“บุคคลผู้ตั้งอยู่ในอริยธรรม ย่อมถือเอาประโยชน์จากโภคทรัพย์ได้”
หากจะพึงมีคำถามว่า “บุคคลผู้ตั้งอยู่ในอริยธรรม” ในปัญหากรรมนี้ คือบุคคลเช่นไร ?
พระอรรถกถาจารย์อธิบายไว้ในอรรกถาปัตตกัมมสูตรว่า “อริยธมฺเม ฐิโตติ ปญฺจสีลธมฺเม ปติฏฺฐิโต” แปลความว่า “บุคคลผู้ตั้งอยู่ในอริยธรรม คือ บุคคลผู้ตั้งอยู่ในเบญจศีลเบญจธรรม” ได้แก่บุคคลผู้มีศีล ๕ และมีกัลยาณธรรม ๕ ประการ คือ (๑) เมตตากรุณา คือความรักความปรารถนาดี (๒) สัมมาอาชีวะ คือการประกอบอาชีพสุจริต (๓) กามสังวร คือการสำรวมในกาม (๔) สัจจะ คือการพูดความจริง ไม่หักรานประโยชน์ผู้อื่น และ (๕) สติสัมปชัญญะ คือความระลึกได้และความรู้ตัว
คำว่า “โภคทรัพย์” คือทรัพย์สิ่งของที่ใช้อุปโภคบริโภค อันตนแสวงหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวมด้วยน้ำพักน้ำแรง อาบเหงื่อต่างน้ำ ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม (ได้มาโดยธรรม คือไม่ล่วงละเมิดกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการได้มาแล้ว)
ถามว่า “ประโยชน์อะไรบ้าง ที่ควรถือเอาจากโภคทรัพย์นั้น ?”
พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในอาทิยสูตรว่า “ดูกรคหบดี ประโยชน์ที่จะพึงถือเอาจากโภคทรัพย์มี ๕ ประการนี้ ประโยชน์ ๕ ประการนี้ อะไรบ้าง คือ
๑. อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ย่อมบำรุงตนเอง บำรุงมารดาบิดา บำรุงบุตร ภรรยา ทาส กรรมกร และคนใช้ให้เป็นสุข บริหารให้เป็นสุข โดยชอบ ด้วยโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวมด้วยน้ำพักน้ำแรง อาบเหงื่อต่างน้ำ ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม นี้เป็นประโยชน์ที่ควรถือเอาจากโภคทรัพย์ประการที่ ๑
๒. อริยสาวกย่อมบำรุงตนเองบำรุงมิตรและอำมาตย์ให้เป็นสุข บริหารให้เป็นสุข โดยชอบ ด้วยโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวมด้วยน้ำพักน้ำแรง อาบเหงื่อต่างน้ำ ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม นี้เป็นประโยชน์ที่ควรถือเอาจากโภคทรัพย์ประการที่ ๒
๓. อริยสาวกย่อมป้องกันอันตรายที่เกิดจากไฟ น้ำ พระราชา โจร คนที่ไม่ชอบกัน หรือจากทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก ทำตนให้ปลอดภัย นี้เป็นประโยชน์ที่ควรถือเอาจากโภคทรัพย์ประการที่ ๓
๔. อริยสาวกย่อมทำพลี ๕ อย่าง คือ (๑) ญาติพลี สงเคราะห์ญาติ (๒) อติถิพลี ต้อนรับแขก (๓) ปุพพเปตพลี ทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย (๔) ราชพลี ถวายเป็นของหลวงมีเสียภาษีอากรเป็นต้น (๕) เทวตาพลี ทำบุญอุทิศให้เทวดา นี้เป็นประโยชน์ที่ควรถือเอาจากโภคทรัพย์ประการที่ ๔
๕. อริยสาวกย่อมใช้จ่ายโภคทรัพย์ ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวมด้วยน้ำพักน้ำแรง อาบเหงื่อต่างน้ำ ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม บำเพ็ญทักษิณาอันมีผลสูงเลิศ เกื้อกูลแก่สวรรค์ มีวิบากเป็นสุข ยังอารมณ์เลิศให้เป็นไปด้วยดี (คือทำอารมณ์อันดีคือของวิเศษ ๑๐ ประการมีวรรณทิพย์เป็นต้นให้เกิด) ในสมณพราหมณ์ ผู้เว้นจากความมัวเมาประมาท ผู้ตั้งอยู่ในขันติและโสรัจจะ ผู้มั่นคง ผู้ฝึกฝนตนให้สงบระงับดับกิเลสโดยส่วนเดียว นี้เป็นประโยชน์ที่ควรถือเอาจากโภคทรัพย์ประการที่ ๕
ดูกรคหบดี ประโยชน์ที่ควรถือเอาจากโภคทรัพย์ ๕ ประการนี้แล”
อนึ่ง หากมีผู้สงสัยว่า “โภคทรัพย์ที่เขาใช้จ่ายไปด้วยเหตุ ๕ ประการนั้น ไม่หมดสิ้นไปหรือ ?” ก็ตอบตามตรงว่าหมดสิ้นไปเหมือนกัน แต่อริยสาวกมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราได้ถือเอาประโยชน์จากโภคทรัพย์นั้นแล้ว และโภคทรัพย์ของเราก็หมดสิ้นไป’ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีความเดือดร้อนใจในภายหลัง และโภคทรัพย์กล่าวคืออริยทรัพย์ภายใน (มีศรัทธาเป็นต้น) ของเขาก็เพิ่มพูนยิ่งขึ้นอีก
เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสคาถาประพันธ์ไว้ในอาทิยสูตรว่า
“นรชนผู้จะต้องตายเมื่อคำนึงถึงเหตุนี้ว่า
‘โภคทรัพย์ เราได้บริโภคแล้ว คนที่ควรเลี้ยง เราได้เลี้ยงแล้ว
อันตรายทั้งหลาย เราได้ข้ามพ้นแล้ว ทักษิณาที่มีผลสูงขึ้นไป เราได้ให้แล้ว
และพลี ๕ อย่าง เราได้ทำแล้ว ท่านผู้มีศีลสำรวมระวัง ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ เราได้บำรุงแล้ว
ประโยชน์ที่บัณฑิตผู้อยู่ครองเรือนปรารถนา เราก็ได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
กรรมที่ไม่ก่อความเดือดร้อนในภายหลัง เราก็ได้ทำแล้ว’ จึงชื่อว่า “เป็นผู้ตั้งอยู่ในอริยธรรม”
บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขาในโลกนี้
เขาตายไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์ ดังนี้.
สาระธรรมจากอาทิยสูตร (ว่าด้วยประโยชน์ที่ควรถือเอาจากโภคทรัพย์) ในอังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต
พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ) วัดสามพระยา กรุงเทพ ฯ
11/12/64
0 comments: