วันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ตายเสียดีกว่าดูดพิษที่คายออกแล้ว (คาถางูคลายพิษ)

ตายเสียดีกว่าดูดพิษที่คายออกแล้ว (คาถางูคลายพิษ)

ธิรตฺถุ  ตํ  วิสํ  วนฺตํ,  ยมหํ  ชีวิตการณา;   วนฺตํ  ปจฺจาวมิสฺสามิ,  มตํ  เม  ชีวิตา  วรนฺติ ฯ   เราจักดูดพิษที่คายออกแล้ว เพราะเหตุแห่งชีวิตอันใด พิษที่คายออกแล้วนั้นน่าติเตียน, เราตายเสียประเสริฐกว่าความเป็นอยู่"

วิสวันตชาดกอรรถกถา

พระบรมศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภพระธรรมเสนาบดี ตรัสพระธรรมเทศนานี้มีคำเริ่มต้นว่า ธิรตฺถุ ตํ วิสํ วนฺตํ ดังนี้.

ได้ยินว่า ในคราวที่พระสารีบุตรเถระขบฉันของเคี้ยวที่ทำด้วยแป้ง พวกมนุษย์พากันนำของเคี้ยวที่ทำด้วยแป้งเป็นจำนวนมาก มาสู่วิหารเพื่อพระสงฆ์ ของที่เหลือจากที่ภิกษุสงฆ์รับเอาไว้ ยังมีมาก พวกมนุษย์พากันพูดว่า „พระคุณเจ้าทั้งหลายโปรดรับไว้ เพื่อภิกษุที่ไปในบ้านด้วยเถิด“.  ขณะนั้นภิกษุหนุ่มสัทธิวิหาริกของพระเถระเจ้าไปในบ้าน พวกภิกษุรับส่วนของเธอไว้ เมื่อเธอยังไม่มา เห็นว่า เป็นเวลาสายจัด ก็ถวายแด่พระเถระเจ้า. เมื่อท่านฉันแล้ว ภิกษุหนุ่มจึงไปถึง.

ครั้งนั้น พระเถระกล่าวกะเธอว่า „ผู้มีอายุ ฉันบริโภคของเคี้ยวที่เก็บไว้เพื่อเธอหมดแล้ว“. ภิกษุนั้นกล่าวว่า „ข้าแต่พระคุณเจ้า ธรรมดาของอร่อยใครจะไม่ชอบเล่าขอรับ“. ความสลดใจ เกิดขึ้นแก่พระมหาเถระเจ้าท่านเลยอธิษฐานไว้ว่า „ตั้งแต่บัดนี้ไป เราจักไม่ฉันของเคี้ยวที่ทำด้วยแป้ง“.   ข่าวว่า ตั้งแต่บัดนั้น พระสารีบุตรเถระเจ้าไม่เคยฉันของที่ชื่อว่าของเคี้ยวทำด้วยแป้งเลย. ความที่ท่านไม่ฉันของเคี้ยวทำด้วยแป้ง เกิดแพร่หลายไปในหมู่ภิกษุ. ภิกษุทั้งหลายนั่งในธรรมสภา พูดกันถึงเรื่องนั้น.

ครั้งนั้น พระบรมศาสดาเสด็จมา ตรัสถามว่า „ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไรเล่า ?“ เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรแม้จะเสียชีวิต ก็ไม่ยอมรับสิ่งที่ตนทิ้งเสียครั้งหนึ่งอีกทีเดียว“ แล้วทรงนำเรื่องราวในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :- 

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี #พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลหมอรักษาพิษ เลี้ยงชีวิตด้วยเวชกรรม.  ครั้งนั้นงูกัดชาวชนบทคนหนึ่ง พวกญาติของเขาไม่ประมาท รีบนำมาหาหมอโดยเร็ว. หมอถามว่า „จะพอกยาถอนพิษก่อน หรือจะให้เรียกงูตัวที่กัดมาแล้วให้มันนั่นแหละ ดูดพิษออกจากแผลที่มันกัด“. พวกญาติพากันกล่าวว่า „โปรดเรียกงูมาให้มันดูดพิษออกเถิด“. 

หมอจึงเรียกงูมาแล้วกล่าวว่า „เจ้ากัดคนผู้นี้หรือ ?“  

งู. „ใช่แล้ว เรากัด". 

หมอ. „เจ้านั่นแหละจงเอาปากดูดพิษจากปากแผล ที่เจ้ากัดแล้ว“.

งู. “เราไม่เคยกลับดูดพิษที่เราทิ้งไปครั้งหนึ่งแล้วเลย, เราจักไม่ยอมดูดพิษที่เราคายไปแล้ว“ หมอให้คนหาฟืนมาก่อไฟพลางบังคับว่า „ถ้าเจ้าไม่ดูดคืนพิษของเจ้า ก็จงเข้าไปสู่กองไฟนี้เถิด“. 

งูกล่าวตอบว่า „เราจะขอเข้ากองไฟ แต่ไม่ขอยอมดูดคืนซึ่งพิษที่ตนปล่อยไปแล้วครั้งหนึ่ง เป็นอันขาด“ แล้วกล่าวคาถานี้ว่า :- „พิษที่คายแล้วนั้น น่ารังเกียจนัก, การที่เราต้องดูดพิษที่ตายแล้ว เพราะเหตุแห่งความอยู่รอดนั้น ให้เราตายเสียยังดีกว่า“. 

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า  ธิรตฺถุ  เป็นนิบาต ลงในอรรถว่า ติเตียน.  บทว่า  ตํ วิสํ  ความว่า พิษที่เราคายแล้ว จักต้องกลับดูดคืนเพราะเหตุแห่งการอยู่รอดนั้น น่าขยะแขยงนัก.  บทว่า  มตํ เม ชีวิตา วรํ  ความว่า การเข้าสู่กองไฟแล้วตายนั้นประเสริฐกว่า ความเป็นอยู่ของเรา เพราะเหตุดูดคืนพิษนั้นมากมาย. ก็และครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็เลื้อยเข้าไปสู่กองไฟ.

ครั้งนั้น หมอจึงห้ามงูนั้นไว้ จัดแจงรักษาบุรุษนั้นให้หายพิษ ให้หายโรค ด้วยโอสถและมนต์แล้วให้ศีลแก่งูกล่าวว่า „จำเดิมแต่นี้ไป เจ้าอย่าเบียดเบียนใคร ๆ“ ดังนี้แล้ว ก็ปล่อยไป. 

พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สารีบุตร แม้จะต้องสละชีวิต ก็ไม่ยอมรับคืนสิ่งที่ตนทิ้งเสียแล้วครั้งหนึ่งเลย“ ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงสืบอนุสนธิประชุมชาดกว่างูในครั้งนั้นได้มาเป็นพระสารีบุตร ส่วนหมอได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

ที่มา : Palipage : Guide to Language - Pali






Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: