วันเสาร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2564

จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ - จิตที่ฝึกดีแล้ว นำสุขมาให้


จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ - จิตที่ฝึกดีแล้ว นำสุขมาให้ 

จิตที่ฝึกดีแล้ว หมายถึง จิตที่ถูกทำให้หมดมลทินคือกิเลส อันได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ทำให้ไม่ยินดียินร้ายในอารมณ์ต่าง ๆ ที่มากระทบ อย่างนี้เรียกว่าจิตที่ฝึกดีแล้ว เมื่อเราฝึกจิตของเราดีแล้วดังที่ได้กล่าวมา จิตไม่ยินดียินร้ายในเมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายสัมผัสโผฏฐัพพะ และใจรับรู้ธรรมารมณ์ จิตใจก็จะสงบ เยือกเย็น ไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของความสุขหรือความทุกข์ใด ๆ ทั้งสิ้น ถือเป็นความสุขที่แท้จริง คือความสุขที่อยู่เหนือความสุขทางโลกีย์ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนให้พวกเราเหล่าพุทธศาสนิกฝึกจิตของตนเองให้ดี เพราะจิตที่ฝึกดีแล้ว นำความสุขมาให้

-----------

เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง  

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า “ทุนฺนิคฺคหสฺส ลหุโน” เป็นต้น.

อุบาสิกาจัดที่อยู่ถวายภิกษุ ๖๐ รูป

ได้ยินว่า ได้มีบ้านตำบลหนึ่ง ชื่อมาติกคาม ใกล้เชิงเขา ในแว่นแคว้นของพระเจ้าโกศล. ภายหลังวันหนึ่ง ภิกษุประมาณ ๖๐ รูปทูลอาราธนาให้ตรัสบอกพระกัมมัฏฐานจนถึงพระอรหัต ในสำนักของพระศาสดาแล้ว ไปสู่บ้านนั้น เข้าไปเพื่อบิณฑบาต. ลำดับนั้น เจ้าของบ้านนั้นชื่อมาติกะใด มารดาของเจ้าของบ้านนั้น เห็นภิกษุเหล่านั้นแล้ว นิมนต์ให้นั่งในเรือน จึงอังคาสด้วยข้าวยาคูและภัตอันมีรสเลิศต่างๆ ถามว่า “พวกท่านประสงค์จะไป ณ ที่ไหน? เจ้าข้า.” ภิกษุเหล่านั้นบอกว่า “พวกฉันมีความประสงค์จะไปสู่ที่ตามความผาสุก มหาอุบาสิกา.” นางทราบว่า “พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย ชะรอยจะแสวงหาสถานที่สำหรับจำพรรษา จึงหมอบลงที่ใกล้เท้าแล้วกล่าวว่า “ถ้าพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายจักอยู่ในที่นี้ตลอด ๓ เดือนนี้ไซร้, ดิฉันจักรับสรณะ ๓ ศีล ๕ (และ) ทำอุโบสถกรรม.”

ภิกษุทั้งหลายปรึกษากันว่า “เราทั้งหลาย เมื่ออาศัยอุบาสิกานี้ ไม่มีความลำบากด้วยภิกษา จักสามารถทำการสลัดออกจากภพได้” ดังนี้ แล้วจึงรับคำ. นางได้ชำระวิหารอันเป็นที่อยู่ถวายแก่ภิกษุเหล่านั้น.

 ภิกษุ ๖๐ รูปทำกติกากัน

ภิกษุเหล่านั้นเมื่ออยู่ในที่นั้น วันหนึ่งได้ประชุมกันแล้วตักเตือนกันและกันว่า “ผู้มีอายุ พวกเราไม่ควรประพฤติโดยความประมาท เพราะว่ามหานรก ๘ ขุม๑- มีประตูเปิด (คอยท่า) พวกเราเหมือนอย่างเรือนของตนทีเดียว. ก็แลพวกเราได้เรียนพระกัมมัฏฐานในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ยังทรงพระชนม์อยู่แล้วจึงมา. ก็ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย อันใครๆ ผู้โอ้อวด แม้เที่ยวไปตามรอยพระบาท ก็ไม่สามารถให้ทรงโปรดปรานได้. (แต่) บุคคลผู้มีอัธยาศัยเป็นปกติเท่านั้น สามารถให้ทรงโปรดปรานได้ ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด. พวกเราไม่ควรยืน ไม่ควรนั่งในที่แห่งเดียวกัน ๒ รูป แต่ว่าในกาลเป็นที่บำรุงพระเถระในเวลาเย็นแล และในกาลเป็นที่ภิกษาจารในเวลาเช้าเท่านั้น พวกเราจักรวมกัน, (แต่) ในกาลที่เหลือจักไม่อยู่รวมกัน ๒ รูป. ก็อีกอย่างหนึ่งแล เมื่อภิกษุผู้ไม่มีความผาสุก มาตีระฆังในท่ามกลางวิหารขึ้นแล้ว พวกเราจึงจักมาตามสัญญาแห่งระฆังแล้ว ทำยาให้แก่ภิกษุนั้น”

ภิกษุมาประชุมกันด้วยเสียงระฆัง

เมื่อภิกษุเหล่านั้นทำกติกากันอย่างนี้อยู่, วันหนึ่ง อุบาสิกานั้นให้บุคคลถือเภสัชทั้งหลาย มีเนยใสและน้ำอ้อยเป็นต้น อันชนทั้งหลายมีทาสและกรรมกรเป็นต้น แวดล้อมเดินไปสู่วิหารนั้นในเวลาเย็น ไม่เห็นภิกษุทั้งหลายในท่ามกลางวิหารแล้ว จึงถามพวกบุรุษว่า “พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย ไปเสีย ณ ที่ไหนหนอแล?” เมื่อพวกเขาบอกว่า “แม่คุณ พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายจักเป็นผู้นั่งอยู่ในที่พักกลางคืน และที่พักกลางวันของตนๆ (เท่านั้น)” จึงกล่าว (ต่อไป) ว่า “ฉันทำอย่างไรเล่าหนอ จึงจักสามารถพบ (พวกพระผู้เป็นเจ้า) ได้.” ลำดับนั้น มนุษย์ทั้งหลายที่รู้กติกวัตรของภิกษุสงฆ์ จึงบอกกะอุบาสิกานั้นว่า “คุณแม่ พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายจักประชุมกัน ในเมื่อบุคคลมาตีระฆัง.” นางจึงให้ตีระฆัง ภิกษุทั้งหลายได้ยินเสียงระฆังแล้ว ออกจากที่ของตนๆ ด้วยสำคัญว่า “ภิกษุบางรูปจักไม่มีความผาสุก.” จึงประชุมกันในท่ามกลางวิหาร. ภิกษุชื่อว่า เดินมาโดยทางเดียวกันแม้ ๒ รูป ย่อมไม่มี.

อุบาสิกาเจริญสมณธรรมตามที่ภิกษุบอก               

อุบาสิกาเห็นภิกษุรูปหนึ่งๆ เท่านั้นเดินมาจากที่แห่งหนึ่งๆ จึงคิดว่า “(ชะรอย) พระผู้เป็นเจ้าผู้เป็นบุตรของเรา จักทำความทะเลาะวิวาทแก่กันและกัน” ดังนี้แล้ว ไหว้ภิกษุสงฆ์กล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ ท่านทั้งหลายได้ทำความทะเลาะกันหรือ?” ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า “พวกฉันหาได้ทำความทะเลาะวิวาทกันไม่ มหาอุบาสิกา.” อุบาสิกา. ท่านผู้เจริญ ถ้าพวกท่านไม่มีความทะเลาะวิวาทกันไซร้, เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุไรพวกท่านจึงไม่มา เหมือนเมื่อมาสู่เรือนของดิฉันมาโดยรวมกันทั้งหมด, (นี่กลับ) มาทีละองค์ๆ จากที่แห่งหนึ่งๆ. ภิกษุ. มหาอุบาสิกา พวกฉันนั่งทำสมณธรรมในที่แห่งหนึ่งๆ. อุบาสิกา. พ่อคุณทั้งหลาย ชื่อว่าสมณธรรมนั้นคืออะไร? ภิกษุ. มหาอุบาสิกา พวกฉันทำการสาธยายอาการ ๓๒ เริ่มตั้ง ซึ่งความสิ้นและความเสื่อมในอัตภาพอยู่. อุบาสิกา. ท่านเจ้าขา การทำการสาธยายอาการ ๓๒ (คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา น้ำมันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร ถ้าเติมมัตถลุงคัง มันสมองเข้าด้วย เป็น ๓๒ ตามคัมภีร์วิสุทธิมรรค ) และการเริ่มตั้งความสิ้นความเสื่อมในอัตภาพ ย่อมสมควรแก่พวกท่านเท่านั้น หรือย่อมสมควรแก่พวกดิฉันด้วยเล่า?

ภิกษุ. มหาอุบาสิกา ธรรมนี้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงห้ามแก่ใครๆ. อุบาสิกา. ถ้าอย่างนั้น ขอพวกท่านจงให้อาการ ๓๒ และขอจงบอกการเริ่มตั้ง ซึ่งความสิ้นและความเสื่อมในอัตภาพ แก่ดิฉันบ้าง. ภิกษุ. มหาอุบาสิกา ถ้าอย่างนั้น ท่านจงเรียนเอา. แล้วให้เรียนเอาทั้งหมด.

อุบาสิกาบรรลุมรรค ๓ ผล ๓ ก่อนภิกษุ 

จำเดิมแต่นั้น อุบาสิกานั้นก็ได้ทำการสาธยายซึ่งอาการ ๓๒ (และ) เริ่มตั้งไว้ซึ่งความสิ้นไปและความเสื่อมไปในตน ได้บรรลุมรรค ๓ ผล ๓ ก่อนกว่าภิกษุเหล่านั้นทีเดียว. ปฏิสัมภิทา ๔ และโลกิยอภิญญา ได้มาถึงแก่อุบาสิกานั้นโดยมรรคนั่นแล. นางออกจากสุขอันเกิดแต่มรรคและผลแล้ว ตรวจดูด้วยทิพยจักษุใคร่ครวญอยู่ว่า “เมื่อไรหนอแล? พระผู้เป็นเจ้าผู้เป็นบุตรของเราจึงจักบรรลุธรรมนี้” แล้วรำพึง (ต่อไป) ว่า “พระผู้เป็นเจ้าเหล่านี้ทั้งหมด ยังมีราคะ ยังมีโทสะ ยังมีโมหะ, พระผู้เป็นเจ้าเหล่านั้นมิได้มีคุณธรรมแม้สักว่าฌานและวิปัสสนาเลย อุปนิสัยแห่งพระอรหัตของพระผู้เป็นเจ้าผู้บุตรของเรา มีอยู่หรือไม่หนอ?” เห็นว่า “มี” ดังนี้แล้ว จึงรำพึง (ต่อไป) ว่า “เสนาสนะเป็นที่สบาย จะมีหรือไม่มีหนอ?” เห็นแม้เสนาสนะเป็นที่สบายแล้ว จึงรำพึง (ต่อไปอีก) ว่า “พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายของเรายังไม่ได้บุคคลเป็นที่สบายหรือหนอ? เห็นแม้บุคคลเป็นที่สบายแล้ว จึงใคร่ครวญอยู่ว่า “พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายยังไม่ได้อาหารเป็นที่สบายหรือหนอ?” ก็ได้เห็นว่า “อาหารเป็นที่สบายยังไม่มีแก่พวกเธอ.”

จำเดิมแต่นั้นมา ก็จัดแจงข้าวยาคู อันมีอย่างต่างๆ และของขบเคี้ยวเป็นอเนกประการ และโภชนะมีรสต่างๆ อันเลิศแล้ว นิมนต์ภิกษุทั้งหลายให้นั่งแล้ว จึงถวายน้ำทักษิโณทก  แล้ว มอบถวายด้วยคำว่า “ท่านผู้เจริญ พวกท่านชอบใจสิ่งใดๆ ขอจงถือเอาสิ่งนั้นๆ ฉันเถิด.”  ภิกษุเหล่านั้น รับเอาวัตถุทั้งหลายมีข้าวยาคูเป็นต้นแล้ว บริโภคตามความชอบใจ.

ภิกษุ ๖๐ รูปบรรลุพระอรหัต

เมื่อภิกษุเหล่านั้นได้อาหารอันเป็นที่สบาย จิตก็เป็นธรรมชาติ มีอารมณ์เดียว (แน่วแน่). พวกเธอมีจิตแน่วแน่เจริญวิปัสสนา ต่อกาลไม่นานนัก ก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย แล้วคิดว่า “น่าขอบคุณ! มหาอุบาสิกาเป็นที่พึ่งของพวกเรา; ถ้าพวกเราไม่ได้อาหารอันเป็นที่สบายแล้วไซร้, การแทงตลอดมรรคและผล คงจักไม่ได้มีแก่พวกเรา (เป็นแน่), บัดนี้ พวกเราอยู่จำพรรษาปวารณาแล้ว จักไปสู่สำนักของพระศาสดา” พวกเธออำลามหาอุบาสิกาว่า “พวกฉันใคร่จะเฝ้าพระศาสดา.” มหาอุบาสิกากล่าวว่า “ดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย” แล้วตามไปส่งภิกษุเหล่านั้น, กล่าวคำอันเป็นที่รักเป็นอันมากว่า “ขอท่านทั้งหลาย พึง (มา) เยี่ยมดิฉันแม้อีก” ดังนี้เป็นต้น แล้วจึงกลับ.

พระศาสดาตรัสถามสุขทุกข์กะภิกษุเหล่านั้น               

ฝ่ายภิกษุเหล่านั้นแล ถึงเมืองสาวัตถีแล้ว ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว นั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง อันพระศาสดาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย (สรีรยนต์มีจักร ๔ มีทวาร ๙) พวกเธอพออดทนได้ดอกหรือ? พวกเธอพอยังอัตภาพให้เป็นไปได้ดอกหรือ? อนึ่ง พวกเธอไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ?” จึงกราบทูลว่า “พออดทนได้ พระเจ้าข้า พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้ พระเจ้าข้า, อนึ่ง ข้าพระองค์ทั้งหลายมิได้ลำบากด้วยบิณฑบาตเลย, เพราะว่า อุบาสิกาคนหนึ่งชื่อมาติกมาตา ทราบวาระจิตของพวกข้าพระองค์. เมื่อพวกข้าพระองค์คิดว่า ‘ไฉนหนอ มหาอุบาสิกาจะพึงจัดแจงอาหารชื่อเห็นปานนี้เพื่อพวกเรา.’ (นาง) ก็ได้จัดแจงอาหารถวายตามที่พวกข้าพระองค์คิดแล้ว” ดังนี้แล้ว ก็กล่าวสรรเสริญคุณของมหาอุบาสิกานั้น.

อุบาสิกาจัดของถวายตามที่ภิกษุต้องการ               

ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งสดับถ้อยคำสรรเสริญคุณของมหาอุบาสิกานั้นแล้ว เป็นผู้ใคร่จะไปในที่นั้น เรียนกัมมัฏฐานในสำนักของพระศาสดาแล้ว ทูลลาพระศาสดาว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักไปยังบ้านนั้น” แล้วออกจากพระเชตวัน ถึงบ้านนั้นโดยลำดับ ในวันที่ตนเข้าไปสู่วิหาร คิดว่า “เขาเล่าลือว่า อุบาสิกานี้ย่อมรู้ถึงเหตุอันบุคคลอื่นคิดแล้วๆ. ก็เราเหน็ดเหนื่อยแล้วในหนทาง จักไม่สามารถกวาดวิหารได้, ไฉนหนอ อุบาสิกานี้จะพึงส่งคนผู้ชำระวิหารมาเพื่อเรา.” อุบาสิกานั่งในเรือนนั่นเองรำพึงอยู่ ทราบความนั้นแล้ว จึงส่งคนไปด้วยคำว่า “เจ้าจงไป, ชำระวิหารแล้วจึงมา.” ฝ่ายภิกษุนอกนี้อยากดื่มน้ำ จึงคิดว่า “ไฉนหนอ อุบาสิกานี้จะพึงทำน้ำดื่มละลายน้ำตาลกรวดส่งมาให้แก่เรา.” อุบาสิกาก็ได้ส่งน้ำนั้นไปให้. เธอคิด (อีก) ว่า “ขออุบาสิกา จงส่งข้าวยาคูมีรสสนิทและแกงอ่อมมาเพื่อเรา ในวันพรุ่งนี้แต่เช้าตรู่เถิด.” อุบาสิกาก็ได้ทำอย่างนั้น. ภิกษุนั้นดื่มข้าวยาคูแล้ว คิดว่า “ไฉนหนอ อุบาสิกาพึงส่งของขบเคี้ยวเห็นปานนี้มาเพื่อเรา.” อุบาสิกาก็ได้ส่งของเคี้ยวแม้นั้นไปแล้ว เธอคิดว่า “อุบาสิกานี้ส่งวัตถุที่เราคิดแล้วๆ ทุกๆ สิ่งมา, เราอยากจะพบอุบาสิกานั่น, ไฉนหนอ นางพึงให้คนถือโภชนะมีรสเลิศต่างๆ เพื่อเรา มาด้วยตนเองทีเดียว.”

อุบาสิกาคิดว่า “ภิกษุผู้บุตรของเราประสงค์จะเห็นเราหวังการไปของเราอยู่”, ดังนี้แล้ว จึงให้คนถือโภชนะไปสู่วิหารแล้วได้ ถวายแก่ภิกษุนั้น. ภิกษุนั้นทำภัตกิจแล้ว ถามว่า “มหาอุบาสิกา ท่านหรือ? ชื่อว่ามาติกมาตา.” อุบาสิกา. ถูกแล้ว พ่อ. ภิกษุ. อุบาสิกา ท่านทราบจิตของคนอื่นหรือ?  อุบาสิกา. ถามดิฉันทำไม? พ่อ. ภิกษุ. ท่านได้ทำวัตถุทุกๆ สิ่งที่ฉันคิดแล้วๆ, เพราะฉะนั้น ฉันจึงถามท่าน. อุบาสิกา. พ่อ ภิกษุที่รู้จิตของคนอื่น ก็มีมาก. ภิกษุ. ฉันไม่ได้ถามถึงคนอื่น, ถาม (เฉพาะตัว) ท่านอุบาสิกา. แม้เป็นอย่างนั้น อุบาสิกาก็มิได้บอก (ตรงๆ) ว่า “ดิฉันรู้จิตของคนอื่น” (กลับ) กล่าวว่า “ลูกเอ๋ย ธรรมดาคนทั้งหลายผู้รู้จิตของคนอื่น ย่อมทำอย่างนั้นได้.”

ภิกษุลาอุบาสิกากลับไปเฝ้าพระศาสดา  

ภิกษุนั้นคิดว่า “กรรมนี้หนักหนอ, ธรรมดาปุถุชน ย่อมคิดถึงอารมณ์อันงามบ้าง ไม่งามบ้าง, ถ้าเราจักคิดสิ่งอันไม่สมควรแล้วไซร้, อุบาสิกานี้ ก็พึงยังเราให้ถึงซึ่งประการอันแปลก เหมือนจับโจรที่มวยผมพร้อมด้วยของกลางฉะนั้น, เราควรหนีไปเสียจากที่นี้” แล้วกล่าวว่า “อุบาสิกา ฉันจักลาไปละ.” อุบาสิกา. ท่านจักไปที่ไหน? พระผู้เป็นเจ้า. ภิกษุ. ฉันจักไปสู่สำนักพระศาสดา อุบาสิกา.

อุบาสิกา. ขอท่านจงอยู่ในที่นี้ก่อนเถิด เจ้าข้า. ภิกษุนั้นกล่าวว่า “ฉันจักไม่อยู่ อุบาสิกา จักต้องไปอย่างแน่นอน” แล้วได้เดินออก (จากที่นั้น) ไปสู่สำนักของพระศาสดา. พระศาสดาแนะให้รักษาจิตอย่างเดียว. ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสถามเธอว่า “ภิกษุ เธออยู่ในที่นั้นไม่ได้หรือ?” ภิกษุ. เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ไม่สามารถอยู่ในที่นั้นได้. พระศาสดา. เพราะเหตุไร? ภิกษุ.

ภิกษุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ (เพราะว่า) อุบาสิกานั้นย่อมรู้ถึงเรื่องอันคนอื่นคิดแล้วๆ ทุกประการ, ข้าพระองค์คิดว่า “ก็ธรรมดา ปุถุชนย่อมคิดอารมณ์อันงามบ้าง ไม่งามบ้าง, ถ้าเราจักคิดสิ่งบางอย่างอันไม่สมควรแล้วไซร้, อุบาสิกานั้นก็จักยังเราให้ถึงซึ่งประการอันแปลก เหมือนจับโจรที่มวยผมพร้อมทั้งของกลางฉะนั้น” ดังนี้แล้ว จึงได้มา. พระศาสดา. ภิกษุ เธอควรอยู่ในที่นั้นแหละ. ภิกษุ. ข้าพระองค์ไม่สามารถ พระเจ้าข้า ข้าพระองค์จักอยู่ในที่นั้นไม่ได้. พระศาสดา. ภิกษุ ถ้าอย่างนั้น เธอจักอาจรักษาสิ่งหนึ่งเท่านั้นได้ไหม? ภิกษุ. รักษาอะไร? พระเจ้าข้า.

พระศาสดาตรัสว่า “เธอจงรักษาจิตของเธอนั่นแหละ ธรรมดาจิตนี้บุคคลรักษาได้ยาก, เธอจงข่มจิตของเธอไว้ให้ได้ อย่าคิดถึงอารมณ์ อะไรๆ อย่างอื่น, ธรรมดาจิตอันบุคคลข่มได้ยาก” ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า

ทุนฺนิคฺคหสฺส ลหุโน  ยตฺถ กามนิปาติโน

จิตฺตสฺส ทมโถ สาธุ  จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ.

การฝึกจิตอันข่มได้ยาก เป็นธรรมชาติเร็ว มักตก ไปในอารมณ์ตามความใคร่ เป็นการดี (เพราะว่า) จิตที่ฝึกแล้ว ย่อมเป็นเหตุนำสุขมาให้.

ที่มา : https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=13&p=2

Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: