วันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

“รักนั้นดีแน่ แต่รักแท้ดีกว่า” โอวาทวันมงคลสมรส รับ Valentine's Day 2021

โอวาทวันมงคลสมรส 

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) วัดญาณเวศกวัน ต.บางกระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม ธรรมกถา แสดงเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ จากหนังสือ “รักนั้นดีแน่ แต่รักแท้ดีกว่า” หน้า 133 – 143

วันนี้เป็นวันมงคลสมรสของคุณโสภณ และคุณวิมลวรรณ คุณพ่อคุณแม่ ท่านผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ และท่านผู้ปรารถนาดีทั้งหลายได้พร้อมใจกันจัดพิธีนี้ขึ้น ทั้งนี้ก็โดยหวังให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตของคู่บ่าวสาวทั้งสอง

เริ่มต้นดี มงคลก็เกิดขึ้นทันที

ประการแรกก็ได้ให้ท่านทั้งสองมาอยู่ใกล้ชิดพระรัตนตรัยซึ่งในพิธีนี้ได้มีพระพุทธรูปเป็นตัวแทนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ซึ่งเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้ากล่าวคือพระธรรม และองค์พระภิกษุซึ่งมาเจริญพระพุทธมนต์ในที่นี้ก็เป็นตัวแทนของพระสงฆ์ นับว่ามีตัวแทนพระรัตนตรัยมาพร้อมมูลในที่นี้

พระรัตนตรัยนั้นเป็นที่เคารพบูชาสูงสุดของพุทธศาสนิกชน แม้ในพิธีอันสำคัญนี้เราก็มาอยู่กันในที่พร้อมหน้าของพระรัตนตรัยเพื่อเป็นเครื่องบำรุงน้ำใจให้มีจิตใจผ่องใส เป็นการยกระดับจิตใจไว้ในที่สูง จึงให้เกิดความเป็นสิริมงคลและเป็นนิมิตที่ดี คือให้เป็นการเริ่มต้นที่ดีงาม ในเวลาเดียวกันนั้นก็เป็นการให้ความสำคัญแก่เหตุการณ์ในชีวิตของบุคคลทั้งสอง แต่ที่เป็นพื้นฐานสำคัญก็คือความรัก ความปรารถนาดี ความมีเมตตาธรรมของท่านผู้ใหญ่และญาติมิตรทั้งหลายนั้น ซึ่งช่วยบันดาลให้จัดพิธีนี้ขึ้น และมาร่วมในพิธีนี้เพื่ออวยชัยให้พร

ประการสำคัญในอันดับต่อไปที่จะให้เกิดความเป็นสิริมงคลพร้อมกันก็คือ ทางฝ่ายของคู่บ่าวสาวนั้นเองที่จะเปิดใจรับเอาความเป็นสิริมงคลและความปรารถนาดีของท่านผู้ใหญ่ที่นับถือ ถ้าหากได้พร้อมกันทุกฝ่ายอย่างนี้ คือ มีพระรัตนตรัยเป็นประธาน มีความรักความปรารถนาดีและเมตตาธรรมของผู้ใหญ่ที่มาร่วมงานนี้ และมีความพร้อมใจ การเปิดใจรับ 

ความผ่องใสในกายและใจของคู่บ่าวสาวแล้ว ก็จะเป็นสิริมงคลโดยสมบูรณ์เพราะความเป็นสิริมงคลนี้ต้องเริ่มต้นที่จิตใจก่อน จิตใจที่เบิกบานผ่องใสนั้นเองจะแสดงออกมาในชีวิตและกิจการงาน  ในเมื่อโอกาสนี้เป็นโอกาสของความเป็นสิริมงคล อาตมาก็จะขอกล่าวเรื่องมงคลสักเล็กน้อย เพื่อเสริมความเป็นมงคลนี้ให้ยิ่งขึ้นไป

มงคลแท้ไม่จบแค่พิธี

ถ้ากล่าวตามหลักพระศาสนาแล้วพูดได้ว่า มงคลนั้นจัดเป็น ๒ อย่าง อย่างแรกเรียกว่า พิธีมงคล หรือมงคลพิธี ได้แก่ การจัดเตรียมพิธีการต่าง ๆ 

ดังที่ปรากฏขึ้นที่นี้เรียกว่า พิธีมงคลส่วนอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า ธรรมมงคล มงคลคือธรรม หรือตัวธรรมนั่นเองทำให้เกิดสิริมงคล

อย่างแรกคือ พิธีมงคล มีความหมายว่า ในเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญอย่างใดอย่างหนึ่ง เราก็จัดเป็นพิธีขึ้น นอกจากจะให้ความสำคัญแก่เหตุการณ์นั้นแล้ว 

ก็เป็นโอกาสให้คนที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดทั้งหลายจะได้มาร่วมกัน พร้อมกัน มีความสามัคคีในพิธีนั้น และจะได้อวยชัยให้พรตลอดจนมีความสนุกสนานรื่นเริงต่างๆ  อีกทั้งจะได้เป็นที่ระลึกในกาลสืบไปภายหน้า เมื่อวันเวลาได้ล่วงไปแล้ววันหลังย้อนมาหวนรำลึกถึงจะได้เป็นเครื่องเตือนใจที่ดีงาม 

ทั้งในด้านที่เป็นความคิดและด้านที่เป็นความสัมพันธ์ต่อกัน ซึ่งเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางใจของบุคคล ดังนั้น มงคลพิธีจึงเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่ง แต่ว่ามงคลพิธีอย่างเดียวยังไม่พอ ความเป็นสิริมงคลจะพร้อมสมบูรณ์ต่อเมื่อมีมงคลที่สองด้วย คือธรรมมงคล มงคลคือธรรมะ ธรรมะคืออะไร 

ธรรมะคือความจริง ความถูกต้องดีงาม ความดีงามที่มีในบัดนี้อย่างที่กล่าวแล้วก็คือ ความมีจิตใจเป็นบุญเป็นกุศล และนึกถึงสิ่งที่ดีงาม  ทำจิตใจของเราให้ผ่องใส พร้อมทั้งความมีเมตตาธรรมของท่านที่มาร่วมพิธี ดังนั้น ในเวลาใดความดีงามมีอยู่พร้อมในจิตใจของแต่ละคนแล้ว  ก็เกิดเป็นธรรมมงคลขึ้นเสริมให้มงคลพิธีเป็นพิธีที่สมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง เป็นมงคลตลอดชีวิต

เมื่อครองเรือนด้วยหลักธรรม ๔

อย่างไรก็ตาม ควรจะได้กล่าวถึงธรรมที่เหมาะเฉพาะในโอกาสแห่งพิธีนั้น ๆ ไว้ด้วย เพราะธรรมคือคุณธรรมความดีงามเหล่านี้เป็นธรรมมงคลคู่ชีวิต ที่มีไว้สำหรับประพฤติปฏิบัติกันตลอดเรื่อยไปและทำให้เกิดความเป็นสิริมงคลระยะยาวตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นอาตมาจึงจะได้กล่าวถึงธรรมะที่เป็นหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าบางประการ ซึ่งจะนำให้เกิดคุณงามความดีนั้น ๆ  ให้เหมาะสมกับโอกาสนี้ จะของแสดงเป็นหมวดหมู่

ธรรมะหมวดหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เหมาะสมกับโอกาสพิธีนี้ คือ ฆราวาสธรรม ๔ ประการ ฆราวาสธรรมแปลว่า ธรรมสำหรับการครองเรือน มีอยู่ ๔ ข้อด้วยกัน คือ 

หนึ่ง สัจจะ แปลว่าความจริง สอง ทมะ แปลว่า การฝึกฝนปรับปรุงตน สาม ขันติ ความอดทน สี่ จาคะ ความเสียสละ ความเอื้อเฟื้อ ความมีน้ำใจ จะขอกล่าวถึงธรรม ๔ ประการนี้โดยสังเขป

สัจจะ ประการที่ ๑ สัจจะ ความจริง อาจแบ่งแยกได้ ๓ ด้าน ความจริงขั้นที่หนึ่ง คือ ความจริงใจ ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุด และเป็นรากฐานที่มั่นคงของความสัมพันธ์ที่ดีงาม  ความจริงใจแสดงออกเป็นความซื่อสัตย์ต่อกัน จากนั้นก็จริงวาจา คือพูดจริง ขั้นที่ ๓ จริงการกระทำ คือการทำจริงตามที่ใจคิดไว้ ตามที่วาจาพูดไว้ ตลอดจนกระทั่งว่าการดำเนินชีวิต ประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ก็ตั้งใจทำจริงดังที่ตั้งความมุ่งมาดปรารถนาไว้ แต่ทั้งหมดนี้ก็มีความจริงใจนั่นเองเป็นรากฐาน ความจริงใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ความสัมพันธ์มั่นคงยั่งยืน

ทมะ ประการที่ ๒ ทมะ แปลว่า การฝึกฝนปรับปรุงตน ทมะนี้เป็นข้อสำคัญในการที่จะให้เกิดความเจริญก้าวหน้า ประการแรกที่สุดที่จะเห็นได้ง่ายในความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันก็คือ บุคคลที่มาอยู่ร่วมสัมพันธ์กันนั้น ย่อมมีพื้นเพต่าง ๆ กัน มีอุปนิสัยใจคอและสั่งสมประสบการณ์มาไม่เหมือนกัน แต่เมื่อมาอยู่ร่วมกันแล้วก็จำเป็นที่จะต้องปรับตัวเข้าหากัน

ในเมื่อมีพื้นเพต่างกันสั่งสมมาคนละอย่าง ก็อาจมีการแสดงออกที่ขัดแย้งกัน หรือไม่สอดคล้องกันได้บ้าง การที่จะทำให้เกิดความราบรื่นเป็นไปด้วยดี ก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยนเข้าหากัน รู้จักที่จะข่มใจไว้ แล้วรู้จักที่จะสังเกต 

ใช้สติปัญญาพิจารณาสิ่งที่ผิดแปลกไปจากความคิดนึกตามความหวังความปรารถนาของตน เมื่อไม่วู่วาม ข่มใจไว้ก่อน และใช้สติปัญญาพิจารณา ก็หาทางที่จะปรับตัวเข้าหากันด้วยวิธีที่เป็นความสงบ  และเป็นทางที่จะรักษาน้ำใจกันไว้ได้ มีความปรองดองสามัคคี อันนี้ก็เป็นการปรับตัวอย่างหนึ่ง

นอกจากนั้น ในการอยู่ร่วมกับบุคคลภายนอกหรือในกิจการงานและสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย เราก็ต้องรู้จักปรับตัวเข้ากับบุคคล การงาน และสิ่งแวดล้อมเหล่านั้น และรู้จักปรับปรุงฝึกฝนตัวให้ดียิ่งขึ้น ด้วยการขวนขวายหาความรู้ให้เท่าทันสิ่งแปลกใหม่อยู่เสมอ เป็นต้น ชีวิตจึงจะเจริญก้าวหน้าได้ ทมะนี้ต้องมีปัญญาเป็นแกนนำสำคัญ เพราะต้องรู้จักคิดพิจารณา และมีความรู้ความเข้าใจ จึงจะปรับตัวและฝึกฝนปรับปรุงตนได้

ขันติ ประการที่ ๓ คือ ขันติ ความอดทน ความอดทนเป็นเรื่องของพลัง ความเข้มแข็ง ความทนทาน คนเมื่ออยู่ร่วมกัน ท่านว่าเหมือนลิ้นกับฟัน ย่อมมีโอกาสที่จะกระทบกระทั่งกัน จึงต้องมีความหนักแน่น ความเข้มแข็งในใจที่จะอดทนไว้ก่อน เรียกว่า อดทนต่อสิ่งกระทบใจ นอกจากนั้นก็อดทนต่อความเจ็บปวดเมื่อยล้าทางกาย และอดทนต่อความลำบากตรากตรำในการทำการงาน เป็นต้น ซึ่งจะทำให้สามารถฝ่าฟันอุปสรรคลุล่วงไปได้  ถ้าหากว่าบุคคลสองคนหรือหลายคน มาอยู่ร่วมกันแล้ว เอาความเข้มแข็งที่มีอยู่ของแต่ละคนมารวมกันเข้า ก็จะเพิ่มกำลังความเข้มแข็งให้มากขึ้น  จะสามารถร่วมฝ่าฟันอุปสรรคและเพียรสร้างสรรค์รุดหน้าไปสู่ความสำเร็จ อันนี้เป็นเรื่องของขันติ ความอดทนที่จะช่วยเสริมให้มีความก้าวหน้า เจริญมั่นคง และพรั่งพร้อมด้วยความสำเร็จ

จาคะ ประการที่ ๔ จาคะ แปลว่า ความเสียสละ เริ่มแต่ความมีน้ำใจ คือความพร้อมที่จะเสียสละความสุขส่วนตัวให้แก่ผู้อื่น โดยเฉพาะผู้อยู่ร่วมกันก็จะต้องมีความเสียสละต่อกัน เช่น 

เวลาฝ่ายหนึ่งไม่สบายเจ็บไข้ได้ป่วย อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องเสียสละความสุขของตนเองเพื่อช่วยรักษาพยาบาล อย่างน้อยก็มีน้ำใจที่จะระลึกถึงเมื่อจะทำอะไรก็ตามก็คำนึงถึงความสุขของอีกฝ่ายหนึ่ง อย่างนี้ก็เรียกว่ามีจาคะ จาคะก็พึงเผื่อแผ่ไปยังญาติมิตร บิดามารดา หรือผู้อยู่ใกล้ชิด ตลอดจนกระทั่งถึงเพื่อนมนุษย์โดยทั่วไป ถ้าหากว่ามีกำลังพอ ก็สละทรัพย์สินสิ่งที่ตนมีอยู่นี้ในการอนุเคราะห์สงเคราะห์ผู้อื่น จาคะนี้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจของกันและกัน และของคนทั้งหลายที่แวดล้อมอยู่ไว้ได้ 

นี่คือหลักธรรม ๔ ประการ ซึ่งมีความสำคัญในการครองเรือนโดยสรุปก็คือ  สัจจะ ความจริง เป็นรากฐานให้เกิดความมั่นคงยั่งยืน  ประการที่ ๒ ทมะ การฝึกฝนปรับปรุงตน เป็นเครื่องนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าในชีวิตและการงาน  ประการที่ ๓ ขันติ ความอดทน เป็นเครื่องช่วยให้ความเจริญก้าวหน้านั้นเป็นไปได้สำเร็จเพราะมีความเข้มแข็ง มีพลังที่จะช่วยเสริม  และประการที่ ๔ จาคะ ความเสียสละ มีน้ำใจ เป็นเครื่องบำรุงหล่อเลี้ยงมนุษย์ช่วยให้เกิดความชุ่มฉ่ำสดชื่น บำรุงต้นไม้แห่งชีวิตสมรสให้แข็งแรงงอกงาม

ธรรมะ ๔ ประการนี้เป็นองค์ประกอบที่จำเป็นในชีวิต เหมือนกับต้นไม้จะเจริญงอกงามต้องมีรากฐานที่มั่นคง คือสัจจะ มีความเจริญเติบโต คือทมะ มีความแข็งแรงของกิ่งก้านสาขาตลอดจนลำต้น นั่นคือขันติ ซึ่งจะทนต่อดินฟ้าอากาศ ทนต่อสัตว์ทั้งหลายที่จะมาเบียดเบียน และมีเครื่องบำรุงหล่อเลี้ยง เช่น น้ำและอากาศ เป็นต้น ซึ่งช่วยให้เกิดความชุ่มชื้นสดชื่น กล่าวคือ จาคะ ความมีน้ำใจ

เมื่อต้นไม้นั้นมีทุนในตัว เช่น มีน้ำมีอาหารหล่อเลี้ยงดี มีกิ่งก้านสาขาแผ่ออกไป ต้นไม้นั้นเองก็กลับให้ความร่มเย็นแก่พื้นดินและแก่พืชสัตว์ที่มาอาศัยร่มเงา ตลอดจนช่วยรักษาน้ำในพื้นดินนี้ไว้ด้วย เช่นเดียวกับคนเรานั้นเมื่อได้สร้างเนื้อสร้างตัวโดยกำลังและเครื่องหล่อเลี้ยงขึ้นแล้ว ก็ไม่ได้มีกำลังแต่เพียงตัวเองเท่านั้น 

แต่กลับเอากำลังและสิ่งที่บำรุงเลี้ยงนั้นออกมาช่วยเหลือส่งเสริมผู้อื่นและสิ่งนี้ก็กลับมาเป็นผลดีแก่ตัวเอง ด้วยอำนาจของจาคะนั้น

ธรรมะ ๔ ประการนี้แหละจะเป็นเครื่องทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จ พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ สำหรับคฤหัสถ์ คือผู้ครองเรือนทั่วไปให้ดำเนินชีวิตตามหลักธรรม ๔ ประการนี้  จึงเรียกว่า ฆราวาสธรรม เมื่อดำเนินชีวิตได้ดังนี้ก็นับว่าได้ประสบสิริมงคลอย่างแท้จริง ธรรมะดังกล่าวมานี้จึงกล่าวได้ว่าเป็นธรรมมงคล เพราะเป็นหลักความดีงามที่จะทำให้เกิดความสุขความเจริญก้าวหน้า

ในโอกาสนี้ ญาติมิตร ท่านผู้ใหญ่ มีคุณพ่อคุณแม่เป็นต้น ตลอดจนท่านผู้หวังดีที่เคารพนับถือทั้งหลาย ได้มาประชุมพร้อมกันในที่นี้ ต่างก็ตั้งใจมาเป็นอันเดียวกันคือ มาให้ความสำคัญแก่เหตุการณ์ในชีวิตของบุคคลทั้งสอง ตั้งใจมาอวยชัยให้พรเพื่อความสุขความเจริญแก่ทั้งสอง ฉะนั้น ก็ขอจงได้ทำจิตใจของตนให้เบิกบานแจ่มใส เปิดใจออกรับความรักความปรารถนาดีเหล่านี้เพื่อความเป็นสิริมงคลทั้งในบัดนี้ และตั้งใจที่จะนำเอาหลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาเป็นหลัก ในการประพฤติปฏิบัติ เพื่อให้เกิดเป็นธรรมมงคลในระยะยาว ยั่งยืนต่อไป

ในโอกาสนี้ พระสงฆ์จะได้เจริญชัยมงคลคาถา และบัดนี้ทุกคนก็อยู่ในที่พร้อมหน้าพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จึงขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยอวยชัยให้พร คุณโสภณและคุณวิมลวรรณ จงประสบจตุรพิธพรชัย พรั่งพร้อมด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ พร้อมทั้งปฏิภาณ 

ธนสารสมบัติทุกประการ จงมีความเจริญก้าวหน้าในการดำเนินชีวิตและในการประกอบกิจการงาน ได้สำเร็จสัมฤทธิผลในสิ่งที่อันพึงปรารถนาโดยชอบธรรม และดลให้เกิดความเป็นสิริมงคลในทางธรรม 

อันเป็นมงคลที่ตั้งอยู่ในตนเอง และอำนวยผลแก่ญาติมิตร ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องโดยทั่วไป ตลอดกาลนานเทอญ


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: