ทางสายเอก คือ สติปัฏฐาน 4 (ฐานที่ตั้งของสติ)
[ณ กัมมาสทัมมะ นิคมของชาวกุรุ พระพุทธเจ้าเรียกเหล่าภิกษุมาแล้วกล่าวว่า]
พ: ทางสายเอกอันหมดจดวิเศษ สู่การพ้นโศกร่ำไร พ้นทุกข์นิพพาน คือ สติปัฏฐาน (ฐานที่ตั้งของสติ) 4 อย่าง. 4 อย่างนี้ คืออะไรบ้าง ? ภิกษุพิจารณา
1. เห็นกายในกาย (เห็นลมหายใจหรืออวัยวะต่างๆในร่างกาย) 2. เห็นเวทนาในเวทนา (เห็นความรู้สึกต่างๆ) 3. เห็นจิตในจิต (เห็นสภาวะจิตแบบต่างๆ) 4. เห็นธรรมในธรรม (เห็นธรรมในแง่มุมต่างๆ)
ที่ว่าเห็นกายในกายนั้นเป็นอย่างไร
ให้ภิกษุเดินไปในป่า โคนต้นไม้ หรือเรือนว่างก็ได้แล้วนั่งขัดสมาธิ ตั้งตัวตรง มีสติอยู่กับปัจจุบัน มีสติทั้งขณะหายใจเข้าและออก เมื่อหายใจสั้นก็รู้ว่าหายใจสั้น เมื่อหายใจยาวก็รู้ว่าหายใจยาว ให้รู้ตัวตลอดที่หายใจ ซึ่งจะทำให้กายเริ่มสงบลง (ระงับกายสังขาร) เหมือนช่างกลึงเก่งๆที่รู้ตัวตลอดว่ากำลังชักเชือกยาวหรือสั้น ภิกษุจะเห็นกายของตัวเอง เห็นธรรมคือการเกิดดับของกายอยู่ตลอด ตั้งสติอยู่ว่า เมื่อมีกายอยู่ก็สักแต่รู้ว่ามี ไม่เกิดความอยากหรือความคิดความเห็นใด ไม่ยึดติดกับสิ่งใด
(เห็นอิริยาบถ)
ภิกษุพิจารณากายนี้ เห็นว่าเมื่อเดิน ยืน นั่ง นอน ก้าว คู้ ห่มจีวร ถือบาตร กิน ดื่ม เคี้ยว ถ่ายปัสสาวะอุจจาระ ก็ระลึกรู้ตัวอยู่ตลอด (มีสติสัมปชัญญะ) ภิกษุจะเห็นกายของตัวเอง เห็นธรรมคือการเกิดดับของกายอยู่ตลอด ตั้งสติอยู่ว่า เมื่อมีกายอยู่ก็สักแต่รู้ว่ามี ไม่เกิดความอยากหรือความคิดความเห็นใด ไม่ยึดติดกับสิ่งใด
(เห็นอวัยวะและสิ่งปฏิกูล)
ภิกษุพิจารณากายนี้ ตั้งแต่ปลายผมถึงพื้นเท้า มีหนังหุ้มรอบตัว เต็มไปด้วยของไม่สะอาด คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก พังผืด ไขข้อ เยื่อ หัวใจ ม้าม ตับ ไต ปอด ลำไส้ อาหารเก่า อาหารใหม่ น้ำดี น้ำเหลือง น้ำมูก น้ำตา น้ำลาย น้ำมูตร เสลด เลือด เหงื่อ ไขมัน เหมือนถุงใส่ธัญพืชต่างๆ ซึ่งเมื่อเทออกดูก็จะแยกแยะได้ว่าเป็นข้าวสาลี ข้าวเปลือก ถั่วเขียว ถั่วเหลือง และงา ภิกษุจะเห็นกายของตัวเอง เห็นธรรมคือการเกิดดับของกายอยู่ตลอด ตั้งสติอยู่ว่า เมื่อมีกายอยู่ก็สักแต่รู้ว่ามี ไม่เกิดความอยากหรือความคิดความเห็นใด ไม่ยึดติดกับสิ่งใด
(เห็นกองธาตุ)
ภิกษุพิจารณากายนี้ ประกอบไปด้วยธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เหมือนคนฆ่าโคแยกออกเป็นส่วน แล้วนั่งตรงสี่แยก ภิกษุจะเห็นกายของตัวเอง เห็นธรรมคือการเกิดดับของกายอยู่ตลอด ตั้งสติอยู่ว่า เมื่อมีกายอยู่ก็สักแต่รู้ว่ามี ไม่เกิดความอยากหรือความคิดความเห็นใด ไม่ยึดติดกับสิ่งใด
(เห็นลักษณะของซากศพ)
ภิกษุพิจารณาเห็นกายที่เขาทิ้งในป่าช้าเมื่อตายแล้ว พองอืด เขียวคล้ำ น้ำเหลืองไหล สัตว์แร้งกาจิกกิน เป็นกระดูกติดเนื้อเลือดที่มีเส้นเอ็นรัดอยู่ เป็นกระดูกเปื้อนเลือดที่มีเส้นเอ็นรัดอยู่ เป็นกระดูกที่มีเส้นเอ็นรัดอยู่ เป็นท่อนกระดูกที่ไม่มีเส้นเอ็นรัดแล้ว กระจัดกระจายอยู่ เป็นท่อนกระดูกสีขาว เป็นท่อนกระดูกกองเรี่ยราดเกินหนึ่งปี เป็นท่อนกระดูผุละเอียด. เมื่อเห็นเช่นนี้ เธอย่อมหันกลับมาดูว่า ร่างกายนี้ก็จะเป็นแบบนั้นเช่นกัน ไม่มีทางหนีพ้น ภิกษุจะเห็นกายของตัวเอง เห็นธรรมคือการเกิดดับของกายอยู่ตลอด ตั้งสติอยู่ว่า เมื่อมีกายอยู่ก็สักแต่รู้ว่ามี ไม่เกิดความอยากหรือความคิดความเห็นใด ไม่ยึดติดกับสิ่งใด ภิกษุทั้งหลาย ที่ว่าเห็นเวทนาในเวทนา (เห็นความรู้สึกต่างๆ) นั้นเป็นอย่างไร เมื่อรู้สึกสุข ก็รู้ว่ากำลังมีความสุข (เห็นความสุข) เมื่อรู้สึกทุกข์ ก็รู้ว่ากำลังมีความทุกข์ (เห็นความทุกข์) เมื่อรู้สึกเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ ก็รู้ว่าขณะนี้รู้สึกเฉยๆ (เห็นความไม่สุขไม่ทุกข์) เมื่อรู้สึกสุขจากกามคุณ (ความพอใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) ก็รู้ เมื่อรู้สึกสุขโดยที่ไม่เกี่ยวกับกามคุณก็รู้ เมื่อรู้สึกทุกข์จากกามคุณก็รู้ เมื่อรู้สึกทุกข์โดยที่ไม่เกี่ยวกับกามคุณก็รู้ เมื่อรู้สึกเฉยๆจากกามคุณก็รู้ เมื่อรู้สึกเฉยๆโดยที่ไม่เกี่ยวกับกามคุณก็รู้ ภิกษุจะเห็นความรู้สึกของตัวเอง เห็นธรรมคือการเกิดดับของความรู้สึกต่างๆอยู่ตลอด ตั้งสติอยู่ว่า เมื่อมีความรู้สึกใดเกิดขึ้นก็สักแต่รู้ว่ามี ไม่เกิดความอยากหรือความคิดความเห็นใด ไม่ยึดติดกับสิ่งใด
ภิกษุทั้งหลาย ที่ว่าเห็นจิตในจิต (เห็นสภาวะจิตต่างๆ) นั้นเป็นอย่างไร เมื่อจิตมีราคะ (ความอยากใคร่ในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) ก็รู้ว่ามีราคะ เมื่อจิตไม่มีราคะ ก็รู้ว่าไม่มีราคะ (เห็นราคะ) เมื่อจิตมีโทสะ (ความโกรธ ผลักไส ไม่พอใจ) ก็รู้ว่ามีโทสะ เมื่อจิตไม่มีโทสะ ก็รู้ว่าไม่มีโทสะ (เห็นโทสะ) เมื่อจิตมีโมหะ (ความหลง ความเขลา) ก็รู้ว่ามีโมหะ เมื่อจิตไม่มีโมหะ ก็รู้ว่าไม่มีโมหะ (เห็นโมหะ) เมื่อจิตหดหู่ฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าหดหู่ฟุ้งซ่าน เมื่อจิตไม่หดหู่ฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าไม่หดหู่ฟุ้งซ่าน (เห็นความหดหู่ฟุ้งซ่าน) เมื่อจิตมีสมาธิ เข้าฌาน ตั้งมั่น ก็รู้ว่ามีสมาธิ เข้าฌาน ตั้งมั่น เมื่อจิตไม่มีสมาธิ ไม่เข้าฌาน ไม่ตั้งมั่น ก็รู้ว่าไม่มีสมาธิ ไม่เข้าฌาน ไม่ตั้งมั่น (เห็นการมีสมาธิ การเข้าฌาน การตั้งมั่น) เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้นแล้ว เมื่อจิตยังไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่ายังไม่หลุดพ้น (เห็นการหลุดพ้น) ภิกษุจะเห็นจิตของตัวเอง เห็นธรรมคือการเกิดดับของสภาวะจิตต่างๆอยู่ตลอด ตั้งสติอยู่ว่า เมื่อมีสภาวะจิตใดเกิดขึ้นก็สักแต่รู้ว่ามี ไม่เกิดความอยากหรือความคิดความเห็นใด ไม่ยึดติดกับสิ่งใด ภิกษุทั้งหลาย ที่ว่าเห็นธรรมในธรรม (เห็นธรรมในแง่มุมต่างๆ) นั้นเป็นอย่างไร
(เห็นสิ่งขัดขวางการทำงานของจิตไม่ให้เกิดสมาธิ - นิวรณ์ 5)
เมื่อมีความเพลิดเพลินพอใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสก็รู้ ไม่มีก็รู้ เพราะเหตุอะไรก็รู้ (เห็นความเพลิดเพลินพอใจในกาม) เมื่อมีความโกรธแค้นพยาบาทก็รู้ ไม่มีก็รู้ เพราะเหตุอะไรก็รู้ (เห็นความพยาบาท) เมื่อมีความเซื่องซึมง่วงเหงาหาวนอนก็รู้ ไม่มีก็รู้ เพราะเหตุอะไรก็รู้ (เห็นความเซื่องซึมง่วงเหงาหาวนอน) เมื่อมีความฟุ้งซ่านรำคาญใจก็รู้ ไม่มีก็รู้ เพราะเหตุอะไรก็รู้ (เห็นความฟุ้งซ่านรำคาญใจ) เมื่อมีความลังเลสงสัยก็รู้ ไม่มีก็รู้ เพราะเหตุอะไรก็รู้ (เห็นความลังเลสงสัย) (เห็นขันธ์ 5 อันเป็นที่ตั้งของความยึดมั่นถือมั่น - อุปาทานขันธ์ 5) พิจารณาเห็นว่าอย่างนี้คือร่างกาย (รูป) เกิดขึ้นและดับไปอย่างไร พิจารณาเห็นว่าอย่างนี้คือความรู้สึก (เวทนา) เกิดขึ้นและดับไปอย่างไร พิจารณาเห็นว่าอย่างนี้คือความจำได้และรู้ความหมาย (สัญญา) เกิดขึ้นและดับไปอย่างไร พิจารณาเห็นว่าอย่างนี้คือความคิดปรุงแต่ง (สังขาร) เกิดขึ้นและดับไปอย่างไร พิจารณาเห็นว่าอย่างนี้คือความรับรู้ (วิญญาณ) เกิดขึ้นและดับไปอย่างไร
(เห็นอายตนะ คือ เครื่องเชื่อมต่อให้เกิดการรับรู้ ทั้งอายตนะภายใน 6 คือ ช่องทางรับรู้ทั้ง 6 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และอายตนะภายนอก 6 คือ สิ่งที่เข้ามาให้รับรู้ ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และสิ่งที่รู้ได้ด้วยใจ)
รู้ว่าตาเป็นอย่างไร รู้ว่ารูปเป็นอย่างไร รู้ว่าเมื่อตากับรูปเชื่อมต่อกันแล้วเกิดหรือไม่เกิดอะไรขึ้น เพราะอะไร รู้ว่าหูเป็นอย่างไร รู้ว่าเสียงเป็นอย่างไร รู้ว่าเมื่อหูกับเสียงเชื่อมต่อกันแล้วเกิดหรือไม่เกิดอะไรขึ้น เพราะอะไร รู้ว่าจมูกเป็นอย่างไร รู้ว่ากลิ่นเป็นอย่างไร รู้ว่าเมื่อจมูกกับกลิ่นเชื่อมต่อกันแล้วเกิดหรือไม่เกิดอะไรขึ้น เพราะอะไร รู้ว่าลิ้นเป็นอย่างไร รู้ว่ารสเป็นอย่างไร รู้ว่าเมื่อลิ้นกับรสเชื่อมต่อกันแล้วเกิดหรือไม่เกิดอะไรขึ้น เพราะอะไร รู้ว่ากายเป็นอย่างไร รู้ว่าสัมผัสเป็นอย่างไร รู้ว่าเมื่อกายกับสัมผัสเชื่อมต่อกันแล้วเกิดหรือไม่เกิดอะไรขึ้น เพราะอะไร รู้ว่าใจเป็นอย่างไร รู้ว่าสิ่งที่สามารถรู้ได้ด้วยใจเป็นอย่างไร รู้ว่าเมื่อใจกับสิ่งที่สามารถรู้ได้ด้วยใจเชื่อมต่อกันแล้วเกิดหรือไม่เกิดอะไรขึ้น เพราะอะไร
(เห็นโพชฌงค์ 7 คือ องค์ประกอบ 7 ข้อที่จะทำให้ตรัสรู้ได้สำเร็จ)
เมื่อมีสติก็รู้ ไม่มีก็รู้ เพราะเหตุอะไรก็รู้ เมื่อมีการศึกษาเลือกเฟ้นธรรมก็รู้ ไม่มีก็รู้ เพราะเหตุอะไรก็รู้ เมื่อมีความเพียรก็รู้ ไม่มีก็รู้ เพราะเหตุอะไรก็รู้ เมื่อมีปีติความปลาบปลื้มใจก็รู้ ไม่มีก็รู้ เพราะเหตุอะไรก็รู้ เมื่อมีความสงบกายสงบใจก็รู้ ไม่มีก็รู้ เพราะเหตุอะไรก็รู้ เมื่อมีสมาธิก็รู้ ไม่มีก็รู้ เพราะเหตุอะไรก็รู้ เมื่อมีอุเบกขา (การวางใจเป็นกลางเพราะเห็นตามความเป็นจริง) ก็รู้ ไม่มีก็รู้ เพราะเหตุอะไรก็รู้ ? (เห็นอริยสัจ 4) รู้ชัดตามความเป็นจริงว่านี้คือทุกข์ นี้คือเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ นี้คือสภาวะของการดับทุกข์ และนี้คือหนทางไปสู่การดับทุกข์
ทุกข์นั้นคืออะไร
ภิกษุทั้งหลาย ชาติ ชรา มรณะ ความโศกเศร้ารำพัน (โสกะปริเทวะ) ความไม่สบายกาย (ทุกข์) ความไม่สบายใจ (โทมนัส) ความคับแค้นใจ (อุปายาส) เป็นทุกข์ การประสบกับสิ่งที่ไม่รักก็เป็นทุกข์ การพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์ ไม่ได้สิ่งที่ปรารถนาก็เป็นทุกข์ โดยย่อแล้วขันธ์ 5 อันเป็นที่ตั้งของความยึดมั่นถือมั่นนั้นเป็นทุกข์
-ชาติ คือการเกิด การหยั่งลง การปรากฏขึ้นของขันธ์ การเชื่อมต่อการรับรู้กับสิ่งต่างๆที่เข้ามากระทบของเหล่าสัตว์ -ชรา คือการแก่ คร่ำคร่า ฟันหลุดผมหงอกหนังเหี่ยว ความเสื่อมแห่งอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ของเหล่าสัตว์ -มรณะ คือการตาย การแตกทำลาย การเคลื่อนไป ความขาดไปแห่งชีวิตของเหล่าสัตว์ -โสกะ คือความโศกเศร้าแห้งใจภายในเหล่าสัตว์ที่ถูกความทุกข์อันใดอันหนึ่งมาแตะต้อง -ปริเทวะ คือความคร่ำครวญ ร่ำไรรำพันของเหล่าสัตว์ที่ถูกความทุกข์อันใดอันหนึ่งมาแตะต้อง -ทุกข์ คือความไม่สบายกาย ความไม่ดีที่เกิดในกายหรือเกิดจากสัมผัสทางกาย -โทมนัส คือความไม่สบายใจ ความเสียใจ ความไม่ดีที่เกิดในใจหรือเกิดจากสัมผัสทางใจ -อุปายาส คือความคับแค้นใจของเหล่าสัตว์ที่ถูกความทุกข์อันใดอันหนึ่งมาแตะต้อง -การประสบกับสิ่งที่ไม่รัก คือการพบเจอกับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าปลื้มใจ -การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก คือ การต้องจากกับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่น่าปรารถนา น่าปลื้มใจ -การไม่ได้สิ่งที่ปรารถนา คือ การจะขอให้เราไม่ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือทุกข์กายทุกข์ใจนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ -อุปาทานขันธ์ 5 คือ ร่างกาย ความรู้สึก ความจำ ความคิด และความรับรู้เป็นที่ตั้งของความยึดมั่นถือมั่น
เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์นั้นคืออะไร
ภิกษุทั้งหลาย ความทะยานอยาก (ตัณหา) ทำให้มีการเกิด ความอยากเป็นไปด้วยอำนาจของความเพลิดเพลินในสิ่งที่จิตเข้าไปรับรู้ ซึ่งมีทั้งความอยากได้อยากมี (กามตัณหา) อยากเป็น (ภวตัณหา) หรืออยากที่จะไม่เป็น (วิภวตัณหา) ความทะยานอยากเกิดขึ้นและตั้งอยู่ในที่ที่มีความรักใคร่น่าพอใจผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
การดับทุกข์นั้นคืออะไร
ภิกษุทั้งหลาย ความทะยานอยากจะละได้ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เกิดที่ใดก็ละเสียที่นั้น ทุกข์ก็จะดับลง ณ ที่นั้น
หนทางไปสู่การดับทุกข์นั้นคืออะไร
ภิกษุทั้งหลาย ทางเดียวที่จะนำไปสู่การดับทุกข์ประกอบไปด้วย 8 ประการ คือ (1) การมีความเห็นที่ถูก (สัมมาทิฏฐิ คือ เข้าใจว่าทุกข์คืออะไร เกิดจากอะไร การไม่มีทุกข์เป็นอย่างไร และจะดับทุกข์ได้อย่างไร) (2) การมีความคิดที่ถูก (สัมมาสังกัปปะ คือ คิดที่จะออกจากความพอใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ไม่คิดโกรธพยาบาท ไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่น) (3) การมีวาจาที่ถูก (สัมมาวาจา คือ ไม่พูดเท็จ ยุยงส่อเสียด หยาบคาย หรือเพ้อเจ้อ) (4) การมีความประพฤติที่ถูก (สัมมากัมมันตะ คือ ไม่ตัดทำลายชีวิต ไม่ลักขโมย ไม่ทำผิดต่อคู่ครองของตน หรือล่วงเกินลูกหลานสามีภรรยาพี่น้องของผู้อื่น) (5) การหาเลี้ยงชีพที่ถูก (สัมมาอาชีวะ คือ ไม่คดโกง ไม่ใช้เล่ห์กลหลอกลวง ไม่บังคับขู่เข็ญใคร) (6) การมีความเพียรที่ถูก (สัมมาวายามะ คือ ไม่ทำบาป หยุดทำบาปที่เคยทำ ทำบุญ และรักษาบุญที่ทำแล้วให้ต่อเนื่อง) (7) การมีสติที่ถูก (สัมมาสติ คือ มีสติระลึกรู้ทันกาย ความรู้สึก จิตใจ และสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น) และ (การมีสมาธิที่ถูก (สัมมาสมาธิคือ การมีจิตตั้งมั่น ไม่ฟุ้งซ่านหรือส่ายไปมา เข้าถึงฌาน 4)
ภิกษุจะเห็นธรรมในแง่มุมต่างๆ เห็นการเกิดดับของธรรมนั้นอยู่ตลอด
ตั้งสติอยู่ว่า เมื่อมีธรรมนั้นอยู่ก็สักแต่รู้ว่ามี ไม่เกิดความอยากหรือความคิดความเห็นใด ไม่ยึดติดกับสิ่งใด ภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ปฏิบัติสติปัฏฐาน 4 นี้ตลอด 7 วันถึง 7 ปี ผู้นั้นจะสามารถเป็นพระอรหันต์ในชาตินี้ (เมื่อตายแล้วจะไม่มีการเกิดอีกต่อไป) หรือไม่ก็จะได้เป็นพระอนาคามี (เมื่อตายแล้วจะไม่กลับมาเกิดในกามภูมิอีก แต่จะไปเกิดในพรหมโลก) ทางไปนี้คือทางเอก เพื่อความหมดจดวิเศษของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อล่วงพ้นความโศกเศร้า เพื่อดับความไม่สบายกายไม่สบายใจ เพื่อให้ถึงซึ่งนิพพาน
ทางนี้คือ สติปัฏฐาน 4
ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 14 (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค ภาค 2 เล่ม 2 มหาสติปัฏฐานสูตร ข้อ 273), 2559, น.202-245 และเล่มที่ 17 (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ภาค 1 เล่ม 1 สติปัฏฐานสูตร ข้อ 131), 2559, น.498-521
0 comments: