วันศุกร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2564

พุทธศาสนา เป็นศาสนาแห่งปัญญา

พุทธศาสนา เป็นศาสนาแห่งปัญญา 

“ปัญญา” เป็นตัวตัดสิน ในการเข้าถึง “จุดหมายของพระพุทธศาสนา” 

“มนุษย์เรานี้มีประสบการณ์ในเรื่องศาสนากันมาเป็นเวลายาวนาน มีนักคิดมากมายเกิดขึ้น แล้วก็ค้นคว้าหาหลักความจริงมาสอนมนุษย์ เกิดเป็นลัทธิศาสนาต่างๆมากมาย ซึ่งอาจแยกประเภทได้ดังนี้

ศาสนาประเภทที่ ๑ 

ย้ำเรื่อง “ศรัทธา” เขาบอกว่า ให้ฝากชีวิตมอบจิตมอบใจไว้ในองค์เทพสูงสุด แล้วทำตามคำสั่งสอนไป ไม่ต้องสงสัยอะไรทั้งสิ้น อย่างนี้เป็นศาสนาที่ใช้ศรัทธาเป็นเครื่องตัดสิน ศรัทธาเท่านั้นจะให้ท่านเข้าถึงจุดหมายของศาสนา

ศาสนาประเภทที่ ๒

คือพวกที่ถือ “ศีลวัตร” เป็นตัวตัดสิน พวกนี้จะถือระเบียบ แบบแผน กฎเกณฑ์ ที่วางไว้ให้ แล้วประพฤติปฏิบัติตามนั้น ถือว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้นเข้าถึงจุดหมายของศาสนาด้วย “ศีลวัตร” ดังมีคำในคัมภีร์เรียกว่า “สีเลน สุทฺธิ แปลว่า การบริสุทธิ์ด้วยศีล” คือเพียงว่ายึดถือศีล ข้อบังคับ ระเบียบ กฎเกณฑ์ อย่างเดียวเท่านั้น ให้เคร่งครัดเข้มงวด เมื่อปฏิบัติไปตามนั้นได้จริงแล้ว ก็จะหลุดพ้นถึงจุดหมายของศาสนาได้เอง อันนี้ พระพุทธศาสนาเรียกว่า “สีลัพพตปรามาส” ก็เป็นหลักการของศาสนาประเภทหนึ่ง

ศาสนาประเภทที่ ๓

ได้แก่ พวกที่ยึดเอา “สมาธิ” เป็นตัวตัดสิน คือบำเพ็ญข้อปฏิบัติทางจิตใจ ให้จิตดื่มด่ำ จนกระทั่งในขั้นสุดท้าย จิตจะเข้ารวมกลืนหายกลายเป็นหนึ่งเดียวกับภาวะสูงสุด ซึ่งอาจจะเป็นเทพสูงสุด หรือเป็น “ปรมาตมัน” อะไรก็ตาม ศาสนาประเภทนี้มีอยู่ไม่น้อย เป็นศาสนาขั้นที่ประณีตมาก

รวมแล้วก็มี ๓ ประเภทด้วยกัน คือ  ๑. พวกปลงศรัทธา มอบจิตฝากใจให้ไปเลย  ๒. พวกถือศีลวัตร ตัดสินด้วยความเคร่งครัดเข้มงวด   ๓. พวกถือสมาธิ มุ่งให้จิตดื่มด่ำเข้ารวมกับภาวะสูงสุด แต่พระพุทธศาสนาไม่ได้ถืออย่างนั้น พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญทั้งแก่ศรัทธา ทั้งแก่ศีลวัตร และแก่สมาธิ ถือว่าเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้ในการเข้าถึงจุดหมาย แต่..ไม่ใช่ตัวตัดสิน อันนี้เป็นข้อที่ควรต้องระวัง! ไม่ใช่ว่า..พระพุทธศาสนาจะไม่ให้ความสำคัญแก่สิ่งเหล่านั้น ทั้งศรัทธา ทั้งศีลวัตร และสมาธิ เป็นบาท เป็นฐาน และเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้

สำหรับ “ศรัทธา” นั้นพระพุทธเจ้ายังเคยตรัสว่า “ สทฺธา ตรติ โอฆํ แปลว่า บุคคลย่อมข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา” ข้ามโอฆะคืออะไร? ข้ามโอฆสงสารก็คือข้ามวัฏฎสงสาร หมายความว่า พ้นจากการเวียนว่ายในความทุกข์ แสดงว่าพระพุทธเจ้ายอมรับว่าเราจะพ้นทุกข์ได้ด้วยศรัทธา นี่ ถ้ามองเผินๆเราก็บอกว่า..เอาแค่ศรัทธาก็พอ

ในกรณีของ “ศีล” ก็สามารถอ้างคำบาลีอีกแห่งหนึ่ง เวลาพระให้ศีลจบท่านก็สรุปทุกครั้งว่า “ สีเลน สคตึ ยนฺติ สีเลน โภคสมฺปทา สีเลน นิพฺพุคึ ยนฺติ คือบอกว่า บุคคลย่อมไปนิพพาน คือ “นิพฺพุตึ” ด้วยศีล อ้าว! ถึงนิพพานได้ด้วยศีลแล้วนี่ ก็แสดงว่ายอมรับว่าศีลทำให้ไปนิพพานได้ พอแล้ว

สำหรับ “สมาธิ” ก็มีตัวอย่างคำสอนมากมายที่จะยกมาอ้าง ถ้าจะอ้างกันแบบง่ายๆ ว่าสมาธิก็พอที่จะถึงนิพพาน ก็สามารถยกตัวอย่างนิพพานขั้นต้นๆ อย่างที่เรียกว่า “นิโรธ” ในนิโรธ ๕ มี “วิกขัมภนนิโรธ” เป็นข้อแรก ได้ฌานสมาบัติก็ถือว่าถึง “วิกขัมภนนิโรธ” หรือในพระไตรปิฎก ที่พระพุทธเจ้าตรัสเรื่อง “ตทังคนิพพาน” และ “ทิฏฐธัมมนิพพาน” พระพุทธเจ้ายังตรัสว่า ปฐมฌานก็ตามทุติยฌานก็ตาม จนกระทั่งถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ ซึ่งเป็นสมาธิในระดับประณีต สูงขึ้นไปโดยลำดับนี้ แต่ละอย่างเป็นนิพพานได้โดยปริยาย พระองค์ตรัสไว้อย่างนั้น แต่ยังไม่ใช่ตัวแท้ตัวจริง

พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญแก่หลักธรรมเหล่านั้น แต่พระองค์ย้ำว่า “ปัญญา” นี่แหละ! เป็นตัวตัดสิน ศรัทธาก็เพื่อปัญญา ศีลวัตรก็เพื่อประคับประคองจนกระทั่งเกิดปัญญา โดยเฉพาะสินวัตรนั้นช่วยให้เกิดสมาธิ สมาธิก็ต้องนำไปสู่ปัญญา ถ้าไม่อย่างนั้นก็เป็นเพียงสมาธิที่นำไปสู่ภาวะที่ดื่มด่ำทางจิตเท่านั้น เป็นเรื่องของสมถะไม่ถึงนิพพาน.  ตกลงว่า จะต้องให้ถึงขั้นสูงสุดคือปัญญา มีอุปมาเหมือนอย่างจะตัดต้นไม้ เราต้องมีอะไรบ้าง ขอให้คิดดู

๑. เราจะต้องโน้มจิตใจโน้มตัวเข้าไปหาการตัดต้นไม้นั้น ใจเอาด้วยกับการที่จะตัดต้นไม้ แล้วมุ่งเข้าไปที่ต้นไม้ ๒. ต้องมีที่เหยียบยัน ถ้าตัวเราไม่มีที่ยืนยัน ไม่มีที่ยืนตั้งตัวไว้ เราก็ทำอะไรไม่ได้  ๓. ต้องมีกำลังในการที่จะยกมีดขวานขึ้นตัด  ๔. ต้องมีมีดขวานที่คมหรืออุปกรณ์ที่ใช้ตัดได้

ในอุปมานี้ การหันหน้ามุ่งเข้าไปหาสิ่งนั้นก็คือ “ศรัทธา” พื้นดินที่เหยียบยันก็ตรงกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เสมอว่า “ศีล” เปรียบเหมือนพื้นดินเป็นที่เหยียบยัน ทำให้เราทำการงานได้ ประการที่ ๓ เรี่ยวแรงกำลังของเรา ในการหยิบยกมีดขวานขึ้นมาตัด นั่นก็คือ “สมาธิ” แล้วสุดท้ายตัวมีด หรือ ขวาน ที่คมนั้น ก็คือ “ปัญญา”

ตัวที่ตัด ที่ทำให้ขาด ทำให้หลุด ทำให้สำเร็จกิจ คืออะไร? คือมีดหรือขวาน มีดขวานนั้นเป็นตัวตัด ทำให้งานสำเร็จบรรลุจุดหมาย แต่ถ้าเราไม่มี ๓ อย่างแรก ทั้งที่มีมีดมีขวาน เราก็ตัดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ๓ อย่างแรกก็ขาดไม่ได้ แต่ตัวตัดสินคืออันที่ ๔ ได้แก่ตัว “ปัญญา”

พระพุทธศาสนาสอนว่า “ปัญญา” เป็นตัวตัดสิน จึงถือว่าปัญญาเป็นคุณธรรมสำคัญ เป็นเอก ปัญญาในขั้นสูงสุดคือ ปัญญาในขั้นที่จะทำงานรู้เท่าทัน“สัจธรรม” ที่จะตัด“สังโยชน์” เครื่องผูกมัดสัตว์ไว้กับวัฏสงสาร ไว้กับความทุกข์ ได้แก่ปัญญาที่มีชื่อเรียกเฉพาะว่า “วิปัสสนา” วิปัสสนาก็คือ“ปัญญา”นั่นแหละ! แต่เป็นปัญญาในระดับหนึ่ง ประเภทหนึ่ง ทำหน้าที่อย่างหนึ่ง ซึ่งเราเรียกชื่อเฉพาะว่าเป็น “วิปัสสนา”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )

ที่มา : ปาฐกถาธรรม ณ สำนักงานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พสลฺ) เมื่อ ๒๙ มกราคม ๒๕๓๒ จากหนังสือ “ลักษณะแห่งพระพุทธศาสนา” ลักษณะที่ ๗ ศาสนาแห่งปัญญา ,  ธรรมะเพื่อทางพ้นทุกข์ โดย ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ






Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: