• อายุในที่นี้ หมายถึง ช่วงเวลาที่พระพุทธศาสนาดำรงอยู่, ช่วงเวลานับตั้งแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานจนถึงห้าพันปีหรือช่วงเวลาที่มีมาจนถึงเวลาที่กล่าวถึงในปัจจุบันไปจนกว่าจะถึงระยะเวลาที่จำกัดหรือกำหนดไว้ห้าพันปีถ้วน
• ในคราวทำสังคายนาครั้งที่ ๑ พระสังคีติกาจารย์ คืออาจารย์ผู้ร้อยกรองพระคัมภีร์พระไตรปิฎกได้กล่าวถึงพระวินัยว่าเป็นอายุของพระพุทธศาสนา ข้อนั้นเพราะอะไร ? เชิญท่านอ่านเนื้อความในพระคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี
• เมื่อท่านพระอานนท์ (ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์) เสด็จมาอย่างนี้แล้ว พระมหากัสสปเถระจึงปรึกษาหารือภิกษุทั้งหลายว่า “ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เราทั้งหลายจะสังคายนาอะไรก่อน พระธรรมหรือพระวินัย ?”
• ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า “ข้าแต่พระมหากัสสปะผู้เจริญ พระวินัยเป็นอายุของพระพุทธศาสนา เมื่อพระวินัยตั้งอยู่ พระศาสนาก็ชื่อว่ายังดำรงอยู่ เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายจงสังคายนาพระวินัยก่อน”
• พระมหากัสสปะถามว่า “เราจะจัดให้ใครรับเป็นธุระ ?” ที่ประชุมตอบว่าให้ท่านพระอุบาลีรับเป็นธุระ? ท่านถามแย้งว่า พระอานนท์ไม่สามารถหรือ? ที่ประชุมชี้แจงว่า ไม่ใช่พระอานนท์ไม่สามารถ ก็แต่ว่าเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าครั้งดำรงพระชนม์อยู่ ได้สถาปนาท่านพระอุบาลีไว้ในเอตทัคคะ เพราะอาศัยการเล่าเรียนวินัยว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุบาลีเป็นยอดแห่งภิกษุสาวกของเราผู้ทรงวินัย ดังนี้” เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายจึงต้องถามพระอุบาลีเถระ สังคายนาพระวินัย.
• การสังคายนาพระวินัยก่อนก็เพื่อความดำรงออยู่แห่งพระพุทธศาสนาและเพื่อประโยชน์สุขแห่งชาวโลกทั้งปวงโดยแท้ มีบัณฑิตชนท่านกล่าวไว้ว่า “ศีลธรรมไม่กลับมาโลกาจะพินาศ” ยกตัวอย่างในข้อนี้เพียงข้อเดียวก็เห็นแจ้งด้วย เช่นการห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิตนั้นก็เพื่อไม่เบียดเบียนกันและกัน เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข ก่อให้เกิดเมตตาธรรมต่อกัน ปรารถนาความสุขความเจริญแก่กันและกันได้ ดังนี้เป็นต้น
• ดังวัตถุประสงค์ในการบัญญัติวินัย ๑๐ ข้อ (เหตุผลที่พระพุทธเจ้าทรงปรารภหรือประโยชน์ที่ทรงประสงค์ ในการทรงบัญญัติสิกขาบทแก่พระสงฆ์มี ๑๐ ข้อ)
ก. ว่าด้วยประโยชน์แก่สงฆ์หรือส่วนรวม
๑. สงฺฆสุฏฺฐุตาย (เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์) คือ เพื่อความเรียบร้อยดีงามแห่งสงฆ์ ซึ่งได้ทรงชี้แจงให้มองเห็นคุณโทษแห่งความประพฤตินั้นๆ ชัดเจนแล้ว จึงทรงบัญญัติสิกขาบทขึ้นไว้โดยความเห็นร่วมกัน ๒. สงฺฆผาสุตาย (เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์)
ข. ว่าด้วยประโยชน์แก่บุคคล
๓. ทุมฺมงฺกูนํ ปุคฺคลานํ นิคฺคหาย (เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก) คือ เพื่อกำราบคนผู้ด้าน ประพฤติทราม ๔. เปสลานํ ภิกฺขูนํ ผาสุวิหาราย (เพื่อความอยู่ผาสุกแห่งเหล่าภิกษุผู้มีศีลดีงาม)
ค. ว่าด้วยประโยชน์แก่ความบริสุทธิ์ หรือแก่ชีวิต ทั้งทางกายและทางใจ
๕. ทิฏฺฐธมฺมิกานํ อาสวานํ สํวราย (เพื่อปิดกั้นอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในปัจจุบัน) คือ เพื่อระงับปิดทางความเสื่อมเสีย ความทุกข์ ความเดือดร้อน ที่จะมีในปัจจุบัน ๖. สมฺปรายิกานํ อาสวานํ ปฏิฆาตาย (เพื่อบำบัดอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในอนาคต) คือ เพื่อแก้ไขมิให้เกิดความเสื่อมเสีย ความทุกข์ความเดือดร้อน ที่จะมีมาในภายหน้าหรือภพหน้า
ง. ว่าด้วยประโยชน์แก่ประชาชน
๗. อปฺปสนฺนานํ ปสาทาย (เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส) ๘. ปสนฺนานํ ภิยฺโยภาวาย (เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นไปของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว)
จ. ว่าด้วยประโยชน์แก่พระศาสนา
๙. สทฺธมฺมฏฺฐิติยา (เพื่อความตั้งมั่นแห่งสัทธรรม) ๑๐. วินยานุคฺคหาย (เพื่ออนุเคราะห์วินัย) คือ ทำให้มีบทบัญญัติสำหรับใช้เป็นหลักเกณฑ์จัดระเบียบของหมู่ สนับสนุนความมีวินัยให้หนักแน่นมั่นคงยิ่งขึ้น
ศีลธรรมไม่กลับมาโลกาจะพินาศแน่นอน.
สารธรรมในพระคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
0 comments: