วันเสาร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

มงคลที่ ๑๓ ทารสฺส สงฺคโห เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ - การสงเคราะห์ภรรยา เป็นอุดมมงคล

มงคลที่ ๑๓ การสงเคราะห์ภรรยา - ทารัสสะ สังคะโห

๏ มีคู่ครอง ต้องไม่ทำ ให้ช้ำจิต จะพาผิด ไปข้าง ทางผุยผง ต้องสงเคราะห์ แก่กัน ให้มั่นคง รักยืนยง ด้วยกัน ถึงวันตาย ๛ 

เมื่อว่าด้วยเรื่องคนที่จะมาเป็นคู่ครองของชาย หรือที่เรียกว่าจะมาเป็นภรรยานั้น ในโลกนี้ท่านแบ่งลักษณะของภรรยาออกเป็น ๗ ประเภทได้แก่  ๑. วธกาภริยา หมายถึงภรรยาเสมอด้วยเพชรฆาต เป็นพวกที่มีจิตใจคิดไม่ดี ชอบทำร้าย ชอบด่าทอสาปแช่ง คิดฆ่าสามี หรือมีชู้กับชายอื่น  ๒. โจรีภริยา หมายถึงภรรยาเสมอด้วยโจร เป็นคนล้างผลาญ สร้างหนี้สิน หาได้เท่าไรก็ไม่พอ หรือเอาเรื่องในบ้านไปโพทนาให้คนข้างนอกรับรู้ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ๓. อัยยาภริยา หมายถึงภรรยาเสมอด้วยนาย เป็นคนชอบข่มสามีให้อยู่ในอำนาจ ไม่ให้เกียรติสามีเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้อื่น ชอบสั่งการหรือเอาแต่ใจตัวเอง เห็นสามีเป็นคนไร้ความสามารถ แต่ตัวเองเป็นผู้นำ  ๔. มาตาภริยา หมายถึงภรรยาเสมอด้วยแม่ คือผู้ที่มีความรักต่อสามีอย่างสุดซึ้ง ไม่เคยทอดทิ้งแม้ยามทุกข์ยาก ป่วยไข้ ไม่ทำให้มีเรื่องสะเทือนใจ  ๕. ภคินีภริยา หมายถึงภรรยาเสมอด้วยน้องสาว คือผู้ที่มีความเคารพต่อสามีในฐานะพ่อบ้าน แต่ขัดใจกันบ้างตามประสาคนใกล้ชิดกันแล้วก็ให้อภัยกัน โดยไม่คิดพยาบาท เดินตามแนวทางของสามี ต้องพึ่งพาสามี  ๖. สขีภริยา หมายถึงภรรยาเสมอด้วยเพื่อน ต่างคนต่างก็มีอะไรที่เหมือนกัน ความสามารถพอกัน ไม่จำเป็นต้องพึ่งพากัน ไม่ค่อยยอมกัน เป็นตัวของตัวเอง แต่ก็รักกันและช่วยเหลือกันโดยต่างคนต่างทำหน้าที่ของตัวเอง ๗. ทาสีภริยา หมายถึงภรรยาเสมอด้วยคนรับใช้ คือภรรยาที่อยู่ภายใต้คำสั่งสามีโดยไม่มีข้อโต้แย้ง สามีเป็นผู้เลี้ยงดู สั่งอะไรก็ทำอย่างนั้น แม้จะไม่เห็นด้วยก็ไม่ออกความเห็น อดทนทำงานตามหน้าที่ตามแต่สามีจะสั่งการ แม้ถูกดุด่า เฆี่ยนตีก็ยังทนอยู่ได้โดยไม่โต้ตอบ

ท่านว่าคนที่จะมาเป็นสามี ภรรยาได้ดีหรือคู่สร้างคู่สมนั้นควรต้องมีคุณสมบัติดังนี้  ๑. สมสัทธา คือมีศรัทธาเสมอกัน  ๒. สมสีลา คือมีศีลเสมอกัน  ๓. สมจาคะ คือมีการเสียสละเหมือนกัน  ๔. สมปัญญา คือมีปัญญาเสมอกัน.  เมื่อได้แต่งงานกันแล้ว แต่ละฝ่ายก็มีหน้าที่ที่ต้องทำดังนี้  

สามีมีหน้าที่ต่อภรรยาคือ 

๑. ยกย่องนับถือว่าเป็นภรรยา คือการแนะนำเปิดเผยว่าเป็นภรรยา ไม่ปิดบังกับผู้อื่น และให้เกียรติภรรยาในการตัดสินใจเรื่องต่างๆด้วย ๒. ไม่ดูหมิ่น คือไม่ดูถูกภรรยาเมื่อทำไม่เป็น ทำไม่ถูก หรือเรื่องชาติตระกูล การศึกษาว่าต่ำต้อยกว่าตน แต่ต้องสอนให้ ๓. ไม่ประพฤตินอกใจภรรยา คือการไปมีเมียน้อยนอกบ้าน เลี้ยงต้อย หรือเที่ยวเตร่หาความสำราญกับหญิงบริการ ๔. มอบความเป็นใหญ่ให้ในบ้าน คือการมอบธุระทางบ้านให้กับภรรยาจัดการ รับฟังและทำตามความเห็นของภรรยาเกี่ยวกับบ้าน ๕. ให้เครื่องแต่งตัว คือให้ความสุขกับภรรยาเรื่องการแต่งตัวให้พอดี เพราะสตรีเป็นผู้รักสวยรักงามโดยธรรมชาติ

ฝ่ายภรรยาก็มีหน้าที่ต้องตอบแทนสามีคือ

๑. จัดการงานดี คืองานบ้านการเรือนต้องไม่บกพร่อง ดูแลด้านความสะอาด ทำนุบำรุงรักษา ด้านโภชนาการให้เรียบร้อยดี ๒. สงเคราะห์ญาติสามีดี คือให้ความเอื้อเฟื้อญาติฝ่ายสามี เท่าที่ตนมีกำลังพอทำได้ ไม่ได้หมายถึงเรื่องทรัพย์สินเงินทองอย่างเดียว ๓. ไม่ประพฤตินอกใจสามี คือไม่คบชู้ หรือปันใจให้ชายอื่น ซื่อสัตย์ต่อสามีคนเดียว ๔. รักษาทรัพย์ให้อย่างดี คือรู้จักรักษาทรัพย์สินไว้ไม่ให้หมดไปด้วยความสิ้นเปลือง แต่ก็ไม่ถึงกับตระหนี่  ๕. ขยันทำงาน คือไม่เกียจคร้านเอาแต่ออกงาน นอน กิน หรือเที่ยวแต่อย่างเดียว ต้องทำงานบ้านด้วย 

ที่มา : http://www.dhammathai.org 

มงคลที่ 1 , มงคลที่ 2 , มงคลที่ 3มงคลที่ 4 , มงคลที่ 5 , มงคลที่ 6 , มงคลที่ 7 มงคลที่ 8 , มงคลที่ 9 , มงคลที่ 10 , มงคลที่ 11 , มงคลที่ 12 , มงคลที่ 13 , มงคลที่ 14 , มงคลที่ 15 , มงคลที่ 16 , มงคลที่ 17 , มงคลที่ 18 มงคลที่ 19 , มงคลที่ 20 , มงคลที่ 21 , มงคลที่ 22 , มงคลที่ 23 , มงคลที่ 24 มงคลที่ 25 , มงคลที่ 26 , มงคลที่ 27 , มงคลที่ 28 , มงคลที่ 29 , มงคลที่ 30 , มงคลที่ 31 , มงคลที่ 32 , มงคลที่ 33 มงคลที่ 34 , มงคลที่ 35 , มงคลที่ 36มงคลที่ 37มงคลที่ 38 ฯ

ทารสฺส สงฺคโห  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ - การสงเคราะห์ภรรยา เป็นอุดมมงคล

บัดนี้ จักได้วิสัชนาในมงคลที่ ๑๓ ตามพระบาลี และอรรถกถาว่า ทารัสสะ สังคะโห จะ ทารา แปลว่า บุคคลที่เป็นสามีสงเคราะห์แก่ภรรยาทั้งหลาย จัดเป็นมงคลจะนำมาซึ่งความเจริญและความสุขสิ้นกาลนาน

ถามว่า ภรรยาในโลกนี้มีเท่าไร แก้ว่า ภรรยามี ๗ จำพวก คือ วะธะกาภริยา ๑ โจรีภริยา ๑ อัยกาภริยา ๑ มาตาภริยา ภคินีภริยา ๑ ทาสีภริยา ๑ สขีภริยา ๑ เป็น ๗ จำพวก ดังนี้ ฯ

ที่ ๑ ชื่อว่าวะธะกาภรรยา เมียเป็นข้าศึกแก่สามี คือ คิดประทุษร้ายแก่สามีอยู่เนือง ๆ มิได้ขาด  ที่ ๒ ชื่อว่า โจรภรรยา เมียเป็นโจรคอยลักพาข้าวของแห่งสามี สิ่งของอันใดมีก็ลอบลักเอาไป ๑  ที่ ๓ ชื่อว่า อัยกาภรรยา เมียข่มผัวให้อยู่ในอำนาจดังนายกับบ่าว ๑  ที่ ๔ ชื่อว่า มาตาภรรยา เมียรักผัวดังมารดารักบุตรที่บังเกิดแต่ในอุทร ไม่ทำความเดือดร้อนให้เกิดมีแก่สามี ๑  ที่ ๕ ชื่อว่า ภคินีภรรยา เมียดังน้องหญิงเป็นที่สมัครักยิ่งดังพี่น้องร่วมท้องมารดาเดียวกัน ๑  ที่ ๖ ชื่อว่า ทาสีภรรยา เมียดังทาส ทาสี เป็นที่ยินดีเกรงกลัวผัวยิ่งนัก ทั้งกลัวทั้งรักเป็นที่เคารพนับถือ ๑ ที่ ๗ ชื่อว่า สขีภรรยา เมียราวกะว่าสหาย เป็นเพื่อนเจ็บเพื่อนตายของสามีมิได้คิดหน่ายหนีออกจากกัน ๑ ภรรยา ๓ จำพวกข้างต้น ไม่ควรสงเคราะห์ ควรสงเคราะห์ภรรยา ๔ จำพวกข้างต้นข้างปลาย ฯ

บัดนี้ จะว่าด้วยสามีสงเคราะห์ ภรรายาตามพระบาลีอรรถกถาต่อไป สามี แปลว่า บุรุษผู้เป็นใหญ่ในอันที่จะรักษาทั่วไปในที่ทั้งปวง ด้วยบทว่า สามิโก อะธิปะตีติ อารักขา ภรรยา มีบทว่า ภะริยันตีติ ปะริจะริยา แปลว่า หญิงใดประพฤติบริบูรณ์ด้วยความบำรุงบำเรอยิ่ง หญิงนั้นเรียกว่า ภรรยา

อนึ่ง ภรรยาที่สามีควรจะสงเคราะห์มี ๒๐ จำพวก คือ หญิงที่มารดามอบให้ ๑ หญิงที่บิดามอบให้ ๑ หญิงที่บิดามารดาทั้งสองมอบให้ ๑ หญิงที่พี่หญิงพี่ชายมอบให้ ๑ หญิงที่น้องหญิงน้องชายมอบให้ ๑ หญิงที่ญาติมอบให้ ๑ หญิงที่ตระกูลมอบให้ ๑ หญิงที่ผู้มีศีลมีธรรมมอบให้ ๑ หญิงที่ผู้รักษามอบให้ ๑ หญิงอยากได้ทรัพย์แล้วก็มาอยู่ด้วย หญิงที่มีผู้ใหญ่จับมือคนทั้งสองใส่ลงในถาดน้ำ แล้วก็มอบให้ ๑ หญิงที่บุรุษช่วยปลงซึ่งภาระอันหนักแล้วก็มาอยู่ด้วย ๑ หญิงที่เป็นทาสแล้วยกขึ้นเป็นภรรยา ๑ หญิงที่ทำการจ้างแล้วให้เป็นภรรยา ๑ หญิงที่บุรุษไปรบข้าศึกชนะได้มาเป็นภรรยา ๑ หญิงที่ได้ร่วมสังวาสครั้งหนึ่งหรือสองครั้งก็เรียกว่าภรรยา ๑ หญิงที่ผู้ต้องอาชญามอบให้ ๑ หญิงที่ลอยน้ำและหลงเก็บมาเป็นภรรยา ๑ ภรรยาทั้ง ๒๐ จำพวกนี้ สามีควรสงเคราะห์

อนึ่ง การสงเคราะห์แก่ภรรยา สมเด็จพระศาสดาทรงตรัสแก่สิงคาลมาณพว่า คะหะปะติปุตตะ ดูกรคฤหบดีบุตร สามีควรสงเคราะห์แก่ภรรยาด้วยเหตุ ๕ สถาน คือ ให้นับถือกล่าวยกย่องแก่ภรรยาด้วยวาจาอันอ่อนหวาน ไม่กล่าวคำอันดูหมิ่น ๑

ที่ ๒ ว่า สามีอย่าโกรธทุบตีก่อน แล้วจึงสั่งสอนภายหลัง คือ ให้สั่งสอนต่อครั้ง ๑ หรือ ๒ ครั้ง ที่ ๓ ว่า สามีอย่าคิดนอกใจภรรยาเที่ยวหาภรรยาใหม่ เป็นที่ชอบใจของสตรีที่ปราถนาหาสามีแต่ผู้เดียว  ที่ ๔ ว่า สามีจงให้ภรรยาเป็นใหญ่ในเคหะสถาน คือ เป็นคนเก็บทรัพย์ที่สามีได้มาจงมอบให้แก่ภรรยา ๑  ที่ ๕ ว่า สามีจงแสวงหาเครื่องประกับให้แก่ภรรยา โดยสมควรแก่ทรัพย์และตระกูล ๑ เมื่อสามีสงเคราะห์ภรรยาพร้อมด้วยองค์ทั้ง ๕ แล้ว 

ภรรยาก็ควรจะสงเคราะห์แก่สามีประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ คือ ฉลาดในการตกแต่งอาหารให้สามีรับประทาน ไม่มีความเกียจคร้านต้องให้ตักเตือน ๑ ที่ ๒ ให้ภรรยานับถือญาติทั้งสองฝ่าย ญาติของสามีและญาติของตนให้เสมอกัน อย่ารังเกียจเดียดฉันท์ในญาติทั้งสองข้างด้วยฉันทาโทสา ๑  ที่ ๓ ให้สามีภรรยามีใจชื่อตรงต่อสามี อย่าได้ไปยินดีคบชายอื่นมาสังวาส ๑  ที่ ๔ ให้ภรรยาหมั่นภักดีปฎิบัติสามีให้เป็นที่ยินดีตามอัธยาศัยในกามารมณ์ ๑  ที่ ๕ ให้ภรรยาเป็นผู้ฉลาดรักษาทรัพย์ที่สามีได้มาอย่าให้เสียหาย ๑

อนึ่ง ความเสียหายแห่งทรัพย์นั้น คือ ไม่รู้ประมาณในการบริโภคอาหาร และการนุ่งห่มใช้สอยทรัพย์ ๑ เล่นการพนันต่าง ๆ มี ถั่ว โป หวย ไพ่เป็นต้น ๑ ความเกียจคร้านไม่ทำการงาน ๑ นักเลงสุรา ๑ นักเลงเจ้าชู้ ๑ เหล่านี้ท่านเรียกว่า เป็นความเสียหายแห่งทรัพย์ ถ้าหญิงใดปฎิบัติสามีพร้อมด้วย ๕ ดังกล่าวมานี้ หญิงนั้นชื่อว่า สงเคราะห์แก่สามี ความว่าสามีสงเคราะห์ภรรยาด้วยองค์ ๕ ภรรยาสงเคราะห์แก่สามีด้วยองค์ ๕ ดังว่ามานี้แล้ว สามีภรรยาคู่นั้นจะมีความเจริญทั้งโลกนี้และโลกหน้าสิ้นกาลนาน ฯ

อีกอย่างหนึ่ง ให้สามีสงเคราะห์แก่ภรรยา ให้ตั้งอยู่ในประโยชน์ ๒ ประการ คือ ประโยชน์ชาตินี้ ๑ ประโยชน์ชาติหน้า ๑ ชาตินี้มี ๔ คือ ให้มีความเพียรหมั่นทำการงาน และแสวงหาทรัพย์ ๑  ที่ ๒ ให้ฉลาดรักษาทรัพย์ที่ได้มาอย่าให้เสียหายด้วยอันตราย มีโจรลักเป็นต้น ๑  ที่ ๓ ให้เลี้ยงชีพพอสมควรแก่ทรัพย์ อย่าเลี้ยงชีวิตให้เกินประมาณ ๑  ที่ ๔ ให้คบมิตรสหายที่มีใจเป็นกุศล อย่าไปคบคนพาลสันดานบาป ๑ 

ประโยชน์ชาติหน้ามี ๕ คือ ให้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส ในคุณพระรัตรตรัยเป็นต้น ๑  ที่ ๒ คือ ให้มีศีล ๕ ศีล ๘ กรรมบท ๑๐ ประการ ๑  ที่ ๓ คือ ให้หมั่นฟังธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า คือ พระสูตร พระวินัย พระปรมัตถ์ ๑  ที่ ๔ คือ ให้บริจากทานมีข้าวและน้ำเป็นต้น ๑  ที่ ๕ คือ ให้มีปัญญาพิจารณาสังขารให้เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ๑ อีกอย่างหนึ่ง สามีจงอนุเคราะห์แก่ภรรยา สั่งสอนให้สวดมนต์ภาวนาบูชาพระรัตนตรัย และชักชวนภรรยาให้ทำการกุศล ศีล ภาวนา และฟังธรรมเทศนาเป็นต้น เหล่านี้เรียกว่า สามีสงเคราะห์แก่ภรรยา เป็นที่สรรเสริญเคารพบูชาแก่เทพยดาทั้งหลาย มีพระอินทราเป็นต้น... 

ที่มา : http://larnbuddhism.com


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: