วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

ความประพฤติทุศีล ความริษยา และความตระหนี่ ธรรม ๓ ประการนี้ ก็จัดเป็นมลทินเหมือนกัน

ความประพฤติทุศีล ความริษยา และความตระหนี่ ธรรม ๓ ประการนี้ก็จัดเป็นมลทินเหมือนกัน

มลทิน แปลว่า ความมัวหมอง
และความมัวหมองนั้น หมายความว่าอย่างไร ?

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในมลสูตร ติกนิบาต อังคุตตรนิกาย ว่า  “ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ไม่ละมลทิน ๓ ประการนี้ ย่อมดำรงอยู่ในนรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้, ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. เป็นคนทุศีลและไม่ละมลทินคือความเป็นคนทุศีล

๒. เป็นคนริษยาและไม่ละมลทินคือความริษยา

๓. เป็นคนตระหนี่และไม่ละมลทินคือความตระหนี่

บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ไม่ละมลทิน ๓ ประการนี้ ดำรงอยู่ในนรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้” ดังนี้เป็นต้น ฯ

ในอรรถกถามลสูตร ติกนิบาต อังคุตตรนิกาย ท่านอธิบายความหมายไว้ ๓ ประการ คือ

๑.ชื่อว่ามัวหมอง เพราะหมายความว่าตามเผาไหม้

๒.ชื่อว่ามัวหมอง เพราะหมายความว่ามีกลิ่นเหม็น

๓.ชื่อว่ามัวหมอง เพราะหมายความว่าทำให้เศร้าหมอง

อธิบายความ

๑. มลทินนั้น ย่อมตามเผาไหม้สัตว์ผู้ทุศีล ในอบายทั้งหลายมีนรกเป็นต้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าเป็นมลทิน เพราะหมายความว่าตามเผาไหม้บ้าง

๒. มลทินนั้น ย่อมมีกลิ่นเหม็น เพราะบุคคลเกลือกกลั้วด้วยมลทินนั้นเป็นที่น่ารังเกียจ ทั้งในสำนักมารดาบิดา ทั้งภายในภิกษุสงฆ์ ทั้งในโพธิสถานและเจดียสถาน และกลิ่นอันเกิดจากความไม่ดีของเขา ย่อมฟุ้งไปในทุกทิศว่า “ผู้นั้นทำบาปกรรมเห็นปานนี้” เหตุนั้นจึงชื่อว่าเป็นมลทิน เพราะหมายความว่ามีกลิ่นเหม็นบ้าง

๓. มลทินนั้น ย่อมทำให้เศร้าหมอง เพราะบุคคลผู้เกลือกกลั้วด้วยมลทินนั้น ย่อมได้รับความเดือดร้อนในที่ที่ไปถึง และกายกรรมเป็นต้นของเขาก็ไม่สะอาดไม่ผ่องใส เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าเป็นมลทิน เพราะหมายความว่าทำให้เศร้าหมองบ้าง

อีกอย่างหนึ่ง มลทินนั้น ย่อมทำเทวสมบัติมนุษยสมบัติและนิพพานสมบัติให้เหี่ยวแห้งไป เพราะเหตุนั้น พึงทราบว่าเป็นมลทิน เพราะหมายความว่าทำให้เหี่ยวแห้งบ้าง

แม้ในมลทินคือริษยา และมลทินคือความตระหนี่ ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน.

สาระธรรมโดยย่อจากมลสูตร ติกกนิบาต อังคุตตรนิกาย 

พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ) วัดสามพระยา กรุงเทพฯ 

1/5/65

รวมภาพพุทธประวัติเรียงลำดับเหตุการณ์ , ภาพวาดพุทธประวัติ , พุทธประวัติโดยย่อ , เหตุไฉนผิวพรรณจึงผ่องใส ? , ทุกข์ปรากฎที่ไหนต้องดับที่นั้น , รู้เพื่อละ , การดับทุกข์ได้จริงและถูกต้อง ต้องไม่ทำบาปดับทุกข์ , การใคร่ครวญก่อนแล้วจึงตัดสินใจเป็นการดี









Previous Post
Next Post

0 comments: