วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

สัปปุริสธรรม 7 หมายถึง ธรรมที่ทำให้คนเป็นสัตบุรุษ

สัปปุริสธรรม 7 หมายถึง ธรรมที่ทำให้คนเป็นสัตบุรุษ

หรือ เป็นคนดี มีคุณธรรม เป็นคนเก่ง มี 7 ประการ ด้วยกัน คือ  1. ธัมมัญญู เป็นผู้รู้จักเหตุ   2. อัตถัญญู เป็นผู้รู้จักผล  3. อัตตัญญู เป็นผู้รู้จักตน  4. มัตตัญญู เป็นผู้รู้จักประมาณ  5. กาลัญญู เป็นผู้รู้จักกาล  6. ปริสัญญู เป็นผู้รู้จักชุมชน  7. ปุคคลัญญู หรือ ปุคคลปโรปรัญญู เป็นผู้รู้จักบุคคล

 1. ธัมมัญญู รู้จักเหตุ 

คือ รู้จักเหตุ คือ รู้หลักความจริง รู้หลักการ รู้หลักเกณฑ์ รู้กฎเกณฑ์แห่งเหตุผล และรู้หลักการที่จะทำให้เกิดผล เช่น เห็นเหตุการณ์อะไรก็ตามแต่ก็จะรู้ได้ว่าเกิดจากเหตุอะไรเช่น ทำไมฝนจึงตก สาเหตุมาจากอะไร และผลจะเป็นอย่างไร  รู้ว่าจะต้องกระทำเหตุแบบนี้ จึงจะให้เกิดผลที่ต้องการนั้นๆ เป็นต้น

2. อัตถัญญู รู้จักผล

รู้ความหมาย รู้ความมุ่งหมาย รู้ประโยชน์ที่ประสงค์ คือรู้จักผลที่จะเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการกระทำ ซึ่งสามารถก่อให้ เกิดประโยชน์เกิดผลได้จริง

3. อัตตัญญู รู้จักตน

เป็นผู้รู้จักตนคือ รู้จักตัวตนของเราเอง ว่าโดยฐานะ ภาวะ เพศ กำลังความรู้ ความสามารถ ความถนัด และคุณธรรม สามารถประเมินตนเองได้ในหลักธรรม ดังนี้ ศรัทธา (ชอบ รักในงานอะไร) ศีล (วินัย) สุตะ(ความรู้) จาคะ (ความเสียสละ) ปัญญา (กระบวนการในการพัฒนาความรู้ที่มีอยู่) เป็นต้น แล้วประพฤติให้เหมาะสม และรู้ที่จะแก้ไขปรับปรุงต่อไป

4. มัตตัญญู รู้จักประมาณ

เป็นผู้รู้จักประมาณ คือ ความพอดี เช่น ภิกษุรู้จักประมาณในการรับและบริโภคปัจจัยสี่ คฤหัสถ์รู้จักประมาณในการใช้จ่ายโภคทรัพย์ พระมหากษัตริย์รู้จักประมาณ ในการลงทัณฑ์อาชญาและในการเก็บภาษี เป็นต้น

5. กาลัญญู รู้จักกาล

เป็นผู้รู้จักกาลคือ รู้กาลเวลาอันเหมาะสม และระยะเวลาที่จะต้องใช้ในการประกอบกิจ กระทำหน้าที่การงาน เช่น แบ่งเวลา ทำให้ถูกจังหวะ ให้ตรงเวลา ให้เป็นเวลา ให้ทันเวลา ให้พอเวลา ให้เหมาะเวลา เป็นต้น

 6. ปริสัญญู รู้จักบริษัท

เป็นผู้รู้จักบริษัท คือ รู้จักชุมชน และรู้จักที่ประชุม รู้กิริยาที่จะประพฤติต่อชุมชนนั้นๆ ว่า ชุมชนนี้เมื่อเข้าไปหา จะต้องทำกิริยาอย่างนี้ จะต้องพูดอย่างนี้ ชุมชนนี้ควรสงเคราะห์อย่างนี้ เป็นต้น

7. ปุคคลปโรปรัญญู รู้จักเลือกคบคน

ปุคคลัญญุตา หรือ ปุคคลปโรปรัญญุตา เป็นผู้รู้จักบุคคล คือ ความแตกต่างแห่งบุคคลว่า โดยอัธยาศัย ความสามารถ และคุณธรรม เป็นต้น ใครๆ ยิ่งหรือหย่อนอย่างไร และรู้ที่จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นๆ ด้วยดี ว่าควรจะคบหรือไม่ จะใช้จะตำหนิ ยกย่อง และแนะนำสั่งสอนอย่างไร เป็นต้น



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: