วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

“สันโดษ” ที่ถูกต้อง ตรงตามความหมายของพระพุทธเจ้า

“สันโดษ” ที่ถูกต้อง ตรงตามความหมายของพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าท่านตรัส “สันโดษ” เพียงเพื่อให้คนหยุดเป็นเปรต หยุดเป็นเปรต คือว่า หยุดมีท้องเท่าภูเขามีปากเท่ารูเข็มซะที ให้มีความพอใจทุกระยะ ทุกขั้นทุกตอน จนตลอดชีวิต และไอ้ความพอใจนี้เป็นเหตุให้ก้าวหน้า คือให้อยากทำต่อไป เพราะว่ายินดีในสิ่งนี้แล้วก็จะทำสิ่งนี้ได้เรื่อยไป 

คนโบราณของเรามี “สันโดษ” โดยไม่รู้สึกตัว ไม่ต้องอบรม อาตมายกตัวอย่าง อย่างว่า คนจนเป็นชาวนาทำนา เค้าต้องลงมือใช้เรี่ยวแรงเอาจอบฟันดินลงไปในการทำนา ถ้าเค้าทำนา ฟันดินลงไปทีแรกเค้าก็สบายใจพอใจว่าทำลงไปทีนึงแล้วมันก็เสร็จไปหนึ่งแล้ว ฟันสองทีก็เสร็จไปสองแล้ว ฟันสามทีก็เสร็จไปสาม ยิ้มกริ่มในใจอย่างนี้ มันก็ฟันไปได้เรื่อย ร้อยที พันที หมื่นที แสนที จนนาเสร็จ แล้วคนนั้นก็ยิ้มกริ่มอยู่ในใจเรื่อย ไม่มีความทุกข์เลย นั่นแหล่ะคือตัวความสันโดษ แล้วเค้าทำเสร็จลงไปแล้วก็ยังรอได้ คอยได้ จนกว่าผลมันจะออกมา กว่าข้าวจะสุก ตลอดเวลาที่คอยก็พอใจ ยิ้มกริ่มอยู่ในใจตลอดเวลา มีความสุข 

นี่ ถ้าคนที่“ไม่สันโดษ” พอฟันดินลงไปทีมันมันบอกว่า แหมทีเดียวเนี่ย มันยังเหลืออีกตั้งเยอะแยะที่ยังไม่ได้ฟัน เนี่ยมันก็ท้อใจ มันไม่มีแรงที่จะทำอีก นี้มันฝืนมันอีกสองทีสามทีมันก็ยิ่งท้อใจยิ่งทรมานตัวเองมากขึ้นไปอีก จนมันจะทำไม่ไหว แล้วมันจะคิดว่าไปขโมยดีว่า เมื่อใครทำไว้แล้วเราไปขโมยดีกว่า นี่คือโทษของความที่ไม่สันโดษ ไม่พอใจในสิ่งที่ได้ทำลงไปแล้ว หรือได้มี มีแล้ว เรื่องนี้มองข้ามกันไปเสียหมด ว่าบรรพบุรุษเค้าได้อยู่กันมาด้วยความผาสุขเพราะมีสันโดษที่ถูกต้องตามแบบของพระพุทธเจ้า”

พุทธทาสภิกขุ

สันโดษ เป็นทรัพย์อย่างยิ่ง - สนฺตุฏฺฐี  ปรมํ  ธนํ"   “สันโดษ” ทำให้มีกำลังใจในการพัฒนา

“ถ้าเราทำอะไร ที่มีอยู่รอบตัวเราทั้งหมดนี้ ให้เป็นที่พอใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ในแง่ใดแง่หนึ่ง มันก็สบาย มันก็ร่ำรวย ร่ำรวยเกินกว่าที่จะร่ำรวย อย่างที่พระบาลี(พระไตรปิฎกภาษาบาลี)ว่า “สนฺตุฏฺฐี ปรมํ ธนํ = สันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง”...ความยินดีด้วยของที่มีอยู่นั้นเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง...

ไปที่บ้านที่เรือนซึ่งมีอะไรมาก ถ้าเรารู้สึกพอใจว่ามีอยู่ เป็นประโยชน์ มันก็เป็น“คนรวย”ทันที ถ้าเห็นว่าทั้งหมดนี้ล้วนแต่น่ารำคาญ ไม่ชอบใจ ไม่รัก ไม่พอใจอะไรทั้งหมด ไปซื้อหามาแพงๆเมื่อวานนี้เอง วันนี้ก็ไม่พอใจแล้ว ทั้งบ้านทั้งเรือนไม่มีอะไรเป็นที่พอใจ มันคงจะเป็น“คนจน”ยิ่งกว่า“คนขอทาน” แล้วมันจะเลยนั้นไปอีกคือ..มันจะเป็น“คนบ้า”

ฉะนั้น ขอให้สังเกตใจความของพุทธภาษิตข้อนี้ให้ดีๆว่า “สนฺตุฏฺฐี  ปรมํ  ธนํ = ความยินดีด้วยของที่มีอยู่นั้นเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง” และ ถ้ามีทรัพย์มาก แต่ไม่พอใจ ไม่ยินดี มันก็เท่ากับ“ไม่มี” จะมีทรัพย์สักร้อยล้านพันล้าน ก็ไม่ให้เกิดความพอใจยินดีได้ มันก็เท่ากับ..ไม่มี

ขอให้เรารู้จักว่า ความพอใจในสิ่งที่มีอยู่ นั่นมันเป็นการหล่อเลี้ยงให้เรามีกำลังใจ มีความสุขสำหรับจะมีชีวิตอยู่ แล้วสำหรับจะทำให้ดียิ่งขึ้นไป ให้มากยิ่งขึ้นไป ส่วนที่ควรจะมีมากขึ้นไป..ก็ทำให้มากขึ้นไป เช่น ทรัพย์สมบัติ เงินทองข้าวของ ในส่วนที่จะทำให้“ดียิ่งขึ้นไป” เช่น การมีธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ บรรลุธรรมะ ก็ควรจะให้สูงขึ้นไป ให้ยิ่งขึ้นไป โดยมีทุนสำรอง คือ “ความพอใจในส่วนที่เราทำได้แล้ว เท่าไร”

ถ้าว่าเป็น“กุศล” หมายความว่า สิ่งที่เป็นกุศลพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนให้หยุดเสียเพียงเท่านั้น #แต่ให้สืบต่อการปฏิบัติสูงขึ้นไปๆ จนกว่าจะถึงที่สุด...

สันโดษ ทำให้มีกำลังใจที่จะพัฒนา 

ทีนี้ ก็จะมาถึงตัวปัญหา ที่มันเกิดขัดแย้งกันกับพวกชาวโลก หรือ “นักการเมือง” ที่เขาว่าสันโดษนี่มันทำให้ไม่พัฒนา ฉะนั้น อย่าสอนให้คนสันโดษ เพราะจะไม่พัฒนา อาตมาไปเถียงเขาว่า สันโดษนั่นแหละ!..จะทำให้พัฒนา คือ ยินดีตามที่มันได้มาแล้ว มีมาแล้ว มันก็ยิ่งมีกำลังใจที่จะทำให้มากขึ้นไป ฉะนั้น ความสันโดษนั้นเป็นรากฐานของการพัฒนา ไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้จะพัฒนาไปทำไม 

เดี๋ยวนี้ มันได้ชิม ได้ดื่ม ได้กิน ผลที่ทำมาได้แล้ว แม้จะน้อยก็เถอะ มันหามาได้น้อยมันก็ดีใจมันก็พอใจ เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า นี้มันมีผลเป็นที่พอใจ เราควรจะหาให้มาก ทำให้มาก แต่ก็ไม่ลืมที่จะ“พอใจเท่าที่มันได้มาแล้ว” เพื่อให้มันอิ่มใจ เพื่อให้มันเป็นกำลังใจสำหรับจะพัฒนาต่อไป ถ้ามองกันในแง่นี้ ความสันโดษไม่ได้เป็นอุปสรรคของการพัฒนา แต่จะพัฒนาสนุก พัฒนสนุกเหมือนที่ได้ว่ามาแล้ว มันเป็นสุขไปพลาง ทำงานไปพลาง มันรวยไปพลาง หาเพิ่มไปพลาง มันจะพัฒนาสนุก ไม่ได้เป็นอุปสรรคแก่การพัฒนา”

พุทธทาสภิกขุ 

ที่มา : ธรรมบรรยาย เรื่อง “สันโดษไม่เป็นอุปสรรคแก่การพัฒนา” จากหนังสือ ชุดธรรมโฆษณ์ เล่ม “หลักพระพุทธศาสนาที่ยังเข้าใจผิดกันอยู่”

ทำชีวิตให้มี “ความสุขในปัจจุบัน” ได้ทันที

“พอใจในสิ่งที่เรามี ภูมิใจในสิ่งที่เราเป็น เห็นคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่กับตัว นี่คือ เคล็ดลับสู่ชีวิตที่เบาสบาย และสงบเย็น ด้วยเหตุนี้ “สันโดษ” จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิต

“สันโดษ” ไม่ได้หมายถึงการอยู่คนเดียว ไม่สุงสิงกับใคร และไม่ได้หมายถึงความเฉื่อยเนือย ไม่กระตือรือร้น แต่..คือความพอใจในสิ่งที่เรามี และยินดีในสิ่งที่เราเป็น ไม่ปรารถนาสิ่งที่อยู่ไกลตัวหรือเป็นของคนอื่น

ถ้ามี “สันโดษ” ก็จะพบกับความสุขในปัจจุบันทันที   แต่ถ้าไม่มีสันโดษ ก็ต้องหวังความสุขจากอนาคต ซึ่งก็ไม่แน่ว่าจะมาถึงหรือไม่ แต่จะมาหรือไม่มา ที่แน่ๆก็คือ ไม่มีความสุขกับปัจจุบัน

คนที่ไม่รู้จักสันโดษ จึง“ขาดทุน” ๒ สถาน คือ นอกจากจะไม่มี“ความสุข”กับสิ่งที่มีอยู่แล้ว ยังเป็น“ทุกข์”เพราะสิ่งที่ปรารถนายังมาไม่ถึง ในทางตรงกันข้าม คนที่พอใจในสิ่งที่มีอยู่หรือเป็นอยู่ แม้สิ่งที่ดีกว่ายังมาไม่ถึง ก็ยังมีความสุขอยู่กับตัว และเมื่อสิ่งที่ดีกว่ามาถึง ก็ยิ่งมีความสุขมากขึ้น ผู้ที่รู้จักสันโดษจึงมีความสุขในทุกสถาน”

พระไพศาล วิสาโล

ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ - รวบรวม


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: