วันอังคารที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2564

อรรถาธิบายคำว่าสูตร ตามนัยแห่งพระคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี

อรรถาธิบายคำว่าสูตร หรือการอธิบายขยายความของคำว่าสูตร ตามนัยแห่งพระคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี

ท่านเคยสงสัยไหมว่า ในพระคัมภีร์ชั้นอรรถกถาท่านแปลหรืออรรถาธิบายคำว่าสูตรไว้อย่างไร ?

ภาษาบาลีไทยเขียนไว้ว่า :-  อิตรํ  ปน  

อตฺถานํ  สูจนโต  สุวุตฺตโต  สวนโตถ  สูทนโต   สุตฺตาณา  สุตฺตสภาคโต  จ  สุตฺตํ  สุตฺตนฺติ  อกฺขาตํ ฯ

แปลไทยว่า   ส่วนสุตตศัพท์นอกนี้ ท่านแปลความหมายว่าสูตร เพราะเปิดเผยซึ่งประโยชน์ทั้งหลาย เพราะกล่าวประโยชน์ไว้เหมาะสม เพราะเผล็ดประโยชน์ เพราะหลั่งประโยชน์ เพราะป้องกันอย่างดี และเพราะมีส่วนเสมอด้วยสายบรรทัด.

มาดูท่านอธิบายขยายความของคำว่าสูตรตามพระคาถาข้างต้นนั้น เป็น ๖ นัย คือ

๑. สูตร แปลว่า เปิดเผยซึ่งประโยช์ทั้งหลาย (เปิดเผย คือทำสิ่งที่ปิดบังอยู่ให้เผยออก เผยให้รู้ เช่น เปิดเผยความจริง เปิดเผยความลับ หรือตรงไปตรงมาไม่ปิดบัง)

พระสูตรนั้นย่อมส่องถึงประโยชน์ทั้งหลายอันต่างด้วยประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นเป็นต้น  เพราะฉะนั้น  พระสูตรจึงชื่อว่าเปิดเผยประโยชน์ที่ผู้ปฏิบัติตามจะได้รับทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นด้วย เช่นทาน การให้  หมายถึง การสละสิ่งของของตน เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วยความเต็มใจ การให้ทานเป็นพื้นฐานความดีของมนุษยชาติ และเป็นสิ่งที่ขาดเสียมิได้ในการจรรโลงสันติสุข

- พ่อแม่ ถ้าไม่ให้ทาน คือไม่เลี้ยงเรามา เราเองก็ตายเสียตั้งแต่เกิดแล้ว

- สามีภรรยา  หาทรัพย์มาได้ไม่ปันกันใช้ ก็บ้านแตก

- ครูอาจารย์ ถ้าไม่ให้ทาน คือไม่ถ่ายทอดวิชาความรู้แก่เรา  เราก็โง่ดักดาน

- คนเรา  ถ้าโกรธแล้วไม่ให้อภัยทานกัน โลกนี้ก็เป็นกลียุค

ชีวิตของคนเราจึงดำรงอยู่ได้ด้วยทาน  เราโตมาได้ก็เพราะทาน  เรามีความรู้ในด้านต่างๆ ก็เพราะทาน  โลกนี้จะมีสันติสุขได้ก็เพราะทาน  การให้ทานจึงเป็นสิ่งจำเป็น และมีคุณประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อมนุษยชาติเป็นต้น

๒. สูตร แปลว่า กล่าวประโยชน์ไว้เหมาะสม (เหมาะสม คือพอเหมาะพอสมกัน หรือสมควร ควรแก่กรณี เช่น เขาถูกลงโทษเหมาะสมกับความผิดแล้ว).  ประโยชน์ทั้งหลายพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้วในปิฎกนี้ เพราะตรัสอนุโลมตามอัธยาศัยของเวไนยสัตว์ เพราะอัธยาศัย คือลักษณะนิสัยใจคอ ความพึงพอใจ ความต้องการของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน พระพุทธองค์จึงเลือกแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์อนุโลมตามอัธยาศัยของเขา

๓. สูตร แปลว่า เผล็ดประโยชน์ (เผล็ด คือผลิออก งอกออก).  สุตตันตปิฎกนี้ย่อมเผล็ดประโยชน์ทั้งหลาย  อธิบายว่า  “เผล็ดผลเหมือนข้าวกล้าเผล็ดผลฉะนั้น”  เหมือนหว่านพืชก็หวังผล หรือหว่านพืชเช่นใดก็ได้ผลเช่นนั้น หมายถึงทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว

๔. สูตร แปลว่า หลั่งประโยชน์ (หลั่ง คือไหลลง หรือทำให้ไหลลงไม่ขาดสาย).  พระสูตรนี้ย่อมหลั่งประโยชน์ทั้งหลาย  อธิบายว่า  “เหมือนโคนมหลั่งน้ำนมฉะนั้น”  หมายถึงให้ผลที่ได้ตามต้องการ ให้สิ่งที่เป็นผลดีหรือเป็นคุณ ให้สิ่งที่มีผลใช้ได้ดี ตามที่มุ่งหมายตามสมควรแก่การปฏิบัติ

๕. สูตร แปลว่า ป้องกันอย่างดี (ป้องกัน คือขวางกั้นไว้เพื่อต้านทานหรือคุ้มครอง).  พระสูตรนี้  ย่อมป้องกัน อธิบายว่า  “ย่อมรักษาประโยชน์เหล่านั้นอย่างดี” ช่วยให้รู้วิธีเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ที่เป็นภัยต่อตัวเองในเหตุการณ์ร้ายเช่น กำลังโดนทำร้ายด้วยการทุบตี ด้วยของมีคมและอาวุธต่างๆ ก็รู้วิธีป้องกันเพื่อความอยู่รอดปลอดภัย

๖. สูตร แปลว่า มีส่วนเสมอด้วยสายบรรทัด.  พระสูตรนี้มีส่วนเสมอด้วยสายบรรทัด  สายบรรทัด (เส้นบรรทัด) เป็นเครื่องกำหนดของช่างไม้ทั้งหลายฉันใด แม้พระสูตรนี้ก็เป็นเครื่องกำหนดของวิญญูชนทั้งหลายฉันนั้น และดอกไม้ทั้งหลายที่คุมไว้ด้วยด้ายย่อมไม่เรี่ยราย ย่อมไม่กระจัดกระจายด้วยลมฉันใด  ประโยชน์ทั้งหลายที่รวบรวมไว้ด้วยพระสูตรนี้ก็ฉันนั้น (คือทรงสั่งสอนตรงไปตรงมาด้วยอุบายวิธีต่างๆ)

เพราะฉะนั้น  พระสูตรจึงมีหมายว่า ส่องถึงประโยชน์ทั้งหลาย ๑  กล่าวประโยชน์ไว้เหมาะสม ๑  เผล็ดประโยชน์ ๑  หลั่งประโยชน์ ๑  ป้องกันอย่างดี ๑  มีส่วนเสมอด้วยสายบรรทัด ๑  ด้วยประการฉะนี้แล.

สารธรรมในพระคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาทีฆนิกาย สีลขันธวรรค

พระมหาวัชระ เชยรัมย์


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: