มงคลที่ ๑๐ กล่าววาจาอันเป็นสุภาษิต - สุภาสิตา จะ ยา วาจา
๏ เปล่งวจีสัจจะนวลละม่อม กล่าวเกลี้ยกล่อมไพเราะกาลเหมาะสม เจือประโยชน์เมตตาค่านิยม รื่นอารมณ์ผู้ฟังดังเสียงทอง ๛
คำว่า วาจาอันเป็นสุภาษิต ในที่นี้มิได้หมายถึงเพียงว่าต้องเป็นคำร้อยกรอง ร้อยแก้ว เป็นคำคมบาดใจมีความหมายลึกซึ้งเท่านั้น แต่รวมถึงคำพูดที่ดี มีประโยชน์ต่อผู้ฟัง ซึ่งสรุปว่าประกอบด้วยลักษณะดังนี้ ๑. ต้องเป็นคำจริง คือข้อมูลที่ถูกต้อง มีหลักฐานอ้างอิงได้ ไม่ได้ปั้นแต่งขึ้นมาพูด ๒. ต้องเป็นคำสุภาพ คือพูดด้วยภาษาที่สุภาพ มีความไพเราะในถ้อยคำ ไม่มีคำหยาบโลน หรือคำด่า ๓. พูดแล้วมีประโยชน์ คือมีประโยชน์ต่อผู้ฟังถ้าหากนำแนวทางไปคิด หรือปฏิบัติในทางสร้างสรรค์ ๔. พูดด้วยจิตที่มีเมตตา คือพูดด้วยจิตใจที่มีความปรารถนาดีต่อผู้ฟัง มีความจริงใจต่อผู้ฟัง ๕. พูดได้ถูกกาลเทศะ คือพูดในสถานที่เหมาะสม และในเวลาที่เหมาะสม โดยความเหมาะสมจะมีมากน้อยเช่นไรก็ขึ้นอยู่กับเรื่องที่พูด
ที่มา : http://www.dhammathai.org
สุภาสิตา จ ยา วาจา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ - วาจาที่กล่าวดีแล้ว เป็นอุดมมงคล
บัดนี้ จักได้วิสัชนาในมงคลที่ ๑๐ ตามพระบาลีและอรรถกถาว่า สุภาสิตา จ ยา วาจา เป็นต้น สืบต่อไป วาจาอันใดที่ไพเราะอ่อนหวานไม่รำคาญแก่โสตและเป็นประโยชน์ในชาตินี้และชาติหน้า วาจานั้นชื่อว่า สุภาสิตาวาจา กล่าวดี ด้วยสมเด็จพระมหามุนีทรงตรัสเทศนาไว้ในสุภาสิตสูตรว่า ภิกขะเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สุภาสิตา จะ ยา วาจา นั้น คือ กล่าวคำอ่อนหวานทีเป็นสุจริตประกอบไปด้วยองค์ ๕ ประการ คือ :-
กาเลน จะ สุภาสิตา โหติ กล่าวในกาลที่สมควรจะพึงกล่าว ๑ สัจจา จะ ภาสิตา กล่าวแต่คำที่สัตย์จริงไม่กล่าวคำเท็จ ๑ สัณหา สุภาสิตา กล่าวคำอ่อนหวานสุขุมละเอียดไม่หยาบคายให้เคืองหูผู้อื่น ๑ อัตถะสัญหิตา จะ ภาสิตา กล่าวคำมีำประโยชน์ในชาตินี้และชาติหน้า ๑ เมตตัง จิตเตน จะ ภาสิตา กล่าวคำประกอบไปด้วยจิตเมตตา ไม่มีความโกรธอิจฉาริษยาพบาท ๑ เป็น ๕ ประการ
อิเมหิ โข ภิกขะเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันวาจาประกอบไปด้วยองค์ ๕ นี้ เป็นสุภาษิต วาจากล่าวดีกล่าวชอบ ประกอบด้วยประโยชน์หาโทษมิได้ เป็นวาจานำมาซึ่งความเลื่อมใสของนักปราชญ์. สมเด็จพระโลกนาถจึงทรงตรัสว่า อิธะ ภิกขะเว ภิกขุ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระศาสนานี้ อันว่าสุภาสิตาวาจานี้ อันนักปราชญ์ทั้งหลายมีพุทธเจ้าเป็นต้น ย่อมสรรเสริญว่ากล่าวดีมีคุณอันประเสริฐ กล่าวเป็นธรรมนำมาซึ่งความรักใคร่ ชอบใจแห่งชนทั้งปวง สุภาสิตาวาจานี้ ย่อมพ้นจากวาจาทุจริต ๔ มีมุสาวาท เป็นต้น
อนึ่ง บุคคลกล่าววาจาทุจริต ๔ คือ มุสาวาท ๑ เปสุญญวาท ๑ ผรุสวาท ๑ สัมผัปปลาวาท ๑ ทั้ง ๔ นี้ มีโทษมากมายหลายประการ ย่อมจะยังสัตว์ทั้งหลายให้ไปบังเกิดในกำเนิดนรก เปรต อสุรกาย และสัตว์ดิรัจฉาน ในเสวยทุกขเวทนาสิ้นกาลนาน ครั้นพ้นจากอบายแล้วมาบังเกิดเป็นมนุษย์ โทษที่กล่าวมุสาวาทย่อมให้ผล มีผู้มาล่อลวงให้เสียทรัำพย์เสียของ และแกล้งฟ้องร้องด้วยความไม่จริง โทษที่กล่าวยุยงให้เขาแตกร้าวซึ่งกันและกัน โทษนั้นก็ให้บังเกิดในอบายภูมิทั้ง ๔ ครั้นมาเกิดในมนุษย์โลกทุกวันนี้ ก็ให้แตกร้าวจากบิดามารดา จากบุตรภรรยาคณาญาติ ปราศจากที่พึ่งพาอาศัยมิตรสหายที่ร่วมใจก็แตกกันไป
โทษที่กล่าวคำหยาบช้ามีด่าเป็นต้น ก็ให้ผลไปบังเกิดในอบาย ครั้นเกิดมาเป็นมนุษย์ก็ต้องรับผลกรรมคือ คำหยาบช้า เขาติเตียนด่าว่าด้วยถ้อยคำอันหยาบคายหลายประการ
โทษที่กล่าววาจาอันหาประโยชน์มิได้ ก็ย่อมจะนำให้ไปบังเกิดในอบาย ครั้นมาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะได้ฟังแต่เสียงที่ไม่มีประโยชน์ เพราะเหตุฉะนั้น ชนทั้งหลายอย่าได้กล่าววาจาทุจริตทั้ง ๔ ประการ มีมุสาวาทเป็นต้น อนึ่งบุคคลที่กล่าวส่อเสียดยุยงให้เขาแตกร้าวจากกันนั้นมีโทษมาก ย่อมจะทำให้บังเกิดในนรกเสวยทุกข์สิ้นกาลนานดังนี้...
ที่มา : http://larnbuddhism.com
มงคลที่ 1 , มงคลที่ 2 , มงคลที่ 3, มงคลที่ 4 , มงคลที่ 5 , มงคลที่ 6 , มงคลที่ 7 , มงคลที่ 8 , มงคลที่ 9 , มงคลที่ 10 , มงคลที่ 11 , มงคลที่ 12 , มงคลที่ 13 , มงคลที่ 14 , มงคลที่ 15 , มงคลที่ 16 , มงคลที่ 17 , มงคลที่ 18 , มงคลที่ 19 , มงคลที่ 20 , มงคลที่ 21 , มงคลที่ 22 , มงคลที่ 23 , มงคลที่ 24 , มงคลที่ 25 , มงคลที่ 26 , มงคลที่ 27 , มงคลที่ 28 , มงคลที่ 29 , มงคลที่ 30 , มงคลที่ 31 , มงคลที่ 32 , มงคลที่ 33 , มงคลที่ 34 , มงคลที่ 35 , มงคลที่ 36, มงคลที่ 37, มงคลที่ 38 ฯ
0 comments: