วันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2564

เพราะชีวิตสมดุลได้ด้วย "การให้ทาน" บทความธรรมะจาก พระไพศาล วิสาโล

เพราะชีวิตสมดุลได้ด้วย "การให้ทาน" บทความธรรมะจาก พระไพศาล วิสาโล

เคล็ดลับอย่างหนึ่งในการสร้างสุขให้แก่ชีวิต ก็คือการมีความสมดุล ความสมดุลนั้นมีหลายด้าน เช่น สมดุลระหว่างสมองกับหัวใจ (หรือเหตุผลกับความรู้สึก) สมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวกับชีวิตส่วนรวม สมดุลระหว่างงานกับการพักผ่อน แต่ไม่มีอะไรที่เป็นเรื่องพื้นฐานมากเท่ากับสมดุลระหว่างการรับกับการให้ หรือการได้กับการสละ การให้ทาน

หายใจเข้า แต่ไม่ยอมหายใจออก ก็ตายสถานเดียว กินมากแต่ไม่ยอมออกกำลังกาย โรคร้ายก็ถามหา ในทำนองเดียวกัน หากเอาแต่เก็บสะสมทรัพย์สมบัติ แต่ไม่ยอมแบ่งปันให้ผู้อื่น ก็ทำให้ชีวิตเป็นทุกข์

การเอาแต่รับ แต่ไม่ยอมให้ เป็นการกระทำที่สวนทางกับวิถีธรรมชาติ ต้นไม้นั้นไม่เคยเป็นผู้รับฝ่ายเดียว แม้พึ่งน้ำจากฟ้า ดูดปุ๋ยจากดิน แต่ในเวลาเดียวกันก็คายน้ำให้ฟ้า ทิ้งใบและกิ่งให้กลับกลายเป็นปุ๋ยคืนสู่ดิน ใช่แต่เท่านั้น ยังให้ดอกและผลเป็นอาหารแก่สรรพสัตว์ รวมทั้งให้ร่มเงาแก่นานาชีวิต เช่นเดียวกับลำห้วย เมื่อได้รับน้ำจากภูเขาก็ส่งต่อให้ผืนดินเบื้องล่างเป็นทอดๆ จนกลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่ ผู้คนได้ใช้ประโยชน์มากมาย วิถีแห่งการรับและให้เช่นนี้ทำให้เกิดความบรรสานสอดคล้องในธรรมชาติและทำให้โลกนี้น่าอยู่

มนุษย์เราก็เช่นกัน จะมีความสุขและมีชีวิตที่บรรสานสอดคล้องได้ การให้เป็นสิ่งสำคัญ ด้วยเหตุนี้“ทาน”จึงเป็นธรรมข้อต้นๆ ในพุทธศาสนา ไม่ว่าคำสอนเรื่องบุญกิริยาวัตถุ สังคหวัตถุ หรือแม้แต่ทศพิธราชธรรมก็เริ่มต้นด้วยทาน

ทานทำให้ชีวิตมีความสมดุล เพราะตั้งแต่เกิดเราเป็นผู้รับฝ่ายเดียว ร่ำร้องและเรียกหาทั้งอาหาร ของเล่น เงินทอง เวลา ความรักจากพ่อแม่ญาติพี่น้อง ตลอดจนความรู้จากครูบาอาจารย์ ดังนั้นเมื่อเราเติบใหญ่ขึ้นจึงควรเป็นผู้ให้บ้าง มิใช่เพื่อทดแทนบุญคุณหรือตอบแทนโลกเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เรามีความสุขด้วย

การรู้จักให้ ช่วยปรับใจเราให้ไม่คิดแต่จะเอาฝ่ายเดียว จิตที่คิดแต่จะเอาเป็นจิตที่ทุกข์ง่าย เพราะถูกเผาลนด้วยความโลภเป็นอาจิณ ต้องดิ้นรนไล่ล่าหาสิ่งต่างๆ มาครอบครองไม่หยุดหย่อน แม้ได้มามากมายเพียงใดก็ยังไม่พอใจ อยากได้เพิ่มอีก จึงหาความสงบสุขได้ยาก

การให้ ช่วยลดทอนความโลภ บรรเทาความเห็นแก่ตัว หากสิ่งที่ให้นั้นเป็นทรัพย์หรือวัตถุ ก็ช่วยให้เราละความยึดติดถือมั่นใน “ตัวกูของกู” ธรรมดาคนเราย่อมหวงแหนในทรัพย์สมบัติ เพราะสำคัญมั่นหมายว่าของเหล่านั้นเป็น “ของกู” ความสำคัญมั่นหมายดังกล่าว เป็นที่มาแห่งความทุกข์ทั้งปวง เพราะสวนทางกับความจริง ไม่มีอะไรที่เป็นของเราอย่างแท้จริง และไม่มีอะไรที่จะอยู่กับเราได้ตลอด หากมันไม่จากเราไป เราเองแหละที่จะเป็นฝ่ายจากมันไป ที่สำคัญก็คือ ทันทีที่เรายึดมั่นว่ามันเป็นของเรา เราต่างหากที่กลายเป็นของมันทันที คือตกเป็นทาสของมันจนอาจป่วยหรือตายเพราะมันได้ (เช่น เส้นเลือดในสมองแตกหรือหัวใจวายเมื่อบ้านถูกยึด เงินถูกโกง) หากไม่ตายเพราะมัน ในยามใกล้ตายก็อาจกระสับกระส่ายเพราะยังหวงแหนอาลัยในทรัพย์เหล่านั้น สุดท้ายก็อาจไปสู่ทุคติได้

ถ้าอยากคลายความยึดมั่นถือมั่นในตัวกู ของกู สิ่งแรกที่ทำได้ง่ายที่สุดคือการให้ทาน หากเป็นการให้ที่แท้จริง คือให้โดยไม่หวังอะไรเข้าตัวเลย ไม่ว่าจะเป็นการให้แก่ใครก็ตาม จะช่วยบรรเทาความยึดติดถือมั่นดังกล่าวได้ ซึ่งช่วยให้ใจโปร่งโล่งเบาสบาย แช่มชื่น เบิกบาน นี่แหละคือความหมายที่แท้จริงของคำว่า“บุญ”

เดี๋ยวนี้เวลาทำบุญให้ทาน ผู้คนมักนึกถึงโชคลาภและความมั่งมี หรือ “สวย รวย ฉลาด สมปรารถนา” แม้นั่นเป็นอานิสงส์อย่างหนึ่งของทาน แต่หาใช่อานิสงส์สูงสุดของทานไม่ ประโยชน์สูงสุดที่สามารถเกิดได้จากทานก็คือ การคลายความยึดมั่นในตัวกู ของกู หรือการลดละความโลภ หากให้ทานโดยยังหวังได้โชคลาภ ก็ไม่ช่วยให้บรรลุถึงประโยชน์ดังกล่าวเลย เพราะยังเป็นการให้ที่เจือด้วยความโลภอยู่

นอกจากการให้ทรัพย์สมบัติแล้ว เราควรให้อย่างอื่นที่มีคุณค่าด้วย เช่น เวลา กำลังกาย และสติปัญญา การช่วยเหลือผู้ทุกข์ยาก แม้บางครั้งต้องประสบกับความเหน็ดเหนื่อย ไม่สะดวกสบาย แต่กลับสัมผัสได้ถึงความสุขใจ ความปีติและความแช่มชื่นภายใน เป็นสุขที่ประณีตกว่าความสุขหรือความสนุกจากการเสพ

ใช่หรือไม่ว่า เมื่อเรานึกถึงตัวเองน้อยลง คิดถึงผู้อื่นมากขึ้น เราจะมีความสุขได้ง่ายขึ้น อาสาสมัครนวดเด็กคนหนึ่งเล่าว่า เธอเป็นไมเกรน ต้องกินยาทุกวัน แต่หลังจากที่เป็นจิตอาสาได้ไม่นาน อาการปวดก็หายไปจนเธอลืมกินยาไปเลย ส่วนผู้เฒ่าคนหนึ่งเปิดใจว่า หลังจากที่ได้เป็นอาสาสมัครแยกขยะ เขารู้สึกว่าตนเองเป็น “ขยะคืนชีพ” ไม่รู้สึกว่าไร้ค่าเหมือนตอนที่นั่งๆ นอนๆ อยู่ในบ้าน

น้ำที่ไม่ถ่ายเทย่อมกลายเป็นน้ำเน่า ชีวิตที่ไม่รู้จักให้คือชีวิตที่หม่นหมองไร้สุข ความสุขที่แท้มิได้เกิดจากการเสพหรือการมีมากๆ แต่อยู่ที่การสละออกไป เริ่มจากสละวัตถุสิ่งของ ไปจนถึงสละความยึดติดถือมั่นในตัวตน สละได้มากเท่าใด ก็ช่วยให้เราอยู่ในโลกนี้อย่างผาสุกมากเท่านั้น อีกทั้งยังทำให้เราจากโลกนี้ไปได้อย่างสงบสุขด้วย


post written by:

Related Posts

0 comments: