วันอังคารที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2564

นอกเหตุเหนือผล

คำสอนของพระบางอย่างเราฟังดูแล้ว ไม่ค่อยจะเข้าใจเลย บางสทีคิดว่ามันน่าจะเป็นไปอย่างนั้นไม่ได้ ก็เลยไม่ทำ ความเป็นจริงนั้นคำพูดของพระมีเหตุผลทุกอย่าง.  ครั้งแรกที่อาตมาไม่นั่งหลับตา แล้วก็ไม่เชื่อเหมือนกัน ไม่เห็นว่าจะเกิดประโยชน์อะไรจากการหลับตาไปหมด นอกจากนั้นก็ไปเดินจงกรม เดินไปจากต้นไม้ต้นนี้ไปต้นนั้น เดินไปเดินมาก็ขี้เกียจ เดินทำไม? กลับไปกลับมาไม่เกิดประโยชน์อะไร อย่างนี้มันก็คิดไป แต่ความจริงการเดินจงกรมนี้ มีประโยชน์มาก การนั่งสมาธินี้ก็มีประโยชน์มาก แต่จริตของคนเราบางคนแรงไปในการเดินจงกรม บางคนแรงในการนั่ง จริตของท่านเป็นปนเปกันอยู่ แต่เราจะทิ้งกันไม่ได้ จะนั่งสมาธิอย่างเดียวก็ไม่ได้ จะเดินจงกรมอย่างเดียวก็ไม่ได้

พระกรรมฐานท่านสอนว่า อิริยาบถสี่ การยืนการเดิน การนั่ง การนอน คนเราอาศัยอิริยาบถอย่างนี้อยู่ แล้วแต่ว่ามันจะแรงการยืน การเดิน การนั่ง หรือการนอน แต่มันจะเร็วหรือช้า มันก็ค่อยๆเข้าไปในตัวของมัน. อย่างวันหนึ่งเราเดินกี่ชั่วโมง นั่งกี่ชั่วโมง นอนกี่ชั่วโมง แต่เท่าไรก็ช่างมันเถอะ จับจุดมันเข้าก็เป็นการยืนการเดิน การนั่ง การนอนเสมอ การยืนเดินนั่งนอนนี้ให้เสมอกัน ท่านบอกไว้ในธรรมะ การปฏิบัติให้ปฏิบัติสม่ำเสมอกัน ให้อิริยาบถเสมอกัน อิริยาบถคืออะไร? คือการยืน การเดิน การนั่ง การนอน ให้มันเสมอกัน เอ! คิดไม่ออก ให้มันเสมอนี้มันก็คงจะว่านอน ๒ ชั่วโมง ก็ยืน ๒ ชั่วโมง นั่งก็ ๒ ชั่วโมง คงจะเป็นอย่างนั้นกระมัง

อาตมาก็มาลองทำดูเหมือนกัน โอ๊ะ! มันไปไม่ไหว ไปไม่ไหวแน่นอนเลย จะยืนก็ให้ ๒ ชั่วโมงหรือนั่งก็ให้ ๒ ชั่วโมง เดินก็ ๒ ชั่วโมง นอนก็ ๒ชั่วโมง เรียกว่าอิริยาบถเสมอกัน อย่างนี้เราฟังผิด ฟังตามแบบนี้ มันผิด อิริยาบถเสมอกัน ท่านพูดถึงจิตของเรา ความรู้สึกของเราเท่านั้น ไม่ใช่ท่านพูดทั่วไป คือทำจิตของเราให้มันเกิดปัญญาแล้ว ให้มันมีปัญญา ให้มันสว่าง.  ความรู้สึก หรือปัญญาของเรานั้น แม้เราจะอยู่ในอิริยาบถ ยืน เดิน นั่งนอน ก็รู้อยู่เสมอ เข้าใจอยู่เสมอในอารมณ์ต่างๆ แม้ฉันจะยืนอยู่ก็ช่าง จะนั่งหรือเดินก็ช่าง ฉันจะรู้อารมณ์อยู่เสมอไป ว่าอารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้นมันจะเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เท่านั้นแหละ

คำพูดอย่างนี้ก็เป็นไป ความรู้สึกความรู้อย่างนั้นก็เป็นไป จิตใจก็น้อมเข้าไปอย่างนั้น เมื่อถูกอารมณ์เมื่อไรก็เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตลอดเวลาอยู่อย่างนั้น จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน มันมีความเห็นอยู่อย่างนั้น แม้ว่ามันจะรัก หรือจะเกลียดมันก็ยังไม่ทิ้งปฏิปทาของมัน รู้ของมันอยู่.  ถ้าหากว่ามาเพ่งถึงจิตให้เป็นปฏิปทา ให้สม่ำเสมอกัน ความสม่ำเสมอกัน คือมันปล่อยวางเสมอกัน เมื่อหากว่ามันได้อารมณ์ทดีตามสมมติของเขา มันก็ยังไม่ลืมตัวของมัน เมื่อมันรู้อารมณ์ที่ชั่ว มันก็ยังไม่ลืมตัวของมันมันไม่หลงในความชั่ว มันไม่หลงในความดี สมมติทั้งหลายเหล่านี้ มันจะตรงไปของมันอยู่เรื่อยๆ อิริยาบถนี้เอาเสมอได้ ถ้ามันยังไม่เสมอจัดให้มันเสมอได้

ถ้าพูดถึงภายในไม่พูดถึงภายนอก พูดถึงเรื่องจิตใจ พูดถึงความรู้สึก ถ้าหากว่าอิริยาบถจิตใจสม่ำเสมอกัน จะถูกสรรเสริญมันก็อยู่แค่นั้น จะถูกนินทามันก็อยู่แค่นั้น มันไม่วิ่งขึ้น มันไม่วิ่งลง มันอยู่อย่างนี้ ก็เพราะอะไร? มันรู้อันตราย รู้อุปสรรค ในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เห็นโทษ เห็นโทษในการสรรเสริญ เห็นโทษในการนินทาเสมอกันแล้ว เรียกว่ามันเสมอกันแล้วนั้นอย่างนี้ความรู้สึกอย่างนี้เรียกว่าทางใน มองดูด้านใน ไม่มองดูด้านนอก.  อารมณ์ทั้งหลายนั้นนะ ถ้าหากว่าเราได้อารมณ์ที่ดี จิตของเรามันก็ดีด้วย ได้อารมณ์ที่ไม่ดีจิตของเราก็ไม่ดีไม่ชอบ มันจะเป็นอยู่อย่างนี้ นี้เรียกว่าอิริยาบถมันไม่สม่ำเสมอกันแล้ว มันสม่ำเสมอแต่ว่ามันรู้อารมณ์ ว่ามันยึดดีก็รู้ ยึดชั่วก็รู้จักแค่นี้ก็นับว่าดีแล้ว อิริยาบถนี้มันสม่ำเสมอแต่มันยังวางไม่ได้ แต่ว่ามันรู้สม่ำเสมอ ยึดความดีก็รู้จัก ยึดความชั่วก็รู้จัก ความยึดเช่นนี้มันเป็นสิ่งที่ไม่ใช่หนทาง ก็รู้อยู่เข้าใจอย่างนี้ แต่ว่ามันทำยังไม่ได้เต็มที่ ยังไม่ได้ปล่อยวางจริง แต่มันรู้ว่า ถ้าจะปล่อยวางตรงนี้มันจะสงบ

ปล่อยวางจากสิ่งทั้งปวง

แล้วเมื่อเราพยายามทำไปๆ เห็นโทษในอารมณ์ที่ว่า มันชอบใจหรือว่ามันไม่ชอบใจ หรือเห็นโทษในสรรเสริญ เห็นโทษในการนินทา สม่ำเสมอกันอยู่ นั้นแหละ ไม่มีอะไรแปลกกัน นินทาก็สม่ำเสมอกันสรรเสริญมันก็สม่ำเสมอกัน.  เมื่อพูดถึงจิตคนเราในโลกนี้ ถ้านินทาละก็ไม่ได้บีบหัวใจเรา ถ้าถูกสรรเสริญมันแช่มชื่นสบาย มันเป็นอย่างนี้ตามธรรมชาติของมัน เมื่อมันรู้ตามความเป็นจริงเสียแล้วว่าอารมณ์ที่เขานินทานั้นมันก็มีโทษ อารมณ์ที่เขาสรรเสริญนั้นมันก็มีโทษ ติดในสรรเสริญมันก็มีโทษ ติดในการนินทามันก็มีโทษ มันเป็นโทษทั้งหมดทั้งนั้น ถ้าเราไปหมายมั่นมันอย่างนั้น.  เมื่อความรู้อย่างนี้เกิดขึ้นมา เราก็จะรู้สึกอารมณ์ถ้าไปหมายมั่นมันก็เป็นทุกข์จริงๆ มันทุกข์ให้เห็น ถ้าไปยึดดียึดชั่วมันก็เป็นทุกข์ขึ้นมา แล้วก็มาเห็นโทษนั้นว่าความยึดทั้งหลายนั้นมันเป็นเหตุให้เราเป็นทุกข์ เพราะชั่วก็ตะครุบ ดีก็ตะครุบ ทำไมจึงเห็นโทษมัน? เพราะเราเคยยึดมั่นมันมา เคยตะครุบมันมาอย่างนี้ จึงเห็นโทษ มันไม่มีสุข ทีนี้ก็หาทางปล่อยมัน จะปล่อยมันไปตรงไหนหนอ? 

ในทางพุทธศาสนาท่านว่า อย่าไปยึดมั่นถือมั่นแต่เราฟังไม่จบไม่ตลอด ที่ว่าอย่าไปยึดมั่นถือมั่นนั้นคือว่าท่านให้ยึดอยู่แต่อย่าให้มั่น เช่นอย่างนี้ อย่างไฟฉายนี่น่ะ นี่คืออะไร ไปยึดมันมาแล้วก็ดู พอรู้ว่าเป็นไฟฉายแล้วก็วางมัน อย่าไปมั่นยึดแบบนี้ ถ้าหากว่าเราไปยึด เราจะทำได้ไหม? จะเดินจงกรมก็ไม่ได้ จะทำอะไรก็ไม่ได้ต้องยึดเสียก่อน.  ครั้งแรกจะว่ามันเป็นตัณหาก็ได้ แต่ว่าต่อไปมันจะเป็นบารมี อย่างเช่นท่านชาคโร จะมาวัดป่าพง ก็ต้องอยากมาก่อน ถ้าไม่รู้สึกว่าอยากมาก็ไม่ได้มา โยมทั้งหลายก็เหมือนกัน ก็มีความอยากนั่นแหละจึงได้มานี้จึงมาด้วยความอยาก เมื่อมีความอยากขึ้นมา ท่านก็ว่าอย่ายึดมั่นคือมาแล้วก็กลับ อย่างที่สงสัยว่านี่อะไร แล้วก็ยึดขึ้นมา เออ มันเป็นไฟฉายนะ นี่น่ะแล้วก็วางมัน นี้เรียกว่ายึดแต่ไม่ให้มั่น ปล่อยวาง รู้แล้วปล่อยวาง พูดง่ายๆก็ว่ารู้แล้วปล่อยวาง จับมาดูรู้แล้วปล่อยวาง

อันนี้เขาสมมติว่ามันดี อันนี้เขาสมมติว่ามันไม่ดีรู้แล้วก็ปล่อยทั้งดี ทั้งชั่ว แต่ว่าการปล่อยนี้ไม่ได้ทำด้วยความโง่ ไม่ได้ยึดด้วยความโง่ ให้ยึดด้วยปัญญาอย่างนี้อันนี้อิริยาบถนี้เสมอได้ ต้องเสมอได้อย่างนี้ คือจิตมันเป็น ทำจิตให้รู้ ทำจิตให้เกิดปัญญา เมื่อจิตมีปัญญาแล้วอะไรมันจะเหนือไปกว่านั้นอีกเล่า ถ้าหากจะยึดมา มันก็ยึดไม่มีโทษยึดขึ้นมาแต่ไม่มั่น ยึดดูแล้วรู้แล้วก็วาง. อารมณ์เกิดมาทางหู อันนี้เรารู้โลกเขาว่ามันดีแล้วมันก็วาง โลกเขาว่ามันไม่ดี มันก็วาง มันรู้ดีรู้ชั่ว คนที่ไม่รู้ดี รู้ชั่ว ไปยึดทั้งดีทั้งชั่วแล้วเป็นทุกข์ทั้งนั้น คนรู้ดีรู้ชั่ว ไม่ได้ยึดในความดี ไม่ได้ยึดในความชั่ว คนที่ยึดในความดีความชั่ว นั่นคือคนไม่รู้ดีรู้ชั่ว และคำที่ว่า เราทำอะไร ตลอดที่ว่าเราอยู่ไปนี้ เราอยู่เพื่อประโยชน์อะไร เราทำงานอนี้เราทำเพื่อต้องการอะไร แต่โลกเขาว่าทำงานอันนี้เพราะต้องการอันนั้น เขาว่าเป็นคนมีเหตุผล แต่พระท่านสอนยิ่งไปกว่านั้นอีก ท่านว่าทำงานอันนี้ทำไปแต่ไม่ต้องการอะไร ทำไมไม่ต้องการอะไร? โลกเขาต้องทำงานอันนี้เพื่อต้องการอันนั้น ทำงานอันนั้นเพื่อต้องการอันนี้ นี่เป็นเหตุผลอย่างชาวโลกเขา

พระพุทธองค์ท่านทรงสอนว่า ทำงานเพื่อทำงาน ไม่ต้องการอะไร ถ้าคนเราทำงานเพื่อต้องการอะไร ก็เป็นทุกข์ ลองดูก็ได้ พอนั่งปั๊บก็ต้องการความสงบ ก็นั่งอยู่นั่นแหละ กัดฟันเป็นทุกข์แล้ว นั่นลองคิดดูซิ มันละเอียดกว่ากันอย่างนี้ คือทำแล้วปล่อยวางๆ อย่างเช่นพราหมณ์เขาบูชายันต์ เขาต้องการสิ่งที่เขาปรารถนานั้นอยู่ การกระทำเช่นนั้นของพราหมณ์นั้นก็ยังไม่พ้นทุกข์ เพราะเขามีความปรารถนาจึงทำ ทำแล้วก็ทุกข์ เพราะทำด้วยความปรารถนา. ครั้งแรกเราทำก็ปรารถนาให้มันเป็นอย่างนั้น ทำไปๆ ทำจนกว่าที่เรียกว่าไม่ปรารถนาอะไรแล้ว ทำเพื่อปล่อยวางมันอยู่ลึกซึ้งอย่างนี้ คนเราปฏิบัติธรรมเพื่อต้องการอะไร? เพื่อต้องการพระนิพพานนั่นแหละ จะไม่ได้พระนิพพาน ความต้องการอันนี้เพื่อให้มีความสงบ มันก็เป็นธรรมดาแต่ว่าไม่ถูกเหมือนกัน จะทำอะไรก็ไม่ต้องคิดว่าจะต้องการอะไรทั้งสิ้น ไม่ต้องการอะไรทั้งสิ้นแล้วมันจะเป็นอย่างไร ก็ไม่เป็นอะไร ถ้าเป็นอะไรมันก็ทุกข์เท่านั้นแหละ

ทำจิตให้ว่าง

การทำงานไม่ให้เป็นอะไรนั้นเรียกว่า ทำจิตให้ว่างแต่การกระทำมีอยู่ ความว่างนี้พูดให้คนฟังไม่รู้เรื่อง แต่คนทำไปจะรู้จักความว่างนี้ว่ามันประโยชน์ ไม่ใช่ว่ามันว่างในสิ่งที่มันไม่มี มันว่างในสิ่งที่มันมีอยู่ เช่นไฟฉายนี้นะมันไม่ว่าง แต่เราเห็นไฟฉายนี้มันว่าง ว่างก็เพราะมีไฟฉายนี้ ไฟฉายนี้เป็นเหตุให้มีว่าง ไม่ใช่ว่างขณะนั้นมองดูไม่มีอะไร ไม่ใช่อย่างนั้น คนฟังความว่าง ก็ไม่ค่อยออกเหมือนกัน ไม่ค่อยจะรู้จักอย่างนั้น ต้องเข้าใจความว่างในของที่มีอยู่ ไม่ใช่ความว่างในของที่ไม่มี.  ลองอย่างนี้ซิ นี่ถ้าหากว่าใครยังมีความปรารถนาอยู่อย่างพราหมณ์ที่บูชายันต์ ที่พราหมณ์บูชายันต์ ก็เพราะเขาต้องการอะไรอันใดอันหนึ่งอยู่ เหมือนกันกับที่โยมมาถึงที่กราบพระ หลวงพ่อผมขอรดน้ำมนต์ ทำไม?รดทำไม? ต้องการกินดีอยู่ดี ไม่เจ็บไม่ไข้นั่นแหละ มันไม่พ้นทุกข์แล้ว ถ้ามันต้องการอย่างนั้น ทำอันนี้เพื่อต้องการอันนั้น ทำอันนั้นเพื่อต้องการอันนี้

นอกเหตุเหนือผล

ในทางพุทธศาสาให้ทำเพื่อไม่ต้องการอะไร ถ้ามีเพื่ออะไรมันไม่หมด ทางโลกทำอะไรเรียกว่ามันมีเหตุผลพระพุทธองค์ท่านทรงสอนว่าให้ "นอกเหตุเหนือผล"ไม่ว่าจะทำอะไร ปัญญาของท่านให้นอกเหตุเหนือผล ให้นอกเกิดเหนือตาย นอกสุขเหนือทุกข์ ลองคิดตามไปซิลองพิจารณาไปตาม คนเราเคยอยู่ในบ้าน พอหนีจากบ้านไปไม่มีที่อยู่ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะเรามันเคยอยู่ในภพ อยู่ในความยึดมั่นถือมั่นเป็นภพ ถ้าไม่มีความยึดมั่นถือมั่นแล้ว ก็เรียกว่าไม่รู้ว่าจะทำอะไร.  เหมือนอย่างคนส่วนมากไม่อยากไปพระนิพพานเพราะกลัว เพราะเห็นไม่มีอะไร ดูหลังคากับพื้นนี่ ที่สุดข้างบนคือหลังคา ที่สุดข้างล่างคือพื้น อันนั้นมันเป็นภพข้างบน อันนี้เป็นภพข้างล่าง ระยะที่ภพทั้งสองนี้มันต่อกัน มันว่างๆคนไม่รู้จัก เหมือนที่ว่างระหว่างหลังคากับพื้น เห็นมันว่างๆก็ไม่รู้จะไปอยู่ตรงไหน ต้องไปอยู่บนหลังคา หรือไม่งั้นก็ที่พื้นข้างล่าง

ที่ๆไม่มีอยู่นั่นแหละมันว่าง เหมือนกับที่ไม่มีภพนั่นแหละ ก็เรียกว่ามันว่าง ตัดเยื่อใยออกเสียมันก็ว่างพอบอกว่าพระนิพพานคือความว่าง ถอยหลังเลยไม่ไปกลัว กลัว จะไม่ได้เห็นลูก กลัวจะไม่ได้เห็นหลาน กลัวจะไม่ได้เห็นอะไรทั้งนั้น อย่างที่เวลาพระท่านให้พรญาติโยมว่า อายุ วรรณโณ สุขขัง พลัง โยมก็ดีใจสาธุเพราะชอบ มันจะได้อายุหลายๆ วรรณะผ่องใส มีความสุขมากๆ มีพลังหลายๆ คนชอบใจ ถ้าจะพูดว่าไม่มีอะไรแล้ว เลิกเลย ไม่ต้องเอาแล้ว.  คนมันติดอยู่ในภพอย่างนั้น บอกไปตรงนั้น ไม่ไปไม่มีที่อยู่แล้ว อายุ วรรณโณ สุขขัง พลัง เออดีแล้วอายุให้ยืนยาว วรรณโณให้มีวรรณะ ผิวพรรรณสวยงามให้มีความสุขมากๆ ให้มีอายุยืนๆ คนอายุยืนๆมีผิวพรรณดีมีไหม เคยมีไหม? คนอายุหลายๆมีพลังมากๆมีไหม? คนอายุมากๆมีความสุขมากๆมีไหม? พอให้พรว่า อายุ วรรณโณ สุขขัง พลัง ดีใจสาธุกันทั้งนั้นทั้งศาลาเลย นี่แหละมันติดอยู่ในภพนี้ เหมือนอย่างพราหมณ์บูชายันต์ ที่ทำพิธีบูชายันต์ เพราะต้องการสิ่งที่เขาปรารถนา

การที่เรามาปฏิบัตินี้ไม่ต้องบูชายันต์ คือไม่ต้องการอะไร ถ้าต้องการอะไรมันก็ยังมีอะไรอยู่ ถ้าไม่ต้องการอะไรมันก็สงบ จบเรื่องของมัน แต่พูดให้ฟังอย่างนี้ ก็คงไม่ค่อยสบายใจอีกแล้ว เพราะอยากจะเกิดกันอีกทั้งนั้น.  ฉะนั้นผู้ปฏิบัติทั้งหลาย ควรเข้าไปใกล้พระให้มาก ดูการปฏิบัติของท่าน การเข้าไปใกล้พระ ก็คือใกล้พระพุทธเจ้า คือใกล้ธรรมะของท่านนั้นแหละ พระ-พุทธเจ้าตรัสว่า "อานนท์ให้ท่านทำให้มาก ให้ท่านเจริญให้มาก ใครเห็นเรา คนนั้นเห็นธรรม ใครเห็นธรรมคนนั้นเห็นเรา"

พระพุทธเจ้าอยู่ตรงไหนล่ะ เราก็นึกว่าพระ-พุทธเจ้าเสด็จมาโปรด แล้วพระพุทธเจ้าก็เสด็จไปแล้ว แต่พระพุทธเจ้าคือธรรมะ คือสัจจธรรม บางคนชอบพูดว่า ถ้าเราเกิดทันพระพุทธเจ้า เราก็จะได้ไปพระนิพพานเหมือนกัน นี่แหละความโง่มันหลุดออกมาอย่างนั้น พระพุทธเจ้ายังมีอยู่ทุกวันนี้ ใครว่าพระพุทธเจ้านิพพาน พระพุทธเจ้าคือสัจจธรรม สัจจธรรมมันจะจริงอยู่อย่างนั้น ใครจะเกิดมา ก็มีอยู่อย่างนั้น ใครจะตายไปก็มีอยู่อย่างนั้น สัจจธรรมนี้ไม่มีวันสูญไปจากโลก เป็นอย่างนั้น มีอยู่ตลอดเวลาอย่างนั้น พระพุทธเจ้าจะเกิดมาก็มี ไม่เกิดมาก็มี ใครจะรู้ก็มี ใครจะไม่รู้ก็มี อันนั้นมันมีอยู่อย่างนั้น

ฉะนั้นจึงว่าให้ใกล้พระพุทธเจ้า เราน้อมเข้ามาน้อมเข้ามา ให้เราเข้าถึงธรรมะ เมื่อได้ถึงธรรมะ เราก็ถึงพระพุทธเจ้า เมื่อเห็นธรรมะเราก็เห็นพระพุทธเจ้า แล้วความสงสัยทั้งหลายก็จะหมดสิ้น เหมือนอย่างครูชู เกิดมาครั้งแรกไม่เป็นครูหรอก เป็นนายชู ต่อมา มาเรียนวิชาของครู สอบได้ ไปบรรจุเป็นครูก็เรียกว่าเป็นครูชูแม้ครูชูจะตายไปแล้ว วิชาของครูนี้ก็ยังมีอยู่ไม่หายไปไหน ใครจะไปเรียนวิชาครู ไปสอบได้ก็ได้เป็นครูอยู่วิชาครูนั้นยังอยู่เป็นสัจจธรรม ยังมีในโลกเหมือนสัจจธรรมที่ทำให้พระองค์เป็นพระพุทธเจ้า ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงยังมีอยู่อย่างนั้น ดังนั้นใครปฏิบัติไปก็จะเห็นธรรมะ เห็นธรรมะก็จะเห็นพระพุทธเจ้า เดี๋ยวนี้คนไม่เห็นทั้งนั้นแหละ มองพระพุทธเจ้าไปตรงไหนก็ไม่รู้ไม่รู้จักแล้วยังพูดว่า ถ้าฉันเกิดพร้อมพระพุทธเจ้า ฉันก็คงจะได้เป็นลูกศิษย์ของท่าน และคงจะได้ตรัสรู้เหมือนกัน พูดออกมาด้วยความโง่ นี่ขอให้เข้าใจอันนี้ให้ดี

จิตเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และการปฏิบัติของเราก็เช่นเดียวกัน อย่าไปเข้าใจว่าออกพรรษาแล้วก็สึก อย่าคิดอย่างนั้น ความคิดชั่ววูบเดียวอาจทำให้ฆ่าคนได้ ในทำนองเดียวกัน ความดีวูบเดียวในขณะจิตเดียวเท่านั้นไปได้เหมือนกัน ให้เข้าใจอย่างนี้ อย่าไปเข้าใจว่าฉันบวชมานานแล้ว จิตจะภาวนาอย่างไรก็ได้ อย่า อย่าคิดอย่างนั้น ความชั่ววูบเดียวเท่านั้นให้ทำกรรมหนักได้โดยไม่รู้ตัว เช่นเดียวกัน สาวกทุกๆองค์ของท่านที่ได้ปฏิบัติมานานแล้ว เมื่อมันจวบจะถึงที่ มันก็ขณะจิตเดียวเท่านั้น

ฉะนั้นอย่าไปประมาทของเล็กๆน้อยๆ จงเพียรพยายามให้หนัก อย่างนั้นถึงได้ว่าให้ไปอยู่กับพระ ให้เข้าใกล้พระ แล้วให้พิจารณาถึงจะรู้จักพระ ให้เข้าใจดีๆ เอาละ คืนนี้มันจะดึกแล้วกระมัง บางคนก็ง่วงนอนแล้วพระพุทธเจ้าท่านไม่เทศน์ให้คนง่วงนอนฟังหรอก ท่านเทศน์ให้คนลืมตาลืมใจฟัง

Source: http://www.ajahnchah.org

Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: