วันพฤหัสบดีที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2564

สัตตมหาสถาน ที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับเสวยวิมุตติสุข หลังจากได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว

ธรรมะสวัสดี จักขอนำเสนอ เรื่อง “สถานที่เสวยวิมุตติสุข ๔๙ วัน”

สัตตมหาสถาน หมายถึง สถานที่เสวยวิมุติสุขที่ยิ่งใหญ่ ๗ แห่ง ที่พระพุทธองค์ได้ทรงประทับเสวยวิมุตติสุข (สุขอันเกิดแต่ความหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง) หลังจากตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ณ พุทธคยา แล้ว โดยแต่ละแห่งเป็นสถานที่รอบๆ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นเวลาแห่งละ ๑ สัปดาห์ รวม ๗ สัปดาห์…ดังนี้

สัปดาห์ที่ ๑

ประทับนั่งสมาธิที่วัชรอาสน์ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ๗ วัน พระพุทธองค์ได้กำหนดนึกในใจ เพื่อพิจารณาทบทวนเรื่องราว โดยตามลำดับ ตลอดปฐมยามแห่งราตรีนั้น แล้วทรงเปล่งอุทานว่า “ในการใดแล ธรรมทั้งหลาย มาปรากฏแก่พราหมณ์ ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ในกาลนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์ผู้นั้น ย่อมสิ้นไป เพราะมารู้แจ้งธรรมพร้อมด้วยเหตุ”

ในเวลากลางคืน ทรงพิจารณาทบทวนปฏิจจสมุปบาท แบบย้อนตามลำดับ คือพิจารณาจากปลายมาจุดเริ่มแรกแล้วมีพุทธอุทานว่า “ในกาลใดแล ธรรมทั้งหลายมาปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ในกาลนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์ย่อมสิ้นไป เพราะได้รู้แจ้งความสิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย”

ในปัจฉิมยาม ทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาททั้งตามลำดับและ ย้อนตามลำดับแล้วมีพุทธอุทานขึ้นว่า “ในกาลใดแลธรรมทั้งหลายมาปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ในกาลนั้นพราหมณ์ผู้นั้นย่อมกำจัดมารและเสนามารเสียได้ ดุจพระอาทิตย์กำจัดมืดส่องแสงสว่างอยู่ในอากาศ ฉะนั้น”

สัปดาห์ที่ ๒

อนิมิสเจดีย์-ทรงพระดำเนินไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ เมื่อได้ระยะพอควรกับการทอดพระเนตร ก็ทรงหันกลับพระพักตร์มายืนพิจารณาต้นโพธิ์ที่ได้ตรัสรู้นั้น ทรงลืมพระเนตรโดยมิได้กระพริบเลยตลอดสัปดาห์ เพื่อทบทวนความทรงจำต่อเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วโดยลำดับ ความหมุนเวียนผันแปรอันเกิดขึ้นตามอำนาจของสังขารจักรก็มาหยุดลงแค่นี้ ต้นมหาโพธิ์ต้นนี้เป็นที่ให้กำเนิดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสัจจธรรมอันบริสุทธิ์ สามารถชำระล้างกิเลสนานาชนิดของสัตว์โลกได้อย่างศักดิ์สิทธิ์ ทรงพอพระทัยในการตรัสรู้นี้เป็นอย่างยิ่ง สถานที่นี้จึงเรียกว่า อนิมิสเจดีย์

สัปดาห์ที่ ๓

เสด็จมาเดินจงกรมอยู่ ๗ วัน ตรงระหว่างกลางแห่งอนิมิสเจดีย์กับต้นศรีมหาโพธิ์ ทางด้านเหนือของวิหาร ที่ตรงนั้นเขาก่อฐานปูนสูงขึ้นประมาณ ๔ ฟุต จากพื้นถนน แล้วสลักหินเป็นรูปดอกบัวโตพอประมาณ ๑๙ ดอก แสดงว่าเป็นทางเดินจงกรมของพระพุทธองค์เรียกว่า รัตนจงกรมเจดีย์

สัปดาห์ที่ ๔

เทวดาเนรมิตเรือนแก้วขึ้นทางทิศเหนือของต้นโพธิ์ เสด็จนั่งขัดบัลลังก์พิจารณาพระอภิธรรมปิฎกสิ้นเจ็ดวัน สถานที่นี้เรียกว่ารัตนฆรเจดีย์

สัปดาห์ที่ ๕

เสด็จข้ามแม่น้ำเนรัญชราไปยังต้นไทรอชปาลนิโครธ ประทับอยู่เจ็ดวันขณะเสวยวิมุตติสุขอยู่ ธิดาพญามารสามตน คือ ราคะ อรตี และตัณหา ได้อาสาพ่อเข้าไปประเล้าประโลมด้วยเสน่ห์กามคุณต่างๆ นานา พระองค์กลับไล่ไปเสียแสดงถึงบุคลิกลักษณะอันประเสริฐของผู้ชนะตนได้แล้ว จะไม่ยอมกลับเป็นผู้แพ้อีก

สัปดาห์ที่ ๖

ทรงเสด็จเสวยวิมุตติสุขที่สระมุจลินท์ (มุจลินท์เป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งคือ ไม้จิก ปัจจุบันทั้งสระน้ำมุจลินท์และต้นมุจลินท์ไม่มีให้เห็นแล้ว มีแต่สระมุจลินท์จำลองที่สร้างไว้ใกล้ๆ อาณาบริเวณวิหารพุทธคยา ทั้งนี้ เพื่อกันลืมสระดั้งเดิม) และเพราะต้นมุจลินท์ขึ้นอยู่ริมสระแห่งนั้นจึงมีชื่อว่า สระมุจลินท์ เมื่อพระองค์ประทับเสวยวิมุตติสุขได้ ๗ วัน ที่ใต้ต้นอชปาลนิโครธแล้ว ได้เสด็จมาประทับที่ใต้ต้นจิกริมสระนี้ ตอนนั้นเกิดฝนตกหนักเจือด้วยลมหนาว ฝนตกพรำอยู่เจ็ดวันเจ็ดคืน ร้อนถึงพญานาคซึ่งอาศัยอยู่ในสระนี้ ขึ้นมาขดตัวเจ็ดรอบแลแผ่พังพานเพื่อจะป้องกันฝนและลมมิให้ถูกพระวรกาย (นี้เป็นกำเนิดของพระพุทธรูปางนาคปรก) ครั้นฝนหายแล้วก็คลายขนดออก จำแลงเพศเป็นชายหนุ่มมายืนเฝ้าต่อหน้าพระพักตร์พระองค์ ได้ทรงเปล่งอุทานเป็นภาษิตที่ไพเราะจับใจดังนี้

“ความสงบสงัดเป็นสุขสำหรับบุคคลผู้ได้เจริญธรรมแล้วยินดีอยู่ในสงัด ทำให้ได้ตามรู้ตามเห็นสังขารทั้งปวงตามความเป็นจริง ทำให้สำรวมระวังตัว เลิกการเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย และสิ้นความกำหนัด คือความล่วงกามคุณทั้งหลายเสียได้ด้วยประการทั้งปวง ความละคลายการถือตน ถือว่ามีตัวมีตนให้หมดได้ เป็นความสุขอย่างยิ่ง”

สัปดาห์ที่ ๗

ราชายตนเสด็จประทับที่ร่มต้นไม้เกตนี้ เป็นสัปดาห์สุดท้ายหลังจากตรัสรู้แล้วและได้ทรงอดอาหารมาเป็นเวลา ๔๙ วัน ณ ที่ราชายตนะนี้เอง ได้มีนายพานิชสองคนเป็นชาวพม่าผ่านมา ชื่อตปุสสะ และภัลลิกะ ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ภายใต้ต้นไม้เกต มีพระรัศมีอันผ่องใสงดงามยิ่งนัก ก็บังเกิดความเลื่อมใส จึงนำข้าวสัตตุก้อน สัตตุผง ซึ่งเป็นเสบียงเดินทางของตน แล้วประกาศตนเป็นอุบาสกคู่แรกของพระพุทธศาสนา และทูลขอของที่ระลึกจากพระองค์เพื่อเอาไปบูชา พระองค์ทรงรับด้วยบาตรที่ท้าวจตุมหาราชทั้งสี่นำมาถวาย ซึ่งทรงอธิษฐานให้รวมเข้าเป็นใบเดียวกัน (ในทางประวัติศาสตร์ พม่าได้ไปมาค้าขายกับอินเดียมาช้านานแล้ว พอออกพรรษาน้ำหยุดท่วมนอง ชาวพม่าจะบรรทุกของใส่เกวียนมาแลกสินค้ากับอินเดีย กลับไปกลับมาอยู่เป็นประจำ)

พระพุทธองค์เสวยข้าวสัตตุแล้ว ทรงอนุโมทนาในความศรัทธาของ ตปุสสะกับภัลลิกะ และทรงลูบพระเกศา (ผม) พระเกศาตกลงมา ๘ เส้น มอบให้พ่อค้าทั้งสองไปเป็นการสนองความศรัทธาของเขา ชาวพม่าทั้งสองนี้ได้นำพระเกศา ๘ เส้นนั้น กลับไปเมืองย่างกุ้ง พอถึงพม่าได้มีพิธีสมโภชเส้นพระเกศานี้หลายวันหลายคืน และได้จัดสร้างพระเจดีย์ชะเวดากอง บรรจุพระเกศาธาตุ มาจนถึงตราบเท่าทุกวันนี้

เอวัง ก็มี ด้วยประการ ฉะนี้

ที่มา: http://dhamma.serichon.us





Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: