วันเสาร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

มงคลที่ ๑๑ มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ - การบำรุงมารดาบิดา เป็นอุดมมงคล

มงคลที่ ๑๑ การบำรุงบิดามารดา - มาตาปิตุอุปัฏฐานัง

๏ คนที่หาได้ยากมากไฉน เพราะว่าในโลกนี้มีเพียงสอง  คือพ่อแม่เกิดเกล้าเหล่าลูกต้อง ตอบสนองพระคุณได้บุญแรง ๛

ท่านว่าพ่อแม่นั้นเปรียบได้เป็นทั้ง ครูของลูก เทวดาของลูก พรหมของลูก และอรหันต์ของลูก  ความหมายโดยละเอียดมีดังต่อไปนี้คือ  

ที่ว่าเป็นครูของลูก เพราะว่าท่านได้คอยอบรมสั่งสอนลูก เป็นคนแรกก่อนคนอื่นใดในโลก  ที่ว่าเป็นเทวดาของลูก เพราะว่าท่านจะคอยปกป้อง คุ้มครอง เลี้ยงดู ประคบประหงมมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก บำรุงให้เติบใหญ่เป็นอย่างดี ไม่ให้เกิดอันตรายต่อลูกในทุกด้าน

ที่ว่าเป็นพรหมของลูก เพราะว่าท่านมีพรหมวิหาร ๔ นั่นก็คือ มีเมตตา หมายถึงความเอ็นดู ความปรารถนาดีต่อลูกในทุกๆด้าน ไม่มีที่สิ้นสุด มีกรุณา หมายถึงให้ความกรุณาต่อลูก ลูกอยากได้อะไรก็หามาให้ลูก ให้การศึกษาเล่าเรียน ส่งเสียเท่าที่มีความสามารถจะให้ได้ มีมุทิตา หมายถึงความรักที่ยอมสละได้แม้ชีวิตของตัวเองเพื่อลูก ยอมเสียสละได้ทุกอย่าง และมีอุเบกขา หมายถึงการวางเฉย ไม่ถือโกรธเมื่อลูกประมาท ซน ทำผิดพลาดเพราะความไร้เดียงสา หรือเพราะความไม่รู้

ที่ว่าเป็นอรหันต์ของลูก เพราะว่าท่านมีคุณธรรม ๔ ประการอันได้แก่  ๑. เป็นผู้มีอุปการะคุณต่อลูก คืออุปการะเลี้ยงดูมาด้วยความเหนื่อยยาก กว่าจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่  ๒. เป็นผู้มีพระเดชพระคุณต่อลูก คือให้ความอบอุ่นเลี้ยงดู ปกป้องจากภยันตรายต่างๆ นานา ๓. เป็นเนื้อนาบุญของลูก คือลูกเป็นส่วนหนึ่งของกรรมดีที่พ่อแม่ได้ทำไว้ และเป็นผู้รับผลบุญ ที่พ่อแม่ได้สร้างไว้แล้วทางตรง ๔. เป็นอาหุไนยบุคคล คือเป็นเหมือนพระที่ควรแก่การเคารพนับถือและรับของบูชา เพื่อเทอดทูนไว้เป็นแบบอย่าง

การทดแทนพระคุณบิดามารดาท่านสามารถทำได้ดังนี้

ระหว่างเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ก็เลี้ยงดูท่านเป็นการตอบแทน ช่วยเหลือเป็นธุระเรื่องการงานให้ท่าน ดำรงวงศ์ตระกูลให้สืบไปไม่ทำเรื่องเสื่อมเสีย รวมทั้งประพฤติตนให้ควรแก่การเป็นสืบทอดมรดกจากท่าน ครั้นเมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ก็ทำบุญอุทิศกุศลให้ท่าน  ส่วนการเป็นลูกกตัญญูต่อพ่อแม่ในคำสอนของพระพุทธเจ้าท่านกล่าวว่าไว้ดังนี้

๑. ถ้าท่านยังไม่มีศรัทธา ให้ท่านถึงพร้อมด้วยศรัทธา คือพยายามให้ท่านมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา เชื่อในเรื่องการทำดี  ๒. ถ้าท่านยังไม่มีศีล ให้ท่านถึงพร้อมด้วยศีล คือพยายามให้ท่านเป็นผู้รักษาศีล ๕ ให้ได้ ๓. ถ้าท่านเป็นคนตระหนี่ ให้ท่านถึงพร้อมด้วยการให้ทาน คือพยายามให้ท่านรู้จักการให้ด้วยเมตตาโดยไม่หวังผลตอบแทน  ๔. ถ้าท่านยังไม่ทำสมาธิภาวนา ให้ท่านถึงพร้อมด้วยปัญญา คือพยายามให้ท่านหัดนั่งทำสมาธิภาวนาให้ได้

ที่มา : http://www.dhammathai.org 

มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ - การบำรุงมารดาบิดา เป็นอุดมมงคล

บัดนี้ จักได้วิสัชนาแก้ไขในมงคลที่ ๑๑ ตามพระบาลี อรรถกถาดำเนินความว่า  มาตาปิตุอุปัฏฐานัง  เป็นต้น แปลว่า บุคคลหญิงชายใดที่เกิดมาได้ปฎิบัติมารดาบิดาให้เป็นสุข จัดว่าเป็นมงคลอันประเสริฐโดยวิเศษ

ถามว่า คนอย่างไรเรียกว่า มารดาบิดา แก้ว่า หญิงใดที่เป็นที่อาศัยแห่งสัตว์ ยังสัตว์ให้เกิดหรือยังเจริญขึ้น หญิงนั้นเรียกว่า เป็นมารดา ชายใดยังสัตว์ให้บังเกิด หรือยังสัตว์ให้เจริญขึ้น ชายนั้นเรียกว่า บิดา

ถามว่า คนที่เป็นบิดามารดานั้นมีคุณอย่างไร แก้ว่า คนที่เป็นบิดามารดานั้น มีคุณ ๔ ประการ ตามพระบาลีพุทธบรรหารว่า อุโภปิ เจ เต พรหมา เป็นต้น ความว่า บิดามารดาทั้ง ๒ นั้นจัดชื่อว่า เป็นพรหม ๑ จัดชื่อว่า เป็นบุรุพเทพยดา ๑ จัดชื่อว่า เป็นบุพพาจารย์ ๑ จัดชื่อว่า เป็นอาหุเนยยะ ๑ ยกเป็นคุณ ๔ ประการ ดังนี้

ที่จัดว่าเป็นพรหม คือ มี เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา คุณ ๔ ประการนี้ บิดามารดาย่อมมีแก่บุตรเหมือนท้าวมหาพรหม อธิบายว่า เมื่อแรกสัตว์อยู่ในครรภ์ บิดามารดาทั้งสองนั้นประกอบไปด้วยเมตตา อยากจะให้ทารกเจริญวัฒนามีความสุข ไม่คิดจะให้ทารกเสวยความทุกขเวทนา อุตสาห์รักษาถนอมครรภ์ทุกคืนวัน

ครั้นทารกนั้นคลอดจากครรภ์จะเป็นหญิงหรือชาย มารดาบิดาก็มีจิตกรุณารักษาเลี้ยงดู ยกขึ้นชูใส่เปลไกล ทั้งป้องกันริ้นไร เหลือบยุง และบุ้งร่าน ลมและแดดมิให้มาแผ้วพานต้องการ ครั้นทารกเจริญวัยใหญ่ขึ้นมาจะปราถนาสิ่งใด มารดาบิดาบิดาก็หาให้ด้วยน้ำใจเป็นมุทิตา แก่บุตรของอาตมาที่เลี้ยงไ้ว้ ครั้นบุตรหญิงชายโตใหญ่มีสามีภรรยา บิดามารดาก็มีจิตเป็นอุเบกขา ไม่ต้องพิทักษ์รักษาเหมือนแต่ก่อน

ที่ ๒ ว่า มารดาบิดาเป็นบุพพเทพยดา คือ ได้พิทักษ์รักษาทารกนั้น มาก่อนกว่าเทพยดาทั้งปวงตั้งแต่อยู่ในครรภ์มา 

ที่ ๓ ว่า มารดาบิดาเป็นบุพพาจารย์นั้น ได้ให้โอวาทคำสั่งสอนแก่ทารกนั้นมาก่อนกว่าอาจารย์ทั้งปวง

ที่ ๓ ว่า มารดาบิดาเป็นอาหุเนยยะนั้น คือ มารดาบิดาควรจะรับของที่บุตรนำมาให้ เป็นต้นว่า ข้าวน้ำ ผ้าผ่อนท่อนสไบ ฟูกหมอน เสื่อสาด อาสนะ ที่บุตรหญิงชายสละนำมาบูชา

ถามว่า ของที่บุตรหญิงชายนำมาบูชาแก่บิดามารดานั้น จะมีผลอย่างไร แก้ว่า มีผลมาก สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแก่ภิกษุผู้ปฎิบัติมารดาบิดาว่า ดูก่อนภิกษุผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร ท่านไปเที่ยวบิณฑบาตได้อาหารยังไม่ได้ฉันเลย จะให้แก่บิดามารดาก็ควร ไม่เป็นอาบัติด้วยศรัทธาไทยข้อ ๑ ข้อ ๒ ว่า บิดามารดาตั้งอยู่ในองค์ ๕ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แก่บุตรทั้งหลาย คล้ายพระอรหันต์ เพราะเหตุนั้น จึงเห็นว่าบุตรแก่บูชาบิดามารดาก็เหมือนดังว่า บูชาแก่พระอรหันต์

อนึ่ง บุตรฆ่าบิดามารดากับฆ่าพระอรหันต์ ย่อมมีโทษเท่ากันให้ถึงอเวจี ถามว่า บุตรหญิงชายจะอุปัฏฐากแก่บิดามารดามีกี่อย่าง แก้ว่า มี ๒ อย่าง คือ อุปัฏฐากอย่างสูง ๑ อุปัฏฐากอย่างต่ำ ๑ อุปัฏฐากอย่างสูงนั้น คือ บิดามารดาไม่มีความศรัทธาเลื่อมใสคุณพระรัตนตรัย ก็ไปชักชวนอ้อนวอนให้บิดามารดามีความศรัทธาเลื่อมใสในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ดำรงอยู่ในพระไตรสรณคมน์ ๑

ที่ ๒ บิดามารดาไม่มีศีลวิรัติข้อปฎิบัติ คือ ไม่มีศีล ๕ ศีล ๘ ประการ ก็ไปอ้อนวอนชักชวนให้บิดามารดาสมาทานรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ประการ ให้สมบูรณ์ในสันดาน ๑

ที่ ๓ บิดามารดาไม่ได้สดับฟังพระธรรมเทศนา เป็นคนมืดมนธ์ไปด้วยอกุศลใจพาลา ก็ไปชักชวนบิดามารดาฟังธรรมเทศนาให้รู้จักบาป บุญ คุณและโทษ จะได้แสวงหาประโยชน์ไปในชาติหน้า ๑

ที่ ๔ บิดามารดาไม่ได้บริจากทาน ด้วยสันดานตระหนี่เหนียวแน่นหวงแหนทรัพย์ไว้ไม่ให้ทาน ก็ไปวิงวอนด้วยคำอ่อนหวานให้บิดามารดาบริจากทานการกุศล ๑

ที่ ๕ บิดามารดาไม่มีปัญญาพิจารณาซึ่งสังขารมือมนธ์อนธการอยู่ด้วยอวิชชาโมหะหุ้มห่อไว้ จึงเข้าไปอ้อนวอนชักนำสั่งสอนให้บิดามารดามีปัญญา ละอวิชชาโมหมูลให้เสื่อมสูญจากสันดาน จะได้ยกจิตขึ้นสู่พระกรรมฐาน คือ สมถะและวิปัสสนาให้เกิดปัญญาอย่างวิเศษ จะได้ละซึ่งกิเลสให้สิ้นไป โดยนัยดังวิสัชนามาฉะนี้ บุตรหญิงชายทั้งหลายใครได้ปฎิบัติบิดามารดาดังพรรณนามาฉะนี้ จัดเป็นมงคลอันประเสริฐโดยวิเศษ เหตุจัดเข้าในปฎิบัติบูชา เหมือนพระสารีบุตรไปสั่งสอนมารดาให้ตั้งอยู่ในศรัทธาและศีลเป็นต้น.. 

ที่มา : http://larnbuddhism.com

มงคลที่ 1 , มงคลที่ 2 , มงคลที่ 3มงคลที่ 4 , มงคลที่ 5 , มงคลที่ 6 , มงคลที่ 7 มงคลที่ 8 , มงคลที่ 9 , มงคลที่ 10 , มงคลที่ 11 , มงคลที่ 12 , มงคลที่ 13 , มงคลที่ 14 , มงคลที่ 15 , มงคลที่ 16 , มงคลที่ 17 , มงคลที่ 18 มงคลที่ 19 , มงคลที่ 20 , มงคลที่ 21 , มงคลที่ 22 , มงคลที่ 23 , มงคลที่ 24 มงคลที่ 25 , มงคลที่ 26 , มงคลที่ 27 , มงคลที่ 28 , มงคลที่ 29 , มงคลที่ 30 , มงคลที่ 31 , มงคลที่ 32 , มงคลที่ 33 มงคลที่ 34 , มงคลที่ 35 , มงคลที่ 36มงคลที่ 37มงคลที่ 38 ฯ


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: