“พึงศึกษาธรรมเป็นเครื่องดับกิเลสของตน”
พึงศึกษาธรรมเป็นเครื่องดับกิเลสเพื่อตน คือ
๑. พึงศึกษาอธิศีล อบรมปฏิบัติให้ถูกต้องดีงาม คือการฝึกฝนอบรมความประพฤติทางกายวาจาให้อยู่ในระเบียบวินัย เพื่อการอยู่ร่วมกับผู้อื่นและในสิ่งแวดล้อมต่างๆ ด้วยดี ให้เกื้อกูลกัน ไม่เบียดเบียนกัน ไม่ทำลายกัน ตามหลักจุลศีล มัชฌิมศีล และมหาศีล ตลอดถึงปฏิบัติอยู่ในหลักอินทรียสังวร สติสัมปชัญญะ และสันโดษเป็นต้น
๒. พึงศึกษาอธิจิต อบรมจิตให้สงบมั่นคงเป็นสมาธิ ได้แก่การบำเพ็ญสมถกรรมฐาน
๓. พึงศึกษาอธิปัญญา อบรมตนให้เกิดปัญญาแจ่มแจ้ง ได้แก่การบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อประโยชน์แก่การดับกิเลสมีราคะเป็นต้นเพื่อตน
บุคคลผู้ศึกษาธรรม ผู้มีปัญญาเป็นเครื่องรักษาตน ผู้มีสติ รู้แจ้งอยู่ว่า “ตัณหานั้นเป็นกิเลสที่ทำให้ติดข้องอยู่ในโลก” จึงหมั่นกระทำความเพียรเพื่อดำเนินชีวิตให้ข้ามพ้นจากตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลก เพิ่มพูนบารมีเพื่อวิเวกธรรมคือธรรมเป็นเครื่องสงัดกิเลส ได้แก่ธรรมคือพระนิพพานเป็นเครื่องสงัดสังขารทั้งปวง ดังนี้แล.
สาระธรรมจากพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ (โธตกสุตฺตวณฺณนา)
พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ)
4/7/64
0 comments: