มงคลที่ ๓๗ มีจิตปราศจากกิเลส - วิระชัง
๏ หมดราคะ โทสะ โมหะแล้ว จิตผ่องแผ้ว เลิศดี ไม่มีสอง ย่อมมีค่า สูงจริง ยิ่งเงินทอง เหมือนสูริย์ส่อง ท้องฟ้า สง่างาม ๛
กิเลส ก็คือสิ่งที่ทำให้เกิดความเศร้าหมอง ซึ่งได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ท่านได้แบ่งประเภทของกิเลสออกเป็นดังนี้ คือ
๑. ราคะ สามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น - ความโลภอย่างแรงจนแสดงออกมา เช่นการลักขโมย ปล้น จี้ ข่มขืนกระทำชำเรา เป็นต้น (อภิชฌาวิสมโลภะ) - ความเพ่งเล็งจะเอาของคนอื่นมาเป็นของตัว มีใจอยากได้ของคนอื่นแต่ยังไม่ถึงกับแสดงออก (อภิชฌา) - ความอยากได้ในทางไม่ชอบ เช่นการยอมรับสินบน การทุจริตเพื่อแลกกับการมีทรัพย์เป็นต้น (ปาปิจฉา) - ความมักมากเห็นแก่ได้ ด้วยการเอามาเป็นของตนจนเกินพอดี เอาประโยชน์ใส่ตัวโดยไม่คำนึงถึงคนอื่น (มหิจฉา) - ความยินดีในกาม ก็คือยังไม่สามารถละกิจกรรมทางเพศได้ ยังมีความรู้สึก มีแรงกระตุ้น มีความพอใจในเรื่องเพศ (กามระคะ) - ความยินดีในรูปธรรมอันปราณีต ก็คือติดอยู่ในอารมณ์ของรูปฌาณ ปรารถนาในรูปของภพเมื่อทำสมาธิขั้นสูงขึ้นไป (รูปราคะ) - ความยินดีในอรูปฌาณ ก็คือติดอยู่ในอารมณ์ของอรูปฌาณเมื่อทำสมาธิถึงภพของอรูปพรหม (อรูปราคะ)
๒. โทสะ สามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น - พยาบาท คือการผูกใจอาฆาต มีใจที่ไม่หวังดี การจองเวร - โทสะ คือการคิดประทุษร้าย เนื่องด้วยมีใจพยาบาทแล้วก็มีใจคิดหมายทำร้าย - โกธะ คือความโกรธ ความเดือดร้อนใจ ซึ่งล้วนเป็นเหมือนไฟที่เผาตัวเอง - ปฏิฆะ คือความขัดใจ ความไม่พอใจอันทำให้อารมณ์หงุดหงิด
๓. โมหะ สามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น - ความเห็นผิดเป็นชอบ เช่นการไม่เชื่อในเรื่องบาป เรื่องบุญเป็นต้น (มิจฉาทิฐิ) - ความหลงผิด ไม่รู้ตามความเป็นจริง (โมหะ) - การเห็นว่ามีตัวตน เช่นการเชื่อในสิ่งที่มองเห็นด้วยตาเปล่าเท่านั้น (สังกายทิฏฐิ) - ความสงสัย คือสงสัยในพระธรรม คำสั่งสอนในเรื่องการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ (วิจิกิจฉา) - การยึดถืออย่างงมงาย เช่นการไปกราบไหว้สัมพเวสีที่อยู่ตามต้นไม้ ขอลาภเป็นต้น (สีลัพพตปรามาส) - ความถือตัว คือการสำคัญตัวเองผิดว่าเป็นอย่างโน้นเป็นอย่างนี้ (มานะ) - ความฟุ้งซ่าน คือการที่จิตใจว่อกแวก คิดไม่เป็นสาระ ไม่อยู่กับร่องกับรอย ไม่มีสมาธิ หรือการทำสมาธิไม่นิ่ง (อุทธัจจะ) - ความไม่รู้จริง คือการที่รู้แค่ผิวเผิน หรือการทึกทักเอาเอง ไม่ปฏิบัติตามหลักพระธรรม ยังไม่เกิดปัญญา (อวิชชา)
โทษของการมีกิเลสดังกล่าวข้างต้นพอสรุปได้สั้นๆ ดังนี้คือ ๑.ราคะ มีโทษน้อย แต่คลายช้า ๒.โทสะ มีโทษมาก แต่คลายเร็ว ๓.โมหะ มีโทษมาก แต่คลายช้า
ที่มา : http://www.dhammathai.org
วิรชํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ - จิตอันปราศจากธุลี คือ กิเลส เป็นอุดมมงคล
วิระชัง นามะ อะระหัตธัง ปาปุณิ กะตะโม ระโช ระชา นามะ ราคะโทสะ โมหะทะโย ปุถุชชะโน ระโช อะภิภูโต อะโหสีติ. บัดนี้ จักวิสัชนาในมงคลที่ ๓๗ ตามพระบาลีและอรรถกถาว่า วิระชัง นามะ อะระหัตตัง ปาปุณิ แปลว่า บุคคลใดถึงพระอรหัต บุคคลนั้นชื่อว่า ปราศจากธุลี
ถามว่า อะไรจึงเรียกว่าธุลี แก้ว่า ราคะความกำหนัดยินดีในกามคุณทั้ง ๕ จัดเป็นธุลีอย่างหนึ่ง โทสะ ความโกรธประทุษร้ายแก่สัตว์ และสังขารจัดเป็นธุลีอย่างหนึ่ง โมหะ คือ อวิชชาความมืดมนอนธการไม่รู้เท่าทันในสังขาร จัดเป็นธุลีอย่างหนึ่ง ความว่า ราคะ โทสะ โมหะเป็นต้น เหล่านี้จัดเป็นธุลีทั้งนั้น
บุคคลใดไม่มีความเศร้าหมองในสันดาน จัดเป็นมงคลอันประเสริฐเลิศกว่ามงคลทั้งปวง มีคุณใหญ่แก่สรรพสัตว์ ด้วยพระพุทธองค์ทรงตรัสแก่พระจูฬปันถกว่า ราโค ระโช ปะนะ เรณู วุจจะติ ความว่า พระพุทธองค์ประทับอยู่ในเรือนแ่ห่งหมอชีวกโกมารภัจจ์ ทรงตรัสแก่พระจูฬบันถกว่า ดูก่อนจูฬบันถก ราคะความกำหนัดเป็นต้น พระตถาคตเรียกว่า ระโช เป็นธุลีเครื่องเศร้าหมองในใจ ไม่ให้สัตว์มีความบริสุทธิ์ได้ อนึ่ง ธุลีมี ๓ ประการ คือ ธุลีภายนอก ได้แก่ละอองผงเถ้าธุลีที่ลอยมาตามลม ถูกต้องกายนรชนให้เศร้าหมอง ๑ ธุลีภายใน คือ ราคะ โทสะ โมหะ ทำจิตของสัตว์ทั้งหลายให้เศร้าหมอง ๑
ถามว่า ราคะ โทสะ โมหะ ทำจิตให้เศร้าหมองอย่า่งไร แก้ว่า ทำจิตให้เศร้าหมองมาแต่จุติปฎิสนธิวิญญาณ อธิบายว่า สัตว์ทั้งหลายตายด้วยโลภมูล ก็ปฎิสนธิวิญญาณด้วยโลภมูล สัตว์ทั้งหลายตายด้วยโทสมูล ก็ปฎิสนธิวิญญาณด้วยโทสมูล สัตว์ทั้งหลายที่ตายด้วยโมหมูล ก็ปฎิสนธิวิญญาณด้วยโมหมูล
ความว่า สัตว์ทั้งหลายที่เป็นปุถุชน ทำกุศลและอกุศลด้วยจิตเป็นกามาวจร อย่างอ่อนหรืออย่างกล้า เมื่อใก้ลจะตาย จิต เจตสิก กามาวจรทั้งหลายก็มาประชุมตามทวารทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพื่อจะให้บังเกิดเป็นบุพพนิมิต เมื่อสัตว์ทั้งหลายใกล้จะดับจิตคิดถึงบาป นิมิตบาปก็เกิดขึ้น จิตคิดถึงบุญ นิมิตที่เป็นบุญก็เกิดขึ้น
นิมิตที่เป็นบุญมี ๓ คือ กรรม ๑ กรรมนิมิต ๑ คตินิมิต ๑ กรรมนั้นได้แก่กุศลที่บุคคลทำไว้ในชาตินี้ให้ระลึกได้เมื่อใกล้จะตาย ก็นำปฎิสนธิวิญญาณในสุคติ ๑ กรรมนิมิตนั้น ได้แก่กุศลที่แรงกล้ามาบันดาลขึ้นในมโนทวารให้เห็นพระพุทธรูป พระเจดีย์ พระภิกษุสามเณร พระอุปัชฌาย์อาจารย์เป็นต้น ก็นำปฎิสนธิวิญญาณในสุคติ ๑ คตินิมิตนั้น คือ ให้เห็นวิมานแก้ว วิมานทองเป็นต้น บังเกิดในมโนทวาร ให้มีความยินดีถือเอานิมิตนั้น ก็นำปฎิสนธิวิญญาณในสุคติ ๑
นิมิตอกุศลก็มี ๓ คือ กรรม ๑ กรรมนิมิต ๑ คตินิมิต ๑ กรรมนั้น ได้แก่บาปที่บุคคลทำในชาตินี้ ให้ระลึกได้เมื่อใกล้จะตาย ก็นำปฎิสนธิวิญญาณในทุคติ ๑ กรรมนิมิตนั้น ได้แก่บาปที่แรงกล้ามาบันดาลให้บังเกิดในมโนทวาร เห็นสัตว์ต่าง ๆ ที่ตนได้ฆ่าได้ประหารไว้แต่ก่อน จิตก็ถือเอาปฎิสนธิวิญญาณในทุคติ ๑ คตินิมิตนั้น คือ ให้เห็นเปลวไฟในนรกและเห็นนายนิรยบาลเป็นต้น บังเกิดขึ้นในมโนทวาร ให้มีความยินดีถือเอาซึ่งนิมิตนั้นนำปฎิสนธิในทุตติ ๑
ถามว่า นิมิตทั้ง ๓ เกิดขึ้นด้วยอะไร แก้ว่า ฝ่ายบุญบังเกิดขึ้นด้วยความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง จิตตั้งอยู่ในกามาวตจรกุศล จึงให้บังเกิดด้วยนิมิตอันดีเป็นวิถีทางสุคติของสัตว์ทั้งปวง นิมิตฝ่ายบาปนั้นบังเกิดขึ้นด้วยโลภะ โทสะ โมหะ คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความโลภให้เกิดราคะ ความกำหนัดยินดีในกิเลสกามและวัตถุกามเป็นต้น ความโกรธทำให้เกิดประทุษร้ายแก่สัตว์และสังขาร ความหลงให้มืดมนอนธกาล ปกปิดตัวปัญญาไม่พิจารณาให้รู้เท่าทันในสังขาร
อกุศลธรรม ๓ ประการ ให้บังเกิดชั่วร้าย คือ จะนำสัตว์ทั้งหลายไปสู่อบายทั้ง ๔ ด้วยโลภะ โทสะ โมหะ ทั้ง ๓ นี้เป็นธุลีเครื่องเศร้าหมองของสัตว์ นำสัตว์ให้ไปสู่อบาย เหมือนจอกแหนลอยไปตามกระแสแห่งน้ำไหลให้ไปสู่ท้องมหาสมุทรฉะนั้น ฯ
ด้วยโทษแห่งอกุศล ๓ ประการ ที่จะนำสัตว์ให้ปฎิสนธิวิญญาณ ในอบายด้วยโลภมูล โทสมูล โมหมูล ทั้ง ๒ นี้ มีในพระบาลีและอรรถกถาว่า บุคคลทำลายสังขารโดยโลภเจตนาในกิเลสกามและวัตถุกาม ย่อมให้ไปบังเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานเหมือนดังเช่นนิทานโบราณกาลมาเรื่องบุรุษสองคนพี่น้อง เรื่องทุฏฐราชกุมาร ฯลฯ เป็นต้น..
ที่มา : http://larnbuddhism.com
มงคลที่ 1 , มงคลที่ 2 , มงคลที่ 3, มงคลที่ 4 , มงคลที่ 5 , มงคลที่ 6 , มงคลที่ 7 , มงคลที่ 8 , มงคลที่ 9 , มงคลที่ 10 , มงคลที่ 11 , มงคลที่ 12 , มงคลที่ 13 , มงคลที่ 14 , มงคลที่ 15 , มงคลที่ 16 , มงคลที่ 17 , มงคลที่ 18 , มงคลที่ 19 , มงคลที่ 20 , มงคลที่ 21 , มงคลที่ 22 , มงคลที่ 23 , มงคลที่ 24 , มงคลที่ 25 , มงคลที่ 26 , มงคลที่ 27 , มงคลที่ 28 , มงคลที่ 29 , มงคลที่ 30 , มงคลที่ 31 , มงคลที่ 32 , มงคลที่ 33 , มงคลที่ 34 , มงคลที่ 35 , มงคลที่ 36, มงคลที่ 37, มงคลที่ 38 ฯ
0 comments: