คทฺรภปญฺหชาตกํ - ว่าด้วยลากับม้าอัสดร
"หํจิ (1) ตุวํ เอวมญฺญสิ เสยฺโย, ปุตฺเตน ปิตาติ ราชเสฏฺฐ;
หนฺทสฺสตรสฺส เต อยํ, อสฺสตรสฺส หิ คทฺรโภ ปิตาติ ฯ
ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐ ถ้าพระองค์ทรงสำคัญอย่างนี้ว่าบิดาประเสริฐกว่าบุตรไซร้ มิฉะนั้น ลาตัวนี้ก็ประเสริฐกว่าม้าอัสดรของพระองค์เพราะว่าลาเป็นพ่อม้าอัสดร."
1) [หํสิ (สี. สฺยา.), หญฺจิ (?)]
คัทรภปัญหาชาดกอรรถกถา (ปัญหาลา)
คัทรภปัญหาแม้นี้ มีคำเริ่มต้นว่า หํสิ ตุวํ เอวํ มญฺญสิ ดังนี้ ก็จักแจ่มแจ้งในอุมมัคคชาดก (ชา.๒.๒๒.๕๔๒) เหมือนกัน. จบอรรถกถาคัทรภปัญหาชาดกที่ ๑.
หมายเหตุ: อรรถโดยตรงชาดกเรื่องนี้ท่านไม่ได้แสดงไว้ เพราะคาถานี้เป็นมีอรรถกถาแสดงไว้ในอุมมัคคชาดก (อุมังคชาดก หรือ มโหสธชาดก ในมหานิบาต) เพราะฉะนั้น จึงขอนำอรรถกถาในมหานิบาต อุมังคชาดก มาแสดงประกอบไว้เพื่อความสมบูรณ์ ดังนี้.
ต่อมา อีกวันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราชทรงปรึกษากับเสนกะว่า „เราจะนำมโหสถมา“ เสนกะทูลว่า „พระองค์อย่าเสด็จไปเอง ส่งทูตไปยังมโหสถว่า เมื่อพระองค์เสด็จไปสู่สำนักเธอ กีบม้าที่นั่งแตก, เธอจงส่งม้าอัสดรหรือม้าประเสริฐกว่าม้าสามัญมา, ถ้าเธอจักส่งม้าอัสดรมา เธอจงมาเอง, แต่เมื่อจะส่งแต่ม้าประเสริฐมา จงส่งบิดาของเธอมาด้วย, ปัญหาของเรานี้แหละจักถึงที่สุด“ พระราชาทรงเห็นชอบด้วยจึงส่งราชทูตไปดังว่านั้น.
มโหสถบัณฑิตได้ฟังคำราชทูต จึงคิดว่า „พระราชาทรงใคร่จะพบเราและบิดาของเรา, จึงไปหาบิดาไหว้แล้วกล่าวว่า „พระราชาทรงใคร่จะพบบิดาและข้าพเจ้า ขอบิดาจงพร้อมด้วยอนุเศรษฐีพันหนึ่งเป็นบริวารไปเฝ้าก่อน, เมื่อไปอย่าไปมือเปล่า จงเอาผอบไม้จันทน์เต็มด้วยเนยใสใหม่ไปด้วย, พระราชาจักตรัสปฏิสันถารกับบิดา ตรัสเรียกให้นั่งว่า „จงนั่งที่อาสน์อันสมควร, บิดาจงรู้อาสน์อันสมควรแล้วนั่ง เมื่อบิดานั่งแล้ว, ข้าพเจ้าจักไป พระราชาจักตรัสทักทายข้าพเจ้า ตรัสสั่งให้นั่งว่า „จงที่อาสนะอันสมควร, แต่นั้นข้าพเจ้าจักแลดูบิดา บิดาจงลุกจากอาสน์ด้วยสัญญานั้น กล่าวว่า „แน่ะพ่อมโหสถ พ่อจงนั่ง ณ อาสน์นี้, ปัญหาอย่างหนึ่ง จักถึงที่สุดในวันนี้.“
สิริวัฒกเศรษฐีรับจะทำตามนั้น แล้วก็ไปโดยนัยที่กล่าวแล้ว ให้ทูลความที่ตนมายืนรออยู่ที่พระทวารแด่พระราชา ครั้นได้พระราชานุญาติแล้วจึงเข้าไปเฝ้า ถวายบังคมพระราชา ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง. พระราชาทรงทักทายปราศรัยตรัสถามว่า "ดูก่อนคฤหบดี มโหสถบุตรของท่านอยู่ไหน ?“ เศรษฐีทูลตอบว่า „มาภายหลัง“ พระราชาทรงทราบดังนี้ก็ดีพระหฤทัยตรัสว่า „ดูก่อนคฤหบดี ท่านจงดูอาสน์ควรแก่ตนนั่งเถิด“ เศรษฐีนั้นก็นั่ง ณอาสน์ที่ควรแก่ตนในที่ส่วนหนึ่ง.
ฝ่ายพระโพธิสัตว์ประดับตกแต่งตัวแล้ว มีเด็กพันหนึ่งห้อมล้อมนั่งรถที่ประดับแล้ว เมื่อเข้าสู่พระนคร เห็นฬาตัวหนึ่งเที่ยวอยู่ที่หลังคู บังคับบริวารที่มีกำลังว่า „เจ้าจงผูกฬาตัวหนึ่งที่ปากอย่าให้ร้องได้แล้วห่อด้วยเสื่อลำแพน ให้นอนในเครื่องลาดแบกมา“ บริวารเหล่านั้น ก็ทำตามสั่ง. พระโพธิสัตว์เข้าสู่พระนครด้วยบริวารมาก มหาชนเห็นพระโพธิสัตว์มาดังนั้น ก็พากันชมเชยดูพระโพธิสัตว์ไม่รู้อิ่มว่า „บุตรแห่งสิริวัฒกเศรษฐีนี้ ชื่อว่า มโหสถบัณฑิต เมื่อเธอเกิดมาก็ถือแท่งโอสถมาด้วย เธอรู้เปรียบเทียบปัญหาที่ทดลองมีประมาณเท่านี้ได้.“
มโหสถไปถึงทวารพระราชฐาน ให้กราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ พระราชาทรงสดับว่า “มโหสถมา“ ก็ทรงโสมนัสตรัสว่า „มโหสถบุตรเราจงรีบมาเถิด“ มโหสถพร้อมด้วยเด็กพันหนึ่งเป็นบริวาร ขึ้นสู่ปราสาทถวายบังคมพระราชา ยืนอยู่ ณ ที่ส่วนหนึ่ง. พระราชาทอดพระเนตรเห็นมโหสถก็ทรงพระปราโมทย์ ตรัสปฏิสันถารอย่างอ่อนหวานว่า „แน่ะบัณฑิต เจ้าจงรู้อาสน์ที่สมควรนั่งเถิด“
กาลนั้น พระโพธิสัตว์แลดูเศรษฐีผู้บิดา ลำดับนั้นบิดาของมโหสถก็ลุกจากอาสน์ด้วยสัญญาที่บุตรแลดูแล้ว กล่าวว่า „แน่ะบัณฑิต เจ้าจงนั่งที่อาสน์นี้“ มโหสถก็นั่งที่อาสน์นั้น. เสนกะ ปุกกุสะ กามินทะ เทวินทะ และชนเหล่าอื่นผู้โฉดเขลา ก็พากันตบมือสรวลเสเฮฮาเยาะเย้ยว่า „คนทั้งหลายพากันเรียกคนโฉดเขลาผู้นี้ว่า บัณฑิต, การเรียกผู้ที่ให้บิดาลุกจากอาสน์แล้ว ตนนั่งเสียเองนี้ว่า บัณฑิต ไม่สมควร“
พระราชามีพระพักตร์เศร้าหมองทรงเสียพระหฤทัย ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทูลถามพระราชาว่า „พระองค์เสียพระราช หฤทัยหรือพระเจ้าข้า“ พระราชามีพระราชดำรัสตอบว่า „เออ ข้าเสียใจ เพราะได้ฟังความเป็นไปของเจ้าก็เป็นที่ยินดี, แต่พอได้เห็นความเป็นไปของเจ้าก็เกิดเสียใจ เพราะว่า เจ้าให้บิดาของเจ้าลุกจากอาสน์แล้ว เจ้านั่งเสียเอง“
มโหสถจึงทูลถามว่า „ก็พระองค์ทรงสำคัญว่า บิดาอุดมกว่าบุตรในที่ทั่วไปหรือ“? ครั้นตรัสตอบว่า „เข้าใจอย่างนั้น“, จึงกราบทูลว่า พระองค์พระราชทานข่าวไปว่า „ให้ข้าพระบาทส่งม้าอัสดรหรือม้าประเสริฐกว่าม้าสามัญมาถวายไม่ใช่หรือพระเจ้าข้า“?
กราบทูลดังนี้แล้ว ลุกจากอาสน์ให้ที่แก่บริวารให้นำฬาที่นำมานั้น มาให้นอนแทบพระบาทยุคลแห่งพระเจ้าวิเทหราช แล้วกราบทูลถามว่า „ฬานี้ราคาเท่าไรพระเจ้าข้า“? พระราชาตรัสตอบว่า „ถ้ามันมีอุปการะราคามัน ๘ กหาปณะ“ มโหสถทูลถามต่อไปว่า "ก็ม้าอัสดรอาศัยฬานี้เกิดขึ้นท้องนางม้าสามัญ หรือนางฬาอันเป็นแม่ม้าอาชาไนย ราคาเล่าไรเล่า“? พระเจ้าข้าครั้นพระราชาตรัสตอบว่า „หาค่ามิได้ซิ เจ้าบัณฑิต“ ดังนี้,
จึงทูลว่า „ข้าแต่สมมติเทพ เหตุไร? ตรัสดังนั้น ก็พระองค์ตรัสเมื่อกี้นี้ว่า บิดาอุดมกว่าบุตรในที่ทุกสถานมิใช่หรือ? ถ้าพระราชดำรัสนั้นจริง ฬาก็อุดมกว่าม้าอัสดรของพระองค์, พระองค์จงทรงรับฬานั้นไว้, ถ้าว่าม้าอัสดรอุดมกว่าฬาทั้งหลาย, พระองค์จงทรงรับม้าอัสดรนั้นไว้, เพราะอะไร? บัณฑิตทั้งหลายของพระองค์จึงไม่สามารถจะรู้เหตุเท่านี้ พากันตบมือหัวเราะเฮฮา, โอ บัณฑิตทั้งหลายของพระองค์บริบูรณ์ด้วยปัญญา พวกนั้นพระองค์ได้มาแต่ไหน !“ ทูลฉะนี้ กล่าวเยาะเย้ยบัณฑิต ๔ คน แล้วทูลพระราชาด้วยคาถาในเอกนิบาต (ชา.๑.๑.๑๑๑) ว่า :-
„ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐ ถ้าพระองค์ทรงสำคัญอย่างนี้ว่า บิดาประเสริฐกว่าบุตร ฬาของพระองค์ นี้ก็ประเสริฐกว่าม้าอัสดร เพราะว่า ฬาเป็นพ่อของม้า อัสดร.“
คาถานั้นมี ความว่า „ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐ ถ้าพระองค์ทรงสำคัญว่า บิดาประเสริฐกว่าบุตรในที่ทั้งปวง ฬาตัวนี้ก็ประเสริฐกว่าแม้ม้าอัสดรของพระองค์ เพราะเหตุไร? เพราะฬาเป็นพ่อของม้าอัสดร“ ก็แลครั้นทูลอย่างนี้แล้ว พระมหาสัตว์ก็กราบทูลว่า „ถ้าบิดาประเสริฐกว่าบุตรทั้งหลาย ขอได้ทรงรับบิดาของข้าพระองค์ไว้ ถ้าบุตรประเสริฐกว่าบิดา ขอได้ทรงรับข้าพระองค์ไว้ เพื่อประโยชน์แก่พระองค์“
พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงฟังคำนั้นก็ทรงโสมนัส ราชบริษัททั้งปวงก็แซ่ซ้องสาธุการว่า „มโหสถบัณฑิตกล่าวปัญหาดีแล้ว“ เสียงปรบมือและการยกแผ่นผ้าเป็นพัน ๆ ได้เป็นไปแล้ว บัณฑิต คน ต่างมีหน้าเศร้าหมองซบเซาไปตาม ๆ กัน.
ปุจฉาว่า: บุคคลผู้รู้คุณแห่งบิดามารดา เช่นกับพระโพธิสัตว์ย่อมไม่มีมิใช่หรือ เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุไรพระโพธิสัตว์จึงทำอย่างนี้.
วิสัชนาว่า: พระโพธิสัตว์นั้นได้ทำอย่างนั้น เพื่อประสงค์จะดูหมิ่น บิดาก็หาไม่ ก็แต่พระราชาส่งข่าวไปว่า ให้ส่งม้าอัสดรหรือม้าประเสริฐกว่านี้ สามัญมาถวาย เพราะฉะนั้น จึงทำอย่างนี้ เพื่อจะทำปัญหานั้นให้แจ่มแจ้งเพื่อจะประกาศความที่ตนเป็นบัณฑิต และเพื่อจะทำอาจารย์ทั้ง ๔ มีเสนกะเป็นต้นให้หมดรัศมี. จบปัญหาฬา
CR: หมายเหตุ ข้อมูลที่มา ภาษาบาฬี จากเว็บไซต์ tipitaka.org คำแปลจาก ฉบับมหิดล, ฉบับสยามรัฐ, ฉบับมหาเถรสมาคม เป็นต้น, ส่วนอรรถกถาแปลโดยมากจากฉบับมหาจุฬาฯ.
0 comments: