญ ๕ ประการนี้ ฉันใด

ชนภายใน (ชนภายใน ในที่นี้หมายถึงภรรยา บุตร ธิดา) อาศัยกุลบุตรผู้มีศรัทธา ย่อมงอกงามด้วยความเจริญ ๕ ประการ ฉันนั้นเหมือนกัน

ความเจริญ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. ศรัทธา (ความเชื่อ)  ๒. ศีล (การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย)  ๓. สุตะ (การสดับตรับฟังหาความรู้)   ๔. จาคะ (การเสียสละ)   ๕. ปัญญา (ความรอบรู้)

ภิกษุทั้งหลาย ชนภายในอาศัยกุลบุตรผู้มีศรัทธา ย่อมงอกงามด้วยความเจริญ ๕ ประการนี้ ดังนี้”

(มีพระคาถาประพันธ์ไว้ว่า)

“ภูเขาหินมีอยู่ในป่าใหญ่ หมู่ไม้เหล่านั้นอาศัยภูเขานั้น เจริญงอกงามเติบโตในป่า แม้ฉันใด

บุตร ภรรยา พวกพ้อง อำมาตย์ หมู่ญาติ และชนผู้อาศัยเขาเลี้ยงชีพ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน อาศัยกุลบุตรผู้มีศรัทธา ผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมงอกงามในโลกนี้

ชนผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง เห็นศีล จาคะ และสุจริต (ความประพฤติดี) ของกุลบุตรผู้มีศรัทธานั้นแล้วย่อมทำตาม

บุคคลประพฤติธรรมซึ่งเป็นทางนำสัตว์ไปสู่สุคติ ย่อมเพลิดเพลินในโลกนี้สมปรารถนา ย่อมบันเทิงในเทวโลก ดังนี้แล.

สาระธรรมจากมหาสาลปุตตสูตร (ว่าด้วยต้นสาละใหญ่กับกุลบุตร) ในอังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต

พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ) 

10/12/64






Previous Post
Next Post

0 comments: