วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

สพฺพสํหารกปญฺหชาตกํ - ว่าด้วยคำพูดของหญิง ๒ วัย


สพฺพสํหารกปญฺหชาตกํ - ว่าด้วยคำพูดของหญิง ๒ วัย

"สพฺพสํหารโก  นตฺถิ,     สุทฺธํ    กงฺคุ   ปวายติ;

อลิกํ  ภาสติยํ  ธุตฺตี,     สจฺจมาห  มหลฺลิกาติ ฯ

กลิ่นเครื่องอบทั้งปวงไม่มี มีแต่กลิ่นดอกประยงล้วนฟุ้งไป หญิงนักเลงคนนี้ ย่อมกล่าวคำเหลาะแหละ หญิงผู้ใหญ่กล่าวคำจริง."

สัพพสังหารปัญหาชาดกอรรถกถา (กลิ่มหอมทุกชนิด)

สัพพสังหารปัญหานี้ มีคำเริ่มต้นว่า  สพฺพสํหารโก  นตฺถิ  ดังนี้ ก็จักแจ่มแจ้งในอุมมังคชาดก (มหานิบาตชาดก อุมมังคชาดก) โดยอาการทั้งปวง. จบอรรถกถาสัพพสังหารปัญหาชาดกที่ ๑๐ จบปโรสตวรรคที่ ๑๑

หมายเหตุ: อรรถกถาในสัพพสังหารปัญหาชาดก โดยตรงไม่มี, เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้จักได้นำอรรถกถาแห่งอุมมัคคชาดก (หรือ มโหสถชาดก) ตามที่ท่านอ้างถึงมาแสดงไว้ เพื่อความสมบูรณ์ดังนี้.

หัวข้อว่า เครื่องประดับทำเป็นปล้อง ๆ มีความว่า ยังมีหญิงเข็ญใจคนหนึ่งเปลื้องเครื่องประดับทำเป็นปล้อง ถักด้วยด้ายสีต่าง ๆ จากคอวางไว้บนผ้าสาฎก ลงสู่สระโบกขรณีที่มโหสถบัณฑิตให้ทำไว้ เพื่ออาบน้ำ

หญิงรุ่นสาวคนหนึ่งเห็นเครื่องประดับนั้น เกิดความโลภ หยิบเครื่องประดับขึ้นชมว่า “เครื่องประดับนี้งามเหลือเกิน แกทำราคาเท่าไร? แม้เราก็จักทำรูปเหล่านี้ ตามควรแก่ศิลปะของคน“ กล่าวชมฉะนี้แล้วประดับที่คอตน แล้วกล่าวว่า „เราจะพิจารณาประมาณของเครื่องประดับนั้นก่อน“ หญิงเจ้าของกล่าวว่า „จงพิจารณาดูเถิด“ เพราะหญิงเจ้าของเป็นคนมีจิตชื่อตรง หญิงรุ่นสาวประดับที่คอคนแล้วหลีกไป.

ฝ่ายหญิงเจ้าของเห็นดังนั้น ก็รีบขึ้นจากโบกขรณี นุ่งผ้าสาฎกแล้ววิ่งตามไปยึดผ้าไว้กล่าวว่า „เอ็งจักถือเอาเครื่องประดับของข้าหนีไปไหน“?  ฝ่ายหญิงขโมยกล่าวตอบว่า „ข้าไม่ได้เอาของของแก เครื่องประดับคอของข้าต่างหาก“

มหาชนชุมนุมฟังวิวาทกัน.

ฝ่ายมโหสถบัณฑิตเล่นอยู่กับเหล่าทารกได้ฟังเสียงหญิงสองคนนั้นทะเลาะกันไปทางประตูศาลา ถามว่า „นั่นเสียงอะไร“ ได้ฟังเหตุที่หญิงสองคนทะเลาะกันแล้ว จึงให้เรียกเข้ามา แม้รู้อยู่โดยอาการว่า „หญิงนี้เป็นขโมย หญิงนี้มิใช่ขโมย“ ก็ถามเนื้อความนั้นแล้วกล่าวว่า „แกทั้งสองจักตั้งอยู่ในวินิจฉัยของข้าหรือ“?   เมื่อหญิงทั้งสองรับว่าจักตั้งอยู่ในวินิจฉัย จึงถามหญิงขโมยก่อนว่า „แกย้อมเครื่องประดับนี้ด้วยของหอมอะไร“? หญิงขโมยตอบว่า „ข้าพเจ้าย้อมด้วยของหอมทุกอย่างของหอมที่ทำประกอบด้วยของหอมทั้งปวงชื่อว่าของหอมทุกอย่าง“

ลำดับนั้น มโหสถบัณฑิตจึงถามหญิง เจ้าของนางตอบว่า „เพราะข้าพเจ้าเป็นคนเข็ญใจของหอมทุกอย่างจะมีแต่ไหน ข้าพเจ้าย้อมด้วยของหอมคือดอกประยงค์เท่านั้นเป็นนิตย์“   มโหสถบัณฑิต ให้คนของตนกำหนดคำของหญิงทั้งสองนั้นไว้แล้วให้นำภาชนะน้ำมาแช่เครื่องประดับน้ำในภาชนะน้ำนั้น ให้เรียกคนรู้จักกลิ่นมาสั่งว่า „ท่านจงดมเครื่องประดับนั้น จะเป็นกลิ่นอะไร?“ คนรู้จักกลิ่นดมเครื่องประดับนั้นแล้วก็รู้ว่ากลิ่นดอกประยงค์  จึงกล่าวคาถานี้ในเอกนิบาตว่า :- 

„ของหอมทุกอย่างไม่มี มีแต่กลิ่นดอกประยงค์ ล้วน หญิงนักเลงคือหญิงขโมยกล่าวคำเท็จ หญิงแก่ คือหญิงเจ้าของกล่าวคำจริง.“

บรรดบทเหล่านั้น บทว่า  ธุตฺตี  ได้แก่ หญิงนักเลงฯ    บทว่า อาหุ  แปลว่า  ย่อมกล่าว, อีกอย่างหนึ่ง ได้กล่าวแล้วอย่างนี้นั่นเทียวฯ

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ยังมหาชนให้รู้เหตุการณ์นั้นแล้วถามว่า แกเป็นขโมยหรือ แล้วให้สารภาพว่าเป็นขโมย จำเดิมแต่นั้น ความที่พระมหาสัตว์เป็นบัณฑิตก็ปรากฏแก่มหาชน.

ที่มา : Palipage : Guide to Language - Pali



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: