วันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

"ทางสายกลาง" มัชฌิมาปฏิปทา เส้นทางของพระพุทธเจ้า

ทางสายกลาง มัชฌิมาปฏิปทา เส้นทางของพระพุทธเจ้า

ทางสายกลาง คือ เราจะต้องคำนึงถึงความจริงแห่งอริยสัจจ์ คือ ความจริงที่เหมาะสมกับเหตุของภูมินั้นๆ ถึงจะเรียกว่า ทางสายกลาง.  จะสุดโต่งก็ไม่ได้ จะหย่อนยานก็ไม่ได้ ต้องให้ "พอดี" กับ "เหตุ" ตรงนั้น

ก็จะประคองได้ไปเรื่อยๆ พอมาจุด ๒ เราก็ประคองให้พ้นจุด ๒ และพอถึงจุด ๒ ก็ขึ้น จุด ๓ ได้ แต่ถ้าเราไปสุดโต่งข้างใดข้างหนึ่งก็ตก ก็ไม่ผ่าน.  ทางสายกลาง พูดกันตรงๆ เลย ก็คือ "ความสันโดษ" แต่คนทั่วไปไปแปล "สันโดษ" ผิดหมด ไปแปลว่าไม่เอาอะไรเลย อย่างนี้ไม่ใช่. "สันโดษ" แปลว่า "สมควรแก่เหตุ" เหมาะแก่เหตุในภูมินั้นๆ

สมมติว่า เราอยู่ในภูมิชั้น ๒ แล้วเราจะต้องกินอาหารที่ประกอบด้วยเนื้อสัตว์ จะต้องไปทำงานที่หนัก และทางไกล แต่จะต้องมากินอาหารเจ (齋) ต้องมาห่ออาหารไปด้วย ฯลฯ เราจะไม่ไหวเอาได้  แต่ถ้าบอกว่าสันโดษ คนจะเข้าใจผิดไปเรื่อย เพราะว่าคนแปลแล้วฟังมาผิดหมด บางคนก็บอกว่าจะต้องไปอยู่กระต๊อบ บ้านกระท่อมปลายนา ไม่ยุ่งเกี่ยวอะไรกับใคร

ความสันโดษนี้คนเราจะต้องใช้อยู่เป็นประจำทุกวัน เป็นธรรมะที่สำคัญมาก ที่จะต้องใช้ตลอดเวลา แต่คนไปแปลผิด ไปยกซะสูงหมด  ทางสายกลาง จะต้องถูกต้องตามภาวะธรรมนั้นๆ เราอยู่ในภูมิแค่นี้ เราก็ต้องมีธรรมะแค่นี้

แม้แต่เป็นพระภิกษุเหมือนกัน แต่ทางสายกลางนั้นไม่เหมือนกัน แต่ละรูปก็ไม่เหมือนกัน เพราะแต่ละรูปมีเจตนาไม่เหมือนกัน แต่มีหลักเดียวกัน คือ หลักธรรม เราอย่าลืมอริยสัจจ์แห่งภูมินั้นๆ ถ้าฝืนอริยสัจจ์ก็ฝืนความจริงแห่งธรรมนั้นๆ จะดีได้ยังไง? ไม่มีทาง!!

พระพุทธเจ้าอดอาหาร พระพุทธเจ้าเห็นว่าไม่ใช่อริยสัจจ์แห่งภูมิ พระพุทธองค์ถอยเลย แล้วพระพุทธเจ้ามาเริ่มเสวยอาหารใหม่ หันมาเอาธรรมะที่เหมาะกับภูมิ ไม่เอาเกินไป ไม่เอาสมาธิที่เลยเถิด เอาแค่ตรงนั้น แล้วเอาพลังสมาธิมาเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ค้นหาสาเหตุได้  ณ ตอนนั้น ก่อนที่จะตรัสรู้ พระพุทธเจ้าคิดยังไง ตอนบำเพ็ญทุกรกิริยา?

ตอนที่พระพุทธเจ้าบำเพ็ญทุกรกิริยานั้น จุดประสงค์เพื่อไปลอกเลียนแบบเขา เพราะตอนนั้นถูกอิทธิพลเลียนแบบ พวกฤาษีจะต้องไปนั่ง ท่านก็เลยทำตามว่าอย่างนี้ถูกต้องไหม? จะเอาแบบ เลียนแบบ.  พอทำตามแบบไปแล้ว มันไม่ใช่ พระพุทธเจ้าบอกว่าอย่างนี้แก้ทุกข์ไม่ได้ เพราะออกจากสมาบัติก็ทุกข์อีก (สมาบัติ ๘ คือ รูปฌาน ๔, อรูปฌาน ๔) แต่ครั้นจะอยู่แต่สมาบัติก็เป็นไปไม่ได้ ฝืนความจริง แล้วพระพุทธเจ้าก็จะมาค้นหาว่า จะเอาอะไรดีล่ะ? แล้วจะทำยังไงแก้ทุกข์

พระพุทธเจ้าก็เจริญธรรมะขึ้นมา แล้วคิดในใจว่า :- ทุกข์มาจากไหน?

"ทุกข์" มาจาก "เหตุ" แล้วทำไมเราไม่แก้ที่ "เหตุ" แล้วเราไปนั่งสมาธิแล้วเราจะไปแก้ที่เหตุได้ยังไง? ก็แก้ไม่ได้ นี่แหละ จึงเป็นที่มาของวิปัสสนากรรมฐาน คือ แทนที่จะไปนั่งสมาธิเฉยๆ แต่เอาความเป็นพลังของสมาธิขั้นที่ ๓ นี้ กำลังนี้ไปขบคิดพิจารณาว่า :- ตรงที่ "ทุกข์" นี้ มีเหตุจากไหน?  เหตุนั้นเป็นได้ยังไง? วิธีที่จะแก้เหตุทำยังไง?

วิธีแก้ก็คืออริยสัจ ๔ (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) ซึ่งหลักการอริยสัจ ๔ อยู่ในธรรมชาติอยู่แล้ว แต่พระพุทธเจ้าไปค้นพบเจอ  แต่ทางพราหมณ์มีอริยสัจ ๔ ไหม?

ทางพราหมณ์ก็มีอริยสัจ ๔ เหมือนกัน แต่ทางพราหมณ์เขาไม่ได้เน้น แต่ช่วงหลังของพราหมณ์จะเน้นเข้าไปเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า แล้วจะดีเอง.   เหมือนกับทางพระพุทธศาสนามหายาน (大乘) นิกายสุขาวดี (淨土宗) เข้าถึง อมิตพุทธ (阿彌陀佛) ก็จะดีเอง.  เหมือนกับทางศาสนาอิสลาม (Islam) เข้าถึงอัลเลาะห์ ก็จะดีเอง.  ทางคริสต์ (Christ) ก็บอกว่า เข้าไปอยู่กับพระเจ้า ก็จะดีเอง

"ดี" ยังไง? ข้างในมี "เหตุ" แต่เขาไม่สาธยาย  แต่พระพุทธเจ้าเอามาสาธยาย และก็เน้น เน้นว่ามันอยู่ตรงนี้ เหตุอยู่ตรงนี้ ประเด็นมันอยู่ตรงนี้ ถ้ามีตรงนี้ก็ไม่จำเป็นต้องถึงพระเจ้า (God) เพราะว่าพระเจ้าก็ต้องใช้หลักนี้  

ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตั้งคำว่า "วิปัสสนากรรมฐาน" ขึ้นมา  ต้องพูดให้ครบๆ ไม่ใช่ "วิปัสสนา" อย่างเดียว เพราะว่า "วิปัสสนา" นั้นแปลว่า การขบคิด พิจารณา จะต้องมาขบคิดอะไร? มาขบคิดฐานแห่งกรรม กรรมก็คือการกระทำ ทุกครั้งที่เรากระทำจะต้องมีฐาน

วิปัสสนากัมมัฏฐาน แปลว่า เห็นแจ้งพื้นฐานของการกระทำ, การทำให้แจ้งซึ่งฐานแห่งเหตุของการกระทำ เหตุทำให้เป็นผล เห็นแห่งการเกิด เกิดเป็นผล เป็นผลเป็นเหตุ เหตุแห่งเป็นผลต่อเนื่องเป็นไป โดยวิถีแห่งธรรมอย่างไม่มีที่สิ้นสุด  

หัวใจวิปัสสนากรรมฐาน คือ เป็นการค้นหาตามความเป็นจริงอริยสัจ ๔ ด้วยยุทธศาสตร์วิธีแห่งโยนิโสมนสิการ จากเริ่มต้นไปหาสุดท้าย และสุดท้ายวนกลับมาเป็นชั้นๆ ขึ้น นี่แหละ วิปัสสนากรรมฐาน 

ฉะนั้น เราเข้าใจความหมายวิปัสสนากรรมฐานแล้ว ถ้าเราไปนั่งหลับตาทำสมาธิแล้วไม่ต้องไปคิดอะไร แล้วจะกลายเป็นวิปัสสนากรรมฐานไม่ได้

โยนิโสมนสิการ คือ การคิดพิจารณาตั้งแต่เหตุไปถึงผล ผลไปถึงเหตุ ให้ครบวงจรตามภาวะจริงแท้แห่งธรรม  "ฐาน" ก็คือ "เหตุ"  พอ "ผล" มันปรากฏออกมาไม่ดี ก็ต้องมาดูที่ "เหตุ" ก็จะรู้แล้ว  อ๋อ...เราทำ "เหตุ" นี้ จึงปรากฏ "ผล" เช่นนี้.  เปลี่ยนเหตุซะ ผลก็ต้องเปลี่ยน นี่แหละพระพุทธเจ้าคิดอย่างนี้ขึ้นมา

พระพุทธเจ้าก็นำมาทดลองกับตนเอง แล้วก็ได้ผล เข้าใจมากขึ้น พอได้ผลก็ออกมาเผยแผ่แล้ว พยายามเน้น.  ตอนที่ว่าตรัสรู้ ไม่ใช่ว่า ไปนั่งทำสมาธิแล้วตรัสรู้ อย่างนี้ไม่ใช่ คนเข้าใจผิด วันนั้นพระองค์จะทบทวนสรุป สรุปว่าอย่างนี้ถูกต้อง ๑๐๐% แล้วล่ะ แน่นอนล่ะ จะใช้หลักฯ อันนี้ล่ะ ไม่สะเปะสะปะว่าหลักโน้นหลักนี้ล่ะ  แล้วยังจะมีหลักโน้น หลักนี้อีกเหรอ?

มีเยอะแยะไปหมด เดี๋ยวก็จะไปเจอตรงนั้นจะดีไหมว่ะ? อันนี้ก็จะดีไหมว่ะ?

วันที่ตรัสรู้ก็คือ เป็นวันที่ไปตัดสินใจ ตัดสินใจของท่านว่า จะสรุปเป็นอย่างนี้ ๑-๒-๓-๔ มั่นคงอย่างนี้แล้ว เรียกว่า สรุปกำปั้นทุบดิน ดีแล้ว ยึดหลักนี้แล้ว ตรัสรู้แล้ว สรุปได้แล้ว พอสรุปได้ก็ปั้บ!! ก็ประกาศ.  แล้วท่านก็มาคำนึงในใจว่า โอ!! หลักนี้มันยาก.  พระพรหมธาดาก็มาอาราธนา มาบอกว่า ประชาชนก็เปรียบเสมือนกับดอกบัว ๔ เหล่า พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า เออ...จริง

ก็รำลึกว่า บัวบางเหล่าก็ยังรออยู่ บางเหล่าก็ยังไม่พร้อม แต่ก็สามารถพัฒนาได้จากเหล่าที่ ๑ ไปถึงเหล่าที่ ๔ ได้ จึงตัดสินใจ ใช้หลักนี้เผยแผ่  เปรียบเทียบคนกับดอกบัว ๔ เหล่า  กว่าจะมาเป็นบัวได้นั้น จะต้องมีการไต่เต้ามาตั้งแต่เล็กๆ ตั้งแต่ยังอยู่โคลมตม ผุดแทงหน่อขึ้นมาเป็นบัวใต้น้ำ ปริ่มน้ำ และพ้นน้ำ เช่นเดียวกับเรา เมื่อเราเกิดมาเป็นมนุษย์เราต้องเอาเยี่ยงอย่างบัว เกิดมาจากอวิชชา ความไม่รู้แจ้ง ก็กระทำให้เกิดความรู้แจ้ง เห็นสภาพตามความเป็นจริงของธรรม

ดอกบัวสี่เหล่านี้ ทุกๆ คน สามารถมีทั้งหมด ๔ เหล่านี้อยู่ในตัว เช่น บางคนเป็นช่างซ่อมรถ เมื่อมีผู้รู้พูดถึงเกี่ยวกับรถ เข้าก็เข้าใจได้ง่าย ไม่ต้องอธิบายมาก เป็นอุคคฏิตัญญู แต่ถ้าพูดเรื่องการวาดภาพ ซึ่งช่างรถไม่เคยได้เรียนรู้มาก่อน อธิบายยังไงเขาก็ไม่เข้าใจ ดอกบัว ๔ เหล่า มีดังนี้

ดอกบัวเหล่าที่ ๑ โคลนตม คือ เหลวใหล ไม่จริงจัง มีชีวิตอยู่ไปวันๆ ไม่มีเป้าหมาย ไม่มีจุดหมาย ประเภทหลงทาง เรื่อยเฉย ไปตามสภาวะรูปธรรม (จะคิดถึงตัวเอง)

พวกที่ไร้สติปัญญา และยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ แม้ได้ฟังธรรมก็ไม่อาจเข้าใจความหมายหรือรู้ตามได้ ทั้งยังขาดศรัทธาปสาทะ ไร้ซึ่งความเพียร เปรียบเสมือนดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม ยังแต่จะตกเป็นอาหารของเต่าและปลา ไม่มีโอกาสโผล่ขึ้นพ้นน้ำเพื่อเบ่งบาน (ปทปรมะ)

ดอกบัวเหล่าที่ ๒ มีการริเริ่ม รู้จักเอามาเสียดายเวลา ความรู้สึกริเริ่ม มีความรู้สึกล่ะ ริเริ่มสัมมา อยากให้มีสาระมากขึ้น อยากจะรู้ (จะคิดถึงตัวเอง)

พวกที่มีสติปัญญาน้อย แต่เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มอยู่เสมอ มีความขยันหมั่นเพียรไม่ย่อท้อ มีสติมั่นประกอบด้วยศรัทธา ปสาทะ ในที่สุดก็สามารถรู้และเข้าใจได้ในวันหนึ่งข้างหน้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะค่อยๆ โผล่ขึ้นเบ่งบานได้ในวันหนึ่ง (เนยยะ)

ดอกบัวเหล่าที่ ๓ กระตือรือร้น อยากเปลี่ยนแปลง อยากแก้ไขสิ่งที่ถูกต้อง อยากทำอะไรให้มีสาระ เริ่มเห็นประโยชน์ อยากรู้อยากเห็น จะตั้งเป้าหมาย จุดหมาย เห็นประโยชน์ว่าตนเองเป็นคนทำ

พวกที่มีสติปัญญาดี เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มเติม จะสามารถรู้และเข้าใจได้ในเวลาอันไม่ช้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำซึ่งจะบานในวันถัดไป (วิปจิตัญญู)

ดอกบัวเหล่าที่ ๔ พ้นน้ำ รับแสงอาทิตย์ พยายามขบคิด ปุจฉา วิสัชนาอะไรต่างๆ วินิจฉัย พิจารณาสิ่งต่างๆ เตรียมตัวเข้าสู่ปรมัตถ์

พวกที่มีสติปัญญาฉลาดเฉลียว เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมก็สามารถรู้ และเข้าใจในเวลาอันรวดเร็ว เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ เมื่อต้องแสงอาทิตย์ก็เบ่งบานทันที (อุคคฏิตัญญู)

พระพุทธเจ้าคิดว่า จะโปรดสัตว์แล้วมันยากตรงไหน?  ยากที่ว่า "คนรับความจริงไม่ได้"

พระพุทธเจ้าจะเน้นเรื่องความจริง

คนทั่วไปจะรับความจริงไม่ได้ เพราะว่ามันถูกสอนมาในเรื่องไม่รับความจริง แต่พระพุทธเจ้ามาปฏิวัติ (Revolutions) ความคิดเขา ใหม่ๆ พระพุทธเจ้าออกมาประกาศ ผู้คนด่าทอ ต่อว่าไปหมด คนก็จะเถียง กว่าจะให้คนเขายอมรับได้ไม่ใช่ง่ายๆ พระพุทธเจ้าต้องเดินสายไปเทศน์ ไปคุยกับผู้คนหลากหลาย จนในที่สุดกษัตริย์เห็นแล้วได้ทดลองแล้วก็ได้ผล จึงหันมาสนับสนุน เช่นแคว้นมหาอำนาจสมัยพุทธกาล ได้แก่ พระเจ้าพิมพิสาร แคว้นมคธ กรุงราชคฤห์ พระเจ้าปเสนทิโกศล แคว้นโกศล พระเจ้าอุเทน แคว้นวังสะ เมืองโกสัมพี พระเจ้าจันฑปัตโชติ แคว้นอวันตี เมืองอุชเชนี พระเจ้าลิจฉวี แคว้นวัชชี เมืองเวสาลี เป็นต้น

สมัยนั้นเข้าเรียกว่าพระพุทธเจ้าว่าเป็นกบฏ (rebellion) เปลี่ยนความคิดแนวใหม่  ตัวที่ตรัสรู้อย่าไปคิดจนเว่อร์ (over) คือเรียบเรียงมาแล้ว สรุปตัดสินใจมาแล้วว่าจะเอาอย่างนี้ไหม? ตรัสรู้ก็คือ สรุปแล้วว่าจะเอาอย่างนี้ ไม่เปลี่ยนแปลงแล้วในชาตินี้ หลักของพระพุทธเจ้ามี ๕ ข้อคือ

ข้อแรก เป็นหัวใจเลยก็คือ อริยสัจ ๔ คือจะต้องหาเหตุ ท่านประกาศเลยว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมาจากเหตุ ดังปรากฏในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๘ สังยุตตนิกาย นิทานวรรค บรรทัดที่ ๑๘๖๑-๑๘๘๓ หน้าที่ ๗๖-๗๗ ว่า :-

"..อิมสฺมึ  สติ  อิทํ  โหติ  อิมสฺสุปฺปาทา  อิทํ  อุปฺปชฺชติ.  อิมสฺมึ  อสติ  อิทํ  น  โหติ  อิมสฺส  นิโรธา อิทํ นิรุชฺฌติ..."  "เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เมื่อสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เมื่อสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ"

และอีกหนึ่งเหตุการณ์ คือ พระสารีบุตรได้ถามพระอัสสชิว่า "ใครเป็นศาสดาของท่าน ศาสดาของท่าน สอนไว้ว่าอย่างไร" พระอัสสชิ ตอบว่า อาตมาเป็นพระบวชใหม่ ไม่อาจตอบธรรมะที่ลึกซึ้งได้ แต่จักกล่าวใจความสำคัญแก่ท่านโดยย่อว่า :- 

เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ   เหตุํ ตถาคโต อาห,  เตสญฺจ โย นิโรโธ  เอวํ วาที มหาสมโณติ.  ธรรมทั้งหลายเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมทั้งหลายเหล่านั้น พระมหาสมณะเจ้า ทรงสั่งสอนอย่างนี้

ทำไมพระไตรลักษณ์ถึงไม่ใช่หัวใจของพระพุทธศาสนา? ก็เพราะว่า พระไตรลักษณ์มีอยู่ในนั้นแล้ว อยู่ในธรรมอยู่แล้ว แต่ว่าจะมีกระบวนการอะไรที่จะเข้าไปสู่พระไตรลักษณ์ นั่นก็คืออริยสัจ ๔

ทำไมหลวงพ่อบางรูปบอกว่า ทางสายกลางก็คือปฏิจจสมุปบาท?  ปฏิจจสมุปบาทก็คือเครื่องมือตัวหลังมาวิเคราะห์ให้เห็น ให้เห็นว่าเราอยู่ภูมิไหน เราจะต้องทำอย่างไร? เราเป็นอะไร ก็ต้องใช้อริยสัจ ๔ จะแก้ยังไง

เราคิดว่าปฏิจจสมุปบาทไม่เห็นจะมาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราเลย? ปฏิจจสมุปบาทเกี่ยวกับกับชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างมากเลย เพราะว่าใช้ศัพท์ภาษาบาลี คนทั่วไปไม่เข้าใจก็เลยคิดว่าไม่เกี่ยว

เราคิดว่าปฏิจจสมุปบาทไม่เห็นจะมาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราเลย?  ปฏิจจสมุปบาทเกี่ยวกับกับชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างมากเลย เพราะว่าใช้ศัพท์ภาษาบาลี คนทั่วไปไม่เข้าใจก็เลยคิดว่าไม่เกี่ยว

ยกตัวอย่าง คำแรก อวิชชา เกี่ยวไหม? อวิชชาเกี่ยวกับ ๑,๐๐๐% เลย คือ สิ่งที่เราไม่รู้เรียกว่า อวิชชาทั้งนั้น เราอย่าไปคิดสูงเกินไป  พอเรามี "อวิชชา" เข้าใจผิด จึงคิดว่ามีรูปร่างสังขารอย่างถาวร เห็นแต่จริงแต่ไม่เห็นแต่แท้ "สังขาร" ในที่นี้ คือ ปรุงแต่ง หรือเขาปรุงแต่งอยู่แล้ว หรือว่าเขากำลังจะปรุงแต่ง หรือปรุงแต่งเลยไปแล้ว พอมีสังขารก็ทำให้เกิดวิญญาณ ก็คือ ทำให้เกิดมีรูปร่างขึ้นมา "วิญญาณ" ทำให้เกิด "นาม-รูป" คือ จะเป็นรูปหรือเป็นนามก็ต้องมีวิญญาณ เขาเรียกว่า สังขารนาม กับสังขารรูป

ยกตัวอย่าง ความโกรธ โกรธก็ยังมีสังขาร ถ้าไม่มีสังขารก็ไม่มีตัวโกรธ  "สฬายตนะ" คือ ตัวรับรู้ต่างๆ แล้วก็มาเกิดอารมณ์ มาเกิดเวทนา พอมีเวทนาก็ต้องมีการเกิดสัญญาณ สัญญาแล้ว เวทนานี้ฉันชอบ เวทนานี้ฉันไม่ชอบอะไรอย่างนี้ ขบวนการทั้งหลายทั้งปวงนี้ นำไปสู่การยึดมั่นถือมั่น ว่าสิ่งนี้เป็นอย่างนี้

"ผัสสะ" ก็คือ สัมผัสรับรู้เวทนา ชอบ ไม่ชอบ เกลียด ไม่เกลียด  พอมี "เวทนา" ก็ต้องมีสัญญาณ สัญญา ตรงนี้เราชอบ เราสัญญาว่าจะเอา พอเราชอบมาก ก็จะมี "ตัณหา" มาก ถ้าเราไม่ชอบก็เป็นตัณหาไม่อยากได้ "อุปทาน" ก็คือยึดมั่น พอตรงนี้เราชอบก็จะยึดมั่น ก็เนื่องมาจากสัญญาทั้งนัั้น "ภพ" อันนี้ของฉัน อันนี้เป็นแดนของฉัน เป็นที่ของฉัน ภพตัวนี้ไม่ใช่อัตตา เพราะอัตตานี้มีมาตั้งแต่ต้นแล้วตลอด ภพตัวนี้ก็จะไปแบ่งว่า เป็นของฉัน เป็นที่ของฉันนะ เรานั่งอยู่ตรงนี้ใครจะมาแตะถูกไม่ได้ แม้ว่าเรามีความคิดเช่นนี้ ใครจะมาแตะถูกก็ไม่ได้ พอเราไปแตะก็เข้าสู่แดนภพของเขา เขาก็จะไม่ยอม ก็จะเข้าภพภูมิ ภูมิก็คือความรู้ต่างๆ

"ชาติ" คือ ก็จะถือว่าอันนี้เป็นชาติหนึ่งของฉัน ยึดว่าเป็นสิ่งนั้น เป็นระยะเวลาอะไรๆ ภพกับชาติไม่เหมือนกัน ภพเป็นที่อยู่ ส่วนชาติ เป็นวาระ ชาติหนึ่งๆ ชาติหนึ่งๆ โศกเศร้า ทุกข์ รำพึงรำพัน คือ ความดีใจ เสียใจก็จะมาหมด ทั้งหมดทั้งหลายทั้งปวงก็จะใหลมาอยู่ตรงนี้  นี่ก็คือชีวิตประจำวัน

ปฏิจจสมุปบาทกับอริยสัจ ๔ ไม่แตกต่างกัน ปฏิจจสมุปบาทเป็นอาการให้เขาเห็น ส่วนอริยสัจ ๔ ไปหาสาเหตุ เช่น ยุงกัดเรา ถ้าใช้หลักธรรมอริยสัจ ๔ มาวิเคราะห์ ก็คือ เราเอามือไปปัดทำไม? อาการปัดนี้ก็เป็นปฏิจจสมุปบาท แต่ถ้าเป็นอริยสัจ ๔ ก็จะให้รู้ความหมายว่าคืออะไร? ส่วนวิปัสสนากรรมฐาน ก็คือ ให้นำอริยสัจ ๔ มาขบคิดให้มันเป็น ต่อเนื่อง แต่ถ้าโยนิโสมนสิการ คือ ขบวนการวิปัสสนากรรมฐานจะต้องบวกกับโยนิโสมนสิการ โยนิโสฯ เปรียบเสมือนเครื่องมือ สมมติว่า ตอนนี้เรามีเพชรแล้ว เราจะต้องมีเครื่องมือมาเจาะ นั่นก็คือ โยนิโสฯมาเจาะ นี่ก็จะเป็นขบวนการเด่นชัดเจนประจักษ์ขึ้นมา ว่าอะไรเป็นอะไร

ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ก็ยังไม่ได้อธิบายเช่นนี้ นี่แหละ สิ่งที่ดีๆ คนไม่ได้นำเอามาใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะว่ามันไม่ได้อธิบายแบบธรรมชาติ แบบชาวบ้านที่เข้าใจ นำไปใช้ได้ แต่จริงๆ แล้วเป็นการใช้ทั้งนั้ พระพุทธเจ้าสอนว่า ถ้าอยู่เป็นคนแล้วจะต้องทำยังไง? ไม่ใช่ว่าอยู่เป็นพระภิกษุแล้วจะต้องทำยังไง? พระภิกษุยังไม่หนีไปจากคนเลย คุณเป็นพระภิกษุ เป็นคนที่มีเครื่องแบบเท่านั้นเอง ไม่หนีจากคำว่า "คน" พระพุทธเจ้าสอนว่า เราอยู่เป็นคนจะต้องทำอย่างไร อยู่ยังไง อยู่แล้วให้มีสาระ นี่แหละหน้าที่ของพระพุทธเจ้า

ปฏิจจสมุปบาทก็คือชีวิตประจำวันของเราเลย เรานั่งแล้วสั่นขาก็เป็นปฏิจจสมุปบาท เพราะว่านั่งแล้วเมื่อย เราก็จะต้องสั่นขา และเป็นอิริยาบถ เราจึงเป็นอย่างนี้ ทำไมเราจึงต้องทำอย่างนี้ เพราะว่าเรามีชาติ ภพ มีสัญญาณ สัญญา ตรงนี้เมื่อยแล้ว เราไม่เอาแล้ว มีรักมีชัง พระพุทธเจ้าประกาศปฏิจจสมุปบาทนี้ เอามาจากธรรม เอามาเผยแพร่อธิบายให้ประชาชนให้ฟัง ส่วนอริยสัจ ๔ นี้เป็นบทสรุปของพระพุทธเจ้า ปฏิจจสมุปบาทเป็นของธรรม พระไตรลักษณ์ก็เป็นของธรรม แต่อริยสัจ ๔ เป็นของพระพุทธเจ้าที่สรุปออกมาจากธรรม

หัวใจของพระพุทธเจ้า คือ อริยสัจ ๔

เหมือนกับต้นไม้มีเยอะแยะไปหมดทั้งเต็มทั้งภูเขา แต่ว่าเราสนใจต้นไม้ต้นนี้ แล้วเราก็จะเอาวิธีไปขบคิด การขบคิดนี่แหละเป็นวิธีของพระพุทธเจ้า  ในป่ามีต้นไม้เยอะแยะ แต่พระพุทธเจ้าจะเอาต้นไม้ต้นนี้ต้นเดียว เราก็เอาต้นนี้ก็คือการขบคิดยังไงเป็นของพระพุทธเจ้า แต่ต้นไม้นี้เป็นของธรรม นี่แหละ อริยสัจจ์ อริยสัจ ๔ เป็นวิธีการคิดของพระพุทธเจ้า อธิบายธรรมอย่างนี้แหละเข้าสู่ในชีวิตประจำวันของเราได้ เราจะร้ายก็หนีไม่ออก เป็นคนดีก็หนีไม่ออก

อภิธรรม เรียนหลายปี เรียนไปทำไม? บางท่านเรียนไปเพื่อแสวงหาเพื่ออวดความรู้ของตนเอง ไม่ได้เรียนอย่างแท้จริง ถ้าเรียนอย่างแท้จริง ชีวิตของเราก็อยู่ในอภิธรรม อภิธรรม คือ สิ่งหนึ่งที่ดำรงอยู่ในธรรม ซึ่งไม่มีใครหนีออกไปได้ อภิธรรม เป็นธรรมที่ใหญ่ ใครก็หนีออกจากธรรมนี้ไม่ได้ ฉะนั้น จะต้องเรียน ทุกคนที่อยู่ในธรรมนี้ก็ต้องรู้ว่าเราเป็นอะไร? ไม่ใช่เรียนรู้แต่ศัพท์ว่าเป็นอะไร? มัวแต่ไปเรียกว่าอะไร ก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร? ไม่รู้ว่าเป็นอะไร แล้วจะมีประโยชน์ตรงไหน จริงไหม?

คุณเอาแต่เรียกชื่อว่าเป็นอย่างนี้ๆ แต่ไม่รู้ว่าเป็นอะไร? แล้วคุณจะมีประโยชน์อะไร? คุณสู้เอาเรียนแต่ไม่ต้องจำศัพท์ แต่เรียนเอารู้ดีกว่า  คนเข้าใจผิดนะว่าพระภิกษุนี้ไม่ใช่คน พระก็คือคน เพียงแต่ใส่ห่มผ้าเหลือง แต่เราต้องรู้จักคน ถ้าเราไม่รู้จักคนเราก็ทุกของเรา ต่อให้เราใส่ซะ ๑๐ ผืน เราก็ทุกข์ หน้าที่ของพระพุทธเจ้าในสั่งสอน ฉะนั้น พระพุทธเจ้าสอนให้เราเป็นคน เราจะอยู่ยังไง? 

๑. อยู่ให้รอด ๒. อยู่ให้ได้ ๓. อยู่ให้ดี ๔. แล้วอยู่ให้สันติ

นี่คือหน้าที่หลักของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตั้งปณิธานมาเพื่อให้เจริญธรรมตรงนี้ สอนให้ชาวบ้านให้เข้าใจ นี่แหละหัวใจของพระพุทธเจ้า คือ สอนให้คนเป็นคน แล้วอยู่อย่างสันติได้ พระพุทธเจ้าไม่มีความปรารถนาเลยว่า จะเอาภิกษุเยอะๆ พระพุทธเจ้าต้องการสอนคนตรงนี้เยอะๆ แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นภิกษุก็ได้ แต่ในเมื่อบางกลุ่มอยากศึกษาให้เต็มที่ พระพุทธเจ้าก็บอกว่าได้ แต่คุณต้องไปนะ

คุณศึกษาเสร็จคุณต้องไปโปรดสัตว์นะ พระพุทธเจ้าเน้นเลย ดังพุทธดำรัส ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค บรรทัดที่ ๑๑๒๐-๑๑๖๐ หน้าที่ ๔๖-๔๗ ว่า :- 

 อนุชานามิ  ภิกฺขเว   จรถ   จาริกํ   พหุชนหิตาย  พหุชนสุขาย   โลกานุกมฺปาย   อตฺถาย   หิตาย   สุขาย   เทวมนุสฺสานํ.  ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต  เธอทั้งหลาย จงจาริกไป เพื่อประโยชน์และความสุขต่อชนหมู่มาก เพื่อเกื้อกูล อนุเคราะห์ต่อชาวโลก ทั้งทวยเทพ เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย

พระพุทธเจ้าพระองค์ท่านจะเน้นมากเลย ไม่ใช่ว่าเป็นเทวดาแล้วจะนั่งอยู่เฉยๆ รอคนมาขอไม่ได้ พระพุทธเจ้าไม่มีการให้รอคนมาขอ คุณจะต้องไปโปรดเขา  ฉะนั้น พระภิกษุเวลานี้ ผิดคำสัญญามากเลย พระพุทธเจ้าตรัสบอกให้พระภิกษุไปโปรด แต่เดี๋ยวนี้นั่งกับวัดให้คนมาขอ  คิดง่ายๆ เลย ขนาดที่ว่าบิณฑบาต เขาเรียกว่าโปรดสัตว์ใช่ไหม? แต่โปรดที่ไหน ไปเอาข้าวปลาเฉยๆ ไปโปรดเขาสักนิดไหม? พระบางรูปโปรดสัตว์ เวลาให้พรยังหน้าบึ้งเลย สายตายังไม่มองโยมเลย สวดเสร็จก็เดินไปแล้ว โปรดสัตว์หน่อยไหม? จะยิ้มให้โยมหน่อยไหม? โอ้!! โยม ตั้งใจให้ดีๆ เน๊าะ กุศลได้เต็มเลย... แค่นี้ก็เป็นกำลังใจโยมแล้ว

การให้กำลังใจ เป็นการโปรดสัตว์ไหม? การให้กำลังก็ถือว่าเป็นการโปรดสัตว์เช่นเดียวกัน บางคนไม่อยากทำดีมาก แต่พอได้ยินคำนี้ ได้ยินคำกำลังใจ เขาก็ชื่นใจ แล้วอยากทำต่อ จริงหรือไม่?

ทางสายกลาง ก็คือ ความสันโดษ โอวาทปาฏิโมกข์ เป็นการให้ปฏิบัติ คือ ละชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใสหัวใจของพระพุทธเจ้า ก็คือ อริยสัจ ๔ สอนให้ขบคิด รู้จักให้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน

มรรค ก็คือ เส้นทางการปฏิบัติ ก็ต้องเป็นทางสายกลาง ตึงไปเราก็ไม่ไหว หย่อนไปก็ไม่เหมาะ ก็แย่ ก็เสียเวลา ฉะนัั้น จะต้องให้เหมาะแก่เหตุ คือสันโดษ.  สันโดษกับสมถะ ไม่เหมือนกัน สมถะ คือ รู้จักสำรวม ให้พอดี ไม่ตื่นเต้น ไม่อวด ไม่แสดงอะไรเกินไป ส่วนสันโดษ คือ เหมาะสมแก่เหตุ สมถะ วิเวก จะอยู่ในสันโดษ ทุกวันเราจะต้องใช้สันโดษทั้งนัั้น

อย่างเช่น ความรัก ถ้ารักไม่สันโดษ ก็จะกลายเป็นหึงหวง ยุ่งไหม? ชีวิตประจำวันก็ต้องใช้ ถ้าเมียไม่สันโดษ ไปไหนก็จะติดตามไปด้วย ก็ตายแน่ ไม่สมควรแก่เหตุเราก็จะยุ่ง นี่แหละสันโดษเราจะต้องใช้ในชีวิตประจำวันทั้งนั้น และเป็นปฏิจจสมุปบาทด้วย

จุดเด่นของศาสนาพุทธ ก็คือ การใช้ชีวิตประจำวัน เขาจะไม่ว่าถึงอดีตไกลแค่ไหน ไม่ว่าจะไปทางไหน คือ เน้นปัจจุบัน ภพนี้ ชีวิตนี้จะอยู่ยังไง 

จุดเด่นของศาสนาพุทธ ก็คือ ดูแลปัจจุบันให้ดีที่สุด เข้าใจแล้วอยู่เป็น อยู่ได้. บางคนไม่รู้ คิดว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความทุกข์ ความเศร้าโศก ไม่ใช่เลย

จุดเด่นของพระพุทธเจ้า คือ เน้นปัจจุบัน คุณจะอยู่ยังไง คุณจะอยู่ได้ยังไง คุณจะอยู่รอดยังไง ดียังไง แล้วได้สุขสันติ เน้นตรงนี้!!

อันที่จริง พระพุทธเจ้าไม่เน้นไปถึงสวรรค์ ฯลฯ อันนั้นคนยุคหลังเติมเอาเอง แต่สมัยพระพุทธเจ้าจะเน้นคุณจะอยู่ยังไง อยู่แล้วได้ดียังไง ไม่ต้องรอชาติหน้า เสวยชาตินี้เลย

พระพุทธเจ้าสอนเลยว่า คุณอย่าไปจมปลักกับอดีต อดีตชาติไม่ดีมากี่ชาติก็เหอะ ขอให้ชาตินี้ตั้งใจทำดี จะแก้ไขยังไง จะละสิ่งที่เราเคยทำชั่วมายังไง เห็นไหม? นี่คือหัวใจของพระพุทธเจ้า ประกาศหลักการว่า ประกาศชัดเจนอย่างนี้ วิธีการชัดเจน หาเหตุผล ก็แก้ได้

หัวใจของพระพุทธเจ้า

๑. ใช้หลักให้ถูกต้อง "เหตุ" ตัวแก้ ๒. แก้ตรงไหน ก็แก้ส่วน ณ ปัจจุบันตรงนี้ ไม่ต้องวุ่นวายให้ไกลไป ๓. วิธีแก้ไข แล้วเราจะต้องทำยังไง คุณจะต้องเปลี่ยนยังไง เพราะเราจะต้องสร้างเหตุใหม่ ๔. ผลมันดี แล้วเราจะรักษายังไงให้มันดี

อริยสัจ ๔

๑. เครื่องมือก็ต้องมีโยนิโสมนสิการ ๒. ไปดูอะไร? คือดู ณ ปัจจุบันกรรมของเรา พฤติกรรมเป็นยังไง แล้วเขาส่งผลมาแล้วเป็นยังไง แล้วเราทำไมเป็นกรรมอย่างนี้ ไปหาเหตุ หาผล แห่งการที่เราเป็นอยู่ ๓. เราจะแก้ยังไง เราจะอยู่ยังไง เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมยังไง ๔. เมื่อผลมันเกิดแล้ว เราจะรักษาผลนี้ยังไง อภิธรรมชาวบ้าน เพื่อนำไปสู่สันติสุข

อริยสัจ ๔ "อริยสัจ" แปลว่า ความจริงแท้ที่ประเสริฐ มี ๔ ประการเป็นหลักการที่ใช้ในการแก้ปัญหา ความเดือดร้อน แก้ทุกข์ต่างๆ ใช้ในการรู้ปัญหา เข้าใจปัญหา และแก้ไขปัญหา ดังนี้

๑. ทุกข์ คือ ความเดือดร้อน ปัญหาความทุกข์ต่างๆ  ๒. สมุทัย คือ เหตุของความเดือดร้อน สาเหตุของปัญหา ความทุกข์ต่างๆ  ๓. นิโรธ คือ ไม่เดือดร้อน ผลแห่งความสำเร็จแล้ว ๔. มรรค คือ วิธีที่จะแก้ไขเหตุความเดือดร้อนให้ผลมีความสุข วิธีทางดับปัญหา แนวทาง เส้นทางการดำเนิน วิถีปฏิบัติ วิธีแก้ไขปัญหา หมายถึง เราต้องปฏิบัติ ลงมือทำ 

ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกกล่าวมา

อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์, เอื้อ-เกื้อ-กัน เป็นกัลยาณมิตรทุกขณะจิต

ขอขอบคุณ ที่มา : http://www.dhammathai.org

Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: