วันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

สนทนากันด้วยถ้อยคำที่ให้เกิดเป็นมงคลเถิด

สนทนากันด้วยถ้อยคำที่ให้เกิดเป็นมงคลเถิด

หากสนทนากันด้วยถ้อยคําหรือคํากล่าวในเรื่องพระวินัย ก็ควรกล่าวเพื่อให้เกิดความระวัง ความเหนี่ยวรั้ง และความป้องกันการประพฤติผิดเถิด

หากสนทนากันด้วยถ้อยคําหรือคํากล่าวในเรื่องพระสูตร ก็ควรกล่าวเพื่อให้ผ่อนคลายทิฐิคือความเห็นผิด ตามความเหมาะสมแก่จริตอัธยาศัยของผู้ฟังเถิด

หากสนทนากันด้วยถ้อยคําหรือคํากล่าวในเรื่องพระอภิธรรม ก็ควรกล่าวเพื่อให้เกิดการกำหนดรู้นามและรูป อันเป็นปฏิปักษ์ต่ออกุศลธรรมมีราคะเป็นต้นเถิด

สาระธรรมจากอรรถกถาธรรมสังคณีปกรณ์ (ว่าโดยกถา)

พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ) 

ระฆังเขาตีเพื่อ...

๑. ป้องภัย   ๒. เร่งเพียร  ๓. เรียนรู้  ๔. อยู่กับปัจจุบันขณะ

ป้องภัย คือ  ในโบราณกาลยามมีศึกมีภัยเกิดขึ้น เขาตีกล้องตีระฆังเพื่อเตือนกันและกัน มารวมตัวสามัคคีช่วยกันป้องกันภัย

เร่งเพียร คือ  เหล่าภิกษุหรือนักบวชผู้เร่งทำความเพียรต่างคนต่างหลีกไปเร้นอยู่ในป่าหรือที่อันเงียบสงัดเพื่อบำเพ็ญเพียรทางจิต เมื่อจะประชุมกันฟังธรรมหรือเมื่อมีผู้เจ็บไข้จึงตีระฆังมารวมตัวกันทำกิจวัตร

เรียนรู้ คือ  การให้สัญญานเครื่องหมายให้ได้ยิน แม้จะอยู่ในระยะไกล เพื่อให้ทราบ ระวัง หรือกระทำตาม สมัยก่อนโรงเรียนตีระฆังให้เด็กๆเข้าเรียน นี่คือการเรียนรู้

อยู่กับปัจจุบันขณะ คือ การบำเพ็ญเพียรทางจิตต้องมีการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ (วิตก) อุปมาเหมือนเสียงเคาะระฆังครั้งแรก. มีการตรองดูจิต (วิจาร) อุปมาเหมือนเสียงครวญแห่งระฆัง ฉะนั้นเขาตีระฆังให้เรามีจิตอยู่กับปัจจุบันขณะไม่ประมาท อยู่กับลมหายใจ อยู่กับความเป็นจริง มองทุกสิ่งอย่างรอบด้าน จะเห็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปของทุกสรรพสิ่งและแม้แต่ตัวเราเอง.


Previous Post
Next Post

0 comments: