วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

ภิกษุผู้มีชื่อเสียง คือประชาชนรู้จักกันทั่วแล้ว เมื่อจะแนะนำพร่ำสอนผู้อื่นต้องระวังให้มากขึ้นไปอีก

ภิกษุผู้มีชื่อเสียง คือประชาชนรู้จักกันทั่วแล้ว เมื่อจะแนะนำพร่ำสอนผู้อื่นต้องระวังให้มากขึ้นไปอีก 

พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในญาตสูตร (พระสูตรว่าด้วยภิกษุผู้มีชื่อเสียง) ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่มีชื่อเสียง ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ปฏิบัติเพื่อไม่เกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อไม่ใช่สุขแก่คนหมู่มาก เพื่อไม่ใช่ประโยชน์แก่คนหมู่มาก เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. ชักชวนในกายกรรมที่ไม่สมควร

๒. ชักชวนในวจีกรรมที่ไม่สมควร

๓. ชักชวนในธรรมที่ไม่สมควร

ภิกษุที่มีชื่อเสียง ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ปฏิบัติเพื่อไม่เกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อไม่ใช่สุขแก่คนหมู่มาก เพื่อไม่ใช่ประโยชน์แก่คนหมู่มาก เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

(ส่วน) ภิกษุที่มีชื่อเสียง ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่อประโยชน์แก่คนหมู่มาก เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. ชักชวนในกายกรรมที่สมควร

๒. ชักชวนในวจีกรรมที่สมควร

๓. ชักชวนในธรรมที่สมควร

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่มีชื่อเสียง ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่อประโยชน์แก่คนหมู่มากเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย” ดังนี้ ฯ

ในอรรถกถาท่านอธิบายไว้ว่า

บทว่า  ญาตโก  ได้แก่ ภิกษุผู้มีชื่อเสียง คือประชาชนรู้จักกันทั่วแล้ว ได้แก่ผู้ปรากฏแล้ว

กายกรรมชื่อว่าไม่เหมาะสม เพราะหมายความว่าไม่เหมาะสมแก่พระศาสนา แล้วชักชวนในกายกรรมอันไม่เหมาะสมนั้น เช่นในกายทุจริตมีปาณาติบาตเป็นต้น.

อีกอย่างหนึ่ง กายทุจริตนั้นเป็นของหยาบ แต่ภิกษุสามารถจะชักชวนให้สมาทาน ในกายทุจริตเป็นต้นนี้ได้ คือชักชวนให้สมาทาน คือให้ยึดถือในกรรมเห็นปานนี้ว่า “การนอบน้อมทิศทั้งหลายสมควร การทำพลีกรรมให้ภูตย่อมควร”

แม้ในวจีกรรม มุสาวาทเป็นต้นเป็นของหยาบ แต่ภิกษุนั้นจะชักชวนให้สมาทานในวจีกรรมเห็นปานนี้ว่า “ขึ้นชื่อว่าการพูดเท็จแก่คนโง่นี้ว่าไม่มี เพราะไม่ประสงค์จะให้ของๆ ตนแก่ผู้อื่น” ก็ควรพูดได้.

แม้ในมโนกรรม อภิชฌาเป็นต้นก็เป็นของหยาบ แต่ภิกษุเมื่อบอกกัมมัฏฐานผิดพลาดไป ก็ชื่อว่าชักชวนให้สมาทานในมโนกรรมอันสมควร 

เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้มีชื่อเสียงต้องระวังในการแนะนำ

สาระธรรมโดยย่อจากญาตสูตร ติกกนิบาต อังคุตตรนิกาย 

พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ) วัดสามพระยา กรุงเทพฯ  3/5/65

รวมภาพพุทธประวัติเรียงลำดับเหตุการณ์ , ภาพวาดพุทธประวัติ , พุทธประวัติโดยย่อ , เหตุไฉนผิวพรรณจึงผ่องใส ? , ทุกข์ปรากฎที่ไหนต้องดับที่นั้น , รู้เพื่อละ , การดับทุกข์ได้จริงและถูกต้อง ต้องไม่ทำบาปดับทุกข์ , การใคร่ครวญก่อนแล้วจึงตัดสินใจเป็นการดี


Previous Post
Next Post

0 comments: