มงคลที่ ๓๖ มีจิตไม่โศกเศร้า - อะโสกัง
๏ คราวพลักพราก จากญาติ ขาดชีวิต ถูกพิชิต จองจำ ทำโทษใหญ่ มีสติ คุมจิต เป็นนิตย์ไป ไม่เสียใจ โศกเศร้า เฝ้าประคอง ๛
ท่านว่ามีเหตุอยู่ ๒ ประการที่ทำให้จิตเราต้องโศกเศร้าคือ ๑. ความโศกเศร้าที่เกิดเนื่องมาจากความรัก รวมถึงรักสิ่งของ ทรัพย์สินเงินทองด้วย ๒. ความโศกเศร้าที่เกิดจากความใคร่
การทำให้จิตใจไม่โศกเศร้านั้น มีข้อแนะนำดังนี้ ๑. ใช้ปัญญาพิจารณาอยู่เนืองๆ ถึงความไม่เที่ยงในสิ่งของทั้งหลาย และร่างกายของเรา ๒. ไม่ยึดมั่นในตัวตน หรือความจีรังยั่งยืน ในคนหรือสิ่งของว่าเป็นของเรา ๓. ทุกอย่างในโลกล้วนเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ แม้ร่างกายเราก็ใช้เป็นที่อาศัยชั่วคราวเท่านั้น ๔. คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนไม่เที่ยงด้วยกันทั้งนั้น
ที่มา : http://www.dhammathai.org
อโสกํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ - จิตอันไม่เศร้าโศก เป็นอุดมมงคล
อะโสกัง นามะ ลักขะณัง โสกะญาติพะยะสะนาเหตุกัง โทมะนัสสัง โย โส ภิกขะเว อะยะตะนะยะสะเนนะ สะมันนาคะตา ญาติพะยะสะนา อะโหสีติ. ณ บัดนี้ จักได้วิสัชนาในมงคลที่ ๓๖ ตามบาลี อรรถกถาว่า อะโสกังนามะ ลักขะเณัง แปลว่า บุคคลใดมีจิตมิได้เศร้าโศกโสกาอาลัยร้องไห้ปริเทวนาการ ด้วยความพลัดพรากจากสัตว์และสังขารอันเป็นที่รักที่ชอบใจ จัดเป็นมงคลอันประเสริฐ
ถามว่า เศร้าโศกโสกาเกิดมาแต่เมื่อไร แก้ว่า ความเศร้าโศกโสกาเกิดมาแต่ความรัก ด้วยพระพุทธเจ้าทรงตรัสเทศนาว่า ปิยะโต ชายะเต โสโก แปลว่า ความเศร้าโศกเกิดมาแต่ความรัก ถ้าความรักไม่มีแล้ว ความเศร้าโศกก็ไม่มี ด้วยความรักนี้เป็นปัจจัยให้เกิดความเศร้าโศก เพราะวิโยคพลัดพรากจากสัตว์และสังขาร ด้วยพระพุทธองค์บรรหารว่า โย โข ภิกขะเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลใดมีความพลัดพรากจากพ่อแม่พี่น้องลูกญาติมิตรสหาย และสัตว์ทั้งหลาย ของเลี้ยงเป็นที่รัก ให้เกิดความเศร้าโศกอาลัย ร้องไห้ปริเทวนาการเพราะความรักอย่างหนึ่ง
โย โข ภิกขะเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ใดมีความพลัดพรากจากทรัพย์สมบัติพัสถาน คือ เงินทองข้าวของและลาภยศบ้านเรือนสวนไร่นา ก็เกิดความเศร้าโศกโสกาอาลัยเหือดแห้งไปด้วยความรัก เพราะเหตุนั้นจึงว่า ความเศร้าโศกโสกาเกิดมาแต่ความรัก ด้วยเหตุที่ไม่รู้เท่าทันในสังขาร จึงมีความรัก สังขารนั้นเป็น อนิจจัง ทุกขัง อะนัตตา บังเกิดมีมาแล้วก็แปรปรวนไป ไม่ตั้งมั่นอยู่ได้ตามใจปรารถนา นักปราชญ์ผู้มีปัญญาพึงพิจารณาให้รู้เท่าทันสังขาร จึงจะไม่เศร้าโศกโสกาปริเทวนาการ ดังวัตถุนิทานแต่โบราณที่ล่วงแล้วไปเช่น เรื่องพราหม์โพธิสัตว์ เรื่องกีสาโคตมีพระเถรี และเรื่องพระเจ้าจังคราช ฯลฯ เป็นต้น
ที่มา : http://larnbuddhism.com
มงคลที่ 1 , มงคลที่ 2 , มงคลที่ 3, มงคลที่ 4 , มงคลที่ 5 , มงคลที่ 6 , มงคลที่ 7 , มงคลที่ 8 , มงคลที่ 9 , มงคลที่ 10 , มงคลที่ 11 , มงคลที่ 12 , มงคลที่ 13 , มงคลที่ 14 , มงคลที่ 15 , มงคลที่ 16 , มงคลที่ 17 , มงคลที่ 18 , มงคลที่ 19 , มงคลที่ 20 , มงคลที่ 21 , มงคลที่ 22 , มงคลที่ 23 , มงคลที่ 24 , มงคลที่ 25 , มงคลที่ 26 , มงคลที่ 27 , มงคลที่ 28 , มงคลที่ 29 , มงคลที่ 30 , มงคลที่ 31 , มงคลที่ 32 , มงคลที่ 33 , มงคลที่ 34 , มงคลที่ 35 , มงคลที่ 36, มงคลที่ 37, มงคลที่ 38 ฯ
0 comments: