วันอังคารที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2564

ผู้มีศรัทธาถึงพร้อมด้วยศีล เอิบอิ่มด้วยยศ และโภคะไปสู่ถิ่นใดๆ เขาบูชาในถิ่นนั้นๆ

ผู้มีศรัทธาถึงพร้อมด้วยศีล เอิบอิ่มด้วยยศ และโภคะไปสู่ถิ่นใดๆ เขาบูชาในถิ่นนั้นๆ

อาฬวกยักษ์จึงทูลถามปัญหา ๔ ข้อเหล่านี้ ด้วยคาถานี้อย่างนี้ว่า :-  อะไรเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอันประเสริฐของคนในโลกนี้ อะไรที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้ อะไรเป็นรสอันเลิศกว่ารสทั้งหลาย นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตของผู้เป็นอยู่อย่างไรว่า ประเสริฐสุด.

ลำดับนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงวิสัชนา ตามนัยที่พระกัสสปทศพลทรงวิสัชนาแก่เขา จึงตรัสคาถานี้ว่า สทฺธีธ วิตฺตํ เป็นต้น. พึงทราบคำว่า ทรัพย์เครื่องปลื้มใจในคาถานั้น ทรัพย์เครื่องปลื้มใจมีเงินทองเป็นต้น ย่อมนำมาซึ่งความสุขในการใช้สอย ย่อมป้องกันความทุกข์ที่เกิดจากความหิวกระหายเป็นต้น ย่อมระงับความยากจน ย่อมเป็นเหตุให้ได้แก้วมีมุกดาเป็นต้น และย่อมนำมาซึ่งความสืบต่อแห่งโลกฉันใด แม้ศรัทธาทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตระ ย่อมนำมาซึ่งวิบากสุขทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตรตามที่เกิดขึ้น ย่อมป้องกันทุกข์มีชาติและชราเป็นต้นของผู้ปฏิบัติตามหน้าที่ศรัทธา ย่อมระงับความยากจนแห่งคุณ และเป็นเหตุให้ได้แก้วมีสติสัมโพชฌงค์เป็นต้นฉันนั้น.

ศรัทธา ท่านกล่าวว่าเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจ เพราะจัดว่าย่อมนำมาซึ่งความสืบต่อแห่งโลก ตามพระพุทธพจน์ว่า :-  "สทฺโธ สีเลน สมฺปนฺโน,  ยโสโภคสมปฺปิโต;  ยํ ยํ ปเทสํ ภชติ,   ตตฺถ ตตฺเถว ปูชิโต. ผู้มีศรัทธาถึงพร้อมด้วยศีล เอิบอิ่มด้วยยศ และโภคะไปสู่ถิ่นใดๆ เขาบูชาในถิ่นนั้นๆ"

ก็เพราะทรัพย์เครื่องปลื้มใจคือศรัทธานี้ เป็นเครื่องติดตามไป ไม่ทั่วไปแก่คนอื่น เป็นเหตุแห่งสมบัติทั้งปวง เป็นเค้ามูลแห่งทรัพย์เครื่องปลื้มใจ มีเงินและทองเป็นต้นที่เป็นโลกิยะ. จริงอยู่ ผู้มีศรัทธา ทำบุญมีทานเป็นต้น ย่อมได้ทรัพย์เครื่องปลื้มใจ. ส่วนผู้ไม่มีศรัทธา ก็มีจิตใจเพียงเพื่อสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์เท่านั้น เพราะฉะนั้น ทรัพย์เครื่องปลื้มใจคือศรัทธา ท่านจึงกล่าวว่าประเสริฐ.

ที่มา : https://84000.org/tipitaka//attha/attha.php?b=15.0&i=838&p=2

Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: