“ในร้อนมีเย็น ในเย็นก็มีร้อน”
เมื่อมีความเจริญ ความเสื่อมก็จำต้องปรารถนา เปรียบเหมือนเมื่อมีความทุกข์ แม้ชื่อว่าความสุขก็ย่อมมี ฉะนั้น
เมื่อไฟ ๓ กองมีอยู่ นิพพาน (ความดับไฟ) ก็จำต้องปรารถนา เปรียบเหมือนเมื่อมีความร้อน ชื่อว่าความเย็นก็ย่อมมี ฉะนั้น
ไฟ ๓ กองเป็นไฉน คือ
๑. ไฟคือราคะ ย่อมเผาสัตว์ผู้กำหนัดหมกมุ่นแล้วในกามทั้งหลาย
๒. ไฟคือโทสะ ย่อมเผานรชนผู้พยาบาทมีปรกติฆ่าสัตว์
๓. ไฟคือโมหะ ย่อมเผานรชนผู้ลุ่มหลงไม่ฉลาดในอริยธรรม
ไฟ ๓ กองนี้ ย่อมตามเผาหมู่สัตว์ผู้ไม่รู้สึกว่า “เป็นไฟ” ผู้ยินดียิ่งในกายตน ทั้งในภพนี้และภพหน้า สัตว์เหล่านั้นย่อมพอกพูนนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน อสุรกาย และเปรตวิสัย เป็นผู้ไม่พ้นไปจากเครื่องผูกแห่งมาร
ส่วนสัตว์เหล่าใดประกอบความเพียรในพระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งกลางคืนกลางวัน สัตว์เหล่านั้นผู้มีความสำคัญอารมณ์ว่า “ไม่งาม” อยู่เป็นนิจ ย่อมดับไฟราคะได้
ส่วนสัตว์ทั้งหลายผู้สูงสุดในนรชน ย่อมดับไฟโทสะได้ด้วยเมตตา และดับไฟโมหะได้ด้วยปัญญา ย่อมปรินิพพานโดยไม่มีส่วนเหลือ ล่วงทุกข์ได้ไม่มีส่วนเหลือ บัณฑิตทั้งหลายผู้เห็นอริยสัจ ผู้ถึงที่สุดแห่งเวท ตรัสรู้แล้วโดยชอบ ด้วยปัญญาเป็นเครื่องรู้ยิ่ง ถึงความสิ้นไปแห่งชาติ ย่อมไม่มาสู่ภพใหม่อีก ดังนี้ ฯ
สาระธรรมจากอรรถกถาธรรมสังคณีปกรณ์
พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ)
30/10/64
0 comments: