ทำดีได้ชั่วฉันใด
การที่บุคคลทำชั่วได้ดี ทำดีได้ชั่วนั้น พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่าขึ้นอยู่กับ อาสันนกรรม ซึ่งหมายถึง กรรมจวนเจียน คือกรรมที่ทำขณะจะสิ้นใจ และส่วนมากจะเป็นมโนกรรมเพราะคนที่กำลังจะตายนั้นสังขารมักไม่อำนวยให้ประกอบวจีกรรมหรือกายกรรม อาสันนกรรมจะส่งผลให้บุคคลที่กระทำก่อนกรรมอื่น ๆ ถ้าเป็นกรรมดีจะส่งผลให้บุคคลที่ทำกรรมนั้นไปสู่สุคติในนาทีที่ดับจิตลงไป เช่น บุคคลหนึ่งทำกรรมชั่วมามาก แต่มีกรรมดีอยู่บ้าง ตอนจะตายจิตผ่องใส เพราะนึกถึงกรรมดีที่ตนเคยทำ เมื่อจิตผ่องใส สุคติย่อมเป็นที่หมาย ดังพระบาลีว่า “ จิตฺเต อสงฺกิลิฏเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา – เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง สุคติเป็นอันหวังได้ ” จิตไม่เศร้าหมองก็คือจิตผ่องใสนั่นเอง กรรมที่นำเขาไปเกิดในสุคติเป็นกรรมดี มิใช่กรรมชั่ว ในทำนองเดียวกัน บุคคลที่ทำกรรมดีไว้มาก มีกรรมชั่วเพียงเล็กน้อย แต่ตอนตายจิตเศร้าหมองเพราะไปนึกถึงกรรมชั่วที่ตนเคยทำไว้ เมื่อจิตเศร้าหมอง ทุคติย่อมเป็นที่หมาย ดังพระบาลีว่า “ จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเฐ ทุคติ ปาฏิกงฺขา – เมื่อจิตเศร้าหมองแล้วทุคติเป็นอันต้องหวัง ”
ตัวอย่างของบุคคลที่ทำกรรมดีไว้มาก มีกรรมชั่วเพียงเล็กน้อย เมื่อตายไปแล้ว ไปเกิดในทุคติภูมิก็คือ พระนางมัลลิกา มเหสีของพระเจ้าปเสนทิ แห่งแคว้นโกศล เมื่อตอนมีชีวิตอยู่ พระนางเป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และประกอบกรรมดีไว้มาก แต่มีกรรมชั่วอยู่เล็กน้อย คือ เคยโกหกพระสวามี เมื่อพระนางจะสิ้นใจ แทนที่จะนึกถึงกรรมดีที่ทำไว้มากนั้น กลับไปนึกถึงกรรมชั่วคือการโกหกพระเจ้าปเสนทิ จิตจึงเศร้าหมอง เมื่อตายขณะที่จิตเศร้าหมอง จึงไปเกิดในนรกอเวจีอยู่ ๗ วัน ครั้งหมดอกุศลกรรมแล้ว กุศลกรรมก็มาให้ผล พระนางได้จุติจากนรกอเวจีไปอุบัติเป็นเทพบุตรอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต (จุติ หมายถึงตาย ส่วนมากใช้กับเทวดา คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่า หมายถึงเกิด)
เมื่อพระนางมัลลิกาสิ้นชีพ พระเจ้าปเสนทิทรงโศกาดูรเป็นอันมาก ได้เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทุกวัน เพื่อทูลถามว่าพระนางมัลลิกามเหสีของพระองค์ไปอุบัติที่สวรรค์ชั้นไหน พระพุทธองค์ทรงชวนสนทนาเรื่องอื่นๆ ให้ทรงเพลิดเพลินเพื่อให้ลืมเรื่องที่ตั้งพระทัยมาทูลถาม การณ์เป็นอยู่อย่างนี้กระทั่ง ๗ วันผ่านไป เมื่อพระนางมัลลิกาไปอุบัติในสวรรค์ชั้นดุสิตแล้ว พระพุทธองค์จึงตรัสตอบพระเจ้าปเสนทิว่า พระนางมัลลิกาเป็นคนดี บัดนี้พระนางได้ไปอุบัติเป็นเทพบุตรอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต พระเจ้าปเสนทิได้สดับดังนั้นก็ทรงตบพระชานุเสียงดังฉาดรับสั่งว่า “ นั่นยังไงล่ะ ถ้าคนดี ๆ อย่างพระนางมัลลิกาไม่ไปเกิดในสวรรค์ แล้วใครจะไปเกิด ”
เหตุที่พระพุทธองค์ทรงรอให้เวลาผ่านไป ๗ วันเสียก่อน ก็เพื่อจะให้พระเจ้าปเสนทิสบายพระทัย เพราะพระองค์กำลังเศร้าโศกที่พระมเหสีจากไป ถ้าทรงทราบว่าพระนางไปตกนรกอเวจีก็จะทรงโทมนัสหนักขึ้น และจะกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิไม่เชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษอีกต่อไป ด้วยทรงเห็นว่า คนทำความดีไยจึงตกนรก แต่ถ้าพระพุทธองค์จะตรัสสาเหตุที่พระนางไปตกนรก ก็จะเป็นการไม่สมควรเพราะพระเจ้าปเสนทิไม่ทรงทราบว่าพระนางมัลลิกาโกหกพระองค์ แต่พระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องนี้ด้วยพระญาณ อีกประการหนึ่งทรงเห็นว่าการนำเรื่องไม่ดีของผู้อื่นมากล่าวนั้น ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด จึงทรงรอให้เหตุการณ์วิกฤตนั้นผ่านพ้นไปก่อน
ในอรรถกถากล่าวไว้ว่า การที่พระนางมัลลิกาไปตกนรกอเวจีนั้นถือเป็นการดี เพราะพระนางจะได้มีประสบการณ์เกี่ยวกับความทุกข์ และเกิดความเบื่อหน่ายในการที่ต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร เมื่อพระนางไปอุบัติเป็นเทพบุตร จึงมิได้ประมาทมัวเมาหลงใหลเพลิดเพลินอยู่ในความสุขเหมือนเหล่าเทพบุตรเทพธิดาทั้งหลาย แต่ท่านได้ปฏิบัติธรรมกระทั่งบรรลุโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล เป็นพระโสดาบันในที่สุด เป็นอันว่าท่านสามารถทำ วิกฤต ให้เป็นโอกาส จนสามารถเปลี่ยน ทุกขะ ให้เป็น ทุกขขัย ได้ เพราะพระโสดาบันนั้นจะเวียนว่ายอยู่ในสุคติภูมิอีกไม่เกิน ๗ ชาติ ก็จะบรรลุอรหัตผล เป็นพระอรหันต์ เป็นการตัดขาดจากสังสารวัฏโดยสิ้นเชิง
สรุปว่าผู้ที่ตายขณะจิตผ่องใสจะไปเกิดในสุคติ ผู้ที่ตายขณะจิตเศร้าหมองจะไปเกิดในทุคติ ดังเช่นพระนางมัลลิกาที่เล่ามา ส่วนผู้ที่ตายขณะที่จิตเป็นกลาง ๆ คือไม่เป็นทั้งกุศลและอกุศล จะไปเกิดเป็นพวกสัมภเวสี แปลว่า พวกแสวงหาภพ (สัมภเวสีอีกความหมายหนึ่งหมายถึงผู้ที่ต้องเกิดอีก จึงหมายตั้งแต่ปุถุชนไปจนถึงพระอนาคามี ส่วนพระอรหันต์ไม่เป็นสัมภเวสี เพราะท่านเป็นผู้ที่ไม่ต้องเกิดอีก) พวกนี้ยังไม่ได้เกิดเป็นที่ตามกรรมที่ตนทำไว้ พวกสัมภเวสีก็คือพวกที่เราเรียกว่าผี นั่นเอง เมื่อพวกผีเหล่านี้นึกถึงกรรมที่ตนทำไว้ก็จะไปเกิดตามกรรมนั้น ๆ เช่น นึกถึงกรรมดีก็ไปเกิดในสุคติ นึกถึงกรรมชั่วก็ไปเกิดในทุคติ จึงหยุดเร่รอนหาที่เกิดไปชั่วคราว เพราะไปเกิดเป็นที่เป็นทางแล้ว
จะเห็นได้ว่าเรื่องของกรรมนั้นเป็นเรื่องที่ตัวเองทำเอง ไม่มีใครมาทำให้แต่ประการใด ซึ่งเรื่องนี้พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ชัดเจนมาก ดังปรากฏในพระสูตรว่า “ หญิง ชาย คฤหัสถ์ บรรพชิต ควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่อาศัย เราทำกรรมอันใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจักได้รับผลของกรรมนั้น ”
จากหนังสือ รู้อย่างนี้ เป็นคนดีตั้งนานแล้ว, รศ.ดร.สุจิตรา อ่อนค้อม, ผู้พิมพ์ สุวิภา กลิ่นสุวรรณ์.
ที่มา : http://www.kanlayanatam.com/sara/sara70.htm
0 comments: