วันจันทร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2564

เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า?

เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า?

เสฏฐธัมมปัญหา (ถามว่า ทรงตรัสว่าโลกุตตรธรรมประเสริฐ เหตุไรกลับทรงตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า?) (ตอนที่หนึ่ง)

พระเจ้ามิลินท์ "พระคุณเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า ‘ธมฺโม หิ วาเสฏฺฐ เสฏฺโฐ ชเนตสฺมึ ทิฏฺเฐ เจว ธมฺเม อภิสมฺปราเย จ - ดูก่อน ท่านวาเสฏฐะ พระโลกุตรธรรม(มรรค 4 ผล 4 นิพพาน)เป็นสิ่งประเสริฐสุดในหมู่ชนนี้ ทั้งในอัตภาพนี้ ทั้งในอัตภาพหน้า ‘ดังนี้. และทรงตรัสไว้อีกว่า ‘อุปาสโก คิหิ โสตาปนฺโน ปิหิตาปาโย ทิฏฺฐิปฺปตฺโต วิญฺญาตสาสโน ภืกฺขุํ วา สามเณรํ วา ปุถุชฺชนํ อภิวาเทติ ปจฺจุปฏฺเฐติ - อุบาสกคฤหัสถ์ แม้เป็นพระโสดาบันผู้ปิดอบายภูมิได้แล้ว ถึงพร้อมด้วยสัมมาทิฏฐิได้แล้ว รู้แจ้งพระศาสนาแล้ว ก็ยังต้องกราบไหว้ ลุกรับภิกษุหรือสามเณรผู้เป็นปุถุชน.  พระคุณเจ้านาคเสน ถ้อยคำทั้งสองขัดแย้งกัน มี 2 เงื่อน 2 ปม ปัญหาเช่นนี้ ตกถึงแก่ท่านแล้ว ขอท่านจงคลี่คลายปัญหานั้นเถิด

พระนาคเสน "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคทรงตรัสถ้อยคำทั้งสองอย่างนั้นจริง ก็แต่ว่า ในเรื่องนั้นมีเหตุผลอยู่ เหตุผลนั้น คืออะไรเล่า ?  ขอถวายพระพร มหาบพิตร​ ธรรมที่สร้างความเป็นสมณะ มี 20 อย่าง และธรรมที่แสดงเพศสมณะมี 2 อย่าง ดังนี้ คือ

หมวดธรรมที่สร้างความเป็นสมณะ 

1. ธมฺมาราโม มีความพอใจพระธรรมวินัย องค์ธรรม คือ ฉันทะ  

2. อคฺโค นิยโม มีความนิยมธรรมที่สร้างความเป็นสมณะสุดยอดในพุทธบริษัท คือ เป็นภิกษุบริษัทที่ดี องค์ธรรม คือ ค่านิยม 

3. จาโร มีความประพฤติวัตร(กิจ)ปฏิบัติดี(มรรยาท)ในขันธกวัตรทั้งหลาย องค์ธรรม คือ อภิสมาจาริกศีล 

4. วิหาโร มีวิหารธรรม 4 คือ อิริยาบถวิหาร(สำรวมอิริยาบถน้อยใหญ่,)​ ทิพยวิหาร(ฌานสมาบัติ), พรหมวิหาร 4, อริยวิหาร(ผลสมาบัติ) องค์ธรรม ก็คือ วิหารธรรม 4 ประการดังกล่าวนั่นเอง

5. สํยโม มีความงดเว้นได้เมื่อประจวบกับวิรมิตัพพวัตถุ องค์ธรรม ก็คือ วิรติ(ความงเว้น)นั่นเอง

6. สํวโร มีการปิดกั้นกิเลสด้วยธรรม 5 ประการ คือ ศีล, สติ, ญาณ, ขันติ(อโทสะ), และวิริยะ องค์ธรรมก็คือ สังวรธรรม 5 ประการนั่นเอง

7. ขนฺติ มีการยอมรับความจริงได้(อธิวาสนขันติ) ไม่เดือดร้อนขัดเคืองใจ เช่นทนต่อความร้อน-หนาวจากกุฏิที่พักตามมีตามได้ไม่มากเรื่อง องค์ธรรม ก็คือ อธิวาสนขันตินั่นเอง

8. โสรจฺจ มีความสงบเสงี่ยมอ่อนน้อมถ่อมตน​ องค์ธรรมก็คือ ความเป็นบุคคลผู้ว่ากล่าวได้ง่ายนั่นเอง

9. เอกตฺตจริยา มีการประพฤติปฏิบัติตนให้ดำรงอยู่ในกรรมฐาน ทั้งสมถกรรมฐาน ทั้งวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งแต่ละกรรมฐานต่างล้วนมีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียวอยู่แล้ว องค์ธรรม ก็คือ การเจริญสมถกรรมฐาน และการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั่นเอง

10. เอกตฺตาภิรติ มีความชอบใจที่เจริญสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานซึ่งล้วนแต่มีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียว องค์ธรรมก็คือ ฉันทะ ที่ชอบใจการเจริญกรรมฐานทั้งหลายนั่นเอง

11. ปฏิสลฺลานํ มีการหลีกออกจากหมู่ เพื่อหนีความวุ่นวาย แล้วเร้นจิตไว้ในกรรมฐาน องค์ธรรมก็คือเนกขัมมะนั่นเอง

12. หิริโอตฺตปฺปํ มีความละอายและความเกรงกลัวบาป คือ ละอายและเกรงกลัวทุจริตทางทวารทั้ง 3 มีกายทุจริตเป็นต้น องค์ธรรมก็คืิอ ความละอายและความเกรงกลัวทุจริตนั่นเอง

13. วิริยํ มีความเพียร เป็นความเพียรที่เป็นไปในกิจ 4 อย่าง คือ เพียรป้องกันอกุศธรรม(นิวรณ์)ที่ยังไม่เกิด ไม่ให้มีโอกาสเกิดขึ้น 1.เพียรละอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว 1. เพียรทำกุศลธรรม(สมาธิ วิปัสสนา และมรรค)ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น 1. เพียรเจริญเพิ่มพูลกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว กระทำไม่ให้หลงลืม ให้ตั้งมั่นอยู่ได้ เจริญยิ่งๆขึ้นไป 1. องค์ธรรมก็คือ สัมมัปปธาน 4 นั่นเอง

14. อปฺปมาโท มีความไม่ประมาท คือ ความไม่ชล่าใจปล่อยใจให้ละเลยการเจริญอธิกุศล มี อธิศีลสิกขา เป็นต้น องค์ธรรม ก็คือ ความไม่ชล่าใจนั่นเอง

15. สิกขาสมาทานํ มีความตั้งใจสมาทานรักษาอธิไตรสิกขา องค์ธรรมก็คือ การสมาทานอธิไตรสิกขานั่นเอง

16. อุทฺเทโส มีการยกเอาพระพุทธพจน์ขึ้นมากล่าวแสดง องค์ธรรมก็คือการเรียนพระพุทธพจน์นั่นเอง

17. ปริปุจฺฉา มีการนำเอาคำอธิบายความของอรรถกถามาขยายความพุทธพจน์

องค์ธรรม ก็คือการเรียนอรรถกถานั่นเอง

18. สีลาทิอภิรติ มีความชื่นชอบที่จะเจริญคุณธรรมมีศีลเป็นต้นอย่างยิ่งยวด ตามแบบอย่างเพื่อนพรหมจรรย์เหล่านั้น ที่ท่านทรงคุณธรรมนั้นๆได้ องค์ธรรมก็คือฉันทพละที่ชื่นชอบการเจริญคุณธรรม

19. นิราลยตา ไม่มีความอาลัยกายและชีวิต คือ ไม่มีเคหสิตตัณหา(ตัณหาอาศัยเรือน เป็นตัณหาที่ติดอยู่กับกามคุณ 5 ความไม่มีตัณหาที่เรียกว่าไม่มีอาลัยนี้ องค์ธรรมก็คือ การละได้เป็นตทังคปหานด้วยวิปัสสนา, การละได้เป็นวิกขัมภนปหานด้วยสมาธิ, การละได้เป็นสมุจเฉทปหานด้วยมรรคนั่นเอง

20. สิกขาปทปริปูริตา มีการทำสิกขาบทใหญ่น้อยทั้งหลายที่ทรงบัญญัติไว้ ให้เต็ม ให้บริบูรณ์อยู่เสมอ เมื่อต้องอาบัติ ก็ต้องรีบปลงไม่ให้อาบัติติดตัว หากสงสัยไม่แน่ใจก็ปรึกษาไต่ถามท่านที่ทรงพระวินัย องค์ธรรมก็คือ อปริยันตปาริสุทธิศีลนั่นเอง

หมวดธรรมที่แสดงเพศสมณะ 1. กาสาวธารณํ การทรงผ้ากาสาวพัสตร์ คือการนุ่งห่มไตรจีวรที่ทำด้วยผ้าย้อมฝาด 2. ภณฺฑุภาโว ความมีศรีษะโล้น คือ มีศรีษะโล้นเพราะปลงผม ไม่ใช่มีศรีษะโล้น เพราะสักแต่ว่าเป็นคนไม่มีผม และไม่ใช่ศรีษะโล้น.  เพราะการถอนออกเหมือนอย่างพวกเดียรถีย์ในลัทธิภายนอก​ ” (โปรดติดตามตอนที่สองต่อครับ)

ที่มา : http://dhamma.serichon.us

มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) ,  (ตอนที่ 49) ,  (ตอนที่ 48) ,  (ตอนที่ 47) ,  (ตอนที่ 46) ,  (ตอนที่ 45) ,  (ตอนที่ 44) ,  (ตอนที่ 43) ,  (ตอนที่ 42) ,  (ตอนที่ 41) ,  (ตอนที่ 40) ,  (ตอนที่ 39) ,  (ตอนที่ 38) ,  (ตอนที่ 37) ,  (ตอนที่ 36) ,  (ตอนที่ 35) ,  (ตอนที่ 34) ,  (ตอนที่ 33) ,  (ตอนที่ 32) ,  (ตอนที่ 31) ,  (ตอนที่ 30) ,  (ตอนที่ 29) ,  (ตอนที่ 28) ,  (ตอนที่ 27) ,  (ตอนที่ 26) ,  (ตอนที่ 25) ,  (ตอนที่ 24) ,  (ตอนที่ 23) ,  (ตอนที่ 22) ,  (ตอนที่ 21 ต่อ) ,  (ตอนที่ 21) ,  (ตอนที่ 20) ,  (ตอนที่ 19) ,  (ตอนที่ 18) ,  (ตอนที่ 17) ,  (ตอนที่ 16) ,  (ตอนที่ 15) ,  (ตอนที่ 14) ,  (ตอนที่ 13) ,  (ตอนที่ 12) ,   (ตอนที่ 11) ,  (ตอนที่ 10) ,  (ตอนที่ 9) ,  (ตอนที่ 8) ,  (ตอนที่ 7) ,  (ตอนที่ 6) ,  (ตอนที่ 5) ,  (ตอนที่ 4) ,  (ตอนที่ 3) ,  (ตอนที่ 2) ,  (ตอนที่ 1) ,  ประโยชน์​การอุปมา​อันได้จากการศึกษา​คัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์​มิลินท์​ปัญหาเป็นต้น​ ,   มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้  ,  เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า?  ,  นิปปปัญจปัญหา ​- ปัญหา​เกี่ยวกับ​ธรรม​ที่ปราศจาก​เหตุ​ให้เนิ่น​ช้าในวัฏฏทุกข์  ,   ถามว่า​ อานิสงส์​การเจริญเมตตา​ ห้ามอันตราย​ต่างๆ​ เหตุไรสุวรรณ​สามผู้เจริญเมตตา​จึงถูกยิงเล่า?



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: