วันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

นตฺถิ โลเก อนามตํ - สถานที่ที่ได้ชื่อว่า ไม่มีคนตาย ไม่มีในโลก

นตฺถิ โลเก อนามตํ - สถานที่ที่ได้ชื่อว่า ไม่มีคนตาย ไม่มีในโลก

มรณสติ : ความตายไม่น่ากลัวอย่างที่คิด (Mindfulness of death, Contemplation on death)  อันทุกคนที่เกิดมานั้น ย่อมเข้าถึงความเปลี่ยนแปลงตามสภาพ คือ เข้าถึงความแก่ ความเจ็บ และความตาย ความตายเป็นสิ่งที่ใครๆไม่ปรารถนา ไม่ต้องการ ไม่อยากจะได้ยิน ถึงเราจะเกลียดกลัวความตายอย่างไร ในที่สุดเราก็ไม่สามารถจะหลีกหนีจากความตายไปได้ แต่เมื่อเราหันหน้ามาเผชิญกับความตาย โดยอาศัยสติ สังเวคะ และญาณแล้ว ปรารภการเจริญมรณสติอยู่เป็นประจํา ทุกลมหายใจเข้าลมหายใจออก

ดังพระบาลีที่ปรากฏอยู่ในปกรณ์วิเศษ ชื่อว่าวิสุทธิมรรค ว่า :-  

ชีวิตํ  พฺยาธิ  กาโล  จ    เทหนิกฺเขปนํ  คติ,  

ปญฺเจเต  ชีวโลกสฺมึ     อนิมิตฺตา  น  นายเรติ. 

 แปลความว่า ในโลกที่เป็นอยู่ ธรรม ๕ ประการเหล่านี้ ไม่มีเครื่องหมาย รู้ไม่ได้  คือ     ๑. ชีวิต   ๒. พยาธิ   ๓. กาล   ๔. สถานที่เสียชีวิต  ๕. คติ 

มรณสติ แปลว่า การระลึกถึงความตาย หรือการนึกถึงความตายบ่อยๆ วิธีระลึกถึงความตาย มีถึง ๘ วิธี ขอยกวิธีที่ ๖. คือ อนิมิตฺตโต(โดยชีวิตไม่มีนิมิต) ในโลกที่เรากําลังอาศัยอยู่ มีหลายเรื่องที่เราคิดไม่ถึง ไม่รู้ล่วงหน้า เป็นเรื่องที่ใกล้ตัว ธรรม ๕ ประการเหล่านี้ทําให้เราได้รู้ว่า ความตายมีโอกาสจะมาเยือนเราเมื่อไรก็ได้

เรื่องที่ ๑. ชีวิต :  คําว่า ชีวิตนั้นมาจากศัพท์ภาษาบาลีว่า ชีวิตํ แปลว่า ความเป็นอยู่ ควบคู่กับคําว่า มรณํ แปลว่า ความตาย ดังเวลาที่เรามาเคารพศพ มาจุดธูปหน้าศพ ได้เห็นรูปภาพของผู้วายชนม์ที่ตั้งอยู่หน้าศพ มีข้อความใต้รูปภาพ คือ  คําว่า ชาตะ และ คําว่า มรณะ.  ชาตะ แปลว่า เกิดแล้ว มรณะ แปลว่า ความตาย.  เกิดกับตายเป็นสิ่งที่อยู่คู่กัน วันใดที่ปราศจากชีวิต ไออุ่น วิญญาณก็ได้ชื่อว่าตาย เหตุนั้นสิ่งที่ทุกคนรักและหวงแหนมากกว่าสิ่งอื่นใดก็คือชีวิต และชีวิตนั้นมีการพัฒนาการตามลําดับ ตั้งแต่ที่เรายังอยู่ในครรภ์ของคุณแม่ สมจริงดังพระพุทธพจน์ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อินทกสูตร เล่มที่ ๑๕ ว่า :- 

    ปฐมํ  กลลํ  โหติ                 กลลา  โหติ  อพฺพุทํ                   

    อพฺพุทา  ชายเต  เปสิ        เปสิ  นิพฺพตฺตตี  ฆโน                     

    ฆนา  ปสาขา  ชายนฺติ       เกสา โลมา  นขาปิ  จ                     

    ยญฺจสฺส  ภุญฺชติ  มาตา     อนฺนํ  ปานญฺจ  โภชนํ                   

    เตน  โส  ตตฺถ  ยาเปติ       มาตุกุจฺฉิคฺคโต  นโร.

แปลว่า   รูปนี้เป็นกลละก่อน จาก กลละเป็นอัพพุทะ จากอัพพุทะเป็นเปสิ จากเปสิเป็นฆนะ  จากฆนะเป็นปัญจสาขา ต่อจากนั้นมีผม ขน และเล็บเกิดขึ้น คุณแม่ของทารกผู้อยู่ในครรภ์ บริโภคข้าว น้ำ และอาหารอย่างใด  ทารกผู้อยู่ในครรภ์คุณแม่นั้น ย่อมยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยอาหารอย่างนั้น ในครรรภ์

- พระดํารัสว่า ก่อนมีความหมายว่า ชื่อว่าติสสะหรือผุสสะ(ชื่อจริงหรือชื่อเล่น) ยังไม่มีในปฏิสนธิก่อน แต่มีน้ำใสเท่าหยาดน้น้ำมัน ซึ่งตั้งอยู่ที่ปลายเส้นด้ายที่ทําด้วยขนแกะแท้สามเส้น ซึ่งโบราณาจารย์กล่าวว่า กลุ่มรูปที่มีสีคล้ายหยาดน้ำมันงาและเนยใสที่ไม่ขุ่นมัว เรียกว่า น้ําใส(กลละ).  - พระดํารัสว่า จากกลละเป็นอัพพุทะ มีความหมายว่า เมื่อน้ําใสล่วงไป ๗ วัน ก็มีสีคล้าย น้ําล้างเนื้อ จึงชื่อว่า อัพพุทะ(ฟองน้ําใส). - พระดํารัสว่า จากอัพพุทะเป็นเปสิ มีความหมายว่า เมื่อฟองน้ําใสล่วงไป ๗ วัน  ก็กลายเป็นชิ้นเนื้อคล้ายดีบุกเหลว ชิ้นเนื้อนั้นพึงเปรียบเทียบด้วยเม็ดพริกไทยแห้ง เด็กชาวบ้านเอาพริกไทยสุกทําห่อไว้ที่ชายผ้า ขยําแล้วเติมน้ําใสใส่ลงในกระเบื้องตากแดด เม็ดพริกไทยแห้งๆย่อมหลุด ตกจากเปลือกทั้งหมด ชิ้นเนื้อก็เป็นเช่นนี้. - พระดํารัสว่า จากเปสิเป็นฆนะ มีความหมายว่า เมื่อชิ้นเนื้อล่วงไป ๗ วัน ก็เกิดก่อนเนื้อ ที่เรียกว่า ฆนะ มีขนาดเท่าไข่ไก่.  - พระดํารัสว่า จากฆนะเป็นปัญจสาขา มีความหมายว่า ในสัปดาห์ที่ ๕. เกิดปุ่มใหญ่ขึ้น ๕ แห่ง เพื่อเป็นมือและเท้าอย่างละ ๒ และศีรษะ ๑.

ดังนั้นบางคนเสียชีวิตตั้งแต่ยังเป็นกลละก็มี เป็นอัพพุทะก็มี เป็นเปสิก็มี เป็นฆนะก็มี เป็นปัญจสาขาก็มี คลอดออกมาแล้วยังไม่ทันได้ลืมตาดูโลก ก็ถูกคุณแม่วัยรุ่นใส่ถุงสีดํานําไปทิ้งก็มี ชีวิตของทุกคนนั้น จึงเป็นชีวิตที่สั้น มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ไม่ควรประมาท ควรรีบทําบุญกุศล ทําความดี ไม่มีใครที่เกิดมาแล้วจะไม่ตาย 

เรื่องที่ ๒. พยาธิ :  ความเจ็บป่วย พระพุทธเจ้าตรัสว่า พฺยาธิธมฺโมมฺหิ พฺยาธึ อนตีโต เรามีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บป่วยไปได้.  เราเคยหนีความรัก บ่ายเบี่ยงความจริง ผัดวันประกันพรุ่งกับการทํางาน ในที่สุดก็ไม่สามารถจะหนีความจริงของชีวิตในเรื่องความเจ็บป่วยนี้ไปได้ ความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเกิดที่ร่างกาย เพราะร่างกายเป็นบ่อเกิดของโรคมากมายหลายร้อยชนิด สมจริงดังพระพุทธพจน์ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท เล่มที่ ๒๕ ว่า :-

    ปริชิณฺณมิทํ  รูปํ          โรคนิทฺธํ  ปภงฺคุณํ

    ภิชฺชติ  ปูติ  สนฺเทโห     มรณนฺตํ  หิ  ชีวิตํ.

แปลความว่า  รูปนี้แก่หง่อมแล้ว เป็นรังของโรค เป็นธรรมเน่าเปื่อย    กายอันเปื่อยเน่าจะแตก เพราะว่า ชีวิตมีความตายเป็นที่สุด   

ร่างกายของคนเราประกอบไปด้วย ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อาการ ๓๒ มีอยู่ใน ธาตุดินและธาตุน้้ำ ดังนี้ คือ :- ธาตุดิน ๒๐ คือ   เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ เรียกว่า ตจปัญจกะ(ห้าทั้งหนัง) ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง  มังสัง นะหารู อัฏฐี อัฏฐิมิญชัง วักกัง เรียกว่า วักกปัญจกะ(ห้าทั้งไต) เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต   หะทะยัง ยะกะนัง กิโลมะกัง ปิหะกัง ปัปผาสัง เรียกว่า ปัปผาสปัญจกะ(ห้าทั้งปอด) หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด  อันตัง อันตะคุณัง อุทะริยัง กะรีสัง มัตถะลุงคัง เรียกว่า มัตถะลุงคะปัญจกะ(ห้าทั้งมันสมอง) ลําไส้ใหญ่ ลําไส้เล็ก อาหารใหม่ อาหารเก่า มันสมอง.  - ธาตุน้ำ ๑๒ คือ  ปิตตัง เสมหัง ปุพโพ โลหิตัง เสโท เมโท เรียกว่า เมทฉักกะ(หกทั้งมันข้น) ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น   อัสสุ วะสา เขโฬ สิงฆาณิกา ละสิกา มุตตัง เรียกว่า มุตตฉักกะ(หกทั้งมูตร) น้ําตา มันเหลว น้ําลาย น้ํามูก ไขข้อ มูตร. - ธาตุไฟ ๔ คือ ไออุ่น ไฟทําให้เสื่อมโทรม ไฟแผดเผา ไฟที่ย่อยอาหาร - ธาตุลม ๖ คือ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ํา ลมในท้อง(ลมในช่องท้องนอกลําไส้ใหญ่) ลมในลําไส้ใหญ่ ลมพัดไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ ลมหายใจเข้าออก.  แต่ละอาการที่ว่ามานั้นเป็นที่มาของโรค ถึงแม้ว่าเราจะพยายามทําทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อไม่ให้เกิดโรคขึ้น ก็ไม่สามารถจะพ้นจากโรคได้ ดังนั้นเมื่อเวลาที่เรายังไม่เจ็บป่วย ขอให้ใช้ช่วงที่เรายังแข็งแรงอยู่นั้น ขวนขวายทําประโยชน์ตน ทําประโยชน์ผู้อื่น และทําประโยชน์อย่างยิ่ง คือ พระนิพพาน.  ถึงคราวจะต้องผจญ กับความเจ็บป่วย จะได้ไม่เกิดความกังวลใจว่า สิ่งนี้ยังไม่ได้ทํา สิ่งโน้นยังทําไม่เสร็จ ขออย่าได้นิ่งนอนใจววา เรายังแข็งแรงอยู่จะทําอะไรเมื่อไหร่ก็ได้ ถึงเวลาเราเจ็บป่วยขึ้นมาจริงๆ ต้องล้มหมอนนอนเสื่อ  อยู่โรงพยาบาล นอนให้น้ำเกลือ รอเข้ารับการผ่าตัด ใครๆก็ไม่สามารถจะถ่ายเทหรือแบ่งเบา ความเจ็บปวดที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บไปได้     

เรื่องที่ ๓. กาล : เวลาที่เสียชีวิต เวลาเป็นสิ่งที่ทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เวลาเป็นสิ่งที่เราสมมติกัน ขึ้นมาก็จริง แต่ก็มีประโยชน์ในการที่เราจะใช้เวลาห์มีคุณค่ามากที่สุด เวลาที่ผ่านไปแต่ละวัน จากวันเป็นเดือนจากเดือนเป็นปี วันคืนเคลื่อนคล้อย กาลเวลาก็น้อยลงทุกที.  ดังมีปริศนาธรรมปัญหาโบราณ เล่าขานกันมาว่า มียักษ์ตนหนึ่ง มีนัยน์ตา ๒ ข้าง, ข้างหนึ่งสว่าง ข้างหนึ่งริบหรี่, มีปาก ๑๒ ปาก, มีฟันไม่มาก ปากละ ๓๐ ซี่, กินสัตว์ทั่วปฐพี.      ถามว่า ยักษ์ตนนี้ชื่ออะไร.?  ยักษ์ตนนี้ชื่อ กาลยักษ์ (ยักษ์คือกาลเวลา) มีนัยน์ตา ๒ ข้าง ข้างหนึ่งสว่าง หมายถึง เวลากลางวันหรือข้างขึ้น, ข้างหนึ่งริบหรี่ หมายถึง เวลากลางคืนหรือข้างแรม. มีปาก ๑๒ ปาก หมายถึง ๑ ปี มี ๑๒ เดือน มีฟันไม่มากปากละ ๓๐ ซี่ หมายถึง ๑ เดือนอย่างน้อยมี ๓๐ วัน.  กินสัตว์ทั่วปฐพี หมายถึง จะอาศัยอยู่ที่ใด ก็จะถูกกาลยักษ์นี้กลืนกินทั้งหมด  ดังพระบาลีว่า :-   กาโล ฆสติ  ภูตานิ  สพฺพาเนว  สหตฺตนา.  แปลว่า กาลเวลาย่อมกลืนกินสรรพสัตว์ พร้อมกับตัวเอง.    เวลาที่เราจะได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันนั้นน้อยนัก อยู่กันไม่กี่ปีก็จากกันแล้ว พบกันครั้งสุดท้ายอาจจะวันนี้ พรุ่งนี้ไม่มีโอกาสได้เห็นหน้ากันอีก ได้พูดคุยกันอีก เวลาตกฟากของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนเกิดเวลากลางวัน บางคนเกิดเวลากลางคืน หรือบางคนนั้นขอปรึกษาหารือกับคุณหมอว่า ขอคลอดวันนั้นวันนี้ได้ แต่เวลาเสียชีวิตกลับไม่เป็นเช่นนั้น เสียชีวิตตอนเช้าก็มี ตอนสายก็มี ตอนบ่ายก็มี ตอนเย็นก็มี 

เห็นหน้าอยู่ เมื่อเช้า สายตาย   สายอยู่ สุขสบาย บ่ายม้วย   บ่ายสดชื่น รื่นราย เย็นดับ ชีพแฮ   เย็นอยู่ หยอกลูกด้วย ค่ําม้วยอาสัญ

เรื่องที่ ๔. เทหนิกเขปนะ : สถานที่เสียชีวิต สมัยก่อนส่วนมากจะเกิดที่บ้านอาศัยหมอตําแยเป็นผู้ช่วยทําคลอด เพราะว่าโรงพยาบาลอยู่ไกล เดินทางไปไม่สะดวก ปัจจุบันเกิดที่โรงพยาบาล ณ ห้องทําคลอด บางคนตั้งใจไว้ว่า เกิดที่ไหนขอตายที่นั่น ความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น.  มฤตยู คือ มัจจุราช พญาความตายเมื่อได้โอกาสได้จังหวะ ก็จะปิดฉากชีวิตได้ทุกที่ ไม่มีโอกาสให้เลือก สุดท้ายสถานีปลายทาง ของชีวิตมาเสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาลก็ได้ เสียชีวิตที่ห้องไอซียูก็ได้ ขับรถไปทํางานประสบอุบัติเหตุ เสียชีวิตภายในรถก็ได้ โดยสารเรือเรือล้ม โดยสารเครื่องบินเครื่องบินพลัดตกทําให้เสียชีวิต ดังนั้น สถานที่ เสียชีวิตจึงมีได้ทุกที่ไม่ว่าจะบนบก ในน้ําหรือกลางอากาศ.  นตฺถิ โลเก อนามตํ.  แปลว่า สถานที่ที่ไม่มีคนตาย ไม่มีในโลก

เรื่องที่ ๕. คติ : ที่ไปเกิด คนเราเมื่อเกิดมาแล้ว บางคนได้มีโอกาสทําประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น บางคนก่อกรรมทําชั่วผิดศีลผิดธรรม หลังจากตายจะมีคติเป็นเช่นไร.?  คนที่มีกิเลสเป็นเหตุให้ทํากรรม คือ ทํากรรมดีบ้าง ทํากรรมชั่วบ้าง ก่อนที่จะเสียชีวิตจิตจะยึดเหนี่ยวอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ทําให้เกิดในคติ ๕ คือ นรก กําเนิดสัตว์เดรัจฉาน เปรต มนุษย์ และเทวดา หรือที่เรารู้จักกันว่า ภูมิ ๓๑ แบ่งออกเป็น อบายภูมิ ๔ กามสุคติภูมิ ๗ รูปภูมิ ๑๖ อรูปภูมิ ๔.    กรรมอารมณ์ คือ กรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศล ที่ทําวิบากปฏิสนธิให้เกิดในภพถัดไป.  กรรมนิมิตอารมณ์ คือ อารมณ์มีรูป เป็นต้น ที่เคยได้และสิ่งที่เป็นเครื่องอุปกรณ์ในเวลาทํากรรมนั้น เช่น ผ้าไตรจีวรและดอกไม้ที่ได้เคยถวายพระสงฆ์.  คตินิมิตอารมณ์ คือ สิ่งที่พึงด์และสิ่งที่พึงใช้สอยในภพที่จะเกิดขึ้นถัดไป   - หากเห็นภาพสวนนันทวัน ภาพวิมาน ภาพหญิงมีครรภ์ เป็นสุคตินิมิต  - หากเห็นภาพป่าไม้ ภาพโพรงไม้ ภาพเปลวไฟ ภาพนายนิรยบาล เป็นทุคตินิมิต

อ้างอิง : ไดอารี่อิ่มบุญ เรื่อง มรณสติ (Mindfulness of death) จากเว็บอิ่มบุญ (ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง), ที่มา : http://www.madchima.org


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: