วันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ทำความเข้าใจ "อุเบกขา ให้ถูกกันเสียที" (พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ)

อุเบกขา ให้ถูกกันเสียที

มีธรรมะคำหนึ่งที่คนพุทธส่วนใหญ่เข้าใจกันผิดไปมาก คือคำว่า อุเบกขา โดยเฉพาะก็อุเบกขา ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้หลักพรหมวิหารธรรม ๔ ประการ

คนพุทธส่วนใหญ่เข้าใจอุเบกขาผิด ถึงพระบางรูปก็สอนผิด คือเราไปแปลคำว่าอุเบกขาว่าวางเฉย และวางเฉยในที่นี้ก็มีนัยยะเดียวกับคำว่า เมินเฉย

เมื่อเราเข้าใจอุเบกขาอย่างนี้ เราจึงนำคำว่าอุเบกเขามาใช้ในกรณีที่เราต้องไม่การจะรับรู้หรือเข้าไปข้องเกี่ยวกับเรื่องใดๆ ที่เราเห็นว่า อาจนำความวุ่นวายหรือความเดือดร้อนมาให้กับตนเอง 

อุเบกขาที่คนพุทธส่วนใหญ่ปฎิบัติกัน จึงเป็นอุเบกขาที่อยู่ในคราบของความเห็นแก่ตัว หรือความเอาแต่ตัวรอด 

คนอื่นจะทุกข์ร้อนอย่างไร ฉันอุเบกขา สังคมจะไม่เป็นธรรมอย่างไรฉันอุเบกขา อันนี้มันเป็นการเข้าใจธรรมแบบผิดฝาผิดตัวเลย

อุเบกขาในหลักพรหมวิหารธรรม เป็นชื่อของปัญญาอย่างหนึ่ง ปัญญาที่เกิดจากการมองเห็นและการวางใจอย่างเที่ยงธรรมและเป็นกลาง เที่ยงธรรมและเป็นกลางในที่นี้ หมายถึงไม่เอนเอียงไปด้วยความอคติทั้ง ๔ ไม่ว่าจะด้วยการเลือกที่รักมักที่ชัง หรือเห็นแก่ภัยและความกลัว (ต่ออำนาจ) เป็นต้น

อุเบกขาไม่ใช่การไม่รับรู้อะไร แต่ในทางตรงกันข้าม คือการมีสติปัญญาที่จะเข้าไปพิจารณาสิ่งต่างๆ จากนั้นก็เกิดความเห็นในสิ่งเหล่านั้นอย่างชัดแจ้งเต็มที่ 

เห็นถูกเห็นผิด เห็นทุกข์เห็นสุข เห็นเหตุเห็นผลชัดเจน จากนั้นจึงวางใจอย่างเที่ยงตรงและเป็นธรรมต่อสิ่งที่เห็น ไม่ปล่อยให้อารมณ์ไม่ปล่อยให้ความอคติมาทำให้สิ่งที่เห็นผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง นี่เรียกว่ามีอุเบกขา 

ทำไม พระพุทธเจ้าถึงตรัสอุเบกขาไว้ในข้อสุดท้ายแห่งพรหมวิหารธรรม เพราะอุเบกขา เป็นธรรมที่ปฏิบัติได้ยากมาก 

ยกตัวอย่างก็ได้ ผู้ปกครองที่มีอุเบกขา ย่อมไม่เข้าข้างบุตรหลานที่ทำเรื่องผิดกฎหมาย ไม่ช่วยปกป้องหรือปกปิดในการกระทำที่ไม่ดีของบุตรหลานเหล่านั้น 

ผู้ปกครองที่มีอุเบกขา ย่อมยอมรับในพฤติกรรมที่ไม่ดีของบุตรหลาน ย่อมเห็นโดยเที่ยงธรรมว่า การที่บุตรหลาน จะถูกจับกุม ถูกดำเนินคดี ถูกส่งไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เป็นสิ่งที่ควรทำและเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว 

นี่ แบบเรียกเรียกว่า มีอุเบกขา คือวางใจเป็นกลางตามเหตุผลและความถูกต้อง 

อันนี้ก็เป็นเรื่องที่โยมควรจะช่วยกันทำความเข้าใจเสียใหม่ อุเบกขาชนิดที่ไม่สนใจไม่รับรู้อะไรเลย อุเบกขาที่เอาแต่เรื่องที่เป็นผลประโยชน์ของตนเอง อะไรที่ตนเองไม่ได้ผลประโยชน์ไม่ยุ่ง อย่างนี้ มันใช่อุเบกขาแบบที่พระพุทธเจ้าสอนหรือเปล่า ?

ที่มา : พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ

อุเบกขา ให้ถูกกันเสียที มีธรรมะคำหนึ่งที่คนพุทธส่วนใหญ่เข้าใจกันผิดไปมาก คือคำว่า อุเบกขา โดยเฉพาะก็อุเบกขา...

Posted by พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ on Thursday, February 11, 2021

post written by:

Related Posts

0 comments: