วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ทุกสิ่งเป็นอนิจจัง - พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น

ทุกสิ่งเป็นอนิจจัง - พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น

หลายคนชอบพูดอย่างนี้เวลามีเรื่องราวหรือมีปัญหา เช่น ใครทำอะไรผิดเพี้ยนเปลี่ยนผันไปจากหลักเกณฑ์ที่ควรจะเป็น หรือปล่อยปละละเลยจนเกิดความเสียหายต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือเมื่อเห็นอะไรที่ควรจะรักษาไว้ให้อยู่ยั่งยืนต่อไป แต่กลับมาถูกทำลายลง แล้วมีใครลุกขึ้นมาแสดงความเดือดเนื้อร้อนใจ เป็นต้น

ก็มักจะมีท่านจำพวกนี้ออกมาบอกว่า ทุกสิ่งเป็นอนิจจัง พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น หรือพระพุทธศาสนาสอนไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น  บอกเสร็จก็รู้สึกคล้ายๆ กับว่าท่านได้ทำหน้าที่อันสำคัญสำเร็จเรียบร้อยแล้ว หรือได้แก้ปัญหานั้นๆ สำเร็จแล้ว

ฟังเผินๆ ดูดี - ทุกสิ่งเป็นอนิจจัง พระพุทธศาสนาสอนไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น  แต่ถ้าพินิจดูให้ดี เมื่อมีกรณีเช่นนั้นแล้วพูดแบบนี้ น่าจะไม่เป็นผลดีเท่าไร  ทำให้คนเข้าใจพระพุทธศาสนาอย่างผิดๆ ได้ง่ายมาก   เมื่อเกิดปัญหาที่ควรจะต้องแก้ไข แต่มีคนออกมาบอกว่า ทุกสิ่งเป็นอนิจจัง พระพุทธศาสนาสอนไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น ก็คือออกมาบอกว่า ปล่อยให้มันเป็นไปแบบนั้นแหละ ไม่ต้องไปแก้ไขอะไรหรอก  ใช่หรือไม่  ถ้าไม่ใช่ ไม่ได้มีเจตนาจะให้เข้าใจแบบนี้ ก็แล้วจะให้เข้าใจแบบไหน คนพูดเคยคิดบ้างไหม-ถึงความหมายของคำที่ชอบพูดนั้น

“ทุกสิ่งเป็นอนิจจัง” เป็นหลักสัจธรรมในไตรลักษณ์ ข้อความเต็มๆ ว่า ทุกสิ่งเป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยงแท้แน่นอน ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และไม่มีตัวจริงตัวแท้ มีแต่ตัวที่ถูกประสมกันขึ้นมา แยกส่วนประสมออกก็หาตัวจริงไม่เจอ  นี่ก็คือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือไตรลักษณ์ หลักไตรลักษณ์นี้เป็นคำสอนเพื่อให้มองหรือเข้าใจสรรพสิ่งให้ถูกต้องตรงกับที่มันเป็น 

ไม่ใช่พวกโลกทราม  หรือโลกสวย  แต่เป็นโลกสัจ  คือมองโลกตามความเป็นจริง

ส่วน “พระพุทธศาสนาสอนไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น” ก็สืบเนื่องจากหลักไตรลักษณ์ คือเมื่อมองโลกตามความเป็นจริงแล้ว ถามว่าจะทำอย่างไรกับมันต่อไป ก็ตอบว่าอย่าไปยึดมั่นถือมั่น คืออย่าไปยึดว่ามันเป็นของเรา มันเป็นตัวเรา แล้วไปเกณฑ์ให้มันเป็นอย่างที่เราต้องการ   ความข้อนี้ คำบาลีที่มีผู้ยกขึ้นมาอ้างก็คือ “สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย” แปลว่า สภาพทั้งปวงไม่ควรที่จะยึดมั่นถือมั่น (จูฬตัณหาสังขยสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่ม ๑๒ ข้อ ๔๓๔)

ที่ควรต้องเข้าใจก็คือ ยึดมั่นหรือไม่ยึดมั่นเป็นอาการทางใจ  ยึดมั่น-เป็นอาการปกติของคนทั่วไปอยู่แล้ว  แต่ไม่ยึดมั่น-นี่เป็นสิ่งที่ต้องฝึก เป็นงานทางใจ  สรุปว่า อนิจจัง-ไม่ยึดมั่น เป็นคำสอนให้เข้าใจโลกและทำใจกับโลกให้ถูกต้อง เป็นคนละเรื่องกับเห็นปัญหาและคิดหาทางแก้ปัญหา เห็นปัญหา ศึกษาปัญหา แล้วหาทางแก้ปัญหา นี่เป็นงานที่ต้องทำ  เทียบง่ายๆ กับ-เกิดมาแล้วต้องตาย  เกิดมาแล้วต้องตาย-นี่เป็นความจริง  แต่ในระหว่างที่ยังไม่ตายต้องทำอะไร นี่คืองานที่ต้องทำ ไม่ใช่ว่า พอรู้ว่าเกิดมาแล้วต้องตาย ก็เลยไม่ทำอะไร นั่งนอนรอความตายเฉยๆ อยู่ตรงนั้นเอง แล้วบอกว่า-ทุกสิ่งเป็นอนิจจัง พระพุทธศาสนาสอนไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น

รู้ว่าทุกอย่างเป็นอนิจจัง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ก็ต้องรู้ และต้องฝึกใจให้ทำได้ แต่เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น คิดหาทางแก้ปัญหาและลงมือแก้ปัญหา ก็ต้องทำ ไม่ใช่เอาแต่ท่องคาถา-ทุกอย่างเป็นอนิจจัง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น แล้วก็นิ่งเฉย ไม่คิดทำอะไร กล่าวอีกนัยหนึ่ง การรู้ว่าทุกอย่างเป็นอนิจจัง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เป็นคุณสมบัติพื้นฐานของคนที่คิดแก้ปัญหา คือเมื่อเข้าใจเข้าถึงว่าทุกอย่างเป็นอนิจจัง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น จิตใจจะโปร่งโล่งเป็นอิสระ มีศักยภาพเต็มที่ในการลงมือแก้ปัญหา

อุปมาให้เห็นภาพ - คนที่ไม่ยอมรับกฎไตรลักษณ์ เอาแต่ยึดมั่นถือมั่น อุปมาเหมือนคนป่วย คนที่เข้าใจกฎไตรลักษณ์ และไม่ยึดมั่นถือมั่น อุปมาเหมือนคนสุขภาพแข็งแรงเป็นปกติ  ให้เงิน ๑๐๐ บาทเอาไปพัฒนาชีวิต  คนป่วยใช้เงิน ๕๐ บาทหรือมากกว่านั้นไปเพื่อรักษาอาการป่วย เหลือไปพัฒนาชีวิตเพียง ๕๐ บาทหรือน้อยกว่านั้น คนสุขภาพแข็งแรงเป็นปกติเอาเงิน ๑๐๐ บาทไปพัฒนาชีวิตได้เต็มๆ

เพราะฉะนั้น คนที่เข้าใจเข้าถึงว่าทุกอย่างเป็นอนิจจัง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นแล้วทำใจได้จริง จะมีโอกาสแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นให้ลุล่วงไปได้ด้วยดีได้มากที่สุด  แต่การที่จะเข้าใจเข้าถึงว่าทุกอย่างเป็นอนิจจัง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ต้องฝึกฝนปฏิบัติทางใจให้ทำได้ทำเป็นขึ้นมาก่อน คือฝึกใจเตรียมพร้อมไว้ก่อนเสมอ   คือต้องเอามาบอก เอามาสอน ต้องฝึกให้ทำได้ก่อนที่จะเกิดปัญหา ไม่ใช่ว่า พอเกิดปัญหา เห็นปัญหา กำลังจะลงมือแก้ปัญหา จึงค่อยมานั่งท่องว่า-ทุกอย่างเป็นอนิจจัง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น

“ทุกอย่างเป็นอนิจจัง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น” - ท่านที่นิยมออกมาพูดอย่างนี้ควรแน่ใจก่อนว่า ท่านจะพูดเพื่อให้กำลังใจคนคิดหาทางแก้ปัญหา หรือท่านกำลังจะบอกว่า-ไม่ต้องไปคิดทำอะไร.

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๔

๑๑:๐๕


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: