อมราเทวีปญฺหชาตกํ - บอกใบ้หนทางไปบ้าน
"เยน สตฺตุพิลงฺคา จ, ทิคุณปลาโส จ ปุปฺผิโต;
เยน ททามิ [1] เตน วทามิ, เยน น ททามิ [2] น เตน วทามิ;
เอส มคฺโค ยวมชฺฌกสฺส, เอตํ ฉนฺนปถํ วิชานาหีติ ฯ
ร้านขายข้าวสัตตู ร้านขายน้ำส้มพะอูม และต้นทองหลางใบมนซึ่งมีดอกบานแล้ว มีอยู่ ณ ที่ใด ท่านจงไป ณ ที่นั้นเถิด ฉันให้ของด้วยมือใดฉันย่อมกล่าวด้วยมือนั้น ฉันไม่ได้ของด้วยมือใด ฉันไม่กล่าวด้วยมือนั้น, นี่เป็นหนทางของบ้านชื่อว่ายวมัชฌกคาม ท่านจงรู้ทางที่ฉันกล่าวปกปิดนี้เองเถิด."
1) [เยนา’ทามิ (สี. สฺยา.)] 2) [เยน นา’ทามิ (สี. สฺยา.)]
อมราเทวีปัญหาชาดกอรรถกถา
อมราเทวีปัญหาแม้นี้ มีคำเริ่มต้นว่า เยน สตฺตุวิลงฺคา จ ดังนี้ ก็จักแจ่มแจ้งในอุมมัคคชาดกนั้นแล. จบอรรถกถาอมราเทวีปัญหาชาดกที่ ๒.
อรรถกถาชาดกเรื่องนี้ปรากฏอยู่ในมหานิบาต อุมังคชาดก(มโหสธชาดก) ขอนำมาแสดงพอเป็นตัวอย่างโดยย่อดังนี้
จำเดิมแต่นั้น มโหสถโพธิสัตว์ได้มียศใหญ่ พระนางอุทุมพรเทวีได้ทรงพิจารณาปัญหานั้นทั้งหมด ในกาลเมื่อมโหสถมีอายุได้๑๖ ปี พระนางทรงดำริว่า น้องชายของเราเป็นผู้ใหญ่แล้ว แม้ยศของเธอก็ใหญ่ เราควรจะทำอาวาหมงคลแก่เธอ ทรงดำริฉะนี้แล้วได้กราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระเจ้าวิเทหราช. บรมกษัตริย์ได้ทรงสดับเนื้อความนั้น จึงมีพระราชดำรัสว่าดีแล้ว เธอจงให้เจ้าตัวทราบ พระนางให้มโหสถทราบความ เมื่อมโหสถรับทำอาวาหมงคล จึงมีพระเสาวนีย์ว่า ถ้ากระนั้น เราจะนำนางกุมาริกามาเพื่อเธอ
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์คิดว่า นางกุมาริกาที่พระนางจะนำมาบางทีจะไม่พึงชอบใจเรา เราจะพิจารณาหาดูเองก่อน คิดฉะนี้แล้วจึงทูลว่า ข้าแต่พระราชเทวี พระองค์อย่าตรัสอะไรแด่พระราชาสักสองสามวัน ข้าพระบาทจักแสวงหานางกุมาริกานางหนึ่งเองที่ชอบใจ แล้วจักทูลให้ทรงทราบ. พระนางอุทุมพรทรงอนุญาต มโหสถจึงถวายบังคมลาพระเทวีไปเรือนของตน ให้สัญญาแก่พวกสหายแล้ว แปลงเพศที่ใคร ๆ ไม่รู้จักถือเครื่องอุปกรณ์แห่งช่างชุนผ้า ออกทางประตูด้านทิศอุครแต่ผู้เดียว ไปสู่บ้านอุตตรยวมัชฌคาม
ก็ในกาลนั้น มีสกุลเศรษฐีสกุลหนึ่งในบ้านนั้น เป็นสกุลเก่าแก่ ธิดาของสกุลนั้นนางหนึ่ง ชื่ออมราเทวี นางมีรูปงามบริบูรณ์ด้วยลักษณะดีทุกอย่างเป็นผู้มีบุญ วันนั้น นางต้มข้าวต้มแต่เช้า นำข้าวต้มนั้น คิดว่าจักไปสู่ที่บิดาไถนา จึงออกจากเรือนเดินสวนทางกับมโหสถ. พระมหาสัตว์เห็นนางเดินมาคิดในใจว่า สตรีนี้สมบูรณ์ด้วยลักษณะดีทุกอย่าง ถ้ายังไม่มีสามี นางนี้ก็ควรเป็นภรรยาของเรา ฝ่ายนางอมราพอเห็นมโหสถ ก็คิดในใจว่า ถ้าเราได้บุรุษนี้เป็นสามีไซร้ เราอาจจะยังทรัพย์สมบัติให้เกิดมั่งคั่ง
ลำดับนั้นพระมหาสัตว์ดำริว่า เรายังไม่รู้ความที่สตรีนี้มีสามีหรือยังไม่มี จักถามนางด้วยวิธีใช้ใบ้ถ้านางฉลาด ก็จักรู้เนื้อความแห่งปัญญาของเรา คิดฉะนี้แล้วยืนอยู่แต่ไกลกำมือเข้า นางอมรารู้ ความว่า บุรุษนี้ถามว่าเรามีสามีหรือยัง จึงยืนอย่างนั้นเอง แบมือออก. มโหสถรู้เหตุนั้นแล้วจึงเข้าไปใกล้นางถามว่า แน่ะนางผู้เจริญเธอชื่ออะไร นางอมราตอบว่า ข้าแต่นาย สิ่งใดไม่มีในอดีต ในอนาคต หรือในปัจจุบัน สิ่งนั้น เป็นชื่อของข้าพเจ้า มโหสถกล่าวว่า แน่ะ นางผู้เจริญ ชื่อว่าความไม่ตายไม่มีในโลก ฉะนั้นนางจักชื่อว่า อมรา นางอมรา ตอบว่า อย่างนั้น นาย
มโหสถถามว่า เธอจักนำข้าวต้มไปเพื่อใคร เมื่อนางอมราตอบว่า ข้าพเจ้านำไป เพื่อบุรพเทวดา มโหสถจึงกล่าวว่า บิดามารดา ชื่อว่าบุรพเทวดา ชะรอยเธอจักนำข้าวต้มไปเพื่อบิดาของเธอ นางอมราตอบว่าถูกแล้ว. มโหสถถามว่า บิดาของเธอทำงานอะไร นางอมราตอบว่า บิดาของดิฉัน ทำสิ่งหนึ่งโดยส่วนสอง มโหสถกล่าวว่า แน่ะนางผู้เจริญ การไถนาชื่อว่าการทำสิ่งหนึ่งโดยส่วนสอง ชะรอยบิดาของเธอไถนา นางอมราตอบว่าถูกแล้ว
มโหสถถามว่า บิดาของเธอไถนาอยู่ที่ไหน นางอมราตอบว่า ชนทั้งหลายไปในที่ใด คราวเดียวภายหลังไม่กลับมา บิดาของดิฉันไถนาในที่นั้นแล มโหสถกล่าวว่า ป่าช้าชื่อว่าสถานที่แห่งชนทั้งหลายไปคราวเดียวภายหลังไม่กลับ ชะรอยบิดาของเธอจะไถนาในที่ใกล้ป่าช้า นางอมราตอบว่าถูกแล้ว. มโหสถถามต่อไปว่า แน่ะนางผู้เจริญ วันนี้เธอจะกลับหรือไม่กลับนางอมราตอบว่า ข้าแต่นาย ถ้าว่ามา ดิฉันจะยังไม่กลับ ถ้าว่าไม่มาดิฉันจักกลับ มโหสถกล่าวว่า แน่ะนางผู้เจริญ บิดาของเธอชะรอยจักไถนาใกล้ฝั่งแม่น้ำ ครั้นเมื่อน้ำมา เธอจักไม่กลับ ครั้นเมื่อน้ำไม่มา เธอจักกลับ, นางอมราตอบว่า ถูกแล้ว. ทั้งสองเจรจาโต้ตอบกันเท่านี้แล้ว ภายหลังนางอมรา เชิญมโหสถให้ดื่มข้าวต้ม พระมหาสัตว์ดำริว่า การปฏิเสธเป็นอวมงคลจึงกล่าวรับว่าจักดื่ม นางจึงปลงหม้อข้าวต้มลง.
พระมหาสัตว์คิดว่า ถ้านาง อมราไม่ล้างภาชนะ ไม่ให้น้ำล้างมือ ให้ข้าวต้ม เราจักละนางเสียในที่นี้ไป. ฝ่ายนางอมราล้างภาชนะแล้ว นำน้ำมาด้วยภาชนะให้น้ำล้างมือ ไม่วางภาชนะเปล่าในมือ คนหม้อที่วางไว้บนพื้นแล้วตักข้าวต้มใส่เต็มภาชนะ ก็แต่เมล็ด ข้าวในภาชนะนั้นน้อย. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์กล่าวว่า แน่ะนางผู้เจริญ น้ำ ข้าวต้มมากเกินหรือ นางอมราตอบว่า ข้าแต่นาย ดิฉันได้น้ำแล้ว พระมหาสัตว์กล่าวว่า เธอเห็นจักไม่ได้น้ำมาแต่ทุ่งนา นางอมราตอบว่า ถูกแล้ว แล้วนางแบ่งข้าวต้มไว้ให้บิดา เหลือจากนั้นให้พระโพธิสัตว์. พระโพธิสัตว์ดื่มข้าวต้มนั้นแล้วบ้วนปาก พูดว่า แน่ะนางผู้เจริญ เราจักไปสู่เรือนของเธอเธอจงบอกทางแก่เรา นางอมรากล่าวว่าดีแล้ว เมื่อจะบอกทาง จึงกล่าวคาถานี้ ในเอกนิบาตว่า :-
„ร้านขายข้าวสัตตู ถัดไปร้านขายน้ำส้ม ถัดสอง ร้าน ต้นทองหลางดอกบานมีใบสองชั้น มีอยู่โดยทางใด ดิฉันถือภาชนะข้าวต้มด้วยมือขวาใด ดิฉันบอกทางนั้นโดยมือขวานั้น ดิฉันไม่ได้ถือภาชนะข้าว ต้มด้วยมือซ้ายใด ดิฉันไม่ได้บอกทางนั้นโดยมือซ้ายนั้น ทางนั้นเป็นทางไปเรือนของดิฉัน ซึ่งตั้งอยู่ในบ้าน อุตตรยวมัชฌคาม ขอท่านจงทราบทางอันปกปิดนี้.“
คาถานั้นมี ความว่า ข้าแต่นาย ท่านเข้าไปภายใน หมู่บ้านแล้วจะเห็นร้านขายข้าวสัตตูร้านหนึ่ง ถัดไป ร้านขายน้ำส้ม ข้างหน้าร้านค้าสองร้านนั้นมีต้นทองหลาง มีใบสองชั้นมีดอกบาน ฉะนั้น ท่านจงไปทางที่มีร้านขายข้าวสัตตู ร้านขายน้ำส้ม และต้นทองหลางดอกบาน ยืนที่โคนต้นทองหลาง ถือเอาทางขวา ละทางซ้าย.
บทว่า เอส มคฺโค ยวมชฺฌกสฺส ความว่า นี้เป็นทางไปเรือนของพวกเรา ซึ่งตั้งอยู่ในบ้านยวมัชฌคาม ขอท่านจงทราบทางปกปิด คือทางที่ปกปิด นี้คือที่ข้าพเจ้ากล่าวปกปิดอย่างนี้ หรือทางปิดหรือเหตุที่ปกปิด. บทว่า เยนาทามิ แม้ในคาถานี้ นางกล่าวหมายเอามือขวาที่เราใช้ถือภาชนะข้าวต้ม นอกนี้เป็นมือซ้าย นางอมราบอกทางแก่มโหสถอย่างนี้แล้ว ถือข้าวต้มไปส่งบิดา.
อมราเทวีปัญหายังมีอีกมากซึ่งเป็นเรื่องราวที่สนุกและน่ารู้เป็นอย่างยิ่ง สำหรับวันนี้ขอนำมากล่าวไว้แต่โดยย่อแต่เพียงเท่านี้.
ที่มา : Palipage : Guide to Language - Pali
0 comments: