วันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2564

"คหบดี ธรรม ๕ ประการนี้แล ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก"

"คหบดี ธรรม ๕ ประการนี้แล ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก"   

แท้จริงปฏิปทา (ทางบุญซึ่งมีทานและศีลเป็นต้น) อันเป็นไปเพื่ออิฐผล (ผลเป็นที่พอใจ ๕ ประการ คืออายุ วรรณะ สุข ยศ และสวรรค์) ที่บุคคลผู้มีปัญญาปฏิบัติแล้วเพื่อให้ได้อิฐผลนั้น ย่อมสำเร็จได้ด้วยความไม่ประมาทในการทำบุญเท่านั้น  ไม่ควรอ้อนวอนหรือเพลิดเพลิน

พึงทราบเนื้อความโดยพิสดารในอิฏฐสูตรว่า

“ครั้งนั้น อนาถบิณฑิกคหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสกับอนาถบิณฑิกคหบดีดังนี้ว่า

“คหบดี ธรรม ๕ ประการนี้ ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. อายุที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก

๒. วรรณะที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก

๓. สุขที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก

๔. ยศที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก

๕. สวรรค์ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก

คหบดี ธรรม ๕ ประการนี้แล ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก

ธรรม ๕ ประการนี้ ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก เรามิได้กล่าวว่า “จะพึงได้เพราะความอ้อนวอน หรือเพราะความปรารถนา” ถ้าธรรม ๕ ประการนี้ ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก จักได้เพราะการอ้อนวอน หรือเพราะความปรารถนาในโลกนี้แล้ว ใครเล่าจะพึงเสื่อมจากอะไรได้

อริยสาวกผู้ต้องการอายุ ไม่ควรอ้อนวอนหรือเพลิดเพลินอายุ หรือปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นไปเพื่ออายุเพราะอายุเป็นเหตุ แท้จริงปฏิปทาอันเป็นไปเพื่ออายุที่อริยสาวกนั้นปฏิบัติแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้อายุ อริยสาวกนั้นย่อมได้อายุอันเป็นทิพย์ หรือเป็นของมนุษย์

อริยสาวกผู้ต้องการวรรณะ ไม่ควรอ้อนวอนหรือเพลิดเพลินวรรณะ หรือปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อวรรณะเพราะวรรณะเป็นเหตุ แท้จริง ปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อวรรณะที่อริยสาวกนั้นปฏิบัติแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้วรรณะ อริยสาวกนั้นย่อมได้วรรณะอันเป็นทิพย์ หรือเป็นของมนุษย์

อริยสาวกผู้ต้องการสุข ไม่ควรอ้อนวอนหรือเพลิดเพลินสุข หรือปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อสุขเพราะสุขเป็นเหตุ แท้จริง ปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อสุขที่อริยสาวกนั้นปฏิบัติแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้สุข อริยสาวกนั้นย่อมได้สุขอันเป็นทิพย์ หรือเป็นของมนุษย์

อริยสาวกผู้ต้องการยศ ไม่ควรอ้อนวอนหรือเพลิดเพลินยศ หรือปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อยศเพราะยศเป็นเหตุ แท้จริง ปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อยศที่อริยสาวกนั้นปฏิบัติแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้ยศ อริยสาวกนั้นย่อมได้ยศอันเป็นทิพย์ หรือเป็นของมนุษย์

คหบดี อริยสาวกผู้ต้องการสวรรค์ ไม่ควรอ้อนวอนหรือเพลิดเพลินสวรรค์ หรือปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อสวรรค์เพราะสวรรค์เป็นเหตุ แท้จริง ปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อสวรรค์อันอริยสาวกนั้นปฏิบัติแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้สวรรค์ อริยสาวกนั้นย่อมได้สวรรค์

(มีคาถาประพันธ์ไว้ว่า)

ชนผู้ปรารถนาอายุ วรรณะ เกียรติยศ

สวรรค์ การเกิดในตระกูลสูง และความเพลินใจ

พึงทำความไม่ประมาทให้มากยิ่งขึ้น

บัณฑิตทั้งหลายสรรเสริญความไม่ประมาทในการทำบุญ

บัณฑิตผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมยึดประโยชน์ทั้งสองไว้ได้

คือประโยชน์ในภพนี้ และประโยชน์ในภพหน้า

ผู้มีปัญญา ท่านเรียกว่า “บัณฑิต”

เพราะบรรลุถึงประโยชน์ทั้งสองนั้นแล้ว ดังนี้แล.

สาระธรรมจากอิฏฐสูตร (ว่าด้วยธรรมที่น่าปรารถนา) ในอังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต

พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ) วัดสามพระยา กรุงเทพฯ 

12/12/64




Previous Post
Next Post

0 comments: