สิ่งที่ใช้ตรวจสอบ...“ผลการปฏิบัติธรรม”
…. “ในการตัดสินผลการปฏิบัติ ว่าใครก้าวหน้าไปแค่ไหน ใครเป็นผู้สำเร็จ ใครบรรลุธรรมเป็นอรหันต์หรือไม่? จะวัดกันด้วยอะไร?
เรามักจะตื่นเต้นกัน บางทีก็ตื่นเต้นด้วยอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ เห็นท่านไหนมีอิทธิฤทธิ์ก็ฮือฮากันว่า โอ! ท่านคงจะสำเร็จแล้ว เป็นพระอรหันต์แล้ว ใครทำนั่นทำนี่ได้ก็เป็นผู้วิเศษ บางทีก็ตื่นกันว่าท่านผู้นั้นเข้าสมาธิได้ เห็นโน่น เห็นนี่ มองเห็นสวรรค์วิมาน แม้แต่ไปพบพระพุทธเจ้าได้ เป็นผู้สำเร็จ หรือบางทีเห็นผู้ที่ถือศีลเคร่งครัดมากเป็นพิเศษก็นึกว่า..นี่ เป็นผู้สำเร็จ
…. ทั้งหมดนั้น ก็เป็นเรื่องที่มองกันไปต่างๆ แต่การตรวจสอบผลสำเร็จที่แท้จริงนั้น ต้องวัดได้ที่ประสบการณ์ตรงที่ในใจของทุกคนนี่เอง
…. พระพุทธเจ้าทรงเห็นแล้วว่า คนเรานี่จะเขวได้ง่าย จึงตรัสหลักในการตรวจสอบไว้ การตรวจสอบด้วยประสบการณ์ตรง ก็คือ…
ให้ดูใจของตนเองว่า มีโลภ โกรธ หลง ไหม? แล้วละคลายไปได้แค่ไหน มีความก้าวหน้าในเรื่องนี้แค่ไหน เพียงไร มีความคิดประทุษร้ายต่อผู้อื่นหรือไม่ มีความเกลียดชังผู้อื่นหรือไม่ มีความต้องการในทางที่เห็นแก่ตนมากมายแค่ไหน เพียงไร มีความลุ่มหลงเพลิดเพลินมัวเมาแค่ไหน เพียงไร ใจตัวเองรู้
…. ถึงจะปฏิบัติมีศีลเคร่งครัดแค่ไหนเพียงไร หรือได้ฌานสมาบัติ มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์อะไร หรือจะได้สมาธิดื่มด่ำอะไรก็ตาม ก็ไม่ใช่เป็นเครื่องวินิจฉัย
…. ในพระธรรมบทก็มีคาถาซึ่งเป็นพุทธพจน์ ที่พระพุทธเจ้าตรัสเตือนไว้ว่า “ น สีลพฺพตมตฺเตน ” เป็นต้น คาถานี้มีใจความว่า ภิกษุไม่ว่าจะถือศีลวัตรเคร่งครัดแค่ไหน ไม่ว่าจะได้เล่าเรียนปริยัติมีความรู้กว้างขวางลึกซึ้งเพียงใด ไม่ว่าจะได้สมาธิสักเท่าใด ไม่ว่าจะปลีกตัวไปอยู่ในที่สงัด ไปอยู่ป่าอยู่เขาขนาดไหน หรือแม้แต่จะได้รู้สึกประจักษ์แก่ตัวเองว่า เรานี้ได้สัมผัสกับความสุขอันประณีตลึกซึ้งภายใน ที่เรียกว่า“เนกขัมมสุข” ซึ่งเป็นความสุขที่ปุถุชนไม่รู้จัก แม้แต่ได้ความสุขอย่างนั้น #ตราบใดที่ยังไม่สิ้นอาสวะก็อย่าเพิ่งวางใจ
…. เป็นอันว่า มีพุทธพจน์ตรัสเตือนไว้แล้ว ที่จริงท่านเตือนพระแต่ละองค์นั่นเอง ให้วินิจฉัยให้ตรวจสอบตนเอง แต่เราก็สามารถนำมาใช้กันในสังคมได้ด้วยว่า อย่าไปหลงเพลินวัดกันด้วยสิ่งที่ปรากฏอันน่าทึ่งน่าตื่นเต้น ด้วยการมีฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ ด้วยการที่ได้สมาธิ ด้วยการที่มีความเคร่งครัดเข้มงวดอะไรต่างๆ ทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่ท่านไม่ให้วางใจ
…. สิ่งที่ตรวจสอบได้แท้จริง คือ ความจางคลายหมดสิ้นไปของ ความโลภ ความโกรธ ความหลง...”
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )
ที่มา : จากหนังสือ “ปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง”, ธรรมะเพื่อทางพ้นทุกข์ โดย ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ
0 comments: