กิเลสเครื่องผูกรัดและฉุดคร่าให้ตกไปในเบื้องต่ำ คือสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ คือ
๑. สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวของตน
๒. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย
๓. สีลัพพตปรามาส ความถือมั่นศีลพรต
๔. กามฉันทะ ความพอใจในกามคุณ
๕. ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งในใจ หรือพยาบาท หรือความคิดร้าย
พระพุทธองค์ทรงแสดงอุปมาว่าเปรียบเหมือนกับก้อนหินที่เขาผูกเท้าไว้มันฉุดคร่าให้ติดอยู่กับวัฏสงสารหรือทำให้จ่มอยู่กับการเวียนว่ายตายเกิด ดังพระบาลีว่า
“ปาเทสุ พนฺธปาสาณา วิย ปญฺโจรมฺภาคิยสํโยชนานิ เหฏฺฐา อากฑฺฒมานาการานิ โหนฺติ, ตานิ อนาคามิมคฺเคน ฉินฺเทยฺยาติ วทติ”
แปลความว่า “พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า สังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ เป็นเครื่องฉุดคร่าให้ตกไปในเบื้องต่ำ เหมือนกับก้อนหินที่เขาผูกเท้าไว้ บุคคลจะพึงตัดสังโยชน์นั้นได้ด้วยพระอนาคามิมรรค” เป็นต้น
เพราะฉะนั้น กิเลสเครื่องผูกรัดใจเหล่านี้ควรตัดออกจากจิตใจ เพื่อมิให้ติดอยู่กับการเวียนว่ายตายเกิด การเกิดในชาติหนึ่งๆอาจมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน แต่ถ้าต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏอย่างไม่มีที่สิ้นสุดแล้วมันจะทุกข์ทรมานขนาดไหน คิดดูเอาเถิด.
สาระธรรมจากกติฉินทสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ)
0 comments: