วันจันทร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2564

อรรถาธิบายคำว่าวินัย ตามนัยแห่งพระคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี

อรรถาธิบายคำว่าวินัย หรือการอธิบายขยายความของคำว่าวินัย ตามนัยแห่งพระคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี

ท่านเคยสงสัยไหมว่า ในพระคัมภีร์ชั้นอรรถกถาท่านแปลหรืออรรถาธิบายคำว่าวินัยไว้อย่างไร ? ภาษาบาลีไทยเขียนไว้ว่า :-  ตตฺถ 

วิวิธวิเสสนยตฺตา วินยนโต  เจว  กายวาจานํ,  วินยตฺถวิทูหิ  อยํ วินโย  วินโยติ  อกฺขาโต.  แปลไทยว่า วินัยศัพท์นี้ บัณฑิตผู้รู้อรรถแห่งวินัยศัพท์  แปลความหมายว่า วินัย เพราะมีนัยต่างๆ เพราะมีนัยพิเศษ และเพราะควบคุมกายและวาจา. 

มาดูท่านอธิบายขยายความของคำว่าวินัยตามพระคาถาข้างต้นนั้น เป็น ๓ นัย คือ  

๑. วินัย แปลว่า มีนัยต่างๆ หรือมีนัยเยอะมาก (นัย อ่านว่า ไน, ไนยะ แปลว่า ข้อสำคัญ, ความ, ความหมาย เช่น "นัยของเรื่องนี้")

ก็ในวินัยปิฎกนี้ มีนัยต่างๆ คือ มีปาติโมกขุทเทส ๕ (ปาติโมกขุทเทส คือการสวดปาติโมกข์มี 5 วิธี) มีอาบัติ ๗ กองมีปาราชิกเป็นต้น (อาบัติ คือโทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดข้อห้ามแห่งพระภิกษุ) มีมาติกา (มาติกา คือบาลีที่เป็นแม่บท, แม่บท) และมีวิภังค์เป็นต้นเป็นประเภท (วิภังค์ คือการจำแนก, การแบ่ง, การแยกแยะที่อธิบายจำแนกความแห่งหลักวินัยสำคัญให้ชัดเจนไปทีละเรื่อง)

๒. วินัย แปลว่า มีนัยพิเศษ  อนุบัญญัติเป็นนัยพิเศษ (อนุบัญญัติ คือบัญญัติเพิ่มเติม, บทแก้ไขเพิ่มเติมที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติเสริมหรือผ่อนพระบัญญัติที่วางไว้เดิม  คู่กับ บัญญัติหรือมูลบัญญัติ)  มีผลทำให้พระพุทธบัญญัติเดิมตึงขึ้นและหย่อนลง 

๓. วินัย แปลว่า ควบคุมกายและวาจา (ควบคุม คือดูแล, กำกับดูแล เช่นควบคุมความประพฤติทางกายและวาจา หรือควบคุมความสงบทางกายและวาจา)

วินัยนี้ย่อมควบคุมกายและวาจา เพราะห้ามการประพฤติล่วงทางกายและทางวาจา.  เพราะฉะนั้น ท่านจึงแปลความหมายว่า วินัย เพราะมีนัยต่างๆ ๑ เพราะมีนัยพิเศษ ๑ เพราะควบคุมกายและวาจา ๑

สารธรรมในพระคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาทีฆนิกาย สีลขันธวรรค

พระมหาวัชระ เชยรัมย์


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: