เปลวเทียนที่ถูกกำลังลมพัดตั้งอยู่ไม่ได้ก็ย่อมดับลงและถึงการนับว่า “ไม่มีเปลวไฟแล้ว” ฉันใด, ขันธ์ ๕ อันบุคคลผู้มีสติเพ่งพิจารณายึดเอาเป็นอารมณ์ว่า “นิดหนึ่งก็ไม่มี หน่อยหนึ่งก็ไม่มี จะเป็นเหมือนเปลวไฟที่ดับไปแล้ว” ฉันนั้นเหมือนกัน
จิตปราศจากความกำหนัดยินดีในกามทั้งปวง ก็เพราะพิจารณาเห็นว่า “ความสุขอันเกิดขึ้นจากกามเพราะอาศัยรูปนามขันธ์ ๕ เหล่านี้ไม่ยั่งยืน โดยสภาวะแล้วนิดหนึ่งก็ไม่มี หน่อยหนึ่งก็ไม่มี มีแต่ความทุกข์ที่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารอีกยาวนาน” เมื่อพิจารณาเห็นอย่างนี้จึงจะข้ามห้วงน้ำคือกิเลสได้ ด้วยการละความยินดีในกาม พิจารณาเห็นแต่ความเสื่อมไปและความสิ้นไปแห่งรูปนามขันธ์ ๕ เหล่านี้ในทุกคืนและทุกวัน หมดความสงสัยก็จะละตัณหานั้นลงได้ ตัณหาก็เหมือนกับเปลวเทียนที่ดับไปแล้วฉะนั้น ดังนี้.
สาระธรรมจากพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ (อุปสีวมาณวกปัญหา)
พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ)
6/7/64
0 comments: