อาวุธ ๓ อย่าง คือ ๑. สุตาวุธ (อาวุธคือการฟังหรือการศึกษา) ๒.ปวิเวกาวุธ (อาวุธคือความสงัด) ๓. ปัญญาวุธ (อาวุธคือปัญญา)
อาวุธคือสุตะนั้น ได้แก่พระพุทธพจน์คือพระไตรปิฎก เพราะว่า ภิกษุอาศัยการศึกษาพระไตรปิฎกนั้น คืออาศัยอาวุธ ๕ ประการ (คือนิกาย ๕ มีทีฆนิกายเป็นต้น) ย่อมเป็นผู้ไม่ครั่นคร้าม ข้ามล่วงสังสารกันดารได้ เหมือนทหารกล้าไม่ครั่นคร้ามข้ามล่วงมหากันดารได้ฉะนั้น เพราะเหตุนั้นแหละ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้มีสุตะเป็นอาวุธ ย่อมละอกุศล ทำกุศลให้เจริญ ละสิ่งที่มีโทษ ทำสิ่งที่ไม่มีโทษให้เจริญ บริหารตนให้บริสุทธิ์อยู่ดังนี้”
อาวุธคือวิเวก วิเวกคือความสงัด ๓ ประการคือ ๑. กายวิเวก ความสงัดกาย ๒. จิตตวิเวก ความสงัดใจ ๓.อุปธิวิเวก ความสงัดจากกิเลสอันเป็นเหตุสร้างกรรม วิเวก ๓ ประการนั้นมีการกระทำต่างๆ กันดังนี้ ๑.กายวิเวกสำ หรับบุคคลผู้มีกายหลีกออกไปจากกาม ยินดีในเนกขัมมะ เที่ยวไปผู้เดียว ๒.จิตตวิเวก สำหรับบุคคลผู้มีจิตบริสุทธิ์ บรรลุถึงความผ่องแผ้วอย่างยอด สงัดจากนิวรณ์ (ท่านหมายเอา จิตแห่งผู้มีสมาธิและสติ) และ ๓.อุปธิวิเวก สำหรับบุคคลผู้ไม่มีอุปธิ บรรลุถึงซึ่งวิสังขาร (คือพระนิพพาน) ก็บุคคลผู้ยินดียิ่งแล้วในวิเวก ๓ อย่างนี้ ย่อมไม่กลัวแต่ที่ไหนๆ เพราะฉะนั้น วิเวกแม้นี้ก็เรียกว่าอาวุธ เพราะอรรถว่า “เป็นที่พึ่งอาศัย”
อาวุธคือปัญญา ทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระ จัดเป็นอาวุธคือปัญญา เพราะว่า บุคคลผู้มีอาวุธคือปัญญานั้น ย่อมไม่กลัวแต่ที่ไหนๆ ทั้งใครๆ ก็ไม่กลัวบุคคลนั้นด้วย เพราะฉะนั้น ปัญญาแม้นั้นก็เรียกว่าอาวุธ เพราะอรรถว่า “เป็นที่พึ่งอาศัย”
เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้มีอาวุธ ๓ ประการนี้ ย่อมไม่ครั่นคร้าม ย่อมเป็นที่พึ่งอาศัยทั้งแก่ตนและชนเหล่าอื่น. สาระธรรมจากสังคีติสูตรและอรรถกถา (ติกวณฺณนา)
*แนวทางการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา
หลักของการเจริญวิปัสสนา คือให้มีสติ รู้รูปธรรม นามธรรม ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่น และเป็นกลางสติ คือการระลึกรู้ ไม่ใช่กำหนด รู้ ไม่ใช่คิด ไม่ใช่เพ่ง คำว่า รูปนาม ที่เข้าใจง่ายแต่ไม่ตรงทีเดียว คือกายกับใจ ความเป็นจริง คือเห็นว่าไม่เที่ยง; ถูกบีบคั้น ทนอยู่ไม่ได้; บังคับไม่ได้ ไม่ใช่ตัวตนถาวร จิตที่ตั้งมั่น คือจิตที่มีสัมมาสมาธิตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู จิตไม่เผลอลืมสิ่งที่ถูกรู้ และจิตไม่ไหลไปเพ่งจ้องสิ่งที่ถูกรู้ เป็นกลาง คือสักว่ารู้โดยไม่เข้าไปแก้ไข หรือแทรกแซง เห็นแล้วไม่ยินดีไม่ยินร้าย
0 comments: