วันอังคารที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2564

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๑)


มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๑)

เรื่องมิลินทปัญหา ที่ท่านจะได้อ่านต่อไป เป็นหนังสือที่ผมคัดลอก จากมูลนิธิปราณี สำเริงราชย์ สำนักวิวัฏฏะ วัดเขาสนามชัย ผู้แปลคือ อาจารย์ ไชยวัฒน์ กปิลกาญจน์ ซึ่งท่านได้ใช้สอนนักศึกษาเป็นประจำที่สมาคมศูนย์ค้นคว้าทางพระพุทธศาสนา วัดสระเกศ โดย ฐานของหนังสือ แปลมาจากทางพม่าเป็นหลัก ต่อไปเป็นคำชี้แจง ของผู้แปล

เมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช เสด็จพร้อมกองทัพพิชิตแคว้นปัญจาบของอินเดียได้แล้ว ก็มีกษัตริย์กรีกปกครองแคว้นนี้ติดต่อกันมาหลายพระองค์ จนถึงรัชสมัยของกษัตริย์กรีกพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามตามภาษามคธว่า มิลินท์ พระองค์ทรงเป็นผู้มีพระทัยฝักใฝ่ในศาสตร์ทั้งหลาย โดยเฉพาะปรัชญาในลัทธิศาสนาต่างๆ ทรงยินดีในอันเสด็จไปพบปะสนทนากับนักปราชญ์ทั้งหลาย ผู้มีความรู้ในลัทธิศาสนานั้นๆ ต่อมาพระองค์ได้ทรงสนทนาถามตอบกับพระเถระผู้มีชื่อเสียงเลื่องลือในพระพุทธศาสนารูปหนึ่งคือ ท่านพระนาคเสนเถระ ในปัญหาที่ลึกซึ้ง ถ้อยคำสนทนาถามตอบกันระหว่างท่านทั้งสองนี้ ปรากฏว่าเป็นที่ชื่นชมยินดีของพวกบัณฑิตทั้งหลายเป็นอันมาก ในเวลาต่อมา ประมาณ พ.ศ. ๕๐๐ ท่านพระติปิฎกจุฬาภัยเถระ ผู้ทรงพระไตรปิฎก ถึงฝั่งแห่งปฏิเวธมีปัญญาดุจภูผา มีคำพูดที่อาจารย์ทั้งหลายพึงตระหนัก เล็งเห็นคุณค่าในคำสนทนาถามตอบกันของท่านทั้งสองนี้ว่าจะเป็นเหตุช่วย ค้ำจุนพระสัทธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ตั้งอยู่ได้ จึงอุตสาหะรวบรวมคำพูดทั้งหมด รจนาเรียบเรียงขึ้นมาเป็นปกรณ์ทางศาสนาปกรณ์หนึ่ง ให้ชื่อว่า “มิลินทปัญหา” กุลบุตรผู้ใคร่ได้ที่พึ่งในพระศาสนาทั้งหลาย ก็ได้ช่วยกันรักษาโดยการเรียน การทรงจำ เป็นต้น สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนี้

มิลินทปัญหา เป็นปกรณ์ที่อาจารย์ทั้งหลายเล็งเห็นว่า สำคัญยิ่ง พระอรรถกถาจารย์ทั้งหลายเป็นผู้แต่งปกรณ์อื่น มักจะหยิบยกคำพูดในปกรณ์นี้มาอ้างไว้ในงานเขียนของท่านอยู่เสมอในคราวที่มีการวิจารณ์หมวดธรรมที่มีความลึกซึ้งนั้นๆ ในสมัยปัจจุบันนี้นักค้นคว้าศึกษาปรัชญาและศาสนาของประเทศทางตะวันออกในประเทศทางแถบตะวันตกเห็นพ้องกันว่า มิลินทปัญหานี้เป็นปกรณ์ที่ช่วยให้เข้าใจปรัชญาในพุทธศาสนานิกายเถรวาทได้เป็นอย่างดี

ในสมัยปัจจุบันนี้ ปกรณ์มิลินทปัญหานี้ ฉบับที่เป็นภาษามคธ แม้ว่าเป็นภาษาเดียวกัน คือภาษามคธนั่นแหละ ก็มีการแตกเป็นหลายฉบับ คือฉบับของไทยที่ใช้อักษรไทยบันทึก ของพม่าที่ใช้อักษรพม่า ของลังกาที่ใช้อักษรลังกา และของยุโรปที่ใช้อักษรโรมัน สำหรับฉบับของไทยที่ใช้ศึกษากันอยู่ในประเทศไทยนั้น มีผู้แปลออกมาเป็นภาษาไทยหลายครั้ง หลายสำนวน เป็นอย่างเต็มความบ้าง อย่างถอดเอาแต่ใจความมาเรียบเรียงบ้าง ส่วนฉบับของต่างประเทศที่ใช้กันอยู่ในต่างประเทศ ยังไม่มีผู้แปลออกมาเป็นภาษาไทยเลย กระผมเมื่อได้อ่านทั้งฉบับภาษาของไทย ทั้งฉบับของต่างประเทศ โดยเฉพาะฉบับของพม่า เปรียบเทียบกัน รวมทั้งคำอธิบายที่เรียกว่าอรรถกถาในฐานะที่เป็นผู้บรรยายปกรณ์นี้อยู่ที่สมาคมศูนย์ค้นคว้าทางพระพุทธศาสนาวัดสระเกศ แล้วก็ตกลงใจที่จะไม่แปลฉบับของไทย แต่จะแปลฉบับของพม่า ในการจัดทำเป็นหนังสือครั้งนี้ด้วยเหตุผล ๕ ประการ ดังต่อไปนี้

๑.) เมื่อฉบับภาษามคธ ของไทยมีผู้แปลเป็นภาษาไทยหลายครั้ง หลายสำนวนดังว่านั้นแล้ว หากว่ากระผม จะใช้ฉบับของไทยเป็นต้นฉบับการแปลในครั้งนี้อีกแม้นว่าสำนวนแปลจะแปลกไปบ้าง ก็คงไม่ช่วยให้ท่านผู้อ่านได้อรรถรสหรือความรู้อะไรๆ เพิ่มเติมขึ้นมา เพราะฉะนั้นก็ไม่น่าจะคิดแปลฉบับของไทยอีก

๒.) ฉบับของต่างประเทศยังไม่มีผู้แปลออกมาเลย น่าจะเหลียวดูบ้าง ถึงอย่างไรก็เป็นปกรณ์ทางศาสนาที่พวกเรานับถือด้วยกัน

๓.) ถ้าเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกฉบับของไทยก็ดี ฉบับของพม่าก็ดี มีส่วนผิดแผกกันน้อยนัก เกี่ยวกับคำพูดบางบท บางคำ หรือการใช้อักขระ ความหมายไม่ได้แตกต่างกันเลย แต่ปกรณ์มิลินทปัญหามิได้เป็นอย่างนั้น มีส่วนผิดแผกแตกต่างกันมากมายหลายตอน อย่างน่าแปลกใจว่า ต่างฝ่ายต่างได้รับปกรณ์นี้มาจากไหน รักษากันไว้อย่างไร บางข้อความก็เหมือนกับพูดกันคนละเรื่อง ซึ่งพอจะรวบรวมข้อที่แตกต่างกันได้ดังต่อไปนี้

– บางเนื้อความที่มีปรากฏอยู่ในฉบับของไทย กลับไม่มีปรากฏอยู่ในฉบับของพม่า เช่น เนื้อความเกี่ยวกับพุทธทำนายความเป็นไปของพระเจ้ามิลินท์และพระนาคเสนเป็นต้น

– เกี่ยวกับชื่อของบุคคลก็มีส่วนผิดกันเช่นชื่อของอำมาตย์ผู้หนึ่ง ในฉบับของไทยเป็นอันตกายอำมาตย์ ส่วนในฉบับของพม่าเป็นอนันตกายอำมาตย์ เป็นต้น

– เกี่ยวกับชื่อของปัญหา หลายปัญหาทีเดียวที่มีเนื้อความบอกให้ทราบว่าปัญหานั้นเป็นปัญหาเดียวกัน ทั้งฉบับของไทย ทั้งฉบับของพม่า แต่ปรากฏว่ามีชื่อไม่เหมือนกันเสียทีเดียว เช่น ในฉบับของไทยเป็นสีลปติฐานลักขณปัญหา, ส่วนในฉบับของพม่าเป็นสีลลักขณปัญหา เป็นต้น

– เกี่ยวกับจำนวนอุปมาในปัญหานั้นๆ บางปัญหาในฉบับของไทยมีเนื้อความ ที่เป็นอุปมามากกว่าในฉบับของพม่า

– แม้เกี่ยวกับการกำหนดเนื้อความในบางปัญหา ก็มีส่วนผิดกัน เช่นปัญหาที่มีการถามถึงลักษณะของศรัทธา ซึ่งท่านพระนาคเสนได้วิสัชชนาว่ามี ๒ อย่างนั้น ในฉบับพม่ากล่าวแยกลักษณะแต่ละอย่าง เป็นแต่ละปัญหา ส่วนในฉบับของไทย รวมเนื้อความเกี่ยวกับลักษณะทั้งสองไว้เป็นปัญหาเดียวกัน เป็นเหตุให้มีจำนวนปัญหาแตกต่างกัน

– หลายปัญหาทีเดียวที่มีคำพูดในคำถาม หรือคำตอบแตกต่างกัน เช่น ในฉบับของไทย มีคำถามมีว่า “พระคุณเจ้านาคเสน ผู้ใดมีญาณเกิดขึ้นแล้ว ผู้นั้นชื่อว่ามีญาณเกิดขึ้นแล้วใช่ไหม” ส่วนในฉบับพม่า มีคำถามว่า “พระคุณเจ้านาคเสน ผู้ใดมีญาณเกิดขึ้นแล้ว ผู้นั้นชื่อว่ามีปัญญาเกิดขึ้นแล้วใช่ไหม” ฉบับของพม่าน่าจะถูกต้องกว่า เพราะจับประเด็นคำถามได้ชัดเจนว่า พระเจ้ามิลินท์ทรงประสงค์จะทราบว่าญาณกับปัญญาเป็นธรรมชาติอย่างเดียวกัน หรือคนละอย่างกัน

– บางปัญหาเช่น ปัญหาที่มีการถามถึงการอุปสมบทของพระพุทธเจ้า ในฉบับพม่ามีเพียงเนื้อความสั้นๆ เกี่ยวกับการถามตอบกันเท่านั้น ส่วนในฉบับของไทยยังมีเนื้อความอื่นอีก คือปรากฏว่า เมื่อพระเถระได้วิสัชชนาแล้ว พระราชาก็ไม่ทรงยอมรับ นอกจากจะไม่ทรงยอมรับแล้ว ก็ยังตรัสเย้ยหยันพระเถระกับพวกข้าหลวงโยนกที่แวดล้อมอยู่ด้วยนั้นอีกด้วย อย่างนี้เป็นต้น

– เกี่ยวกับการยกคำพูดในพระไตรปิฎกมาอ้างในปัญหานั้นๆ ในฉบับของพม่ามักยกมาตรงกับที่มีจริงในพระไตรปิฎกเสมอ ส่วนในฉบับของไทยมักยกมาไม่ตรง อนึ่งคำพูดที่ยกมานั้น ในฉบับพม่ามีการระบุไว้ที่ท้ายหน้านั้นๆ ว่ายกมาจากพระไตรปิฎกเล่มไหน นิกายอะไร หน้าอะไร ช่วยให้สืบสาวถึงต้นต่อได้รวดเร็ว ส่วนในฉบับของไทยมิได้ระบุไว้

– เกี่ยวกับเครื่องหมายต่างๆ ที่ใช้เป็นเครื่องกำหนดประโยค หรือข้อความ คือ เครื่องหมายมหัพภาค จุลภาค เครื่องหมายคำพูด เครื่องหมายคำถาม เป็นต้น ในฉบับของพม่าระบุไว้ชัดเจนดี ช่วยให้ผู้แปลกำหนดประโยคแต่ละประโยคได้ง่าย จับใจความในประโยคได้ง่าย แปลได้สะดวก ในฉบับของไทยไม่พิถีพิถันในเรื่องนี้ เป็นเหตุให้ผู้แปลบางครั้งต้องพิจารณาตัดแบ่งประโยคเอาเอง ซึ่งบางทีก็เป็นเหตุให้สับสนได้ ทำให้เกิดความไม่แน่ใจว่าถูกต้อง โดยเฉพาะคำพูดในพระไตรปิฎกที่ยกมาอ้างในปัญหานั้นๆ ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ว่าคำพูดในพระไตรปิฎกที่ยกมาในคราวนั้นมีแค่ไหน คำพูดไหนไม่ใช่คำพูดในพระไตรปิฎก โดยการสืบสาวถึงต้นตอให้ดีเสียก่อนจะตัดสินใจแปล เพื่อป้องกันความปะปน อันจะทำให้แปลผิดความ

– การจัดปัญหาเข้าในวรรคแต่ละวรรค ก็ไม่ตรงกันเสียทีเดียว เช่น โคตมิวัตถทานปัญหา ในฉบับของพม่าจัดเข้าในพุทธวรรค ส่วนในฉบับของไทยจัดเข้าในพวกนอกวรรค เป็นวิเลสปัญหา เป็นต้น ฯลฯ

เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าได้แปลฉบับของพม่าแล้ว ก็น่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้รับอรรถรสต่างๆ ที่แปลกออกไปที่ไม่มีในฉบับของไทย

๔.) ฉบับของลังกาก็ดี ของประเทศทางยุโรปก็ดี มีส่วนเหมือนกับของพม่ามากกว่าของไทย ราวกับเป็นฉบับเดียวกันกับของพม่า เพราะฉะนั้น หากว่าเพียงแต่ได้แปลฉบับของพม่าเท่านั้น ก็เหมือนกับว่าได้แปลฉบับของลังกาเป็นต้น ทั้งหมดนั้นด้วย

๕.) การแปลปกรณ์มิลินทปัญหาซึ่งมีฐานะเทียบเท่าชั้นพระบาลี เหมือนอย่างพระไตรปิฎก ให้ถูกต้อง ได้ความสมบูรณ์ดีนั้น จำเป็นต้องดูคำอธิบายในอรรถกถา ก็อรรถกถาที่อธิบายฉบับของไทยไม่มี มีแต่ที่อธิบายฉบับของพม่า เพราะฉะนั้นก็จำเป็นต้องแปลฉบับของพม่า หากว่าประสงค์คำอธิบายนั้นด้วย

ก็เพราะเหตุที่ทั้ง ๒ ฉบับนี้มีข้อแตกต่างกันอยู่มากมายหลายประการดังกล่าวนั่นเอง การที่จะทำหมายเหตุเปรียบเทียบถึงข้อแตกต่างกันระหว่าง ๒ ฉบับนี้ไว้ในท้ายหน้าหนังสือหน้านั้นๆ ให้เห็นว่าพม่าว่าอย่างนั้น ส่วนไทยว่าอย่างนี้ จึงเป็นเรื่องสุดวิสัยจะกระทำได้ แม้ว่าน่าจะทำไว้เหลือเกิน เพราะบางทีคำพูดในฉบับของไทยน่าฟังกว่า ได้เหตุผลกระชับกว่าก็ตาม

ปกรณ์มิลินปัญหาที่กระผมแปลจากต้นฉบับของพม่านี้ กระผมได้ผนวกคำอธิบายปัญหา เข้ากับปัญหาแต่ละปัญหาไว้ด้วยสำหรับคำพูดในปกรณ์นั้น กระผมแปลอย่างรักษาศัพท์ ว่าไปตามศัพท์ที่มี ไม่ใช่เพียงแต่ถอดเอาใจความ ทั้งนี้ เพื่ออนุเคราะห์นักศึกษาภาษาบาลี ที่ต้องการจะนำฉบับแปลเป็นภาษาไทยฉบับนี้ไปเปรียบเทียบกับต้นฉบับภาษาบาลี (ของพม่านั่นแหละ) ให้สามารถทำได้อย่างสะดวก ส่วนพวกคำอธิบายทั้งหลาย กระผมแปลโดยเป็นการถอดเอาแต่ใจความมาเรียบเรียงโดยคำพูดของตนเป็นสำคัญ จากอรรถกถาแห่งปกรณ์นี้แหละบ้าง จากที่อื่นบ้าง แต่ก็เท่าที่เห็นว่าจะช่วยให้ท่านผู้อ่านได้เกิดความเข้าใจเนื้อความปัญหานั้นๆ แจ่มแจ้งมากขึ้นเท่านั้น มิได้ยกมาหมดสิ้นเชิง ถึงกระนั้น เมื่อได้ผนวกคำอธิบายเข้าไปด้วยอย่างนี้ การที่จะจัดพิมพ์เป็นเล่มเดียวจบ จะทำให้หนังสือมีความหนามากเกินไป ไม่สะดวกแก่การจับถือเปิดอ่าน ทั้งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดพิมพ์สูงยิ่ง เพราะฉะนั้น ก็จำเป็นต้องแบ่งทำเป็น ๓ เล่ม

เกี่ยวกับคำพูดในปกรณ์อื่นๆ มีพระไตรปิฎกเป็นต้น ที่ได้ยกมาอ้างเป็นอักษรตัวดำ ไว้ในหน้านั้นๆ ที่กระผมได้กำกับตัวเลข แล้วระบุถึงที่มาไว้บรรทัดล่างสุดนั้น ถ้าเป็นคำพูดในพระไตรปิฎก ก็เป็นพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี ที่ได้รับการสังฆนายายครั้งหลังสุดในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ถ้าเป็นคำพูดในปกรณ์อื่น ส่วนมากเป็นฉบับภาษาบาลีของมหามกุฏราชวิทยาลัย นอกนั้น ก็ได้ระบุไว้ชัดเจนแล้ว

ท่านทั้งหลาย ความบกพร่องผิดพลาดเกี่ยวกับคำแปลก็ดี คำอธิบายก็ดี รายชื่อผู้บริจาคก็ดี หรือเเม้นเรื่องอื่นๆ ก็ดี คงมีอยู่เป็นแน่แท้ กระผมและทางมูลนิธิฯ ใคร่กราบขออภัยท่านทั้งหลายด้วย ณ โอกาสนี้ และยินดีรับคำทักท้วงของท่านเพื่อจะได้นำไปแก้ไขให้ถูกต้องในการจัดพิมพ์คราวต่อไป หวังว่าหนังสือเล่มนี้จะมีส่วนช่วยให้ท่านเกิดความบันเทิงในธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เข้าถึงคำสอนในพระศาสนาได้ทางหนึ่งไม่มากก็น้อย

สุดท้ายนี้กระผมและทางมูลนิธิฯ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่าน ที่มีส่วนช่วยในการจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้สำเร็จ ขอให้บุญครั้งนี้จงมีอานุภาพปกป้องท่านทั้งหลาย รวมทั้งท่านผู้อ่าน ให้เป็นผู้ปลอดพ้นจากภัยพิบัติเสนียดจัญไรทั้งปวง ประสบแต่ความสุข ความสวัสดี เจริญรุ่งเรืองอยู่ใต้ร่มเงาพระพุทธศาสนา ตลอดไปชั่วกาลละนานแสนนานเทอญ – ไชยวัฒน์ กปิลกาญจน์

จบมิลินทปัญหา (ตอนที่ ๑)

ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ

ณัฏฐ สุนทรสีมะ

ที่มา: http://dhamma.serichon.us

มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) ,  (ตอนที่ 49) ,  (ตอนที่ 48) ,  (ตอนที่ 47) ,  (ตอนที่ 46) ,  (ตอนที่ 45) ,  (ตอนที่ 44) ,  (ตอนที่ 43) ,  (ตอนที่ 42) ,  (ตอนที่ 41) ,  (ตอนที่ 40) ,  (ตอนที่ 39) ,  (ตอนที่ 38) ,  (ตอนที่ 37) ,  (ตอนที่ 36) ,  (ตอนที่ 35) ,  (ตอนที่ 34) ,  (ตอนที่ 33) ,  (ตอนที่ 32) ,  (ตอนที่ 31) ,  (ตอนที่ 30) ,  (ตอนที่ 29) ,  (ตอนที่ 28) ,  (ตอนที่ 27) ,  (ตอนที่ 26) ,  (ตอนที่ 25) ,  (ตอนที่ 24) ,  (ตอนที่ 23) ,  (ตอนที่ 22) ,  (ตอนที่ 21 ต่อ) ,  (ตอนที่ 21) ,  (ตอนที่ 20) ,  (ตอนที่ 19) ,  (ตอนที่ 18) ,  (ตอนที่ 17) ,  (ตอนที่ 16) ,  (ตอนที่ 15) ,  (ตอนที่ 14) ,  (ตอนที่ 13) ,  (ตอนที่ 12) ,   (ตอนที่ 11) ,  (ตอนที่ 10) ,  (ตอนที่ 9) ,  (ตอนที่ 8) ,  (ตอนที่ 7) ,  (ตอนที่ 6) ,  (ตอนที่ 5) ,  (ตอนที่ 4) ,  (ตอนที่ 3) ,  (ตอนที่ 2) ,  (ตอนที่ 1) ,  ประโยชน์​การอุปมา​อันได้จากการศึกษา​คัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์​มิลินท์​ปัญหาเป็นต้น​ ,   มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้  ,  เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า?  ,  นิปปปัญจปัญหา ​- ปัญหา​เกี่ยวกับ​ธรรม​ที่ปราศจาก​เหตุ​ให้เนิ่น​ช้าในวัฏฏทุกข์  ,   ถามว่า​ อานิสงส์​การเจริญเมตตา​ ห้ามอันตราย​ต่างๆ​ เหตุไรสุวรรณ​สามผู้เจริญเมตตา​จึงถูกยิงเล่า?


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: