วันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

“บุคคลผู้กีดกันอกุศลวิตกได้ด้วยหิริ มีอยู่น้อยคนในโลก..."

พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลายว่า  “บุคคลผู้กีดกันอกุศลวิตกได้ด้วยหิริ มีอยู่น้อยคนในโลก,  ภิกษุใดหลบหลีกนินทาได้ ตื่นตัวอยู่ เหมือนม้าชั้นดีหลบแส้ได้  ภิกษุเช่นนั้นมีอยู่น้อยรูป”

“เธอทั้งหลายจงมีความเพียรและมีสังเวคธรรม เหมือนม้าดีที่ถูกลงแส้, เธอทั้งหลายมีศรัทธา ศีล วิริยะ สมาธิ และธัมมวินิจฉัย สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ มีสติมั่นคง จักละทุกข์มีประมาณไม่น้อยนี้ได้”

อธิบายความ

บุคคลห้ามอกุศลวิตก (ความตรึกนึกคิดที่เป็นอกุศล) อันเกิดในภายในจิตใจด้วยความละอายได้ บุคคลเห็นปานนั้นหาได้ยาก จึงชื่อว่า “น้อยคนนักจะมีในโลก”

บุคคลใดไม่ประมาทแล้วทำสมณธรรมอยู่ คอยขับไล่ความหลับที่เกิดแล้วแก่ตน ตื่นอยู่ เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นจึงชื่อว่า “กำจัดความหลับ ตื่นอยู่”

บุคคลใดกำจัดความหลับ ตื่นอยู่ เหมือนม้าดีคอยหลบแส้อันจะตกลงที่ตน คือไม่ให้ตกลงที่ตนได้ฉะนั้น บุคคลนั้นจึงหาได้ยาก ฯ   

เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเตือนว่า “ภิกษุทั้งหลาย แม้เธอทั้งหลาย  (๑) จงเป็นผู้มีความเพียร  (๒) จงมีความสลดใจ คือมีญาณที่มีโอตตัปปะ ได้แก่ ญาณที่มีความกลัวต่อภัยคือชาติ ชรา มรณะเป็นต้น  เหมือนม้าดีอาศัยความประมาทถูกเขาฟาดด้วยแส้แล้ว รู้สึกตัวว่า ‘ชื่อแม้ตัวเรา ถูกเขาหวดด้วยแส้แล้ว’ ในกาลต่อมา ย่อมทำความเพียรฉะนั้น

เธอทั้งหลายเป็นผู้อย่างนั้นแล้ว  (๑) จงประกอบด้วยศรัทธา ๒ อย่างที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระ   (๒) จงประกอบด้วยปาริสุทธิศีล ๔   (๓) จงประกอบด้วยความเพียรเป็นไปทางกายและเป็นไปทางจิต   (๔) จงประกอบด้วยสมาธิสัมปยุตด้วยสมาบัติ ๘   และ (๕) จงประกอบด้วยคุณเครื่องวินิจฉัยธรรมคือรู้เหตุอันควรและเหตุอันไม่ควรเป็นลักษณะ

ชื่อว่ามีวิชชาและจรณะถึงพร้อม เพราะความถึงพร้อมแห่งวิชชา ๓ หรือวิชชา ๘ และจรณะ ๑๕  ชื่อว่าเป็นผู้มีสติมั่นคง เพราะความเป็นผู้มีสติตั้งมั่นแล้ว จักละทุกข์ในวัฏฏะอันมีประมาณไม่น้อยนี้ได้  ดังนี้ ฯ

สาระธรรมจากปิโลติกติสสเถรวัตถุ

พระมหาวัชระ  เชยรัมย์  (ติกฺขญาโณ)

30/7/64



วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

สู้ๆกันนะทุกท่าน เราจะผ่านสิ่งเลวร้ายไปด้วยกัน


สู้ๆกันนะทุกท่าน เราจะผ่านสิ่งเลวร้ายไปด้วยกัน

ขอคุณแห่งพระศรีรัตนตรัยปกป้องคุ้มครอง บุญที่ได้เคยสร้างได้เคยทำไว้แล้วจงให้ผลเป็นความปลอดภัยในชีวิต ขอเทวดาเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ผู้เป็นกัลยาณมิตรผู้มีจิตเมตตากรุณาจงช่วยขจัดโพยภัยทั้งผองและจงอนุโมทนาบุญที่ข้าพเจ้าได้กระทำแล้วด้วย ขอให้ทุกสรรพชีวิตร่มเย็นเป็นสุขภายใต้ร่มธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยทั่วกันทุกท่านทุกคนเทอญ ฯ

นักปราชญ์ แม้ในเวลาเกิดความลำบาก ก็มีความสุขได้ เป็นความสุขที่ปราศจากอามิส 

เพราะฉะนั้น  ไม่ว่าใครก็ตามย่อมมีช่วงเวลายากลำบากด้วยกันทั้งนั้น อยู่ที่ใครจะอดทนได้โดยไม่ประมาทมัวเมาและใช้อุบายหาทางออกจากความยากลำบากนั้น เพราะบางทีแม้จะไม่มีทรัพย์สินเงินทองมากมายเหมือนเมื่อก่อนหรือเหมือนคนอื่นเขา แต่ก็พอมีความสุขได้ ด้วยหลักแห่งการพึ่งพาตนเอง ดังพระพุทธพจน์ว่า "ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน" ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนได้ก็ไม่ต้องลำบากใจอะไรอีกต่อไป.

พระมหาวัชระ เชยรัมย์

30/7/64



พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย อกุศลวิตกมี ๓ ประการ ๓ ประการเป็นไฉน คือ..."

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า   “ดูกรภิกษุทั้งหลาย  อกุศลวิตกมี ๓ ประการ   ๓ ประการเป็นไฉน  คือ  ๑. วิตกที่เกี่ยวกับการไม่ต้องการให้ผู้อื่นดูหมิ่นตน  ๒. วิตกที่เกี่ยวกับลาภสักการะและความสรรเสริญ   ๓. วิตกที่เกี่ยวกับความเอ็นดูในผู้อื่น ดูกรภิกษุทั้งหลาย  อกุศลวิตก ๓ ประการนี้แล

อธิบายความ

อกุศลวิตก คือความตรึกที่เป็นอกุศลทั้ง ๓ ประการนี้เกิดจากความเป็นผู้ไม่ฉลาด หรือความตรึกนึกคิดที่ผิดจากทำนองคลองธรรมของคนพาล

๑. คนพาลนั้นปรารถนาการไม่ถูกดูหมิ่น ไม่ถูกดูแคลนจากผู้อื่น คือมีความวิตกที่เป็นไปแล้วอย่างนี้ว่า “ไฉนหนอ คนเหล่าอื่นไม่พึงดูหมิ่นเรา” แต่กลับต้องการความยกย่องว่า “กระไรหนอ คนเหล่าอื่นทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต จะไม่พึงเหยียดหยามเราให้ต่ำต้อย”

๒. คนพาลตรึกนึกคิดถึงแต่ลาภมีการได้จีวรเป็นต้น การสักการะนับถือบูชา และเสียงสรรเสริญ

๓. คนพาลเป็นเหมือนคนที่มีความรักเป็นเจ้าเรือน แต่เป็นความรักความเอ็นดูเทียม (รักไม่จริงหรือไม่มีความจริงใจ) ในผู้อื่น, ถึงเป็นผู้คลุกคลี เพลิดเพลิน โศกเศร้าอยู่กับผู้อื่นก็จริง คือเมื่อเขาสุขก็สุขด้วย เมื่อเขาทุกข์ก็ทุกข์ด้วย ด้วยอำนาจความรักที่เป็นเจ้าเรือน แต่เป็นความรักความเอ็นดูเทียม (รักไม่จริงหรือไม่มีความจริงใจ) ในผู้อื่นเท่านั้น ทั้งนี้เพราะคนพาลไม่ต้องการให้คนอื่นดูหมิ่นตน เพราะเขาคิดถึงแต่เรื่องลาภสักการะและชื่อเสียงเท่านั้น  ไม่ใช่เพราะเขาตระหนักในธรรมแต่ประการใดเลย ฯ

สาระธรรมจากวิตักกสูตร

พระมหาวัชระ  เชยรัมย์  (ติกฺขญาโณ)

29/7/64



อตัมมยตาควบคุมความรักไม่ให้กัดเจ้าของ

อตัมมยตาควบคุมความรักไม่ให้กัดเจ้าของ

อตัมมยตา ทำให้รู้จักความรัก ว่ามันเป็นเพียงความรู้สึกทางระบบประสาท หรือทางจิตใจ ทำให้มืด ทำให้โง่ ทำให้หลงไป เราก็หยุดได้ และเราก็จะบริโภคความรักหรือรสของเพศนั้นได้ โดยที่ไม่ต้องรับความทุกข์ถึงขนาดนั้น

เมื่อไม่มี อตัมมยตา ก็จะมีความรักชนิดที่กัดเจ้าของ ขอให้เข้าใจคำว่ากัดเจ้าของให้ดีๆ ไม่มีอตัมมยตาแล้ว อะไรมีไว้ มีอยู่ ก็จะกัดเข้าของ จะมีความรักที่จะกัดเจ้าของ ความรักกลายเป็นการทนทรมานไป ถ้ามีอตัมมยตาควบคุมไว้ได้ ความรักก็จะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น จะกลายเป็นสิ่งที่ใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ จะเป็นอาหารเพื่อความปกติของชีวิตนี้ก็ยังได้ นี่เรียกว่า อตัมมยตาควบคุมความรักไม่ให้กัดเจ้าของ และใช้เป็นประโยชน์ในการที่จะมีคู่ มี partner สำหรับเดินทางไปในชีวิต สู่ความสูงสุดในชีวิตก็ยังได้

เมื่อมีอตัมมยตา ความรักอย่างกิเลส ก็จะกลายเป็นความรักอย่างที่เป็นธรรมะ มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อะไรได้โดยง่าย ไม่มีอตัมมยตา ความรักก็ตกลงไปในความตกต่ำ เป็นความรักของกิเลส ที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในโลกทั่วโลก ปรากฏข่าวให้เห็นอยู่ทุกวัน

สรุปความว่า มีอตัมมยตาแล้ว ก็จะควบคุมความรักได้ ไม่ให้มีความรักชนิดที่เป็นโทษเป็นอันตราย ก็มีแต่ความรักที่เป็นคุณประโยชน์ นี่เรื่องของอตัมมยตาเกี่ยวกับความรัก

อตัมมยตาประทีป (น.๒๘๑) ธรรมโฆษณ์ l พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : Line ปันบุญ ปันธรรม



จะไปยึดมั่นอะไรมากนัก

จะไปยึดมั่นอะไรมากนัก

ทุกขตา มันเกิดมาจาก อนิจจตา เพราะว่ามันเปลี่ยนเรื่อย มันเปลี่ยนเรื่อย เราจะเอาอย่างที่เราต้องการ มันก็กัดเอาๆ เราก็เป็นทุกข์ เพราะเราไม่รู้จักอนิจจตา เราจะเอาให้เป็นอย่างของเราหรือเที่ยง มันก็กัดเอา เมื่อไม่เห็นอนิจจตา ไปเอากับมันเข้า มันก็เป็นทุกข์แหละ นี่ความทุกข์ คือ ทุกขตา

เราอยากจะให้ทรัพย์สมบัติของเรา เกียรติยศชื่อเสียงของเรา บุตรภรรยาของเรา ความรักของเรา อะไรก็ตามเถอะ ให้อยู่กับเราอย่างเป็นของเที่ยง ทีนี้มันเป็นของไม่เที่ยง มันก็กัดเอา มันก็กัดเอา นั้นแหละคือความทุกข์

แม้แต่ร่างกายนี้ แม้แต่สิ่งที่เราเรียกว่าชีวิต ชีวิตซึ่งประกอบไปด้วยธาตุทั้งหลาย มันก็ไม่เที่ยง เราต้องการให้ร่างกายเที่ยง ให้ชีวิตเที่ยง มันก็กัดเอา มันให้ความทุกข์แก่เรา ฉะนั้นเราให้มันไม่เที่ยงไปตามเรื่องของมัน แล้วเราก็จัดการใช้ประโยขน์ได้ตามที่มันไม่เที่ยง เพราะแม้แต่ประโยข์น์ที่ได้มามันก็ไม่เที่ยง แล้วจะไปยึดมั่นอะไรมากนัก เราปล่อยให้มันเป็นไปอย่างไม่เที่ยง แล้วเราก็จัดการ จัดการตามที่เราต้องการได้ ตามที่มันไม่เที่ยง จะไม่เกิดความทุกข์

อตัมมยตาประทีป (น.๓๑๖) ธรรมโฆษณ์ l พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : Line ปันบุญ ปันธรรม



มนุษย์ที่ฉลาดจะต้องรู้จักทำจิตให้ว่าง

มนุษย์ที่ฉลาดจะต้องรู้จักทำจิตให้ว่าง ว่างจากสิ่งที่ไม่เป็นธรรมะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือว่างจากความทะเยอทะยาน ยึดมั่น ถือมั่น อะไรต่างๆ นาๆ ว่าเป็นตัวเราหรือเป็นของเรา คือความเห็นแก่ตัวนั่นเอง

ถ้าว่างจากความเห็นแก่ตัวหรือของตัว จิตก็ว่างโปร่งสบายเยือกเย็นทำงานต่างๆ เป็นสุข เป็นของสนุก พอจิตอัดกลัดกลุ้มอยู่ตัวยตัวกูหรือของกู ความยึดมั่นถือมั่นอย่างนี้ละก็เป็นจิตวุ่น งานจะเป็นของที่ทุกข์ไปหมด ทนทรมานไปหมด เหมือนกับเราตื่นตอนเช้าๆ จิตยังว่าง นี่เราทำอะไรได้ จะล้างหน้าถูฟันอย่างนี้ก็ได้ ไม่ได้เกี่ยวกับความนึกคิดอะไรเลย มันก็ทำไปได้ด้วยจิตว่างนั้น พอจิตวุ่นกลัดกลุ้มอยู่แต่เรื่องยึดมั่นถือมั่น ตัวกู ของกู นั่นแหละอาจจะแปรงฟันผิดปาก หรือว่าล้างหน้าผิดหน้าก็ได้ ท่านลองเทียบเคียงดูอย่างนี้ก็แล้วกัน เพราะว่าจิตที่ว่าง ที่สงบ เยือกเย็นนั้น มันมีความรู้สติปัญญา มีสัมปชัญญะอยู่ในตัวมันเอง ฉะนั้นอย่าได้ ไปกลัวว่าจิตว่างแล้วจะทำอะไรไม่ได้ จิตว่างแล้วนั่งตัวแข็งเป็นก้อนหินอะไรทำนองนี้ ไม่ใช่อย่างนั้น

จิตว่างนั้นแหละ จะเป็นสติปัญญา สติสัมปชัญญะอย่างยิ่ง เฉลียวฉลาดอย่างยิ่ง ไวต่อความคิดนึกรู้สึกอย่างยิ่ง และสนุกสนานในการทำงานอย่างยิ่ง แล้วการทำงานก็ไม่เป็นนรกทั้งเป็นขึ้นมา

ตุลาการิกธรรม เล่ม ๓ (น.๑๔) ธรรมโฆษณ์ l พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : Line ปันบุญ ปันธรรม




Art of Life ศิลปแห่งชีวิต

Art of Life ศิลปแห่งชีวิต

วิธีวางลง ก็คือถือว่ามี โดยไม่ยึดมั่นว่ามี

ในทางจิตใจ มีลูกมีเมีย มีเงิน มีทอง มีอะไรก็ตาม โดยไม่ต้องยึดมั่นว่ามี! เพราะความยึดมั่นถือมั่นทำให้มืด ทำให้หลง ทำให้พูดผิด คิดผิด ทำผิด แต่ความไม่ยึดมั่นว่ามี มันทำให้เกิดสติปัญญาแจ่มแจ้ง สว่างไสวรู้ว่าควรทำอย่างไร นี่ขอให้ท่านถือว่า นี่เป็นศิลป หรือเป็น ART ของพุทธศาสนา พวกชาวต่างประเทศเขาชอบเรียกกันด้วยคำนี้ว่า Art of Life ศิลปแห่งชีวิต หรืออะไรทำนองนี้ของพุทธศาสนา มันอยู่ตรงนี้เอง มันอยู่ตรงที่มีอะไรได้อะไร หรือเป็นอะไรแล้วไม่เป็นทุกข์

ส่วนคนที่ไร้ความรู้ หรือไร้ศิลปะข้อนี้แล้ว ยิ่งมีอะไรก็ยิ่งเป็นทุกข์ ยิ่งได้อะไรก็ยิ่งเป็นทุกข์ ยิ่งเป็นอะไรก็ยิ่งเป็นทุกข์มันต่างกันตรงนี้ เพราะเขาไม่มีศิลปที่ประเสริฐในข้อนี้ คือศิลปแห่งความไม่ยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง มันจะจริงมากน้อยเท่าไรเราอย่าไปพิสูจน์ อย่าไปสอบสวนมันเลย เราเอาแต่ผลที่ประจักษ์เฉพาะหน้าว่า มันไม่ทุกข์ก็แล้วกัน พอใจกันที่ตรงนี้ ไม่มีอะไรดีไปกว่านํ้ ถ้าท่านไปตั้งปัญหาไต่สวนว่า จริงไหม จริงอย่างไร เพราะเหตุไร มันกลายเป็นเรื่องปรัชญาไม่มีที่สิ้นสุด กลายเป็นปัญหาที่เขาเรียกว่า ปัญหาอจินไตย บัญหาโลกแตกอะไรไม่มีที่สิ้นสุด เราให้มันสิ้นสุดเดี๋ยวนี้ทีนี่ ไม่ทุกข์ได้ด้วยอาการอย่างนี้ จึงทันตาเห็น

บางทีจะเสร็จเสียก่อนในเวลาไม่เท่าไร แล้วเราจะได้มีเวลาที่ไม่เป็นทุกข์มากเสียก่อนที่ร่างกายจะแตกดับ เราจะมีเวลาที่ไม่เป็นทุกข์นี้มาก นี่คือผลกำไร ถ้ามัวไปตั้งปัญหาไม่มีที่สิ้นสุด เพราะเหตุใด อย่างไร ตามรูปปรัชญาเรื่อย แล้วก็ตายเปล่า ไม่มีทางที่จะรู้เด็ดขาด แล้วก็เลยไม่ได้ปฏิบัติ แล้วก็ตายเปล่า เพราะฉะนั้น เพื่อให้ทันแก่เวลา เราต้องปฏิบัติอย่างนี้

ตุลาการิกธรรม เล่ม ๓ (น.๔๖๘)  ธรรมโฆษณ์ : พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : Line ปันบุญ ปันธรรม


วันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

เธอเคยได้ยินมาไหมว่าผู้นำรัฐที่เอาแต่นอนสบายตามใจตนนั้น เป็นที่รักที่พอใจของหมู่คณะ?

เธอเคยได้ยินมาไหมว่าผู้นำรัฐที่เอาแต่นอนสบายตามใจตนนั้น เป็นที่รักที่พอใจของหมู่คณะ?

[ณ เชตวัน ใกล้นครสาวัตถี ในช่วงเย็น พระพุทธเจ้าได้ออกจากที่พักแล้วเดินไปยังศาลา ทั้งพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ พระมหากัจจายนะ พระมหาโกฏฐิกะ พระมหาจุนทะ พระมหากัปปินะ พระอนุรุทธะ พระเรวตะ และพระอานนท์ก็ออกจากที่พักและเดินตามไปยังศาลาเช่นกัน ทั้งหมดได้นั่งอยู่ที่ศาลาตลอดคืน จากนั้นพระพุทธเจ้าได้ลุกกลับไปยังวิหารของท่าน ซักพักพระเถระแต่ละรูปต่างก็ลุกกลับไปยังวิหารของตนเช่นกัน เหลือแต่พระบวชใหม่ที่นอนกรนอยู่ในศาลานั้นจนพระอาทิตย์ขึ้น เมื่อนั้น พระพุทธเจ้าได้เห็นพระที่กำลังนอนอยู่ด้วยตาทิพย์ จึงเดินไปยังศาลาแล้วถามพระเหล่านั้นว่า]

พ:  ภิกษุทั้งหลาย สาวกชั้นเถระไปไหนกันแล้ว?  ภ:  ภันเต ท่านเหล่านั้นลุกออกไปไม่นานหลังจากท่านกลับไป  พ:  พระเถระลุกกลับไปแล้ว แต่เธอทั้งหลายที่เป็นพระบวชใหม่กลับนอนกรนอยู่ที่นี่จนพระอาทิตย์ขึ้น  เธอเคยได้ยินมาไหมว่า พระราชาที่เอาแต่นอนสบายตามใจตนนั้น เป็นที่รักที่พอใจของประชาชน?  ภ:  ไม่เคยท่าน.  

พ:  ข้อนั้นเราก็ไม่เคยได้ยิน แล้วเธอเคยได้ยินมาไหมว่า ผู้นำรัฐ ผู้นำชุมชน ผู้นำครอบครัวที่เอาแต่นอนสบายตามใจตนนั้น เป็นที่รักที่พอใจของหมู่คณะ?  ภ:  ไม่เคยท่าน.  

พ:  ข้อนั้นเราก็ไม่เคยได้ยิน  แล้วเธอเคยได้ยินมาไหมว่า สมณะหรือพราหมณ์ที่เอาแต่นอนสบายตามใจตน ไม่สำรวมกายวาจาใจ ไม่มีความเพียร ไม่ตั้งใจปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนตลอดวันคืน แต่สามารถบรรลุธรรม ดับกิเลสพ้นทุกข์ได้. ภ: ไม่เคยท่าน

พ:  ข้อนั้นเราก็ไม่เคยได้ยินเช่นกัน  เพราะเหตุนี้แล เธอทั้งหลายพึงระลึกไว้ว่าเราจะเป็นผู้สำรวมกายวาจาใจ มีความเพียร และตั้งใจปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนตลอดวันคืน

ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 36 (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต ภาค 3 สาราณียาทิวรรค กุสลสูตร ข้อ 288), 2559, น.554-557


ไม่ฉัน เ นื   ้ อ ใน 3 กรณี

ไม่ฉัน เ นื้ อ ใน 3 กรณี

[ณ สวนอัมพวันของหมอชีวกโกมารภัจจ์ ใกล้นครราชคฤห์ หมอชีวกถามพระพุทธเจ้าว่า]

ช:  ผมได้ยินคนพูดกันว่า พระสมณโคดมฉัน เนื้ อ  สั ต ว์ที่ชาวบ้าน  ตั้  ง ใ  จ  ฆ  ่ า  ม า ใ ห้ ซึ่งท่านเองทราบดีแต่ก็ยังฉันอยู่ ที่เขาพูดกันนี่เป็นเรื่องจริงหรือท่าน?

พ:  ชีวก คำกล่าวนั้นไม่ถูกต้อง เราพูดไปแล้วว่า เ นื้ อ ที่ ภิกษุไม่ควรฉันมี 3 กรณี คือ เนื้อที่ตนเห็น (ว่า  เขา  ฆ  ่ า  ม า ให้) เ นื้ อ ที่ ตนได้ ยิ น (ว่า เ ข า  ฆ  ่ า ม าให้) และเ นื้ อ ที่ ต น สงสัย  (ว่าเขา  ฆ  ่ า  ม า  ให้)

ผู้ใด  ฆ  ่ า  สั ต ว์ โดยเจาะจงว่าจะนำมาให้ตถาคตหรือสาวกตถาคต กลับจะกลายเป็นบาปเพราะเหตุ 5 ข้อ ตั้งแต่ (1) การสั่งจำเพาะเจาะจงให้ นำ   สั ต ว์  นั้น  สั ต ว์ นี้ ม า  ฆ  ่ า  (2) สั ต ว์ นั้น ต้อง ทุ ก ข์ ใจ จากการ ถู ก เข า ผู  ก  ค อ มา (3) การออกคำ สั่ ง ให้  ฆ  ่  า  สั ต ว์ นั้นเสีย (4) สั ต ว์ นั้น ต้อ ง ทุ ก  ข์ ใจ จากที่ กำ ลัง  ถู ก เ ข า    ฆ  ่ า   และ (5) การยินดีพอใจที่ได้ให้ตถาคตหรือสาวกของตถาคตฉันเนื้อที่ไม่ควรฉัน

ช:  คำสอนของท่านแจ่มแจ้งมาก เหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องแสงในที่มืด ผมขอถือท่าน คำสอนของท่าน และพระสงฆ์ที่ปฏิบัติตามคำสอนของท่านเป็นที่พึ่ง (สรณะ) ขอท่านโปรดจำผมว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตราบจนลมหายใจสุดท้าย

ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 20 (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ภาค 2 เล่ม 1 ชีวกสูตร ข้อ 56), 2559, น.95-99


“ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมดา”

มีพุทธอุทานในทุติยสัตตสูตรว่า

“สัตว์ทั้งหลายมืดมนเพราะกาม  ถูกข่ายรัดรึงไว้แน่น  ถูกเครื่องมุงบังคือตัณหาปกคลุมไว้  ถูกเครื่องผูกคือความประมาทผูกพันไว้ เหมือนปลาในข้องสัตว์เหล่านั้น  จึงไปสู่ความแก่และความตายเหมือนลูกโคที่ยังไม่อดนม วิ่งตามแม่โค ฉะนั้น”

อธิบายความ

ปลาในข้อง คือปลาที่ติดเบ็ดของนายพราน เพราะถูกนายพรานใช้เหยื่อล่อ อวิชชาคือความไม่รู้บังตาไว้ไม่เห็นเบ็ด จึงกินเหยื่อพร้อมเบ็ดเข้าไป ด้วยความประมาท ถูกจับใส่ไว้ในข้องอันมืดมล ไปสู่ความตาย 

ตัณหาเป็นประดุจมารดา เพราะตัณหาเป็นความติดข้อง เป็นความพอใจ  เหมือนมารดา (แม่โค) รักลูกให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ในเวลาที่ทุกคนมีความอยากได้หรือมีตัณหาซึ่งต้องการทุกสิ่งทุกอย่าง ตัวตัณหาเป็นตัวต้องการและนำมาซึ่งความติดข้อง เมื่อได้มาแล้วก็ต้องติดข้องด้วย ส่วนอวิชชาคือความไม่รู้เปรียบเหมือนลูกโค เมื่อไม่รู้ก็วิ่งไปตามอำนาจของตัณหา แสวงหาตามอำนาจของตัณหา ติดข้องอยู่ในรูปนามขันธ์ ๕ ตามอำนาจของตัณหา เหมือนลูกโคที่ยังไม่อดนม วิ่งตามแม่โค ฉะนั้น.

เพราะฉะนั้น ถ้าพิจารณาเห็นด้วยปัญญาจริงๆ ก็จะยืนอยู่ตรงกันข้ามกับตัณหาอันเป็นธรรมฝ่ายอกุศล จึงจะพ้นทุกข์ได้จริงๆ เพราะว่า ปัญญารู้อะไร เข้าใจอะไร ย่อมสำคัญเห็นว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมดา” จึงไม่ไปสู่อำนาจแห่งตัณหานั้น

สาระธรรมจากทุติยสัตตสูตร

พระมหาวัชระ  เชยรัมย์  (ติกฺขญาโณ)

28/7/64



วันพุธที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

กฏาหกชาตกํ - ว่าด้วยคนขี้โอ่

กฏาหกชาตกํ - ว่าด้วยคนขี้โอ่

"พหุมฺปิ โส วิกตฺเถยฺย,     อญฺญํ ชนปทํ คโต;

อนฺวาคนฺตฺวาน ทูเสยฺย,   ภุญฺช โภเค กฏาหกาติฯ

ผู้ใดไปสู่ชนบทอื่น ผู้นั้นพึงกล่าวอวดแม้มากมาย, ดูกรกฏหกะเจ้าของเงินจะติดตามมาประทุษร้ายเอา เชิญท่านบริโภคอาหารเสียเถิด."

อรรถกถากฏาหกชาดกที่ ๕

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเขตวันมหาวิหารทรงปรารภภิกษุผู้มักโอ่รูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า พหุมฺปิ โส วิกตฺเถยฺย ดังนี้.

เรื่องของภิกษุนั้น เช่นกับเรื่องที่กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล. แปลกแต่ว่า

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ อยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นเศรษฐีผู้มีสมบัติมาก ภรรยาของท่านคลอดกุมาร แม้ทาสีของท่านก็คลอดบุตรในวันนั้นเหมือนกัน เด็กทั้งสองนั้นเติบโตมาด้วยกันทีเดียว เมื่อบุตรท่านเศรษฐีเรียนหนังสือก่อน แม้ลูกทาสของท่านก็ถือกระดานชนวนตามไป พลอยศึกษาหนังสือกับ บุตรเศรษฐีนั้นด้วยได้เขียนอ่านสองสามครั้ง

ลูกทาสนั้นก็ฉลาด ในถ้อยคำ ฉลาดในโวหารโดยลำดับ เป็นหนุ่มมีรูปงาม โดยนามชื่อ กฏาหกะ เขาทำหน้าที่เป็นเสมียนคลังพัสดุ ในเรือนของท่านเศรษฐี ดำริว่า „คนเหล่านี้คงจะไม่ใช้ให้เรากระทำหน้าที่ เป็นเสมียนคลังพัสดุตลอดไป พอเห็นโทษอะไร ๆ เข้าหน่อยก็คงจะเฆี่ยน จองจำ ทำตราเครื่องหมายแล้วก็ใช้สอยทำนองทาสต่อไป ก็ที่ชายแดนมีเศรษฐีผู้เป็นสหายของท่านเศรษฐีไปในอยู่ ถ้ากระไร เราถือหนังสือด้วยถ้อยคำของท่านเศรษฐีไปในที่นั้น บอกว่า เราเป็นลูกท่านเศรษฐี ลวงเศรษฐีนั้นแล้วขอธิดาของท่านเศรษฐีเป็นคู่ครอง พึงอยู่อย่างสบาย“

เขาถือหนังสือไปด้วยตนเอง เขียนว่า „ข้าพเจ้าส่งลูกชายของข้าพเจ้าชื่อโน้น ไปสู่สำนักของท่านขึ้นชื่อว่าความสัมพันธ์ฐานเกี่ยวดองกัน ระหว่างข้าพเจ้ากับท่านและระหว่างท่านกับข้าพเจ้า เป็นการสมควร เพราะฉะนั้น ขอท่านไปโปรดยกธิดาของท่านให้แก่ทารก นี้แล้วให้เขาอยู่ในที่นั้นแหละ แม้ข้าพเจ้าได้โอกาสแล้วจึงจะมา“ ดังนี้ เเล้วเอาตราของท่านเศรษฐีนั่นแหละประทับถือเอาเสบียงและของหอม กับผ้าเป็นต้นไปตามชอบใจ ไปสู่ปัจจันตชนบท พบท่านเศรษฐี ไหว้แล้วยืนอยู่ครั้งนั้น

ท่านเศรษฐีถามเขาว่า „มาจากไหนเล่า พ่อคุณ ?“ ตอบว่า „มาจากพระนครพาราณสี“ ถามว่า „พ่อเป็นลูกใคร ?“ ตอบว่า „เป็นบุตรของพาราณสีเศรษฐีขอรับ“ ถามว่า „มาด้วยต้องการอะไรเล่า พ่อคุณ ?" ในขณะนั้น กฏาหกะก็ให้หนังสือ พร้อมกับกล่าวว่า „ท่านดูหนังสือนี้แล้วจักทราบ“  ท่านเศรษฐีอ่านหนังสือแล้ว ดีใจว่า „คราวนี้เราจะอยู่อย่างสบายละ“ จัดแจงยกธิดาแต่งให้.

บริวารของท่านเศรษฐีมีเป็นอันมาก ในเมื่อมีผู้น้อมนำยาคูและของเคี้ยวเป็นต้นเข้าไปให้ หรือน้อมนำผ้าที่อบด้วยของหอมใหม่ ๆ เข้าไปให้ ก็ติเตียนข้าวยาคูเป็นต้นว่า „โธ่เอ๋ย คนบ้านนอก ต้มยาคูกันแบบนี้ ทำของเคี้ยวก็อย่างนี้ หุงข้าวกันแบบนี้เอง“, ติเตียนผ้าและกรรมกรเป็นต้นว่า „เพราะเป็นคนบ้านนอกนั่นเอง พวกคนเหล่านี้จึงไม่รู้จักใช้ผ้าใหม่ ๆ ไม่รู้จักอบของหอม ไม่รู้จักร้อยกรองดอกไม้.“

พระโพธิสัตว์ เมื่อไม่เห็นทาส ก็ถามว่า „กฏาหกะ เราไม่พบหน้าเลย มันไปไหน ช่วยกันตามมันทีเถิด“ ดังนี้แล้ว ใช้ให้คนเที่ยวหาโดยรอบ บรรดาคนเหล่านั้นคนหนึ่งไปที่นั้นเห็นเขาแล้วจำเขาได้ เขาไม่รู้ว่า ตนมา ไปบอกแก่พระโพธิสัตว์.   

พระโพธิสัตว์ฟังเรื่องนั้นแล้วคิดว่า „มันทำไม่สมควรเลย ต้องไปจับมา“ กราบทูลพระราชา ออกจากบ้านไปด้วยบริวารเป็นอันมาก ข่าวปรากฏไปทั่วว่า ได้ยินว่า ท่านเศรษฐีไปสู่ปัจจันตชนบท.  กฏาหกะฟังว่า ท่านเศรษฐีมา คิดว่า „ท่านคงไม่มาด้วยเรื่องอื่น ต้องมาด้วยเรื่องเรานั่นแหละ ก็ถ้าเราจักหนีไปเสีย จักไม่อาจกลับมาได้อีก ก็อุบายนั้นยังพอมีเราต้องไปพบกับท่านผู้เป็นนายแล้วกระทำกิจของทาส ทำให้ท่านโปรดปรานให้จนได้“

จำเดิมแต่นั้น เขากล่าวอย่างนี้ในท่ามกลางบริษัทว่า „พวกคนพาลอื่น ๆ ไม่รู้คุณของมารดาบิดา เพราะตนเป็นคนพาล ในเวลาที่ท่านบริโภค ก็ไม่กระทำความนอบน้อม บริโภครวมกับท่านเสียเลย ส่วนเราในเวลามารดาบิดาบริโภค ย่อมคอยยกสำรับเข้าไป ยกกระโถนเข้าไป ยกของบริโภคเข้าไปให้ บางทีก็หาน้ำดื่มให้ บางทีก็พัดให้ เข้าไปยืนอยู่ใกล้ ๆ“ ดังนี้แล้ว ประกาศกิจที่พวกทาสต้องกระทำแก่นายทุกอย่าง ตลอดถึงการถือกระออมน้ำไปในที่ลับในเวลาที่นายถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ.  ครั้นให้บริษัทกำหนดอย่างนี้แล้ว เวลาที่พระโพธิสัตว์มาใกล้ปัจจันตชนบท ก็บอกกับเศรษฐีผู้เป็นพ่อตาว่า „คุณพ่อครับ ได้ยินว่า บิดาของผมมาเพื่อพบคุณพ่อ คุณพ่อโปรดให้เขาเตรียมขาทนียโภชนียาหารเถิดครับ ผมจักถือเอาเครื่องบรรณาการสวนทางไป" พ่อตาก็รับคำว่า „ดีแล้วพ่อ.“

กฏาหกะถือเอาบรรณาการไปเป็นอันมาก เดินทางไปพร้อมด้วยบริวารกลุ่มใหญ่ ไหว้พระโพธิสัตว์แล้วให้บรรณาการฝ่ายพระโพธิสัตว์รับบรรณาการ กระทำปฏิสันถารกับเขา ถึงเวลาบริโภคอาหารเช้า ก็ให้ตั้งกองพักแล้วเข้าไปสู่ที่ลับเพื่อถ่ายสรีรวลัญชะ กฏาหกะให้บริวารของตนกลับแล้ว ถือกระออมน้ำ ไปสำนักพระโพธิสัตว์ เมื่อเสร็จอุทกกิจแล้ว ก็หมอบที่เท้าทั้งสองกล่าวว่า „ข้าแต่ท่านผู้เป็นนาย กระผมจักให้ทรัพย์แก่ท่านเท่าที่ท่านปรารถนา โปรดอย่าให้ยศของกระผมเสื่อมไปเลย ขอรับ“

พระโพธิสัตว์เลื่อมใสในความสมบูรณ์ด้วยวัตรของเขา ปลอบโยนว่า „อย่ากลัวเลย อันตรายจากสำนักของเราไม่มีแก่เจ้าดอก“ แล้วเข้าสู่ปัจจันตนคร สักการะอย่างมากได้มีแล้วฝ่ายกฏาหกะก็กระทำกิจที่ทาสต้องทำแก่ท่านตลอดเวลา.  ครั้งนั้น ปัจจันตเศรษฐีกล่าวกะพระโพธิสัตว์ผู้นั่งอย่างสบายในเวลาหนึ่งว่า „ข้าแต่ท่านเศรษฐี พอผมเห็นหนังสือของท่านเข้าเท่านั้นก็ยกบุตรสาวให้แก่บุตรของท่านทีเดียว“ พระโพธิสัตว์ก็กระทำกฏาหกะให้เป็นบุตรเหมือนกัน กล่าวถ้อยคำเป็นที่รักอันคู่ควรกันให้เศรษฐียินดีแล้ว ตั้งแต่นั้นก็ไม่มีใครสามารถมองหน้ากฏาหกะได้เลย

อยู่มาวันหนึ่ง พระโพธิสัตว์เรียกธิดาเศรษฐีมาหากล่าวว่า „มานี่เถิดแม้คุณ ช่วยหาเหาบนศีรษะของเราหน่อยเถิด“ ดังนี้แล้ว กล่าวถ้อยคำอันเป็นที่รัก กะนางผู้มายืนหาเหาให้ถามว่า „แม่คุณ ลูกของเราไม่ประมาทในสุขทุกข์ของเจ้าดอกหรือ เจ้าทั้งสองครองรักสมัครสมานกันดีอยู่หรือ ?“ นางตอบว่า „ข้าแต่คุณพ่อมหาเศรษฐี บุตรของท่านไม่มีข้อตำหนิอย่างอื่นดอกนอกจากจะคอยจู้จี้เรื่องอาหารเท่านั้น“

ท่านเศรษฐีกล่าวว่า „แม่คุณ เจ้าลูกคนนี้ มีปกติกินยากเรื่อยมาทีเดียว, เอาเถิด พ่อจะให้มนต์สำหรับผูกปากมันไว้แก่เจ้า เจ้าจงเรียนมนต์นั้นไว้ให้ดี เมื่อลูกเราบ่นในเวลากินข้าวละก็เจ้าจงยืนกล่าวตรงหน้า ตามข้อความที่เรียนไว้“ แล้วให้นางเรียนคาถา พักอยู่สองสามวัน ก็กลับพระนครพาราณสีตามเดิม.  ฝ่ายกฏาหกะ ขนขาทนีย โภชนียาหารมากมาย ตามไปส่งให้ทรัพย์เป็นอันมากแล้วกราบลากลับ ตั้งแต่เวลาที่พระโพธิสัตว์กลับไปแล้ว เขายิ่งเย่อหยิ่งมากขึ้น.   วันหนึ่ง เมื่อธิดาเศรษฐีน้อมนำโภชนะมีรสเลิศต่าง ๆ เข้าไปให้ ถือทัพพีคอยปรนนิบัติอยู่ เขาเริ่มติเตียนอาหาร เศรษฐีธิดาจึงกล่าวคาถานี้ ตามทำนองที่เรียนแล้ว ในสำนักของพระโพธิสัตว์ว่า :-

„ผู้ใดไปสู่ชนบทอื่น ผู้นั้นพึงกล่าวอวด แม้มากมาย, ดูก่อนกฏาหกะ เจ้าของเงินจะติดตาม มาประทุษร้ายเอา เชิญท่านบริโภคอาหารเสียเถิด.“

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พทุมฺปิ โส วิกตฺเถยฺย อญฺญํ ชนปทํ คโต ความว่า ผู้ใดไปสู่ชนบทอื่น จากชาติภูมิของตนในที่ใดไม่มีคนรู้กำเนิดของเขา ผู้นั้นพึงจู้จี้ คือกล่าวคำข่มแม้มากก็ได้. บทว่า อนฺวาคนฺตฺวาน ทูเสยฺย ความว่า เพราะย้อนทางไปทำกิจของทาสให้แก่นายแล้ว เจ้าจึงพ้นจากการถูกเฆี่ยนด้วยหวาย อันจะถลกหนังสันหลังขึ้นและการตีตราทำเครื่องหมายทาสไปคราวหนึ่งก่อน ถ้าเจ้าขืนทำไม่ดี ในคราวหลังเขาย้อนกลับมา นายของเจ้าพึงตามประทุษร้ายได้ คือมาตามตัวถึงเรือนนี้แล้วประทุษร้ายทำลายเจ้าอีกได้ ด้วยการเฆี่ยนด้วยหวาย ด้วยการตีตราเครื่องหมายทาสและด้วยการประกาศกำเนิดก็ได้ เหตุนั้น กฏาหกะเอ๋ย เจ้าจงละความประพฤติไม่ดีนี้เสีย บริโภคโภคะทั้งหลายเถิด อย่าทำให้ความเป็นทาสของตนปรากฏแล้วเป็นผู้ต้องเดือดร้อนในภายหลังเลยนี้แลเป็นอรรถาธิบายของท่านเศรษฐี.

ส่วนธิดาเศรษฐี ไม่รู้ความหมายนั้น กล่าวได้คล่องแต่พยัญชนะ ตามข้อขอดที่เรียนมาเท่านั้น กฏาหกะคิดว่า „ท่านเศรษฐีบอกเรื่องโกงของเราแล้ว คงบอกเรื่องทั้งหมดแก่นางนี้แล้วเป็นแน่“ ตั้งแต่นั้นก็ไม่กล้าติเตียนภัตรอีก ละมานะได้ บริโภคตามมีตามได้ ไปตามยถากรรม.

พระศาสดา ทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงประชุมชาดกว่า กฏาหกะในครั้งนั้นได้มาเป็นภิกษุผู้มักโอ้อวด ส่วนพาราณสีเศรษฐีได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล. จบอรรถกถากฏาหกชาดกที่ ๕

ที่มา : Palipage : Guide to Language - Pali



ไม่ว่าโลกหน้าจะมีจริงหรือไม่ก็ตาม เราย่อมได้รับผลกรรมในโลกปัจจุบันนี้อยู่ดี

ไม่ว่าโลกหน้าจะมีจริงหรือไม่ก็ตาม เราย่อมได้รับผลกรรมในโลกปัจจุบันนี้อยู่ดี

[ณ บ้านศาลา แคว้นโกศล พระพุทธเจ้าได้พูดคุยกับพราหมณ์และคฤหบดีโดยมีความตอนหนึ่งว่า]

พ: มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งเห็นว่า ทานที่ทำไปนั้นไม่มีผล ผลของกรรมไม่ว่าจะดีหรือชั่วนั้นไม่มี ไม่มีโลกนี้ ไม่มีโลกหน้า ส่วนสมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งเห็นว่า ทานที่ทำไปนั้นมีผล ผลของกรรมไม่ว่าจะดีหรือชั่วนั้นมีจริง มีโลกนี้ มีโลกหน้า

สมณพราหมณ์กลุ่มแรกมักจะทำแต่อกุศลกรรมทั้งทางกาย วาจา ใจ เพราะไม่เห็นว่ามีภพหน้าที่ตนจะต้องรับผลจากการกระทำของตัวเอง ทั้งที่โลกหน้านั้นมีจริงแต่กลับเห็นว่าไม่มี คิดว่าไม่มี บอกว่าไม่มี นี่เป็นการเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) คิดผิด (มิจฉาสังกัปปะ) และพูดผิด (มิจฉาวาจา) สมมติว่าโลกหน้าไม่มีจริง คนที่คิดเช่นนี้ก็คงสบายไป แต่ความจริงคือโลกหน้านั้นมีจริง คนที่คิดแช่นนี้ เมื่อตายไปย่อมเข้าสู่ทุคติอบาย และถึงโลกหน้าจะมีจริงหรือไม่มีก็ตาม คนที่ทำอกุศลกรรมก็ย่อมจะถูกผู้คนติเตียนได้ในโลกปัจจุบันนี้ว่าเป็นคนทุศีล

สมณพราหมณ์กลุ่มที่สองมักจะทำแต่กุศลกรรมทั้งทางกาย วาจา ใจ เพราะเห็นว่ามีภพหน้าที่ตนจะต้องรับผลจากการกระทำของตัวเอง ซึ่งการที่โลกหน้ามีจริงและตนก็เห็นว่ามี คิดว่ามี บอกว่ามีนั้น ถือเป็นการเห็นถูก (สัมมาทิฏฐิ) คิดถูก (สัมมาสังกัปปะ) และพูดถูก (สัมมาวาจา) คนที่คิดเช่นนี้ เมื่อตายไปย่อมเข้าสู่สุคติโลกสวรรค์ และถึงโลกหน้าจะมีจริงหรือไม่มีก็ตาม คนที่ทำกุศลกรรมก็ย่อมจะได้รับการยกย่องสรรเสริญจากผู้คนในโลกปัจจุบันนี้ว่าเป็นคนมีศีล

ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 20 (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ภาค 2 เล่ม 1 อปัณณกสูตร ข้อ 103), 2559, น.211-216



ความถ่อมตน

ความถ่อมตน

แม้แต่ขุนเขายังพังทลายได้ด้วยแรงธรรมชาติบ้าง ด้วยแรงมนุษย์บ้าง จะกล่าวไยถึงมนุษย์น้อยๆ อย่างเราเล่า ซึ่งเปรียบไปก็เหมือนธุลีหนึ่งอันล่องลอยอยู่ในสุริยจักรวาลอันยิ่งใหญ่หาขอบเขตไม่ได้นี้ ประโยชน์อะไรเล่ากับความทะนงตน เมื่อใจได้รับเอาความถ่อมตนไว้เป็นสมบัติแล้ว ดวงหน้า แววตาและกิริยาท่าทีของเขาผู้นั้นก็จะทอประกายแสงแห่งความถ่อมตนให้ผู้อื่นเห็นได้อย่างชัดเจนนิสัยอันดีงามซึ่งสืบเนื่องจากการถ่อมตนนี้จะช่วยส่งเขาให้รุ่งโรจน์ในการงานที่เขาทำ และเป็นที่รักที่ยำเกรงของผู้เข้าใกล้ 

ความถ่อมตนจะคอยเตือนบุคคลให้รู้สึกว่าตนเองยังดีไม่พอ ยังมีความรู้ความสามารถไม่พอจึงมิกล้ายอมรับความยกย่องสรรเสริญจากผู้ใดอย่างลำพองใจ แต่จะน้อมรับคำตักเตือนติเตียนจากผู้อื่นด้วยใจคารวะ และพร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไขตนเองให้ดีขึ้น

คติชีวิต- เพื่อสิ่งที่เติบโตและเข้มแข็ง, เพจอาจารย์วศิน อินทสระ, ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ



วันอังคารที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

การเกิด - การ ดั  บ ทางนามธรรม หรือทางจิตใจ สิ่งที่ปุถุชนคนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จัก

การเกิด - การ ดั  บ ทางนามธรรม หรือทางจิตใจ สิ่งที่ปุถุชนคนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จัก 

การเกิดนั้น คนธรรมดาสามัญทั่วไปก็รู้จักแต่การเกิดจากท้องมารดา หรือเกิดจากแม่ ( เช่นการเกิดของสัตว์เดรัจฉาน การเกิดของมนุษย์ ) รู้จักแต่การเกิดจากท้องแม่ เช่นนี้เรียกว่ารู้จักการเกิดแต่ในทางวัตถุ เท่านี้ยังไม่พอ จะต้องมีความรู้จักการเกิดซึ่งสำคัญกว่านั้นหรือมีปัญหามากกว่านั้น การเกิดที่มีปัญหาหรือมีความสำคัญนั้น ได้แก่ การเกิดของ “ความรู้สึกในทางจิตใจ”

สิ่งที่เรียกว่าร่างกายและจิตใจนี้ อาศัยซึ่งกันและกันตั้งอยู่เพื่อทำหน้าที่ของมัน เช่น รับอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจเอง แล้วก็มีการปรุงแต่งให้เป็นความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา ในทางที่จะให้เกิดความรู้สึกว่า “เรา”(ตัวกู) หรือ “ของเรา”(ของกู) นี่เพราะว่า สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นไม่เคยได้ยินได้ฟังธรรมของพระอริยเจ้า ที่แสดงให้ทราบว่าไม่มีอะไรที่เป็นของเราหรือเป็นตัวเรา สัตว์เหล่านั้นถือเอาแต่ความรู้สึกของตนเอง เกิดรู้สึกไปตามธรรมชาติธรรมดาคนสามัญ ดังนั้น จึงได้เกิดความรู้สึกเป็นไปในทำนองว่า สิ่งนี้ถูกใจ หรือ ไม่ถูกใจ 

เมื่อมีความถูกใจ ก็เกิดความรักเกิดความอยากอย่างนั้นอย่างนี้ ในสิ่งเหล่านั้น เมื่อมีความอยากอย่างนั้นอย่างนี้เกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้นแล้ว ก็มีความรู้สึกเป็น “ตัวฉัน”(ตัวกู) ขึ้นมา ซึ่งเป็นผู้ที่จะได้หรือจะเสีย เมื่อมีความรู้สึกเป็นตัวฉันขึ้นมาโดยสมบูรณ์อย่างนี้แล้ว ก็เรียกว่ามี “การเกิด” ในทางนามธรรมหรือทางจิตใจ เป็นตัวเราเป็นตัวฉัน(ตัวกู)ขึ้นมาแล้ว แม้อย่างนี้ก็เรียกว่า “การเกิด” ด้วยเหมือนกัน 

ถ้าเป็นกรณีที่ไม่ถูกใจ ก็เกิดความอยากไปในทำนองที่ตรงกันข้าม เช่น อยากจะทำลายเสีย หรือว่าอยากจะไม่ประสบพบเห็นเป็นต้น เกิดความรู้สึก “อยาก” อย่างนี้ขึ้นมาแล้ว ก็เป็นความรู้สึกที่เรียกว่าเป็น “ตัวฉัน”(ตัวกู) คือ ฉันจะต้องประสบกับสิ่งนี้ ฉันไม่ต้องการสิ่งนี้ ฉันอยากจะทำลายสิ่งนี้ หรือไปให้พ้นเสีย นี่ก็เป็นความรู้สึกที่เป็น “ฉัน” ขึ้นมา เรียกว่าเป็นการเกิดในทางนามธรรมหรือทางจิตใจด้วยเหมือนกัน.

ดังนั้น จะต้องสังเกตดูให้ดีว่า สิ่งที่กระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจเอง เป็นต้น เหล่านี้ไม่ว่าจะให้เกิดความรู้สึกที่พอใจหรือไม่พอใจก็ตาม ย่อมเป็นสิ่งที่จะให้เกิดความรู้สึกว่า “ตัวฉัน”(ตัวกู) ได้ด้วยกันทั้งนั้น นี่ก็หมายความว่า มันให้เกิดตัวฉันได้ ทำให้มีการเกิดได้ด้วยกันทั้งนั้น นี่เป็นความเกิดทางนามธรรมหรือทางจิตใจ 

และในที่สุด มันก็มี “การ  ดั  บ” คือ เมื่อความรู้สึกที่เป็นตัวฉันนั้นเป็นไปถึงที่สุดเรื่องหนึ่ง หรือกรณีหนึ่ง แล้วมันก็ดับ คือ ตายในทางฝ่ายนามธรรม หรือทางฝ่ายจิตใจ เช่นเดียวกับทางฝ่ายร่างกายที่เกิดมาจากท้องแม่ อยู่ได้โดยสมควรแก่เวลา ครั้นถึงอายุขัยแล้วก็ดับคือตาย มนุษย์ก็อยู่ได้ไม่เกินร้อยปี สวนสัตว์เดรัจฉานก็อยู่ได้น้อยกว่านั้น เป็นลำดับมา แต่ในที่สุดก็ต้อง “ดั  บ หรือ ต  า  ย” ด้วยกันทั้งนั้น 

ดังนั้น ควรจะดูให้เห็นว่า การเกิดทางวัตถุร่างกายนั้นก็มีการดับ การเกิดในทางจิตใจนั้นก็มีการดับ เมื่อมีการเกิดและการดับแล้วก็ต้องได้รับผลอย่างใดอย่างหนึ่ง เกี่ยวกับการเกิดและการดับนั้น ส่วนมากหรือทั้งหมดเป็นไปเพื่อความทุกข์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือการเกิดในทางนามธรรมหรือทางจิตใจ ย่อมเป็นทุกข์เสมอไป และทุกคราว...” 

พุทธทาสภิกขุ 

ที่มา : จากธรรมบรรยาย หัวข้อเรื่อง “ธรรมจักษุ ดวงตาที่เห็นธรรม” แสดงในวันอาสาฬหบูชา  ณ สวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๐๙

พระอัสสชิ ได้กล่าวธรรมปริยายแก่ “สารีบุตรปริพาชก” ว่า   “ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติตรัสอย่างนี้”  เพราะได้ฟังธรรมปริยายนี้ ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ( ได้ดวงตาเห็นธรรม ) ปราศจากมลทิน ได้เกิดแก่สารีบุตรปริพาชก ว่า  “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวง มีความดับไปเป็นธรรมดา”

สารีปุตตโมคคัลลานปัพพัชชากถา, พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม ๔ ข้อ ๖๐ หน้า ๗๓-๗๔

ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ – รวบรวม


สอนลูกเรื่องการภาวนา

สอนลูกเรื่องการภาวนา

[ณ เชตวัน ใกล้นครสาวัตถี ระหว่างทางเข้าเมืองไปบิณฑบาต พระพุทธเจ้าได้หันมาพูดกับพระราหุลว่า]

พ:  ราหุล รูป (ร่างกาย) อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน จะเป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียดก็ตาม เธอพึงเห็นด้วยปัญญาตามความเป็นจริงว่ารูปทั้งปวงนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา เราไม่ได้เป็นนั้นเป็นนี่.  ร:  เฉพาะรูปเท่านั้นหรือท่าน?  พ:  ทั้งรูป เวทนา (ความรู้สึก) สัญญา (ความจำ) สังขาร (ความคิด) และวิญญาณ (ความรับรู้)

[เมื่อพระพุทธเจ้ากล่าวดังนี้แล้ว พระราหุลก็คิดว่าเราควรจะไปฝึกภาวนา ไม่ควรไปบิณฑบาตในวันนี้ จากนั้นก็กลับไปนั่งฝึกอานาปานสติจนถึงช่วงเวลาเย็นจึงเข้าไปถามพระพุทธเจ้าว่า]

ร:  ภันเต อานาปานสตินั้นทำอย่างไรจึงได้ผลมาก?

พ:  รูป (ร่างกาย) ที่มีลักษณะแข็งหยาบจับต้องได้ เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ กระดูก หัวใจ ตับ ไต ปอด ลำไส้ เรียกว่าธาตุดิน (ปฐวีธาตุ) เธอพึงเห็นด้วยปัญญาตามความเป็นจริงว่า สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา เราไม่ได้เป็นนั้นเป็นนี่ เมื่อเห็นแบบนี้ จิตก็จะเบื่อหน่ายคลายกำหนดในสิ่งเหล่านั้นลง

รูปที่มีลักษณะเอิบอาบไหลลื่น เช่น เลือด เหงื่อ น้ำตา น้ำลาย น้ำมูก น้ำดี น้ำเหลือง ไขข้อ เรียกว่าธาตุน้ำ (อาโปธาตุ) เธอพึงเห็นด้วยปัญญาตามความเป็นจริงว่า สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา เราไม่ได้เป็นนั้นเป็นนี่ เมื่อเห็นแบบนี้ จิตก็จะเบื่อหน่ายคลายกำหนดในสิ่งเหล่านั้นลง  รูปที่มีลักษณะร้อน เช่น ไฟที่ทำให้ร่ายกายอบอุ่น ไฟที่ย่อยเผาผลาญอาหาร เรียกว่าธาตุไฟ (เตโชธาตุ) เธอพึงเห็นด้วยปัญญาตามความเป็นจริงว่า สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา เราไม่ได้เป็นนั้นเป็นนี่ เมื่อเห็นแบบนี้ จิตก็จะเบื่อหน่ายคลายกำหนดในสิ่งเหล่านั้นลง

รูปที่มีลักษณะพัดไปมา เช่น ลมหายใจเข้าออก ลมในท้อง ลมที่แล่นไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ ลมที่พัดขึ้นพัดลง เรียกว่าธาตุลม (วาโยธาตุ) เธอพึงเห็นด้วยปัญญาตามความเป็นจริงว่า สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา เราไม่ได้เป็นนั้นเป็นนี่ เมื่อเห็นแบบนี้ จิตก็จะเบื่อหน่ายคลายกำหนดในสิ่งเหล่านั้นลง   รูปที่มีลักษณะว่าง ไม่ทึบ เป็นช่อง เช่น ช่องหู ช่องจมูก ช่องปาก ช่องสำหรับขับถ่าย เรียกว่าธาตุอากาศ (อากาศธาตุ) เธอพึงเห็นด้วยปัญญาตามความเป็นจริงว่า สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา เราไม่ได้เป็นนั้นเป็นนี่ เมื่อเห็นแบบนี้ จิตก็จะเบื่อหน่ายคลายกำหนดในสิ่งเหล่านั้นลง

ราหุล เธอจงฝึกภาวนา (พัฒนาจิตใจ) ให้เสมอเหมือนแผ่นดิน เมื่อมีสิ่งใดมากระทบที่ทำให้ชอบใจหรือไม่ชอบใจ สิ่งนั้นก็จะไม่สามารถครอบงำจิตเธอได้ เปรียบดังคนทั้งหลายทิ้งของสะอาดบ้าง สกปรกบ้างลงบนแผ่นดิน แผ่นดินก็ไม่ได้รู้สึกอึดอัดหรือรังเกียจของเหล่านั้นไม่   เธอจงฝึกภาวนาให้เสมอเหมือนน้ำ เมื่อมีสิ่งใดมากระทบที่ทำให้ชอบใจหรือไม่ชอบใจ สิ่งนั้นก็จะไม่สามารถครอบงำจิตเธอได้ เปรียบดังคนทั้งหลายล้างของสะอาดบ้าง สกปรกบ้างในน้ำ น้ำก็ไม่ได้รู้สึกอึดอัดหรือรังเกียจของเหล่านั้นไม่   เธอจงฝึกภาวนาให้เสมอเหมือนไฟ เมื่อมีสิ่งใดมากระทบที่ทำให้ชอบใจหรือไม่ชอบใจ สิ่งนั้นก็จะไม่สามารถครอบงำจิตเธอได้ เปรียบดังไฟที่เผาของสะอาดบ้าง สกปรกบ้าง ไฟก็ไม่ได้รู้สึกอึดอัดหรือรังเกียจของเหล่านั้นไม่

เธอจงฝึกภาวนาให้เสมอเหมือนลม เมื่อมีสิ่งใดมากระทบที่ทำให้ชอบใจหรือไม่ชอบใจ สิ่งนั้นก็จะไม่สามารถครอบงำจิตเธอได้ เปรียบดังลมที่พัดของสะอาดบ้าง สกปรกบ้าง ลมก็ไม่ได้รู้สึกอึดอัดหรือรังเกียจของเหล่านั้นไม่  เธอจงฝึกภาวนาให้เสมอเหมือนอากาศ เมื่อมีสิ่งใดมากระทบที่ทำให้ชอบใจหรือไม่ชอบใจ สิ่งนั้นก็จะไม่สามารถครอบงำจิตเธอได้ เปรียบดังอากาศที่ไม่ตั้งอยู่ในที่ใดๆ

ราหุล เธอจงเจริญเมตตาจิต (ปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข) แล้วจะละพยาบาท (ความโกรธเกลียด) ได้ เธอจงเจริญกรุณาภาวนา (ปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์) แล้วจะละวิหิงสา (ความเบียดเบียน) ได้  เธอจงเจริญมุทิตาภาวนา (ยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี) แล้วจะละอรติ (ความอิจฉาริษยา) ได้

เธอจงเจริญอุเบกขาภาวนา (วางเฉยด้วยใจเป็นกลางเพราะเห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง ไม่ผลักไสในสิ่งที่ไม่พอใจ ไม่พัวพันในสิ่งที่น่าพอใจ) แล้วจะละปฏิฆะ (ความคับแค้น) ได้  เธอจงเจริญอสุภภาวนา (คิดถึงความไม่สวยไม่งาม) แล้วจะละราคะ (ความติดใจ) ได้  เธอจงเจริญอนิจจสัญญาภาวนา (คิดถึงความไม่เที่ยง ไม่แน่นอน) แล้วจะละอัสมิมานะ (ความถือตัว) ได้

ราหุล เธอจงเจริญอานาปานสติ เพราะมีผลมาก   เธอจงมีสติรู้ลมหายใจเข้าออก รู้ความรู้สึกขณะหายใจเข้าออก รู้ความคิดขณะหายใจเข้าออก รู้จิตขณะหายใจเข้าออก รู้ธรรมความไม่เที่ยงขณะหายใจเข้าออก เมื่อฝึกให้มาก ทำให้มาก ลมหายใจเข้าและออกจะดับไป

ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 20 (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ภาค 2 เล่ม 1 มหาราหุโลวาทสูตร ข้อ 133), 2559, น.262-269 


จิตของผู้บรรลุแล้วส่วนมากจะระลึกอยู่กับพระพุทธเจ้า ธรรม และภิกษุสงฆ์

จิตของผู้บรรลุแล้วส่วนมากจะระลึกอยู่กับพระพุทธเจ้า ธรรม และภิกษุสงฆ์

[ณ นิโครธาราม ใกล้นครกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ เจ้าศากยะนามว่ามหานามะได้ถามพระพุทธเจ้าว่า]

ม:  ภันเต อริยสาวกที่บรรลุแล้ว ส่วนมากแล้วจิตจะอยู่กับอะไรในแต่ละขณะ (วิหารธรรม) ?

พ:  มหานามะ อริยสาวกนั้นย่อมระลึกถึงพระตถาคตเนืองๆว่าพระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้แจ้งได้ด้วยตัวเอง ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ได้ไปดีแล้ว เป็นผู้รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกคนได้โดยไม่มีใครจะยิ่งไปกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม

เมื่อใดที่ระลึกถึงพระตถาคตเนืองๆ (เจริญพุทธานุสติ) เมื่อนั้น จิตจะไม่ถูกราคะ โทสะ โมหะครอบงำ จิตดำเนินไปได้ตรง เกิดความปราโมทย์ ปีติ เมื่อใจมีปีติ กายจะสงบ เมื่อกายสงบก็จะเป็นสุข เมื่อเป็นสุข จิตจะตั้งมั่น?  อริยสาวกนั้นย่อมระลึกถึงพระธรรมเนืองๆว่า เป็นพระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวไว้ดีแล้ว บุคคลพึงเห็นได้เอง ใช้ได้ตลอดกาล เป็นธรรมที่ควรชวนกันให้มาดู น้อมเข้าไปในตน เป็นสิ่งที่วิญญูชนพึงรู้แจ้งได้เฉพาะตัว

เมื่อใดที่ระลึกถึงพระธรรมเนืองๆ (เจริญธัมมานุสติ) เมื่อนั้น จิตจะไม่ถูกราคะ โทสะ โมหะครอบงำ จิตดำเนินไปได้ตรง เกิดความปราโมทย์ ปีติ เมื่อใจมีปีติ กายจะสงบ เมื่อกายสงบก็จะเป็นสุข เมื่อเป็นสุข จิตจะตั้งมั่น? อริยสาวกนั้นย่อมระลึกถึงพระสงฆ์เนืองๆว่า?  พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติธรรม ซึ่งได้แก่ คู่แห่งบุรุษสี่รวมเป็นบุรุษแปด (โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกทาคามิมรรค สกทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค และอรหัตตผล) เป็นผู้ควรแก่การสักการะบูชา ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่การให้ทาน ควรแก่การกราบไหว้ เป็นเนื้อนาบุญของโลกซึ่งไม่มีที่ใดยิ่งกว่า

เมื่อใดที่ระลึกถึงพระสงฆ์เนืองๆ (เจริญสังฆานุสติ) เมื่อนั้น จิตจะไม่ถูกราคะ โทสะ โมหะครอบงำ จิตดำเนินไปได้ตรง เกิดความปราโมทย์ ปีติ เมื่อใจมีปีติ กายจะสงบ เมื่อกายสงบก็จะเป็นสุข เมื่อเป็นสุข จิตจะตั้งมั่น? อริยสาวกนั้นย่อมระลึกถึงศีลของตนอยู่เนืองๆที่ไม่ขาด ไม่ด่างพร้อย ไม่มีตัณหาและทิฏฐิมาครอบงำ พร้อมเพื่อสมาธิ

เมื่อใดที่ระลึกถึงศีลของตนเนืองๆ (เจริญสีลานุสติ) เมื่อนั้น จิตจะไม่ถูกราคะ โทสะ โมหะครอบงำ จิตดำเนินไปได้ตรง เกิดความปราโมทย์ ปีติ เมื่อใจมีปีติ กายจะสงบ เมื่อกายสงบก็จะเป็นสุข เมื่อเป็นสุข จิตจะตั้งมั่น?   อริยสาวกนั้นย่อมระลึกถึงการสละละของตนอยู่เนืองๆที่เรามีใจที่ไม่ตระหนี่ มีจาคะอันปล่อยละแล้ว ยินดีในการเสียสละให้ทาน

เมื่อใดที่ระลึกถึงการสละละของตนเนืองๆ (เจริญจาคานุสติ) เมื่อนั้น จิตจะไม่ถูกราคะ โทสะ โมหะครอบงำ จิตดำเนินไปได้ตรง เกิดความปราโมทย์ ปีติ เมื่อใจมีปีติ กายจะสงบ เมื่อกายสงบก็จะเป็นสุข เมื่อเป็นสุข จิตจะตั้งมั่น?  อริยสาวกนั้นย่อมระลึกถึงเทวดาเนืองๆว่า มีเทวดาเหล่าจาตุมมหาราชอยู่ มีเทวดาเหล่าดาวดึงส์..ยามา..ดุสิต..นิมมานรดี..ปรนิมมิตวสวัตดี..พรหมกายิกา..และเหล่าที่สูงกว่าพรหมอยู่ เทวดาเหล่าใดมีศรัทธา..ศีล..สุตะ (การได้ฟังธรรม)..จาคะ (การสละละ)..และปัญญาเช่นใด ละจากโลกนี้ไปอุบัติเป็นเทวดาในชั้นนั้นๆ แม้ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญาเช่นนั้นของเราก็มีอยู่

เมื่อใดที่ระลึกถึงศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญาทั้งของตนและของเทวดาเหล่านั้นเนืองๆ (เจริญเทวตานุสติ) เมื่อนั้น จิตจะไม่ถูกราคะ โทสะ โมหะครอบงำ จิตดำเนินไปได้ตรง เกิดความปราโมทย์ ปีติ เมื่อใจมีปีติ กายจะสงบ เมื่อกายสงบก็จะเป็นสุข เมื่อเป็นสุข จิตจะตั้งมั่น

มหานามะ อริยสาวกที่บรรลุแล้ว ส่วนมากแล้วในแต่ละขณะ จิตจะอยู่กับการระลึกถึงสิ่งดังกล่าวนี้

ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 36 (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต ภาค 3 อาหุเนยยวรรค มหานามสูตร ข้อ 281), 2559, น.521-525



มีพระพุทธพจน์ในทวยตานุปัสสนาสูตร (ในวรรคที่ ๓) ว่า

มีพระพุทธพจน์ในทวยตานุปัสสนาสูตร (ในวรรคที่ ๓) ว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากจะพึงมีผู้ถามว่า “การพิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนืองๆ พึงมีโดยปริยายอย่างอื่นบ้างไหม”   ควรตอบเขาว่า  “พึงมี”  ถ้าเขาถามว่า  “พึงมีอย่างไรเล่า”  พึงตอบเขาว่า “การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑  การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะอวิชชานั่นเองดับไป เพราะการคายกิเลสโดยไม่มีเหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒”  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่โดยชอบอย่างนี้” ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

“อวิชชานั่นแล เป็นคติของสัตว์ทั้งหลายผู้เข้าถึงชาติ มรณะ และสังสารวัฏ ซึ่งมีสภาวะอย่างนี้และมีสภาวะเป็นอย่างอื่นอยู่บ่อยๆ

อวิชชา คือความหลงมัวเมาอย่างใหญ่หลวงนี้ เป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายจมปลักอยู่สิ้นกาลนาน สัตว์เหล่าใดทำลายอวิชชาด้วยวิชชาแล้ว สัตว์เหล่านั้นย่อมไม่เข้าถึงภพใหม่อีก”

อธิบายความ 

อวิชชาเป็นคติให้เข้าถึงชาติ มรณะ และสังสารวัฏ ซึ่งมีสภาวะอย่างนี้และมีสภาวะเป็นอย่างอื่นอยู่บ่อยๆ  คำว่า “ชาติ มรณะ และสังสารวัฏ ซึ่งมีสภาวะอย่างนี้และมีสภาวะเป็นอย่างอื่นอยู่บ่อยๆ”  หมายถึง เข้าถึงความเกิดและความตาย และเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสารยาวนาน คือถึงสภาวะแห่งความเป็นมนุษย์บ้างและความเป็นสัตว์อื่นๆที่เหลือจากความเป็นมนุษย์บ้าง ดังนี้.  

เพราะฉะนั้น จงหมั่นพิจารณาเนืองๆเถิด

สาระธรรมจากทวยตานุปัสสนาสูตร

พระมหาวัชระ  เชยรัมย์  (ติกฺขญาโณ)

27/7/64



“ความสะอาดเพราะน้ำมิใช่ทางแห่งความบริสุทธิ์ของสัตว์”

“ความสะอาดเพราะน้ำมิใช่ทางแห่งความบริสุทธิ์ของสัตว์” 

พุทธอุทานว่า “บุคคลจะเป็นผู้สะอาดเพราะน้ำที่คนจำนวนมากพากันไปอาบก็หาไม่ ผู้ใดมีสัจจะและธรรม ผู้นั้นชื่อว่า “เป็นผู้สะอาด” และผู้นั้นชื่อว่า “เป็นพราหมณ์”

ในพุทธอุทานนี้ พระพุทธองค์ทรงเปล่งแสดงว่า  “ความสะอาดเพราะน้ำมิใช่ทางแห่งความบริสุทธิ์ของสัตว์”  และแสดงว่า  “ธรรมทั้งหลายมีสัจจะเป็นต้นเท่านั้นที่เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์ที่แท้จริงของสัตว์”

คำว่า “สัจจะ” หมายถึง วจีสัจจะและวิรัติสัจจะ

๑.  วจีสัจจะ คือสัจจะต่อวาจา คือ จริงต่อวาจา นั่นก็คือคำพูดของเราเอง ไม่ว่าจะเป็นการพูดด้วยปากหรือการเขียน ตลอดจนการแสดงอาการที่เป็นการปฏิญาณต่อผู้อื่นก็ตาม สัจจะต่อวาจามีอยู่ด้วยกัน ๒ ประเภท คือ (๑.๑) พูดอย่างไรทำอย่างนั้น คือ เมื่อพูดออกไปแล้วก็ต้องพยายามทำให้ได้จริงตามที่พูด  (๑.๒) ทำอย่างไรพูดอย่างนั้น คือ การพูดคำจริง เมื่อเราทำอะไรลงไปก็พูดไปตามนั้น การกระทำต้องตรงกับคำพูดของตัวเองเสมอ

๒.  วิรัติสัจจะ จริงโดยการเว้นจากทุจริตและการเว้นจากกรรมชั่ว เว้นสิ่งประจวบเฉพาะหน้า เว้นด้วยการสมาทาน เว้นด้วยตัดขาด

คำว่า “ธรรม” หมายถึง อริยมรรคและอริยผล

บุพเหตุแห่งพุทธอุทานนี้  

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ คยาสีสบรรพต ใกล้หมู่บ้านคยา  สมัยนั้น เป็นฤดูหนาว มีหิมะตก ๘ วัน ในช่วงกลางคืนอากาศหนาวเหน็บ  ชฎิลจำนวนมาก ผุดขึ้นบ้าง ดำลงบ้าง ทั้งผุดขึ้นและดำลงบ้าง รดน้ำบ้าง บูชาไฟบ้าง ที่แม่น้ำคยาด้วยคิดว่า “ด้วยวิธีนี้จะบริสุทธิ์”

(แต่) พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นชฎิลจำนวนมากผุดขึ้นบ้าง ดำลงบ้าง ทั้งผุดขึ้นและดำลงบ้าง รดน้ำบ้าง บูชาไฟบ้างที่แม่น้ำคยาด้วยคิดว่า “ด้วยวิธีนี้จะบริสุทธิ์”

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้   ในเวลานั้นว่า

“บุคคลจะเป็นผู้สะอาดเพราะน้ำที่คนจำนวนมากพากันไปอาบก็หาไม่ ผู้ใดมีสัจจะและธรรม ผู้นั้นชื่อว่า “เป็นผู้สะอาด” และผู้นั้นชื่อว่า “เป็นพราหมณ์”

สาระธรรมจากชฏิลสูตร

พระมหาวัชระ  เชยรัมย์  (ติกฺขญาโณ)

26/7/64