หนี้ทางโลกกับหนี้ทางธรรม
[สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้กล่าวกับเหล่าภิกษุว่า]
พ: ความยากจนเป็นทุกข์ของผู้ที่ไขว่คว้าพอใจในรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัสในโลก (ผู้บริโภคกาม)
ภ: เป็นอย่างนั้นท่าน
พ: -คนจนยากไร้ ต้องกู้หนี้ยืมสิน การกู้ยืมก็เป็นทุกข์ของผู้บริโภคกาม -คนจนยากไร้ กู้ยืมแล้วต้องให้ดอกเบี้ย การจ่ายดอกเบี้ยก็เป็นทุกข์ของผู้บริโภคกาม -คนจนยากไร้ ให้ดอกเบี้ยไม่ตรงเวลาก็ถูกเจ้าหนี้ตามทวง การถูกทวงหนี้ก็เป็นทุกข์ของผู้บริโภคกาม -คนจนยากไร้ ถูกทวงหนี้แล้วไม่มีให้ ก็จะถูกเจ้าหนี้ติดตาม การถูกติดตามก็เป็นทุกข์ของผู้บริโภคกาม -คนจนยากไร้ ถูกตามได้แล้วไม่มีเงินให้ ก็จะต้องถูกจองจำ การถูกจองจำก็เป็นทุกข์ของผู้บริโภคกาม
ฉันใดฉันนั้น คนที่ไม่มีศรัทธาในกุศลธรรม ไม่มีวิริยะในกุศลธรรม ไม่มีปัญญาในกุศลธรรม ไม่มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป ก็เรียกว่าเป็นคนจนยากไร้ในวินัยของพระอริยเจ้า
คนที่ไม่มีศรัทธาในกุศลธรรม ไม่มีวิริยะในกุศลธรรม ไม่มีปัญญาในกุศลธรรม ไม่มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป ย่อมประพฤติทุจริต ? การประพฤติทุจริต เปรียบได้กับการกู้ยืม
-คนที่ประพฤติทุจริต ย่อมพยายามปกปิดความทุจริตนั้น นี้เปรียบได้กับการต้องจ่ายดอกเบี้ย -คนที่ประพฤติทุจริต ย่อมถูกเพื่อนผู้มีศีลตำหนิว่ากล่าว นี้เปรียบได้กับการถูกทวงดอกเบี้ย -คนที่ประพฤติทุจริต ย่อมถูกอกุศลวิตกครอบงำ นี้เปรียบได้กับการถูกติดตาม -คนที่ประพฤติทุจริต เมื่อตายไปย่อมถูกจองจำในเรือนจำคือนรกหรือเกิดเป็นดิรัจฉาน
ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 36 (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต ภาค 3 ธรรมิกวรรค อิณสูตร ข้อ 316), 2559, น.650-652
0 comments: