วันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2564

สติปัฏฐาน 4 ที่เป็นทั้งทางสายเดียว เป็นทั้งทางสายกลาง


สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ

สติปัฏฐาน 4 ที่เป็นทั้งทางสายเดียว เป็นทั้งทางสายกลาง ย่อมเป็นที่พึ่งแก่สัพพสัตว์ที่ประพฤติปฏิบัติตน ทั้งยังเป็นเครื่องบ่งบอกว่าพระศาสนายังดำรงอยู่หรือไม่ เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า ในพระพุทธศาสนานี้

ไม่ปรากฏตอนไหนเลย ที่จะยึดเอาสิ่งอื่นๆเป็นที่พึ่ง แม้แต่พระองค์เอง พระองค์ก็มิได้ทรงสอนให้สาวกยึดถือเป็นที่พึ่ง มีแต่ทรงสอนให้ยึดเอาตนเท่านั้นเป็นที่พึ่ง

ก็ข้อปฏิบัติเพื่อการทำตนให้เป็นที่พึ่งนั้น ไม่พ้นไปจากการให้เจริญสติปัฏฐาน 4 อีกนั่นแหละ เพียงแต่จะออกชื่อโดยตรงหรือไม่เท่านั้น.  ข้อที่ว่านี้ ก็สมจริง ตามที่ปรากฏอยู่ในสังยุตตนิกาย มหาวรรค สติปัฏฐานสังยุตต์ เป็นเนื้อความตอนหนึ่งว่า

ตสฺมา ติหานนฺท อตฺตทีปา วิหหถ อตฺตสรณา อนญฺญสรณา ธมฺมทีปา ธมฺมสรณา อนญฺญสรณา เป็นต้น ซึ่งแปลว่า ดูก่อน อานนท์ ก็อย่างไรเล่า ? ภิกษุชื่อว่า มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นใดเป็นที่พึ่ง

ดูก่อน อานนท์ ภิกษุหรือบุคคลผู้กำลังปฏิบัติในพระศาสนานี้ เป็นผู้มีความเพียรชอบ อันสามารถเผาผลาญกิเลสให้เร่าร้อน ฯลฯ กำลังกำจัดอภิชฌา ความยินดี และ โทมนัส ความยินร้าย ในโลก คือ ในอุปาทานขันธ์ 5 อยู่.  ดูก่อน อานนท์ ภิกษุชื่อว่า มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นเป็นที่พึ่ง ฯลฯ อย่างนี้แล

เท่าที่กล่าวไปแล้วนั้น เล็งถึงประโยชน์ส่วนตน ที่พึงได้รับจากการเจริญสติปัฏฐาน ของแต่ละบุคคลแห่งสรรพสัตว์ทั้งหลาย.  นอกจากจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตน ดังประการที่กล่าวแล้ว สติปัฏฐาน 4 นี้ ยังเป็นส่วนที่สำคัญในอันที่จะธำรงพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนอยู่ตลอดกาลนานอีกด้วย

ข้อนี้ก็สมจริง ตามที่ปรากฏเป็นพระดำรัสอยู่ใน สังยุตตนิกาย มหาวรรค พราหมณสูตร ทรงตรัสตอบกะพราหมณ์ผู้หนึ่ง ซึ่งกราบทูลถามถึงเหตุปัจจัยที่จะให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้ไม่นาน หรือตั้งอยู่ได้นาน ในเมื่อพระองค์ได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้วว่า :- 

จตุนฺนํ โข พฺราหฺมณ สติปฏฺฐานํ อภาวิตตฺตา เป็นต้น ซึ่งแปลว่า ดูก่อน พราหมณ์ เพราะบุคคลมิได้เจริญ มิได้กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน 4 พระสัทธรรมจึงตั้งอยู่ได้ไม่นาน ในเมื่อตถาคตปรินิพพานไป  และเพราะบุคคลได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน 4 พระสัทธรรมจึงตั้งอยู่ได้นาน ในเมื่อตถาคตได้ปรินิพพานไปแล้ว

สติปัฏฐาน 4 เป็นไฉน ? ฯลฯ

โดยประการเท่าที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด ท่านทั้งหลายจะเห็นว่า สติปัฏฐาน 4 เป็นส่วนสำคัญในพุทธศาสนา อย่างจะขาดเสียมิได้ เพราะฉะนั้น เมื่อมีความสำคัญยิ่งอย่างนี้ เราท่านทั้งหลาย ผู้มีศรัทธาในพุทธศาสนา ก็ควรหาโอกาสศึกษา และปฏิบัติสติปัฏฐาน 4 ให้สมกับที่ได้พบพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นโอกาสอันหาได้ยากยิ่งเถิด

ที่มา : http://dhamma.serichon.us



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: